ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ต่อมลูกหมาก, ต่อมลูกหมาก หมายถึง, ต่อมลูกหมาก คือ, ต่อมลูกหมาก ความหมาย, ต่อมลูกหมาก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ต่อมลูกหมาก

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก

     ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะอันหนึ่ง ในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ในมนุษย์ และสัตว์ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม  เปรียบเหมือนมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะสัมพันธ์อันหนึ่งในเพศหญิงเท่านั้น  สำหรับในมนุษย์ ต่อมลูกหมากจะเริ่มปรากฏ ตั้งแต่ ทารกในมารดาอายุ 3 เดือน และเจริญเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 ปี) จึงทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ การเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก จะแปลกกว่าอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งจะหยุดเจริญเติบโตเมื่อเข้าสู่วัยอายุ 25 ปี สำหรับต่อมลูกหมากจะมีการเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่สูงขึ้น จึงมีความสำคัญให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพของชีวิตแก่ผู้ชายสูงอายุทุกคน หากไม่ถึงแก่กรรมด้วยโรคอื่นๆ ก่อน

     ต่อมลูกหมาก เมื่อสู่วัยเจริญพันธุ์ (Puberty) จะมีขนาดประมาณเม็ดเกาลัดขนาดใหญ่  (หนักประมาณ 20 กรัม) มีรูปร่างเป็นรูปกรวย โดยความยาวของรอยตัดขวางด้านหน้าถึง ด้านหลัง และด้านบนลงล่างมีขนาด 4 , 2 และ 3 ชม.ตามลำดับ ตั้งอยู่บริเวณ คอ ของกระเพาะปัสสาวะ ( Vessical – NECK) หุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น (ส่วนที่ออกจากกระเพาะปัสสาวะ) โดยยอดของต่อมลูกหมาก (Apex) จะอยู่บริเวณหูรูดชั้นนอก (External Sphincter) ของกระเพาะปัสสาวะ ,คอกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นที่เริ่มต้นของต่อมลูกหมาก(Vesical – Orifice) จะมีหูรูดชั้นในของกระเพาะปัสสาวะ ( Internal – Sphincter) ล้อมรอบอยู่ หูรูดกระเพาะปัสสาวะชั้นในเป็นหูรูด ในความควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยอยู่นอกอำนาจของการสั่งการของสมอง ส่วนหูรูดชั้นนอก อยู่ในความควบคุมของระบบประสาทปกติ ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยสมองสั่งการ  ผิวด้านหลังของต่อมลูกหมากจะวางอยู่บนลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) การตรวจต่อมลูกหมากโดยทั่วไปจะเริ่มต้นด้วย แพทย์ใส่นิ้วมือ เข้าไปในทวารหนัก แล้วตรวจสอบจากการสัมผัสของนิ้วมือต่อบริเวณผิวด้านหลัง และ ด้านข้างทั้ง 2 ข้างของต่อมลูกหมาก เพื่อคาดคะเนขนาดการโตของต่อมลูกหมาก และความยืดหยุ่น และแข็งของส่วนประกอบของอวัยวะนี้พร้อมกับสังเกต ความเรียบ หรือ ปุ่มก้อนใด ๆ ของผิวเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย เนื้องอก หรือการเจริญเติบโต ของต่อมลูกหมากที่ผิดปกติ

     ส่วนประกอบของต่อมลูกหมากประกอบ ด้วยเซลล์กล้ามเนื้อ (เรียบ) ประมาณ 30% ที่เหลือ 70 % เป็น เซลล์ประเภทต่อม เพื่อสร้างน้ำ และ น้ำหลั่งต่าง ๆ เพื่อใช้เพิ่มอาหารของอสุจิที่ลูกอัณฑะสร้างขึ้นทั้งนี้อสุจิ ที่อัณฑะ (Testes) สร้างขึ้นจะเคลื่อนไหวมาตามท่ออสุจิเข้าพักรวมไว้ที่ถุงน้ำกาม (Seminal Vesicle) ซึ่งอยู่ในบริเวณส่วนบน ของด้านข้างทั้ง 2 ของ ต่อมลูกหมากน้ำหลั่งของต่อมลูกหมากจะไหลเข้าสู่ถุงน้ำกาม เป็นอาหารสำหรับอสุจิ ให้มีชีวิตต่อไป โดยเมื่อมี การร่วมเพศและมี Ejaculation ถุงน้ำกาม จะเปิด นำอสุจิที่มีอาหารและน้ำติดตัวไป เพื่อพร้อมในการผสมกับไข่ของเพศหญิง และชีวิตต่อไป

     การเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก อาศัย Hormone ของลูกอัณฑะที่เรียกว่า Testosterone (Hormone เพศชาย) Hormone นี้อยู่ในความควบคุมของอวัยวะ 2 แห่งคือ ต่อม Hypophysis ในสมอง ประมาณ 95 % และต่อมหมวกไต (Adrenal Qland) อีกประมาณ 5 % Testosterone ที่สร้างขึ้นแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็น Dihydro Testosterone ไปสะสมไว้ในต่อมลูกหมาก ด้วยเหตุนี้การลดจำนวน หรือ ลดการผลิต Testosterone จะเป็นวิธีหนึ่งของการรักษาเพื่อลดขนาด หรือลดการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก

     ในน้ำหลั่งของต่อมลูกหมาก มีสารสำคัญหลายประการ เช่น Prostaglandin ที่มีความสำคัญในการเกิด และระงับการอักเสบ ,การทำงานของลำไส้ และกระตุ้นการหด – การขยายของกล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีกรดอมิโนแอซิด ที่เรียกว่า Prostatic Specific Antigen (P.S.A)ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่ระบบโลหิต นำไปสู่การเพิ่มประโยชน์ในการวิเคราะห์โรคของต่อมลูกหมาก โดยที่หากมีปริมาณ และชนิดในเลือดเปลี่ยนแปลง(สูงขึ้น และมีชนิดเพิ่มขึ้น) จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น แยกโรคของต่อมลูกหมากที่เป็นชนิดร้าย(มะเร็ง) และชนิดธรรมดา (Benign Prostatic Hypertrophy เรียกสั้นๆว่า B.P.H)


ต่อมลูกหมากโต และ มะเร็งต่อมลูกหมาก

แนวทางการดูแลรักษา ต่อมลูกหมากโตธรรมดา (B.P.H = Benign Prostatic Hypertrophy ZONE) และ มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Cancer)
มีหลักการ 2 ประการ คือ

1. การรักษาอาการของต่อมลูกหมากโต (ซึ่งอาจเป็นชนิดธรรมดา หรือมีมะเร็งแอบแฝง) ซึ่งเรียกรวมๆว่า Prostatism ได้มีผู้จัดทำการวัดความรุนแรงเป็นหลักการไว้ดังนี้ 

1.1 นำอาการ 7 อย่างมาพิจารณาความรุนแรงโดยแบ่งความรุนแรงเป็น 5 ขั้น จากน้อยสุด ไปมากที่สุด คือ
 -  ปัสสาวะไม่หมด
 -  ปัสสาวะบ่อย
 -  ปัสสาวะกะปริบ กระปอย
 -  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
 -  แรงปัสสาวะ ไม่พุ่ง
 -  ปัสสาวะต้องเบ่ง
 -  ปัสสาวะบ่อยในกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง

ทั้งนี้ให้นำระยะเวลาในเดือนสุดท้ายเป็นระยะเวลาการตรวจสอบ หากคะแนนได้ระหว่าง 0-7 เป็นอาการเล็กน้อย ไม่ต้องรักษาใด ๆ  คะแนน 8-18 จัดเป็นอาการระดับกลาง ควรได้รับการรักษาทางยา  เมื่อคะแนนสูงในระดับ 19-35 จัดเป็นอาการรุนแรง อาจต้องใช้การรักษาทางศัลยกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมตามความเหมาะสมของผู้ป่วย

ยาที่ใช้ในการลดความรุนแรงของอาการ PROSTATISM มี 2 ประเภท คือ ยาที่ลดขนาดของต่อมลูกหมากลง โดยการสกัดกั้นไม่ให้ Testosterone ถูกเปลี่ยนแปลงไปสะสมในต่อมลูกหมาก ในรูป DIHYDROTESTO STERONE ยาที่ใช้กัน คือ PROSCAR อีก ประเภทหนึ่งของยาที่ลดอาการ PROSTATISM คือยาในกลุ่ม ADRENERGIC BLOCKER เพื่อให้กล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากและที่บุท่อปัสสาวะในส่วนต้นขยายกว้างขึ้น หลักการใช้ยานี้จะต้องใช้ในระยะนานพอสมควร โดยเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน

เมื่อการให้ยาไม่ได้ผลหรือเป็นปัญหาต้องรีบแก้ไข ในด้านอุดตันของทางเดินปัสสาวะ  เช่น มีไตบวม หน้าที่ของไตเสื่อมลงจำเป็นต้องใช้วิธีรักษาทางศัลยกรรม เข้าช่วย ซึ่งมีหลายรูปแบบ ที่นิยมและกระทำติดต่อกันมาเป็นมาตรฐานยาวนาน คือ T.U.R-P (การตัดต่อมลูกหมากออกบางส่วนผ่านทางท่อปัสสาวะ)  และการเปิดแผลกระเพาะปัสสาวะเอาต่อมลูกหมากออก (OPEN PROSTATECTOMY)  ซึ่งก็มีวิธีผ่าตัดเข้าสู่ต่อมลูกหมากได้หลายทาง

เนื่องด้วยผู้ป่วยที่มีอาการต่อมลูกหมากโต อักเสบผู้สูงอายุซึ่งมีโรคต่าง ๆ ร่วมอยู่ด้วย จึงได้มีการพัฒนาการผ่าตัดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยน้อยลงเรื่อย ๆ ได้แก่
 -  T U I P  (การกรีดภายในท่อปัสสาวะ บริเวณต่อมลูกหมากเพื่อคลายการบีบรัดของต่อม ที่ไต)
 - T.U Microwave Thermothrapy (การใช้คลื่นความร้อนต่อท่อปัสสาวะ)
 - Visual Lazer Ablation ผ่านทางท่อปัสสาวะ
 - Electrovaporization ผ่านทางท่อปัสสาวะ

วิธีการเหล่านี้ สามารถกระทำภายในประเทศได้แล้ว  แต่ราคายังสูงมากอยู่

อันตรายของการรักษาด้วยวิธีศัลยกรรม นอกเหนือจากอันตรายต่อความสูงอายุของผู้ป่วยแล้ว  ยังอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ 2 ประการ คือ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากหูรูดของกระเพาะปัสสาวะได้ถูกทำลายไปด้วย บางรายอาจเป็นถาวร หรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้แล้วแต่ความรุนแรงที่หูรูดกระเพาะปัสสาวะได้รับ  อาการไม่พึงปรารถนาอีกประเภทหนึ่งคือ ภาวะองค์ชาติไม่แข็งตัว ทั้งนี้เกิดจากเส้นประสาทที่ควบคุมอวัยวะเพศ ที่อยู่ใกล้เคียงกับต่อมลูกหมากได้ถูกทำลายไป

2. การเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

การเฝ้าระวังจะไม่คำนึงถึงว่าผู้ป่วยมีอาการ Prostatism หรือไม่มีอาการ ทั้งนี้ยึดหลักการว่า “Most Common Symption of Prostatic Carcinoma is No Symptom At All” ผู้ป่วยที่มีอาการและไม่มีอาการ จึงต้องมีการเฝ้าระวัง ได้รับการตรวจต่อมลูกหมาก และมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากอายุ 40 ปี ในผู้ที่มีประวัติของครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมาก และ 50 ปีสำหรับผู้ป่วยทั่วไป

การตรวจและติดตามผล กระทำทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี มีความสัมพันธ์กับการตรวจพบในระยะแรก การติดตามตรวจซ้ำใช้หลักการเมื่อต่อมลูกหมาก มีมะเร็งเกิดขึ้น จะมีขนาดความแข็ง  รูปร่าง (ไม่เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง) เปลี่ยนไป และจะมีการสร้าง PSH มากขึ้น การติดตามตรวจซ้ำจึงทำโดยการตรวจต่อมลูกหมากทวารหนักด้วยนิ้วมือ และการตรวจวัดปริมาณ PSA ในเลือดเป็นการเปรียบเทียบ PSA ในเลือดถ้าขึ้นสูง (VELOCITY) เกิน 0.75 ug/ml ต่อปีให้สงสัยว่าอาจมีมะเร็งเกิดร่วมด้วย

เนื่องด้วย PSA ในเลือดอาจสูงขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ของต่อมลูกหมาก ได้แก่ การอักเสบ และ โตชนิดธรรมดา เมื่อพบภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องทำ Ultrasound ต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อดูขนาดปริมาณของต่อม เพื่อนำมาเปรียบเทียบหาความหนาแน่นของ PSA (Density) สูงกว่า 0.15 ให้สงสัยในต่อมบางส่วนจะมีมะเร็งเกิดขึ้น เป็นการสนับสนุนให้ทำการเจาะเอาชิ้นเนื้อของต่อมออกมาตรวจทางพยาธิสภาพ

การทำ Ultrasound ของต่อมลูกหมากทางทวารหนักถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการนำไปสู่ การวินิจฉัยของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยสามารถเลือกพื้นที่เจาะตามที่แพทย์ต้องการ ซึ่งอาจเป็นบริเวณของก้อนที่ปรากฏในภาพ (สีจางกว่าพื้นที่อื่น) หรือเป็นการเจาะเอาชิ้นเนื้อทุกบริเวณของต่อมออกมาตรวจ ในระยะที่ไม่ปรากฏมีก้อนที่จอภาพ (สนับสนุนการเป็นมะเร็งจากการตรวจ PSA)

ในรายที่ชิ้นเนื้อเจาะออกมา ไม่แสดงเป็นมะเร็งชัดเจนหรือสงสัย จำเป็นต้องจัดผู้ป่วยประเภทนี้ไว้ในกลุ่มติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อไป (ตรวจซ้ำอีก 3 เดือน) หากชิ้นเนื้อไม่ปรากฏ มีเซลล์มะเร็ง(ทุกชิ้นที่นำออกมาตรวจ) ให้ถือเป็นการติดตามปกติ (ตรวจย้ำอีก 6 เดือน – 1 ปี)

การเจาะเอาชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา มีอันตราย และอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อเพราะต้องเจาะผ่านผนัง สำไส้ใหญ่ ส่วนล่าง จึงต้องมีการเตรียมคนไข้ก่อนเจาะ ให้ยาปฏิชีวนะล่วงหน้า และเตรียมลำไส้ใหญ่ให้สะอาดรวมทั้งต้องอาศัยแพทย์ผู้มีความชำนาญเพื่อไม่ให้มีการเจาะผิดพื้นที่ การเจาะที่กระทำในปัจจุบัน ใช้เครื่อง Ultrasound และProbe ใส่ทวารหนักเป็นตัวควบคุม

การตรวจต่อมลูกหมากในผู้สูงอายุมีวัตถุประสงค์ที่จะพบมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมากได้เร็วที่สุดเพราะเป็นเวลาระยะของโรคที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีทางศัลยกรรม หรือการฉายแสง และฝังแร่

เมื่อผลการตรวจชิ้นเนื้อชี้บ่งว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยรวบรวมข้อมูลดังต่อไปนี้

1. มีสิ่งใดสนับสนุนว่ามะเร็งได้กระจายออกนอกต่อมลูกหมาก และหากมีได้กระจายไปยังที่ใด
2. อายุและสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอายุต่อไปได้ไม่เกิน 10 ปี  จะมีแผนการรักษาแตกต่างไปจากผู้ป่วยที่สามารถมีอายุต่อไปได้เกิน 10 ปี

แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

1. ในรายที่มะเร็ง ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการกระจายออกภายนอก มีวิธีรักษา 2 วิธี คือ
1.1 การผ่าตัด เอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด หรือ
1.2 การฝัง RADIOACTVE SEED IMPLANTS (BRACHYTHERAPY)

2. ในรายที่มะเร็งได้ออกนอกต่อมลูกหมากแล้ว การรักษากำจัดการสร้าง
TESTOSTERONE ของร่างกายซึ่งควบคุม โดย HYPOPHYSIS ซึ่งสร้าง HORMONE 2 ตัว คือ LUTEAL HORMONE RELEASING HORMONE (LHRH) และ ADRENO CORTICO TROPHIC HORMONE) ยาที่ผลิตขึ้นใช้ในปัจจุบัน คือ LASODEX และ CASODEX ซึ่งจะต้องเป็น COMBINATION THERAPY ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด BILATERAL ORCHIECTOMY (ตัดลูกอัณฑะทั้ง 2 ออก)ใช้แทน LASODEX ได้

มะเร็งต่อมลูกหมากที่หลุดพ้นจากการรักษา เมื่อกระจายไปยังโครงกระดูกของร่างกายโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง และเชิงกราน จะสร้างความปวด และทรมานอย่างมาก ข้อประจักษ์อันนี้สร้างความพยายามแก่วงการแพทย์ ที่จะวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากให้ได้ในระยะแรกเริ่ม และมีการติดตามอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทุกคน

สรุป  ผู้ชายทุกคนควรมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคร้ายแรงของต่อมลูกหมาก คือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก ดังนี้

1.  ผู้สูงอายุทุกคนจะประสบ, Benign Prostatic Hypertrophy และ มะเร็งของต่อมลูกหมากไม่มีความสัมพันธ์ หรือเกิดจากการเปลี่ยนสภาพของ Benign prostatic Hypertrophy ผู้ได้รับการรักษาหรือมีอาการของ Benign prostatic Hypertrophy ก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากได้  เพราะพื้นที่ ๆ เกิดมะเร็งเป็นพื้นที่แตกต่างไปจากการเกิด Benign prostatic Hypertrophy

2.  มะเร็งของต่อมลูกหมากที่ เกิดในผู้สูงอายุ (เกิน 75 ปี) ซึ่งมักจะมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย  การให้การรักษา ยึดหลักรักษาชีวิตผู้ป่วยไม่ใช่รักษามะเร็ง มะเร็งของต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่ไม่รุนแรง โตช้า  โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 10 ปี การเลือกวิธีให้การรักษาในคนไข้กลุ่มนี้จึงมุ่งให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในบั้นปลาย ให้ได้มีความสุขที่เหมาะสม การพิจารณาผ่าตัดทั้งหมด หรือบำบัดด้วยการฝังแร่จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

3.  เนื่องด้วยต่อมลูกหมากโต และมะเร็งของต่อมลูกหมาก สามารถป้องกันหรือยืดระยะเวลาการเกิดให้ยาวออกไป โดยปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตในด้านบริโภคอาหาร ที่มีไขมันน้อยลง การบริโภคอาหารที่เพิ่ม FIBER การเลือกบริโภคที่มีสารประเภท ANTIOXIDANT ของมะเร็งต่อมลูกหมาก (มะเขือเทศ) และการหลีกเลี่ยง ALCOHOL บุหรี่ จะลดอัตราของโรคช้าลงได้มาก

4. เมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี ควรพบแพทย์ เพื่อดูแลและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผู้ที่มีบิดา และปู่ ตา เป็นโรคนี้ ควรพบแพทย์เร็วขึ้น โดยเริ่มเมื่ออายุ 40 ปี

บทความจาก โรงพยาบาลวิภาวดี



ต่อมลูกหมาก กับสุขภาพ

ทำไมต้องรู้จักต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมาก มีการเกี่ยวข้องกับสุขภาพ (ผู้ชาย) ดังนี้

1. ต่อมลูกหมากโดยธรรมชาติ จะโตขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีการหยุด และเนื่องด้วยมีท่อปัสสาวะ ลอดผ่านภายในต่อมโอกาสที่ ท่อปัสสาวะ จะถูกบีบทำให้ท่อปัสสาวะอุดตันได้ และเนื่องด้วยเป็นที่ตั้ง ของหูรูด ของกระเพาะปัสสาวะความสมบูรณ์ของหน้าที่ของหูรูด ทั้งสองส่วน จะหย่อนสมรถภาพ ทำให้การเปิด – ปิด กระเพาะปัสสาวะบกพร่องได้ จึงเป็นปัญหาของชายวัยสูงอายุทุกคน ตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป

2. ต่อมลูกหมาก เหมือนอวัยวะอื่นๆ คือโอกาสของเชลล์ส่วนประกอบ อาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดร้ายได้ (CANCER) ประเทศที่ได้ศึกษา และมีผลการศึกษา เป็นที่ยอมรับ คือสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสถิติที่ได้แสดงว่า มะเร็งของต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งระดับสูงสุดของชายชาวอเมริกัน (อันดับสองเป็นมะเร็งปอด และอันดับสามเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่) โดยที่คนผิวดำ (Negro) จะเพิ่มสูงกว่าคนผิวขาวประมาณ 2:1  ทั้งนี้โดยเฉลี่ยคนอเมริกันชายจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในอัตรา 1:8 โดยมีคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดขึ้นใหม่ในอัตรา 1 ราย ทุก 3 นาที

การศึกษา วิจัย ของสหรัฐอเมริกา ได้กระทำอย่างกว้างขวาง รัฐบาลให้การสนับสนุน สร้างศูนย์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง และในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ผลสรุปชัดเจน มีความรู้เกิดขึ้นใหม่ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการรักษา การป้องกัน และการวินิจฉัยโรค ในระยะแรก ๆของโรค ปัจจุบันได้สรุปไว้ 2 ประการคือ

1.ด้านพันธุ์กรรม ผู้ใดที่มีบรรพบุรุษเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเป็นได้สูงขึ้น 15% และหากเป็นทั้ง 2 ด้าน คือทั้งฝ่าย บิดา – มารดา โอกาสจะสูงขึ้นไปอีก การศึกษาในด้านพันธุกรรม จะต้องศึกษาจากพี่น้องทุกคน และย้อนกลับไปถึง ขั้น ปู่ ย่า และ ตา- ยาย ทั้งนี้มะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ ได้มีส่วนในการสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ ของมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

2. ด้านสิ่งแวดล้อม ได้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วไป 2 ประการคือ

2.1 เรื่องอาหาร อาหารประเภทไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และไขมันประเภท Saturated fat (ไขมันอิ่มตัว) อื่นๆ จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง ต่อมลูกหมากสูงขึ้น ในขณะเดียวกันยอมรับว่า สาร และอาหารในกลุ่ม Carotenold (Vitamin A) ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากปลา และพืชผักที่มี Lycopene (ให้สีแดง ในผลไม้และผัก เช่นมะเขือเทศ) จะเป็นสารในกลุ่ม Antioxidant แก่ ตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งของต่อมลูกหมาก
การรับประทานอาหารที่มีใย (Fiber) มาก (ผัก และผลไม้) จะเป็นวิธีการกำจัดสารก่อมะเร็งของต่อมลูกหมากไม่เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย

2.2 เกี่ยวกับเรื่องมลภาวะเป็นพิษ จะมีส่วนให้เกิดมะเร็งของต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ทำงานในระบบการกำจัดน้ำเสีย , อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ , เกษตรกรที่ใช้ สารเคมีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งของต่อมลูกหมากสูง

เนื่องด้วยการเกิดมะเร็งของต่อมลูกหมากไม่มีความชัดเจน เป็นข้อบ่งชัดด้วยเหตุผล 2 ประการคือ อาการเหมือนกับอาการอื่น ๆ ของโรคทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย , ปัสสาวะเป็นเลือด และมีอาการปวดร่วมในเวลาถ่ายปัสสาวะ ประกอบกับโครงสร้างของต่อลูกหมาก แบ่งขอบเขตเป็นพื้นที่เฉพาะ 4 พื้นที่  มะเร็งของต่อมลูกหมากจะเริ่มที่บริเวณพื้นที่ผิวนอก (Peripheral ZONE) ซึ่งอยู่ห่างจากท่อปัสสาวะทำให้มะเร็งระยะแรก ไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ซึ่งแตกต่างจากต่อมลูกหมากที่โตตามธรรมชาติ (Benign Prostatic Hypertrophy) ซึ่งเกิดในบริเวณ Transition ZONE ซึ่งใกล้ชิดกับท่อปัสสาวะเมื่อโตขึ้น จะเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการได้เร็วนอกจากนี้ มะเร็งของต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่เติบโตช้า ไม่ลุกลามเร็ว อายุของโรคถ้าไม่มีการรักษาใดๆ จะอยู่ได้ประมาณ 10 ปี

3. ต่อมลูกหมากมีความใกล้ชิดกับอวัยวะขับถ่าย จึงมีโอกาส เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อทั้งในอุจจาระ และปัสสาวะ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และการกลั้นปัสสาวะ , กลั้นการหลั่งของอสุจิ เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของต่อมลูกหมาก ซึ่งมักจะเป็นในผู้ป่วยอายุต่ำกว่าผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากทั่วไป การอักเสบของต่อมลูกหมากเป็นได้หลายรูปแบบ  ได้แก่
  -  Acute Prostatitis เพิ่มการอักเสบรุนแรงโดยมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บบริเวณของต่อม (เหนือทวารหนัก และต่ำกว่าลูกอัณฑะ)
  -  Chronic Prostatitis เป็นการอักเสบไม่รุนแรง  มักเป็นในผู้ป่วยที่เป็น Acute มาก่อนแล้ว รักษาไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการอักเสบ ซ้ำๆได้
  -  Bacterial Prostatitis เป็นการอักเสบที่สามารถตรวจพบ Bacteria ในน้ำอสุจิในขณะที่มีการอักเสบ
  -  Non Bacterial Prostatitis เป็นการอักเสบที่ไม่สามารถตรวจพบ Bacteria ในน้ำอสุจิ ซึ่งจะเกิดในรายที่มีน้ำปัสสาวะไหลย้อนกลับไปในท่อของต่อมลูกหมาก
  -  การอักเสบของต่อมลูกหมากที่เรียกว่า Prostatodynia ซึ่งเกิดในผู้ป่วยมีอาการของต่อมลูกหมากอักเสบ เหมือนกับรายอื่นๆ ได้แก่ปวดบริเวณต่อมลูกหมากร่วมกับอาการถ่ายปัสสาวะบ่อย และลำบาก การอักเสบประเภทนี้ จะมีปัญหาในการรักษา เพราะมีสาเหตุไม่ชัดเจน  มีแต่อาการ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา(โครงสร้าง) ของต่อมลูกหมาก ที่แสดงถึงการ อักเสบ การรักษามุ่งแต่การรักษาระงับและผ่อนคลายของอาการ ส่วนการอักเสบของต่อมลูกหมากจากแบคทีเรีย จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในระยะเวลานาน 3 – 6 สัปดาห์ เพราะยาปฏิชีวนะซึมผ่านต่อมไขมันยาก

ต่อมลูกหมาก, ต่อมลูกหมาก หมายถึง, ต่อมลูกหมาก คือ, ต่อมลูกหมาก ความหมาย, ต่อมลูกหมาก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu