ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึง, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหมาย, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๒) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีทั้งด้านอักษรศาสตร์ โบราณราชประเพณี วิชาการสงคราม และการปกครอง ทั้งยังทรงใฝ่พระทัยศึกษาพระธรรมวินัย ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ และเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ขณะทรงมี พระชนมพรรษาเพียง ๑๖ ปี โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราช การแทนพระองค์ จนทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖  เสด็จ ครองราชย์นานถึง ๔๒ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

พระราชประวัติ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันอังคาร ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับ เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู ทรงพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับผม หรือ พระเกี้ยว สำหรับ ประดับหัวจุกของเด็กไทยโบราณ

พระองค์ทรงมีขนิษฐาร่วมพระสมเด็จพระบรมราชินี ๓ พระองค์ คือ

          ๑. สมเด็จพระเจ้าน้องนางยาเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี  ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯเฉลิมพระนามอัฐิ เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์

          ๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี  ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้น เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์

          ๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้น เป็น สมเด็จพระราชปิตุลา
บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในจำนวนพระราชโอรส ธิดา ทั้งสิ้น ๘๒ พระองค์ ในราชวงศ์จักรี ในขณะพระชันษา ๙ พรรษา ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเณศ วรสุรกาศ ตรงกับ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ต่อมาอีก ๔ ปี ก็ได้รับสถาปนาเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ต่อมาในปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๑ ได้ทรงกำกับราชการในกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมทหารบกวังหน้าในช่วงซึ่งพระองค์ได้ ตามเสด็จพระราชบิดา เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้เกิดประชวรด้วยไข้ป่าอย่างแรงทั้งสองพระองค์ ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสู่สวรรคต ในขณะซึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
กรมขุนพินิตประชานาถ มีพระชนมายุเพียง ๑๕ ปี กับ ๑๐ วัน ทั้งยังทรงประชวร ด้วย ไข้ป่าอย่างหนักเกือบจะสิ้นพระชันษาด้วย

          ต่อมาพระองค์ได้รับให้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ด้วยที่วัยพระองค์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งตรงกับ วันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ได้สถาปนากรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นเป็น พระมหาอุปราช ต่อมาก็ได้ปรากฏ พระนามว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา เมื่อ วันพุธที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ และทรงลาผนวชใน วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ แล้วทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ครั้งที่ สอง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมเหสี และ เจ้าจอมรวม ๙๒ พระองค์ มีพระราชโอรส ๓๒ พระองค์ พระราชธิดา ๔๔ พระองค์ ประสูติจากพระมเหสี และ เจ้าจอมมารดา เพียง ๓๖ พระองค์ อีก ๕๖ พระองค์ ไม่มีพระราชโอรส ธิดาเลย สำหรับ พระมเหสี ที่สำคัญ จะกล่าวถึง มีดังนี้

          ๑. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตนพระบรมราชเทวี

          ๒. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

          ๓. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

          สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ตลอดที่พระองค์ทรงครองราชย์ ถึง ๔๒ ปี นอกเหนือจากที่พระองค์ ทรงครองราชย์ ถึง ๔๒ ปี นอกเหนือจากที่ยาวนานกว่า พระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารทุกพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงด้วยพระปรีชาสามารถ อย่างเฉลียวฉลาดพัฒนาฟันฝ่าอุปสรรคนานับประการ ทั้งต่อสู่กับการไล่ล่าเมืองขึ้นของบรรดาชาติมหาอำนาจในยุคนั้น มาได้แม้จะเป็นการสูญเสียดินแดน ไปบางส่วน แต่พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสุขุมพาประเทศชาติของพระองค์รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ น่าทึ่งสำหรับซีกโลกส่วนนี้ของโลก ที่ ประเทศสยามแห่งนี้มิได้ตกเป็นทาสใครด้วยสายตามองทางไกลของพระองค์ ได้ทรงพัฒนานำความเจริญก้าวหน้าเร่งรัดในแขนงวิชาการการศึกษาการปกครอง การศาล การต่างประเทศ การสาธารณูปโภค ทั้งยังทรงสนพระทัยถึงความเป็นอยู่ของประชาชนทรงออกเยียมประชาราษฎร์อยู่เป็นเนืองนิจ พระองค์จึงเป็นที่จงรักภักดี ของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน

          การเสด็จยังต่างประเทศ เปรียบเสมือนเปิดประตูสู่โลกกว้างในช่วงของต้นรัชกาล พระองค์ทรงเสด็จสิงคโปร์ ชวา พม่า อินเดีย และ หลายๆ ประ เทศในยุโรปถึง ๒ ครั้ง ด้วยกัน คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ และในปี พ.ศ.๒๔๕๐ แนวทางความสัมพันธ์ด้วยการทูตของพระองค์ท่านทำให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วยุโรป ข้อพิพาท และ ปัญหาต่างๆก็ได้คลายเบาบางลงความลึกซึ้งพระปรีชาของพระองค์ ได้ทำให้ปัญหาต่างๆทั้งเรื่องของชายแดนไทย-อังกฤษหรือกับฝรั่งเศส ก็ผ่อนคลายในที่สุด

          ความล้ำลึกในพระปรีชาสามารถในด้าน วรรณกรรม พระองค์ก็ทรงเป็นได้ทั้ง กวี และ นักประพันธ์ที่มีความสามารถอย่างลึกซึ้ง การแต่งโคลง ฉันท์ บทละครกาพย์ กลอน หรือ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ทั้งที่พระองค์ทรงมีภารกิจอยู่มากมาย แต่ก็ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดั่งที่ปรากฏงานพระราชนิพนธ์เป็นที่ประจักษ์มีมากกว่า ๓๐ เรื่องซึ่งก็มีบางเรื่องที่มีความหนาถึงกว่า ๕๐๐ หน้าก็มี ดั่งบางพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งของพระองค์

          ความรู้  คู่เปรียบด้วย  กำลัง กายเฮย 
          สุจริต  คือเกราะบัง  ศาสตร์พ้อง 
          ปัญญา  ประดุจดัง อาวุธ 
          คุมสติ  ต่างโล่ป้อง  อาจแกล้ว กลางสนาม

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร พระวักกะ (ไต) พิการ กระทั่งเวลา ๒๔ นาฬิกา ๔๕ นาที ของคืนวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระองค์ก็ เสด็จสู่สวรรคต รวมพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ทรงเสวยราชย์ ๔๒ ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินสยาม พระราชกรณีกิจสุดคณานับ ยังทั้งประโยชน์ ความเจริญรุ่งเรือง นำชาติให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ พระคุณสุดล้นที่จะพรรณนาจากใจของประชาชนชาวไทยได้หมด พระองค์จึงเป็นที่รักเคารพของคนไทยเสมอมา

          สมเด็จพระปิยมหาราช เป็นพระสมัญญาที่พสกนิกรทั้งพระเทศถวายแด่พระองค์ โดยพระสมัญญานี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ทรงคิด ซึ่งปรากฏอยู่บนจารึกใต้ฐาน ของพระบรมรูปทรงม้า



พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๕

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เรียกว่าพระเกี้ยวเป็นรูปพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี (พระเกี้ยว) ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งแปลความหมายว่าศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่น สุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลอง พระราชลัญจกร ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ



พระราชกรณียกิจ ด้านสังคม

การปกครอง

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งทรงประเพณีการปกครองของไทยอย่างเก่าแต่โบราณมาผสมผสานกับประเพณีการปกครองอย่างนิยมกันในทวีปยุโรป แล้วทรงปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นลำดับ ตามลำดับ ตามสถานการณ์และความเหมาะสม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พระองค์ทรงดำริและริเริ่มในแผ่นดิน ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยที่มุ่งหวังให้เท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระองค์ทรงมิได้ปฎิบัติพระองค์แบบผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ทรงให้อิสระทางความคิดและทรงแต่งตั้งบุคคลเพื่อถวายความคิดเห็นแก่พระองค์ ทรงโปรดให้แต่งตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน(Council of State) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช  ๒๔๑๗  และปีเดียวกันทรงตั้งสภาองคมนตรี(Privy Council) ขึ้นเป็นสภาที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์

          ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะกรมขึ้นเป็นกระทรวงมีเสนาบดีเป็นเจ้ากระทรวง จัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ในปลายรัชกาลได้ปรับปรุงกระทรงใหม่เหลือ ๑๐ กระทรวง

          การปกครองในส่วนภูมิภาค โปรดให้จัดตั้งแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๔๓๗ คือ รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล ซึ่งมีถึง ๑๔ มณฑล แต่ละมณฑลมีจังหวัดคือเมืองในปกครอง ๓-๔ จังหวัดหนึ่งแบ่งเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ผู้บริหารมณฑล เรียกว่า "สมุหเทศาภิบาล" หรือข้าหลวงใหญ่ ส่วนผู้บริหารจังหวัดเรียกว่า "ข้าหลวงจังหวัด" ขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑล มีนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ปกครองเขตท้องที่ในจังหวัดทุกมณฑลมีกองทัพมณฑลไว้ป้องกันเหตุร้าย โดยมีแม่ทัพมณฑลขึ้นตรงต่อเสนาบดีกลาโหม ซึ่งมีเสนาบดีกระทรวงดูแลเป็นสัดส่วนขึ้นมาถึงพระมหากษัตริย์ องค์พระผู้เป็นประมุขของประเทศทำให้การปกครองสามารถสร้างเอกภาพได้ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรับพระราชทานเงินเดือนประจำ และมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองโดยยึดถือความรู้ ความสามารถแทนการสืบสายโลหิต ทั้งเพื่อให้บริหารราชการแผ่นดินเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วพระอาณาเขต

การเลิกทาส

          ประเทศไทยนั้นมีการใช้ทาสมาเป็นเวลานานเพื่อใช้ทำกิจการต่างๆ ในบ้านเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่สูงศักดิ์ พระองค์ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไป ด้วยทรงพระราชดำริกับเสนาบดีและข้าราชการเกี่ยวกับเรื่องทาส  พระองค์ทรงคิดหาวิธีจะปลดปล่อยทาสให้ได้รับความเป็นไท ด้วยวิธีการละมุนละม่อม ทำตามลำดับขั้นตอน

          ในปี พุทธศักราช ๒๔๑๗ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุของลูกทาสโดยกำหนดเอาไว้ว่าลูกทาสที่เกิดแต่ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ อันเป็นปีแรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ก็ให้ใช้อัตราค่าตัวเสียใหม่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้  พออายุครบ ๘ ปี ก็ให้ตีค่าออกมาให้เต็มตัว จนกว่าจะครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ให้กลับเป็นไทแก่ตัว เมื่อก้าวพันเป็นอิสระแล้วห้ามกลับมาเป็นทาสอีก ทรงพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้คนขายตัวเป็นทาส จึงประกาศยกเลิกบ่อนเบี้ย และขยายระบบการศึกษาให้เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น

          ตลอดรัชกาลได้ทรงพระราชกาลได้ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสหลายฉบับ ออกบังคับใช้ในมณฑลต่างๆ ให้ลูกทาสเป็นไท ประกาศประมวลกฎหมายลักษณะอาญากำหนดบทลงโทษแก่ผู้ซื้อขายทาสให้มีความผิดเช่นเดียวกับโจรปล้นทรัพย์ ทรงกระทำเป็นแบบอย่างแก่บรรดาเจ้านายและขุนนางในการบำเพ็ญกุศลด้วยการบริจาคพระราชทัรพย์ไถ่ถอนทาส พร้อมพระราชทานที่ทำกินเป็นผลให้ระบบทาสที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายร้อยปี ก็ได้ถูกยกเลิกไปจนหมดสิ้น ด้วยพระราชหฤทัยแน่วแน่และทรงพระราชอุตสาหะ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีก็ทรง ก็ทรงเลิกทาสสำเร็จในพุทธศักราช ๒๔๔๘ สมตามพระราชปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้ พระราชกรณียกิจสำคัญนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของพลเมืองจากทาสมาเป็นสามัญชน มีอิสรภาพทางสังคมเท่าเทียมกัน

การเสด็จประพาสต้น และประพาสหัวเมือง

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการเสด็จประพาสยิ่งนัก ซึ่งจัดเป็นพระราชกรณียกิจเฉพาะพระองค์ เนื่องจากทรงปรารถนาที่จะทรงทำนุบำรุงราษฎร พระองค์ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ ตามพระราชปณิธานที่พระราชทานแก่ประชาชนคราวเสด็จกลับจากประเทศยุโรปว่า " เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างสุด ที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่งซึ่งมีอิสรภาพ และความเจริญ"

          พระองค์ทรงเสด็จประพาสไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ในพระราชอาณาจักร เพื่อตรวจจัดการปกครอง และสำราญพระอริยบถ ซึ่งการเสด็จพระพาสหัวเมืองภายในนั้น พระองค์เสด็จอย่างเป็นทางการมิได้เสด็จเยี่ยงพระมหากษัตริย์เสมอไป บางครั้งก็เสด็จอย่างสามัญชน บางครั้งก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารทางรถไฟมิให้ใครรู้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เสด็จประพาสต้น" ในการเสด็จสมาคมกับราษฎรอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เองนั้น ทำให้ทรงได้พบเห็นการปกครองของข้าราชการที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ออกไปทำงานต่างพระเนตรต่างพระกรรณอีกด้วย

การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินพระราโชบายโดยหลักสัมพันธไมตรีผ่อนหนักผ่อนเบา ถือเอาแต่สาระประโยชน์เป็นสำคัญ จึงทรงสามารถระงับเหตุการณ์อันเกิดขึ้นในขณะนั้นได้

          ส่วนความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ได้ทรงมีพระราชไมตรีกับประเทศออสเตรีย และฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ทรงรักษาความสัมพันธ์กับประเทศทีมีไมตรีกันมาแต่ก่อนแล้วให้ยืนยงมีราชการไปมาต่อกันมากขึ้น แต่งตั้งอัครราชทูตให้ประจำ ณ สำนักต่างๆ เป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๔ แม้จะมีข้อบาดหมางกับบางประเทศด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งต่างรักษาผลประโยชน์ของตน พระองค์ยังทรงมุ่งหวังผลแห่งการประนีประนอมยอมตกลงกันโดยไมตรีทำให้พระเกียรติยศแผ่กว้างขวางออกไป เมื่อมีการประชุมนานาประเทศด้วยกิจการใดจึงได้รับเชิญเนืองๆ เช่น การประชุมสากลไปรษณีย์ ณ เมืองเบอร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และการประชุมเรื่องการรักษาความสงบระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

          ในรัชกาลของพระองค์ มีพระมหากษัตริย์ตลอดจนเจ้านายต่างประเทศเสด็จเข้ามาเยือนไทยหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ พระเจ้ากรุงรัสเซีย ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร เจ้าชายวัลดิมาร์ และเจ้าชายแอกเซล แห่งเดนมาร์ก เป็นต้น

การเสด็จประพาสต่างประเทศ

          ในการเจริญสัมพันธไมตรีประเทศนั้น ความสำคัญประการหนึ่งก็คือ การเสด็จประพาสยังต่างประเทศ ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรแบบอย่างอันดีของประเทศนั้นๆ เพื่อนำกลับมาปรับปรุงพัฒนาบ้านเมืองตามความเหมาะสมอีกด้วย

          ปีพุทธศักราช ๒๔๑๓ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกทรงเลือกที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกทรงเลือก

 



พระราชกรณียกิจ ด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค

สาธารณสุข

          พุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตรา "พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.๑๑๖" โดยมีกระทรวงนครบาลเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเป็นตัวอย่างแก่หัวเมืองทั่วไป และโปรดให้ตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้น ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการสุขาภิบาลในหัวเมืองต่างๆ เริ่มที่ตำบลท่าฉลองจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแห่งแรก ทรงออกประกาศและตรากฎหมายเกี่ยวกับสุขาภิบาลหลายฉบับ เช่น ประกาศจัดการทำความสะอาดพระนคร ประกาศเกี่ยวกับการเผาศพตามวัดต่างๆ ห้ามทิ้งซากสัตว์ลงในที่สาธารณะ ห้ามขีดเขียนตามกำแพง ให้จัดการทำลายขยะมูลฝอย ฯลฯ และโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค เป็นต้น

          ในเรื่องสิ่งเสพติด ทรงมีพระราชดำริว่า สิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลายล้วนนำความเสื่อมโทรมมาสู่ร่างกาย และเป็นความเสียหายอย่างยิ่งแก่บ้านเมือง จึงทรงโปรดให้ออกประกาศห้ามสูบฝิ่นและผสมฝิ่นเป็นยา พระราชบัญญัติกำหนดโทษผู้ทำฝิ่นเถื่อน ในที่สุดโปรดยกเลิกโรงฝิ่นในกรุงเทพฯ ได้ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง เมื่อถึงปลายรัชกาล

การแพทย์และกิจการโรงพยาบาล

          พุทธศักราช ๒๔๒๗ พระองค์ทรงดำริที่จะสร้างโรงพยาบาล เพื่อใช้เป็นที่รักษาประชาชน แบบแพทย์แผนใหม่ที่ทันสมัยอย่างในต่างประเทศ เพราะการรักษาแบบยากลางบ้านนั้นล้าสมัยเมื่อเกิดโรคระบาดจะไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายในสมัยก่อน

          ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๑ เปิดดำเนินการโรงพยาบาลขึ้นที่บริเวณพระราชวังหลัง เดิมชื่อโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่า "ศิริราชพยาบาล"

          พุทธศักราช ๒๔๓๒ โปรดให้มีการสอนวิชาแพทย์แผนใหม่ และจัดตั้งราชแพทยาลัย มีนายแพทย์จอร์จ แม็คฟาแลนด์(พระอาจวิทยาคม) เป็นผู้อำนวยการ ภายหลังมีแพทย์ประจำตามหัวเมือง และมีการแพทย์ทหารด้วย

          พุทธศักราช ๒๔๓๖ ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จัดซื้อเครื่องเวชภัณฑ์ส่งไปช่วยผู้ป่วยในการรบกันในกรณีพิพาทเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงชักชวนสุภาพสตรีในราชสำนักร่วมกันตั้งกองบรรเทาทุกข์เรียกว่า "สภาอุณาโลมแดง" ซึ่งก็คือสภากาชาดไทยในปัจจุบัน

การประปา

          พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศไทยควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองอาจก่อให้เกิดโรคระบาดดังที่เป็นมาในอดีตได้ในปี ๒๔๕๒ โปรดเกล้าฯให้พระยายมราช(ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดการประปาในกรุงเทพฯ โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสมาจัดหาน้ำบริโภคที่สะอาดสำหรับประชาชน ในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๒ โปรดให้ทำการเก็บกักน้ำที่คลองเชียงรากน้อย แขลงเมืองปทุมธานี และขุดคลองประปาสำหรับส่งน้ำเข้ามาถึงคลองสามเสน พร้อมกับฝังท่อและติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบเป็นการประปาขึ้น แต่มิทันได้เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน และกิจการนี้มาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖

การไฟฟ้า

          พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์มาก เมื่อทรงมีโอกาสไปประพาสต่างประเทศได้ทรงทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดจากการมีไฟฟ้า จึงทรงริเริ่มให้มีการใช้ไฟฟ้าขึ้นในพระราชอาณาจักร โดยในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต) ซึ่งขณะนั้นเป็นกรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นผู้นำมาใช้คนแรก

          พุทธศักราช ๒๔๓๓ ตั้งโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๔๓๖ ต่อมาเพื่อให้กิจการไฟฟ้าก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลได้โอนกิจการให้ผู้ชำนาญด้านนี้ ได้แก่ บริษัทอเมริกัน ชื่อ แบงค็อค อิเลคตริกซิตี้ ซิดิแคท เข้ามาดำเนินงานต่อ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๗  บริษัทเดนมาร์กได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเดินรถรางที่บริษัทได้รับสัมปทานการเดินรถในเขตพระนคร ต่อมาบริษัทต่างชาติทั้ง ๒ บริษัทได้ร่วมกันรับช่วงงานจากกรมหมื่นไวยวรนาถ และก่อตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าสยาม ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ นับเป็นการบุกเบิกไฟฟ้าครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ในการเริ่มมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก



พระราชกรณียกิจ ด้านการศาสนา

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ทุกศาสนา ในส่วนศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาตินั้นทรงยึดมั่นและเลื่อมใสอย่างลึกซึ้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ โปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนา และจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และแจกจ่ายตามพระอารามและหอสมุดต่างๆ ชุดละ ๓๕ เล่ม รวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ ชุด ซึ่งเรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรก โปรดเกล้าให้ตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วัด มหาธาตุฯ และมหามงกุฎราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศ

          ในการเสด็จประพาสอินเดียเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๔ ยังทรงนำพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา มาทรงปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตร และที่วัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชัง และโปรดให้สร้างวัด ต่างๆ เช่น วัดราชบพิธ เป็นวัดประจำรัชกาล วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดราชาธิวาส วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ (บางปะอิน) วัดอัษฎางคมิตร วัดจุฑาทิศ ธรรมสภาราม (เกาะสีชัง จ.ชลบุรี)

          สำหรับวัดเก่าที่เสื่อมโทรมนั้นพระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฎิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี วัดสุวรรณดาราม และพระปฐมเจดีย์ ทรงสร้างต่อจากสมด็จพระบรมราชชนกจนแล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://mahamakuta.inet.co.th
www.kingchulalongkorn.com/
www.lib.ru.ac.th

 



พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่าประเทศจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อ คนในชาติมีความรู้และเป็นพลเมืองดี โปรดให้ทำการฎิรูปการศึกษา  ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างและเตรียมงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองอย่างทันกาล พระองค์จึงทรงพยายามจัดการศึกษาเพื่อราษฎรทั่วไปอย่างแพร่หลาย  เป้าหมายหลักในการจัดการศึกษาในรัชสมัยของพระองค์มีสามประการ คือ เพื่อฝึกคนทำราชการ เพื่อคุณประโยชน์ของประชาชน และเพื่อบำรุงรักษาพระศาสนา

          ในระยะแรกระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๔-๒๔๒๗ ได้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมราชวัง เพื่อให้พระราชวงศ์และข้าราชการส่งบุตรหลานของตนเข้าฝึกหัดเพื่อรับราชการ ตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อราษฎรแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพารามในพุทธศักราช ๒๔๒๗ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ได้จัดการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

          ปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการ และพุทธศักราช ๒๔๓๕ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นกระทรวงธรรมการ เมื่อการศึกษาขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับด้วยความสนใจของประชาชนที่ต้องการมีความรู้มากขึ้นจึงโปรด ให้โอนโรงเรียนเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงธรรมการ มีการพิมพ์ตำราสอนพระราชทาน เพื่อเป็นตำรา ในการเรียนการสอนด้วย พุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งทุนเล่าเรียนหลวง เปิดโอกาสให้ชนทุกชั้นที่มีความรู้ความสามารถได้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ และนับตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๔๑ เป็นต้นมา การศึกษาของชาติทั้งในกรุงและหัวเมือง ก็ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะปริมาณจำนวนโรงเรียนครูและนักเรียนได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่าเดิมมาก

          ส่วนการศึกษาของสตรีนั้น ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสตรี ชื่อว่า โรงเรียนบำรุงสตีรวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีอีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาของสตรีนั้นเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น เพราะโลกได้เจริญขึ้นไปมากแล้ว การเรียนจึงจำเป็นสำหรับทุกคนไม่ว่าบุรุษหรือสตรี พระราชกรณียกิจในด้านการศึกษา จึงนับว่าเป็นการปฏิรูปสังคมที่สำคัญยิ่งทางหนึ่งและเป็นการพัฒนาคนอย่างแท้จริง


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึง, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหมาย, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu