เมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเปลี่ยนแบบอย่างเงินตราที่ให้ในประเทศสยามนี้ นับว่าเป็นการสำคัญในพงศาวดารเรื่องหนึ่ง จึงได้ตรวจเก็บเนื้อความเรื่องเปลี่ยนเงินตราในครั้งนั้น อันมีปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ คือ ประกาศเป็นต้น มาเรียบเรียงอธิบายให้ผู้อ่านรู้เรื่องและเหตุการณ์ที่มีมา
ในประเทศสยามนี้ใช้เงินกับเบี้ย(หอย) เป็นเครื่องแลกมนการซื้อขายมาแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เงินนั้นหาตัวโลหะมาแต่ต่างประเทศเอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยามนี้เอง แต่ส่วนเบี้ยนั้นอาศัยพวกชาวต่างประเทศเที่ยวเสาะหาตามชายทะเล แล้วพามาขายในประเทศนี้ รับซื้อไว้ใช้สอยเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย ประเพณีเช่นนี้คงใช้มาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเหตุปรากฏให้ปูมครั้งหนึ่ง เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่า "ใช้ประกับต่างเบี้ย" ดังนี้ เดิมไม่ทราบว่าประกับเป็นอย่างไร จนพระยาโบราณราชธานินทร์ขุดตรวจที่ในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา พบดินเผาตีตราต่างๆขนาดเท่าเงินเหรียญ ๕๐ สตางค์ฝังไว้เป็นอันมาก จึงเข้าใจว่านั่นเองเรียกว่าประกับ คงจะเป็นด้วยขาดคราวต่างประเทศเอาเบี้ยเข้ามาขาย จึงทำประกับขึ้นใช้แทนชั่วคราว พอมีเบี้ยเข้ามาขายก็เลิก จึงมิได้ใช้ประกับต่อมา
เงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยาทำเป็นเงินพดด้วง (คือรูปสัณฐานกลม) ประทับตราเป็นสำคัญ ๒ ดวง ดวงหนึ่งมักเป็นรูปจักร คงจะหมายความว่ากรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่สถิตย์ของสมเด็จพระรามาธิบดี อีดดวงหนึ่ง มีใช้รูปแปลกๆกัน เป็นสังข์บ้าง เป็นตรีบ้าง เป็นเครื่องหมายรัชกาล(แต่พิเคราะห์ดูเห็นดวงตราที่ต่างกันมีน้อยกว่าจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงศรีอยุธยามากนัก จึงสันนิษฐานอีกนัยหนึ่งว่าจะไม่เปลี่ยนตราทุกรัชกาล ใช้ตราอย่างเดียวกันเรื่อยไปจนมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเกิดเงินปลอมมากขึ้นเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เปลี่ยนตราเสียครั้งหนึ่ง) เงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยามี ๔ ขนาด คือ
ขนาดบาท ๑
ขนาดครึ่งบาท (เรียกว่า ๒ สลึง อย่างนี้ชะรอยคนจะไม่ใคร่ชอบใช้จึงมีน้อย)
ขนาด ๑/๔ ของบาท เรียกว่า ๑ สลึง
ขนาด ๑/๘ ของบาท เรียกว่า ๑ เฟื้อง
รองลงมาถึงเบี้ย มีอัตรา ๔๐๐๐ เบี้ย เป็นราคาเฟื้อง ๑ แต่ว่าไม่เป็นราคตามกฏหมาย สุดแต่มีเบี้ยเข้ามาขายในท้องตลาดมากหรือน้อย ในเวลาเบี้ยในท้องตลาดมีมาก ราคาเบี้ยตกถึง ๑๐๐๐ เบี้ยต่อเฟื้องก็มี แต่ราษฎรซื้อขายเครื่องบริโภคกันในท้องตลาดมักใช้เบี้ยเป็นพื้น
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนก่อนรัชกาลที่ ๔ คงใช้เงินตราตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่เปลี่ยนตราตามรัชกาล รัชกาลที่ ๑ ใช้ตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ ใช้ตราครุฑ รัชกาลที่ ๓ ใช้ตรทาปราสาท รัชกาลที่ ๔ ใช้ตรามงกุฎ ส่วนตราอีกดวง ๑ ซึ่งบอกนามประเทศคงใช้ตราจักรเหมือนกันทั้ง ๔ รัชกาล
เป็นเช่นนั้นมาจนในรัชกาลที่ ๔ ตั้งต้นทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เปิดการค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในกรุงเทพฯเจริญรวดเร็วเกินคาดหมาย เช่นแต่ก่อนมามีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯเพียงราวปีละ ๑๒ ลำ ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาแล้ว ก็มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายถึงปีละ ๒๐๐ ลำ(๑) พวกพ่อค้าเอาเงินเหรียญดอลล่าร์ ซึ่งใช้ในการซื้อขายทางเมืองจีนเข้ามาซื้อสินค้าราษฎร ไทยไม่ยอมรับ ฝรั่งจึงเอาเงินเหรียญดอลล่าร์มาขอแลกเงินบาทจากรัฐบาล
ก็เงินบาทพดด้วงนั้นช่างหลวงทำที่พระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งหนึ่งทำได้ราววันละ ๒๔๐ บาท เพราะทำแต่ด้วยเครื่องมือ มิได้ใช้เครื่องจักร เตาหลวงมี ๑๐ เตา ระดมกันทำเงินพดด้วงได้แต่วันละ ๒๔๐๐ บาทเป็นอย่างมาก ไม่พอให้ฝรั่งแลกตามปรารถนา พวกกงสุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ (เรียกในครั้งนั้นว่า "เงินแปะ") ให้ทำได้มากด้วยใช้เครื่องจักร
และในเมื่อกำลังสั่งเครื่องจักรนั้น โปรดฯให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเงินเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้ โดยอัตรา ๓ เหรียญดอลลาร์ต่อ ๕ บาท ราษฎรก็ยังไม่พอใจจะรับเงินดอลลาร์ จึงทรงพระราชดำริแก้ไขให้เอาตราพระมหามงกุฎและตราจักร ซึ่งสำหรับตีเงินพดด้วง ตีลงเป็นสำคัญในเหรียญดอลลาร์ให้ใช้ไปพลาง(๒) ราษฎรก็ยังมิใคร่พอใจจะใช้
ครั้นถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ การสร้างโรงกระษาปณ์สำเร็จ(๓) ทำเงินตราสยามเป็ยเหรียญมีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรสองข้าง หมายถึงรัชกาลด้าน ๑ ตรทาช้างเผือกอยู่ในวงจักรหมายประเทศด้าน ๑ เป็นเหรียญเงิน ๔ ขนาด คือ บาทหนึ่ง กึ่งบาท สลึ่งหนึ่ง(๔) และโปรดให้ทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละ ๑๐ สลึง(ตรงกับตำลึงจีน)ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อประกาศให้ใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ยังโปรดฯอนุญาตให้ใช้อยู่เป็นแต่ไม่ทำเพิ่มเติมขึ้น
ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดฯให้โรงกระษาปณ์ทำเหรียญดีบุกขึ้นเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย เหรียญดีบุกนั้นก็มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรและตราช้างในวงจักรทำนองเดียวกับตราเงินเหรียญ ทำเป็น ๒ ขนาด ขนาดให้ให้เรียกว่า "อัฐ" ราคา ๘ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๑๐๐ เบี้ย ขนาดเล็กให้เรียกว่า "โสฬศ" ราคา ๑๖ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๕๐ เบี้ย การใช้หอยเบี้ยก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา
ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างเหรียญทองคำมีตราทำนองเดียวกันกับเงินเหรียญขึ้น สำหรับใช้เป็นเครื่องแลก ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ทศ" ราคา ๑๐ อันต่อชั่งหนึ่ง คืออันละ ๘ บาท (เท่าราคาทองปอนด์อังกฤษในสมัยนั้น) ขนาดกลางให้เรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ ๔ บาท ขนาดเล็ก (คือเหรียญทองที่ได้สร้างขึ้นแต่แรก)ให้เรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละ ๑๐ สลึง เท่ากับตำลึงจีน
ดูเหมือนจะเป็นคราวเดียวกับที่ทรงสร้างเหรียญทองเป็นเครื่องแลกนี้เอง พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้าง (ธนบัตร) เครื่องแลกทำด้วยกระดาษ มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกร ๓ ดวงเป็นสำคัญทุกใบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า "หมาย" มีราคาต่างๆกันตั้งแต่ใบละบาท ๑ เป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้อง ๑ และทรงพระราชดำริสร้าง (เชค) ใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกอย่าง ๑ ขนาดแผ่นกระดาษใหญ่กว่า "หมาย" มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกรด้วยชาด ๒ ดวง ด้วยครามดวง ๑ เป็นลายดุนดวง ๑ เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกัน (ว่าตามตัวอย่างที่มีอยู่เมื่อแต่งหนังสือนี้) ตั้งแต่ "พระราชทานเงินตราชั่งสิบตำลึง" ลงมาจนใบละ ๗ ตำลึง (สันนิษฐานว่าเห็นจะมีต่อลงไปจนใบละตำลึงหนึ่งเป็นอย่างต่ำ) กระดาษทั้ง ๒ อย่างนี้ ใครได้เห็นจะเอาไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในไม่ช้า เพราะยังไม่แลเห็นประโยชน์ในการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลกในสมัยนั้น จึงมิได้แพร่หลาย
ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้โรงกระษาปณ์สร้างเหรียญทองแดงมีตราทำนองเดียวกันกับเหรียญดีบุกเป็นเครื่องแลกอีก ๒ ขนาด มีราคาในระหว่างเหรียญเงินกับเหรียญดีบุก ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ซีก" ราคา ๒ อันเฟื้อง ขนาดเล็กให้เรียกว่า "เสี้ยว" ราคา ๔ อันเฟื้อง(๕)
เงินตราสยามซึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้นเป็นเหรียญนั้น ที่เป็นเงินและทองแดงได้ใช้ต่อมาดังพระราชประสงค์ แต่ที่เป็นทองคำและดีบุกเกิดเหตุขัดข้อง ด้วยเหรียญทองคำนั้นชอบเมืองชอบเอาไปเก็บเสียอย่างทองรูปพรรณ หรือมิฉะนั้นก็เอาไปทำเครื่องแต่งตัวเสีย ไม่ชอบใช้เป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย เหรียญทองเป็นของมีน้อยก็เลยหมดไป ส่วนดีบุกนั้นเมื่อแรกสร้างขึ้นก็ได้ทรงปรารภว่า เป็นของสึกหรอและอาจทำปลอมง่าย จึงโปรดฯให้เจือทองแดงและดีบุกดำลงในเนื้อดีบุกที่ทำเหรียญให้แข็งผิดกับดีบุกสามัญ ถึงกระนั้นพอใช้เหรียญดีบุกกันแพร่หลาย ไม่ช้าก็มีพวกจีนคิดทำปลอม ครั้นตรวจจับในกรุงเทพฯแข็งแรง พวกผู้ร้ายก็หลบลงไปซ่อนทำทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกิดมีเหรียญดีบุกปลอมในท้องตลาดมากขึ้นทุกทีจนราษฎรรังเกียจการที่จะรับใช้เหรียญดีบุก ด้วยไม่รู้จะเลือกว่าไหนเป็นของหลวงและไหนเป็นของปลอม จะกลับใช้เบี้ยหอยก็หาไม่ได้ ด้วยเลิกใช้มาหลายปีเสียแล้ว
เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ เป็นเวลากำลังเกิดการปั่นป่วนด้วยราษฎรไม่พอใจรับเหรียญดีบุก นัยถึงตลาดในกรุงเทพฯแทบจะหยุดการซื้อขายอยู่หลายวัน รัฐบาลจึงต้องรีบวินิจฉัยแล้วออกประกาศเมื่อเดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ (เป็นวันที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๕) สั่งให้คนทั้งหลายนำเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงมาขึ้นเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคภายใน ๑๕ วัน เมื่อพ้นกำหนดนั้นไปแล้ว ให้ใช้ลดราคาลง เหรียญทองแดงอย่างซีกคงราคาแต่อันละอัฐ ๑ (๘ อันเฟื้อง) อย่างเสี้ยวคงราคาแต่อันละ ๒๐ เบี้ย (๔๐ อันเฟื้อง) อย่างโสฬศคงราคาแต่อันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันเฟื้อง) แม้รัฐบาลประกาศอัตราราคาอย่างนั้นแล้ว ราษฎรก็ยังลดราคากันโดยลำพังต่อลงไปอีก ใช้อัฐดีบุกเดิมในท้องตลาดเพียงราคาอันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันเฟื้อง) โสฬศดีบุกก็ลดราคาลงไปตามกันเป็นอันละ ๕ เบี้ย (๑๖๐ อันต่อเฟื้อง) คำซึ่งเคยเรียกอัฐและโสฬศก็เรียกกันว่า "เก๊" แต่ใช้กันต่อมาอีกหลายปี
เพราะเกิดลำบากด้วยเรื่องเงินตราดังกล่าวมารัฐบาลจึงได้ตกลงแต่เเรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ ว่าจะสร้างโรงกระษาปณ์ใหม่ให้ใหญ่โตและดีขึ้นกว่าเก่า(๖) แต่การที่สร้างกว่าจะสำเร็จหลายปี ในชั้นแรกจะต้องทำเงินตราประจำรัชกาลที่ ๕ ขึ้นตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ จึงให้ทำที่โรงกระษาปณ์เดิมไปพลาง เงินเหรียญตรารัชกาลที่ ๕ ซึ่งสร้างขึ้นชั้นแรกนั้น ด้านหนึ่งเป็นตราพระเกี้ยวยอดมีพานรองสองชั้นและฉัตรสองข้าง อีกด้านหนึ่งคงใช้รูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรเหมือนรัชกาลที่ ๔ แต่ทำเพียง ๓ ขนาด ที่คนทั้งหลายชอบใช้ คือเหรียญบาท เหรียญสลึง และเหรียญเฟื้อง ในคราวนั้นยังไม่ได้ทำเหรียญทองแดงสำหรับรัชกาลที่ ๕ (ด้วยรัฐบาลทราบว่าสั่งให้ทำในประเทศอื่นถูกกว่าทำเอง แต่จะให้ทำในอินเดียหรือในยุโรปยังไม่ตกลงเป็นยุติ) ทำแต่เหรียญดีบุกขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง ดวงตราทำนองเดียวกัยเหรียญเงิน ขนาดเขื่องกว่าอัฐดีบุกรัชกาลที่ ๔ สักหน่อยหนึ่ง แต่ให้ใช้ราคาเพียงโสฬศ ๑ คือ ๑๖ อันเฟื้อง เรื่องเงินตราก็เป็นอันเรียบร้อยไปได้คราวหนึ่ง
แต่ต่อมาเมื่อราคาทองแดงและดีบุกสูงขึ้นมีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดง และเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดกรุงเทพฯต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกซึ่งซื้อขายกันในประเทศอื่น ก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายเสียประเทศอื่นเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกมีใช้ในท้องตลาดน้อยลง ก็เกิดการใช้ปี้กระเบื้องกันขึ้นแพร่หลาย ปี้กระเบื้องนั้นเดิมเป็นแต่คะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากบนเสื่อสะดวกกว่าเงินตรา เวลาคนเล่นเบี้ย ให้เอาเงินแลกปี้มาเล่น ครั้นเลิกแล้วก็ให้คืนปี้แลกเอาเงินกลับไป เป็นประเพณีดังนี้ ใครเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยในตำบลไหน ก็คิดทำปี้มีเครื่องหมายของตนเป็นคะแนนราคาต่างๆ สำหรับเล่นเบี้ยในบ่อนตำบลนั้น การที่เกิดใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแทนเงินตรา เดิมเกิดขึ้นแต่นักเลงเล่นเบี้ยที่มักง่าย เอาปี้ซื้อของกินตามร้านที่หน้าโรงบ่อน ผู้ขายก็ยอมรับด้วยอาจจะเอากลับเข้าไปแลกเป็นเงินได้ที่ในโรงบ่อนโดยง่าย จึงใช้ปี้กระเบื้องกันในบริเวณโรงบ่อนขึ้นก่อน ครั้นเมื่อหาเหรียญทองแดงเหรียญดีบุกของหลวงใช้ยากเข้า ก็ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแพร่หลายห่างบ่อนออกไปทุกที เพราะคนเชื่อว่าอาจจะเอาไปขึ้นเป็นเงินเมื่อใดก็ได้
ฝ่ายนายบ่อนเบี้ยเมื่อจำหน่ายปี้ได้เงินมากขึ้น เห็นได้เปรียบก็คิดสั่งปี้กระเบื้องจากเมืองจีนเข้ามาเพิ่มเติม ทำเป็นรูปและราคาต่างๆให้คนชอบ ตั้งแต่อันละโสฬศ อันละไพ สองไพ(๗) จนถึงอันละเฟื้อง สลึง สองสลึง เป็นอย่างสูง มีทุกบ่อนไป ก็แต่ลักษณะอากรบ่อนเบี้ยนั้นต้องว่าประมูลกันใหม่ทุกปี เมื่อสิ้นปีลงนายบ่อนคนไหนไม่ได้ทำอากรต่อไปก็ให้กำหนดเวลาให้คนเอาปี้บ่อนของตนไปแลกคืนภายใน ๑๕ วัน พ้นกำหนดไปไม่ยอมรับ การอันนี้กลายเป็นทางที่เกิดกำไรเพิ่มผลประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ยอีกทางหนึ่ง ฝ่ายราษฎรถึงเสียเปรียบก็มิสู่รู้สึกเดือดร้อน ด้วยได้ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกกันในการซื้อขายแทนเหรียญทองแดงและดีบุกซึ่งหายาก ก็ไม่มีใครร้องทุกข์ เป็นเข่นนี้มาปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ รัฐบาลจึงต้องประกาศห้ามมิให้นายอากรบ่อนเบี้ยทำปี้(๘) แต่ในเวลานั้นเหรียญทองแดงซึ่งสั่งให้ทำในยุโรปยังไม่สำเร็จ ต้องออกธนบัตรราคาใบละอัฐ ๑ ให้ใช้กันในท้องตลาดอยู่คราวหนึ่ง จึงได้จำหน่ายเหรียญทองแดงประจำรัชกาลที่ ๕ ให้ใช้กันในบ้านเมือง ทำเป็น ๓ ขนาด คือ เสี้ยว อัฐ โสฬศ มีตราพระจุลมงกุฎอยู่บนอักษรพระนาม จ.ป.ร. ด้าน ๑ อักษรบอกราคด้าน ๑ เหมือนกันหมดทุกขนาด
(ความต่อไปนี้ พระพินิจวรรณการ แต่งต่อ)
ส่วนเงินเหรียญนั้น เมื่อได้สั่งเครื่องจักรจากเมืองอังกฤษตั้งเป็นโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้เริ่มทำเงินหรียญออกจำหน่ายเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เงินเหรียญที่ทำคราวนี้ทำเป็น ๓ ขนาดคือ เหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญเฟื้อง พิกัดอัตราอย่างเดียวกับที่ได้ทำมาแต่ก่อน แต่ดวงตราที่ประจำเงินนั้น ด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ มีหนังสืออยู่รอบพระบรมรูปว่า"สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ด้านหนึ่งมีตราอาร์มแผ่นดินซึ่งคิดผูกขึ้นในรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือในพื้นเงินดวงตราว่า"กรุงสยามรัชกาลที่ ๕" และบอก "ราคา ๑ บาท" เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้องก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่ตราแผ่นดินนั้นเป็นอย่างย่อขนาดน้อยมีบอกราคา ๑ สลึง๑ เฟื้อง เงินตรา ๓ ขนาดนี้ได้ใช้ต่อมา
ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้น โปรดฯให้สร้างเหรียญทองแดงซีกขึ้นอีกอย่าง ๑ ด้วยขุนพัฒน์นายบ่อนร้องว่า ทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ เล็กบางให้ขอเกี่ยวไม่ถนัด ลักษณะทองแดงซีกก็เหมือนกับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ ที่ทำเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ นั้น เหรียญทองแดงชนิดนี้จึงมี ๔ ขนาดด้วยกัน ใช้อยู่อย่างนี้จนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ ขึ้นใหม่ พิกัดอัตราเท่ากับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศ เดิม เป็นแต่เปลี่ยนตราใหม่คือ หน้าหนึ่งตรงกลางมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรโดยรอบว่า "จุฬาลงกรณ์ ป.ร. พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม" อีกด้านหนึ่งตรงกลางมีรูปพระสยามเทวาธิราช ถือพระแสงธารพระกรนั่งบนโล่ห์วางบนแท่น โล่ห์นั้นกั้นเป็นสามห้อง ห้องบนมีรูปช้าง ๓ เศียร ด้านขวารูปช้างยืน ด้านซ้ายรูปกริชไขว้กัน ๒ เล่ม มีอักษรบอกหนึ่งเสี้ยว หนึ่งอัฐ หนึ่งโสฬศ ตามขนาด เหรียญทองแดงทั้ง ๓ ขนาดนี้คงใช้กันมาควบกับเหรียญทองแดงอย่างเก่าตลอดมา จนถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ เหรียญทองแดงสูญหายเบาบางลง จึงโปรดฯให้สร้างเหรียญทองแดง เสี้ยว อัฐ โสฬศ เพิ่มเติมขึ้น ลักษณะอย่างเดียวกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬศซึ่งสร้างเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ แปลกแต่ตราพระบรมรูปและตราพระสยามเทวาธิราชไม่กลับกันอย่างของเดิม เบื้องบนและเบื้องล่างตรงไปทางเดียวกัน กับเปลี่ยนเลขประจำปีที่สร้างเท่านั้น
ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ รัฐบาลคิดเห็นว่าลักษณะการทำบัญชีเงินแต่เดิมนั้นมีช่องบอกว่าชั่ง บาท อัฐ เมื่อพ้นชั่งขึ้นไปจึงนับเป็นเรือนร้อยเรือนพัน บัญชีมักไขว้กันไม่สะดวกจึงคิดทำเหรียญทองขาวขึ้นใช้เรียกว่าสตางค์ (ส่วนของร้อย)(๙) คือ ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท เพื่อง่ายแก่การบัญชี มีช่องแต่เพียงบาทกับสตางค์เท่านั้น เงินจะมากน้อยเท่าใดก็ต่อตัวเลขขึ้นไปเป็สิบเป็นร้อย ไม่ต้องหักต้องทอน เป็นการง่ายรวดเร็วกว่าของเดิม สตางค์ที่สร้างขึ้นคราวนี้สร้างด้วยทองขาวเป็น ๔ ขนาด ขนาดที่ ๑ ด้านหน้ามีตัวอักษรว่า "ยี่สิบสตางค์" และมีเลข "๒๐" ตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นราคา ๒๐ สตางค์ ใช้ ๕ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๒ มีตัวอักษรว่า "สิบสตางค์" มีเลข "๑๐" ตัวใหญ่อยู่กลางราคา ๑๐ สตางค์ใช้ ๑๐ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๓ มีตัวอักษรว่า "ห้าสตางค์" มีเลข "๕" ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๕ สตางค์ใช้ ๒๐ อันเป็น ๑ บาท ขนาดที่ ๔ มีตัวอักษร "สองสตางค์กึ่ง" มีเลข "๒ ๑/๒" ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๒ สตางค์กึ่งใช้ ๔๐ อันเป็น ๑ บาท
สตางค์ทองขาวที่สร้างขึ้นใหม่นี้ใช่รวมไปกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ และโสฬศเก่าทั้ง ๒ ชนิด จนประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงเลิกใช้เปลี่ยนเป็นเหรียญกระษาปณ์ทองขาวและทองแดง ๓ ชนิด คือทองขาวราคา ๑๐ สตางค์ ทองขาวราคา ๕ สตางค์ ทองแดงราคา ๑ สตางค์ ด้านหน้ามีอุณาโลม อักษรจารึกว่า "ยามรัฐ" และราคาด้านหลังมีรูปจักรและศักราช เจาะวงตรงกลาง อย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
....................................................................................................................................................
(๑) ข้อนี้กล่าวไว้ในหนังสือบางกอกคาเลนดาของหมอบรัดเล เล่ม ค.ศ. ๑๘๖๙
(๒) เหรียญดอลลาร์ตีตราพระมหามงกุฎกับตราจักรยังมีเหลืออยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้หายาก
(๓) โรงกระษาปณ์ที่กล่าวนี้ตัวตึกยังอยู่ข้างฟากตะวันออกถนนประตูสุวรรณบริบาล เดี๋ยวนี้ใช้เป็นคลังชาวที่ สร้างขึ้นตรงโรงทำเงินพดด้วงของเดิม การสร้างโรงกระษาปณ์มีเรื่องปรากฎว่า สั่งเครื่องจักรมาจากเมืองเบอมิงฮัม ประเทศอังกฤษ และเรียกช่างอังกฤษเข้ามาสำหรับตั้งเครื่องจักรด้วย แต่ช่างคนนั้นมาตายลงก่อนตั้งเครื่องจักร พระวิสูตรโยธามาตย์(โหมด อมาตยกุล) รับอาสาตั้งเครื่องจักรโรงกระษาปณ์ได้โดยลำพัง จึงโปรดฯให้เป็นเจ้ากรมโรงกระษาปณ์ต่อมา
(๔) ยังมีเงินเหรียญขนาดตำลึง (๔ ตำลึง) ขนาดกึ่งตำลึงและขนาดกึ่งเฟื้อง แต่มิได้ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน
(๕) เหรียญซีกและเสี้ยวเดิมทำหนา พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรยทาน เหรียญซีกไปถูกศีรษะคนแตก จึงโปรดฯให้ทำบางลง
(๖) คือตึกที่อยู่ทางตะวันตกแห่งประตูสุวรรณบริบาลบัดนี้
(๗) คำว่า "ไพ" มาแต่จีนเรียกว่า "ไพปา" ราคาไพ ๑ เท่ากับ ๒ อัฐ
(๘) มีผู้ได้ลองรวบรวมตัวอย่างปี้กระเบื้องต่างๆ ซึ่งพวกจีนนายบ่อนคิดทำขึ้น ได้มากกว่า ๒,๐๐๐ อย่าง
(๙) "สตางค์" แปลว่า "๑ ส่วน ๑๐๐"
ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ตำนานเงินตรา
ภาพและที่มา www.bloggang.com