พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น ไว้โดยมาตราต่อไปนี้
หมวด ๑
ข้อความทั่วไป
มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร ทั้งหลาย
มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ
๑. กษัตริย์
๒. สภาผู้แทนราษฎร
๓. คณะกรรมการราษฎร
๔. ศาล
หมวด ๒
กษัตริย์
มาตรา ๓ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์
มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบ มฤดกให้ให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราช สันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้ แทนราษฎร
มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็น ผู้ใช้สิทธิแทน
มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย
มาตรา ๗ การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎร ผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะ กรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
หมวด ๓
สภาผู้แทนราษฎร
ส่วนที่ ๑ อำนาจและหน้าที่
มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติ ทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้ แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้
ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายใน กำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้น จากสภา โดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่ง พระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภา มีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมาย ได้
มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการ ของประเทศ และมีอำนาจประชมกันถอดถอนกรรมการ ราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้
ส่วนที่ ๒ ผู้แทนราษฎร
มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไป ตามกาลสมัยดั่งนี้
สมัยที่ ๑ นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิก ในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษา พระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎร ชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒ ภายในเวลา ๖ เดือนหรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติ เรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการ ร่วมกัน คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้ จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑
ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวน เท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่า ผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่ เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ
สมัยที่ ๓ เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชา ปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่ เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทน ราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิก ประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป
มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทน ประเภทที่ ๑ คือ
๑. สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตร์ซึ่งสภาจะได้ ตั้งขึ้นไว้
๒. มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๔. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก
๕. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
๖. ฉะเพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ใน สมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย
มาตรา ๑๒ การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทำ ดั่งนี้
๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทน ตำบล
๒. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
๓. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทน ราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภาย หลังโดยจะดำเนินวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภา โดยตรง
มาตรา ๑๓ ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราว ละ ๔ ปีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้ว แม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้อง ออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับ ตำแหน่ง
ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราว ออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่าง แต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลา ที่ผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้
มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ
๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๒. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๓. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง
๔. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลให้เป็นไป เหมือนดั่งมาตรา ๑๑
มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใด ๆ ให้ถือตามคะแนน เสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่ ๒ มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้
มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวร จะต้องออกจาก ตำแหน่ง ให้นับว่าขาดจากตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติดั่ง กล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือ เมื่อสภาได้ได้วินิจฉัยให้ออกในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้นำความ เสื่อมเสียให้แก่สภา
มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร เป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อน ศาลจึ่งจะรับฟ้องได้
ส่วนที่ ๓ ระเบียบการประชุม
มาตรา ๑๘ ให้สมาชิกเลือกกันขึ้นเป็นประธานของ สภา ๑ นายมีหน้าที่ดำเนิรการของสภา และมีรองประธาน ๑ นายเป็นผู้ทำการแทน เมื่อประธานมีเหตุขัดข้องชั่วคราว ที่จะทำหน้าที่ได้
มาตรา ๑๙ เมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถมาได้ ก็ให้รองประธานแทนเป็นผู้รักษาความเรียบร้อยในสภา และ จัดการให้ได้ปรึกษาหารือกันตามระเบียบ
มาตรา ๒๐ ถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ทั้ง ๒ คนก็ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธาน คนหนึ่งชั่วคราวประชุมนั้น
มาตรา ๒๑ การประชุมปกติให้เป็นหน้าที่ของสภาเป็นผู้กำหนดการประชุมพิเศษจะมีได้ต่อเมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกัน ไม่น้อยกว่า ๑๕ คนได้ร้องขอหรือคณะกรรมการราษฎรได้ร้อง ขอให้เรียกประชุม การนัดประชุมพิเศษ ประธานหรือผู้ ทำการแทนประธานเป็นผู้สั่งนัด
มาตรา ๒๒ การประชุมทุกคราวต้องมีสมาชิกมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึ่งจะเป็นองค์ ประชุมปรึกษาการได้
มาตรา ๒๓ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือ เอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียง หนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียง หนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๔ สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใด ๆ ที่ได้ กล่าวหรือแสดงเป็นความเห็นในการออกเสียงลงคะแนน ในที่ประชุม ผู้หนึ่งผู้ใดจะว่ากล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้น หาได้ไม่
มาตรา ๒๕ ในการประชุมทุกคราวประธานต้องสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ประจำในสภาจดรายงานรักษาไว้ และเสนอเพื่อ ให้สมาชิกได้ตรวจแก้ไขรับรอง แล้วให้ผู้เป็นประธานใน ที่ประชุมลงนามกำกับไว้
มาตรา ๒๖ สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องใด เรื่องหนึ่งขึ้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อปรึกษาหารือตกลงอีก ชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้นเมื่อสภาไม่ได้ตั้งก็ให้ อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้
อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความ เห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดง ความเห็นตามมาตรา ๒๔
ในการประชุมอนุกรรมการนั้นต้องมีอนุกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่า ๓ นายจึ่งจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้ เว้นแต่อนุกรรมการนั้นจะมีจำนวนตั้งขึ้นเพียง ๓ คน เมื่อมา ประชุมแค่ ๒ คนก็ให้นับว่าเป็นองค์ประชุมได้
มาตรา ๒๗ สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ (ในชั้นแรกนี้ให้ อนุโลมใช้ข้อบังคับสภากรรมการองคมนตรีฉะเพาะที่ไม่ขัด กับธรรมนูญนี้ไปพลางก่อน)
หมวดที่ ๔
คณะกรรมการราษฎร
ส่วนที่ ๑ อำนาจและหน้าที่
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าที่ ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภา
มาตรา ๒๙ ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้นซึ่งคณะกรรมการจะ เรียกประชุมสภาราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการ ราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมาย เพื่อให้เหมาะแก่การ ฉุกเฉินนั้น ๆ ก็ทำได้ แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภา รับรอง
มาตรา ๓๐ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจให้อภัยโทษ แต่ให้นำความขึ้นขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน
มาตรา ๓๑ ให้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง
สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งหรือระเบียบการของคณะ กรรมการราษฎร หรือกระทำไปโดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำ ได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ
ส่วนที่ ๒ กรรมการราษฎรและเจ้าหน้าที่ประจำ
มาตรา ๓๒ คณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร ๑๔ นาย รวมเป็น ๑๕ นาย
มาตรา ๓๓ ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้ ๑ ขึ้นเป็น ประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกใน สภาอีก ๑๔ นายเพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับ ความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้น ๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่ากรรมการมิได้ดำเนิน กิจการตามรัฐประศาสโนบายของสภา สภามีอำนาจเชิญ กรรมการให้ออกจากหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวใน ตอนนั้น
มาตรา ๓๔ กรรมการคนใดมีเหตุอันกระทำให้กรรมการ คนนั้นขาดคุณสมบัติอันกำหนดไว้สำหรับผู้แทนในมาตรา ๑๑ ก็ตาม หรือตายก็ตาม ให้สภาเลือกกรรมการแทนสำหรับ ตำแหน่งนั้น ๆ
ในเมื่อสภาได้เลือกตั้งกรรมการแล้ว สภาชุดนั้นหมด กำหนดอายุตำแหน่งเมื่อใด ให้ถือว่ากรรมการชุดนั้นย่อม หมดกำหนดอายุตำแหน่งด้วย
มาตรา ๓๕ การตั้งการถอดตำแหน่งเสนาบดี ย่อมเป็น พระราชอำนาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจจะทรงใช้แต่ โดยตามคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร
มาตรา ๓๖ การเจรจาการเมืองกับต่างประเทศเป็นหน้าที่ ของกรรมการผู้แทนราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อ การนี้ได้
การเจรจาได้ดำเนินไปประการใดให้กรรมการรายงานกราบ บังคมทูลกษัตริย์ทรงทราบ
การให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรีเป็นพระราช อำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำ แนะนำของกรรมการราษฎร
มาตรา ๓๗ การประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของ กษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของ กรรมการราษฎร
ส่วนที่ ๓ ระเบียบการประชุม
มาตรา ๓๘ ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการ ราษฎรให้อนุโลมตามที่บัญญัติในหมวดที่ ๓
หมวดที่ ๕
ศาล
มาตรา ๓๙ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในเวลานี้
ประกาศมาณวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ และให้ใช้บังคับได้แต่บัดนี้เป็นต้นไป
(พระบรมนามาภิธัย) ประชาธิปก ป.ร.
เล่ม 49 หน้า 166 วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
ข้อมูลจาก : https://www.pub-law.net/library/ocons/c2475_1.html