การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่สร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมากว่า 40 ปี ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนและรณรงค์ให้มีการบริโภคนมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวม 23,439 ครอบครัว มีจำนวนโคนมทั้งหมด 408,350 ตัว ให้ผลผลิตน้ำนม 2,045 ตัน/ วัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตน้ำนมในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในปี 2547 ประมาณ 746,646 ตัน ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศสูงถึง 1.5-1.6 ล้านตัน/ ปี
ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมคือ ความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่โคในฟาร์ม การเลี้ยงโคนมในประเทศเกือบทั้งหมดใช้วิธีผสมเทียมเพื่อปรับปรุงพันธุกรรมของแม่โค และลดภาระการเลี้ยงดูพ่อโค แต่ปัญหาที่มักพบคือ แม่โคไม่แสดงอาการเป็นสัด รวมทั้งปัญหาทางด้านของระบบสืบพันธุ์ แม่โคจำนวนมากจึงพลาดโอกาสได้รับการผสมเทียมและตั้งท้อง วิธีการแก้ไขปัญหาแบบหนึ่งคือ ใช้การเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องสังเกตอาการเป็นสัดของแม่โค เทคโนโลยีนี้ได้พัฒนาและเริ่มประยุกต์ใช้ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2538 แต่วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากและให้ผลไม่ดีนักในแม่โคที่เลี้ยงในประเทศไทย เนื่องจากความแตกต่างทางสรีระของแม่โคที่เลี้ยงดูในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน
เทคโนโลยีเพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมโคนมตามระยะเวลา
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมตามเวลาที่กำหนด วิธีการนี้ได้ทดสอบมาแล้วระยะหนึ่งพบว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจและมีราคาถูก (ครั้งละ 200 บาท) ซึ่งถูกกว่าวิธีที่พัฒนาในมลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึง 5 เท่า ที่สำคัญอย่างยิ่งคือใช้ได้ผลค่อนข้างดีกับโคที่เลี้ยงในประเทศไทย
ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจกับเทคโนโลยี ซึ่งไบโอเทคได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการเหนี่ยวนำการตกไข่ให้กับแม่โค โดยให้ทางฟาร์ม/สหกรณ์เป็นผู้ผสมเทียม โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการไปแล้วกับสหกรณ์และบริษัทหลายแห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย และสหกรณ์โคนมปากช่อง จ.นครราชสีมา สหกรณ์โคนมหนองโพ และสหกรณ์โคนมเขาขลุง จ.ราชบุรี รวมทั้งบริษัทที่ดำเนินกิจการฟาร์มโคนมขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้นำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ เช่น บริษัท เอพีพีเดรีฟาร์ม จำกัด หจก.น้ำฝนฟาร์ม ฟาร์มคุณคมสัน และ หจก.ยินดีฟาร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการเหนี่ยวนำการตกไข่ และผสมเทียมแก่เกษตรกรรายย่อย ทำให้แม่โคของเกษตรกรที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์กลับมาตั้งท้องได้
ไบโอเทคได้ปรับเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้กับแม่โคเนื้อ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรในอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม ผลการดำนินงานดังกล่าวทำให้แม่โคที่มีปัญหาการผสมพันธุ์ติดยากกลับมาตั้งท้องได้ การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้มูลค่าของแม่โคที่มีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์มีราคาเพิ่มขึ้นจากการเป็นโคคัดทิ้งที่มีราคาเพียงตัวละ 12,000-15,000 บาท กลายเป็นแม่โคที่มีมูลค่าถึงตัวละ 30,000-32,000 บาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)