ทำเนียบรัฐบาล (Royal Thai Government House)
ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดในระดับชาติแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับเป็นที่ตั้งสำนักงานของหน่วยงาน ระดับกรมอีกหลายหน่วย ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนเป็นที่ประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ของส่วนราชการที่กล่าวแล้ว
นอกจากนี้ทำเนียบรัฐบาลยังเป็นสถานที่ ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับผู้นำชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยือนประเทศไทย และเข้าพบนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ในบางโอกาสรัฐบาลยังได้จัดงานเกี่ยวกับรัฐพิธีขึ้นที่นี่ เช่น งานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นต้น และใช้บริเวณกับอาคารบางหลังจัดต้อนรับข้าราชการ ประชาชน จัดสัมมนา จัดนิทรรศการและจัดเป็นสถานที่มอบ รางวัลเกียรติยศที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจัดขึ้น ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของทำเนียบรัฐบาล คือ ประวัติความเป็นมาและความงดงามทางรูปแบบสถาปัตยกรรมของ ตัวอาคารบางหลังที่มีมาก่อนเป็นทำเนียบรัฐบาล เป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างประเทศแม้ในปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของทำเนียบรัฐบาล
ก่อนเป็นทำเนียบรัฐบาล บริเวณพื้นที่ภายในรั้วกำแพงโดยรอบนี้ มีชื่อเดิมว่า "บ้านนรสิงห์" เจ้าของบ้านคือ "พลเอกพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ" (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางราชการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 กล่าวคือ ท่านเคยดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก องคมนตรี อุปนายกเสือป่า พลเอกกองทัพบก พลเรือเอกกองทัพเรือ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใกล้ชิดพระองค์อยู่ตลอดเวลา เช่น โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวยทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืนตลอดรัชกาลและตามเสด็จโดยลำพังกับพระองค์ เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาอาเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้มีการเจรจาขอซื้อหรือไม่ก็ขอเช่าบ้านนรสิงห์ ด้วยเห็นว่ามีความ สวยงาม เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แต่ความปรากฎในเวลาต่อมาว่า ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้านนรสิงห์ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ นายปรีดี พนมยงค์ เสนอขายบ้านนรสิงห์ ให้แก่รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าบำรุงรักษาสูง กระทรวงการคลังปฏิเสธ แต่ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรซื้อบ้านนรสิงห์ทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดตกลงซื้อขาย กันได้ในราคา 1 ล้านบาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทติย์ทิพอาภา และพลเอก เจ้าพระยาพิเชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) ได้ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วมอบ บ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้รัฐบาลใช้เป็นสถานที่สำหรับรับรองแขกเมืองและใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ดังนั้น "บ้านนรสิงห์" จึงเปลี่ยนเป็น "ทำเนียบสามัคคีชัย" และ "ทำเนียบรัฐบาล" โดยลำดับ สำนักนายกรัฐมนตรีจึงย้าย จากวังสวนกุหลาบมาอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาล และได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในราคา 17,780,802.36 บาท (สิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นแปดร้อยสองบาทสามสิบหก สตางค์) โดยคำนวณราคาจาก ต้นทุนรับซื้อบวกด้วยราคาซ่อมบำรุงคูณด้วย 15 แล้วลดราคาลง 20% ตามระเบียบของราชการใน สมัยนั้น และโอนกรรมสิทธิ์กัน ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดพระนคร เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512
ม็อบพันธมิตร บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล
กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยระดมพลเข้า ทำเนียบ เล็งปิดประตู 24 ชม.
วัน อังคาร ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ช่วง 19.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาลได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สลายตัวจากสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กระทรวงการคลัง ตลอดจนจุดชุมนุมอื่นๆ มาเพิ่มเติม ทำให้ถนนบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และสนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า แน่นไปด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันคน โดยไม่สนเส้นตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบทั้งหมดในเวลา 18.00 น. จนฝ่ายรักษาความปลอดภัยต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคนเข้ามาในทำเนียบฯ ขณะเดียวกันบรรดาแกนนำที่ขึ้นเวทีต่างประกาศปลุกระดมเรียกให้คนอยู่ร่วมชุมนุมตลอดทั้งคืน สลับการปราศรัยโจมตีขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้บรรดาผู้ชุมนุมส่งเสียงไชโยโห่ร้องอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลกว่า 200 คน ใส่เสื้อเหลืองปะปนร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงค่ำ นายพิภพ ธงชัย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีชั่วคราว ซึ่งเข้ามาตั้งในทำเนียบรัฐบาล โจมตีการทำงานของกรมสรรพากรที่พยายามจะให้ธนาคารไทยพาณิชย์เพิกถอนการอายัดเงิน 1.2 หมื่นล้านของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก คตส.สั่งอายัดไว้ว่า เป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์กล้างัดข้อกับกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นอีกหนึ่งอารยะขัดขืน รวมถึงกรณีการจะย้ายโรงเรียนโยธินบูรณะ เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ตามอำเภอใจ โดยไม่ทำประชาพิจารณ์ แล้วมาอ้างว่า มาจากการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมากทั้งที่โกงเลือกตั้ง เมื่อรวมถึงพฤติกรรมกินรวบของนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ตั้งคนของตัวเองมาคุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเข้ามาในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือว่าไม่ผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นเงินภาษีของประชาชน และเป็นการเข้ามาอย่างสงบ แม้ นายสมัครจะประกาศจับ 5 แกนนำ เราก็พร้อมสู้คดีถึงที่สุด เพราะขณะนี้ข่าวพันธมิตรฯแพร่ไปทั่วโลกแล้ว และในช่วง 21.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯจะทำการปิดประตูทำเนียบรัฐบาล ทุกประตู โดยจะเหลือไว้เพียงประตู 5 ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเปิด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ผู้ชุมนุมได้เข้า-ออก