ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ตำนานอากรค่าน้ำ, ตำนานอากรค่าน้ำ หมายถึง, ตำนานอากรค่าน้ำ คือ, ตำนานอากรค่าน้ำ ความหมาย, ตำนานอากรค่าน้ำ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ตำนานอากรค่าน้ำ

หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงเมืองกรมการกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจิณบุรี เมืองนครนายก เมืองอินทบุรี เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และกรมการทั้งหลาย

           ด้วยพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนพระคลังมหาสมบัติว่า อากรค่าน้ำจืดน้ำเค็ม มีนายอากรรับผูกขาดเก็บเงินส่งท้องพระคลังสืบมาแต่ก่อน ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ยกเลิกอากรค่าน้ำเสีย หามีผู้ใดเป็นเจ้าของพิทักษ์รักษาบ่อ ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ไม่ ราษฎรทุกภาษาพากันทำปาณาติบาตทุกแห่งทุกตำบล ตั้งปิดทำนบบ่อวิดน้ำ บ่อห้วยหนองคลองบึงบาง ปลาเล็กน้อยก็พลอยตายสูญพันธุ์ไปเสียโดยมาก ราคาปลาซึ่งราษฎรซื้อขายกันทุกวันนี้จึงได้แพงกว่าแต่ก่อน แล้วก็ไม่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน พระศรีชัยบานจะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำจืดน้ำเค็มในแขวงกรุงเทพฯ และหัวเมือง ๓๗ เมือ ๘ ตำบล เก็บค่าน้ำตามพิกัดเดิม ปีหนึ่งเป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๑๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๓๗๐ ชั่ง

           พระศรีชัยบานจะขอให้แต่จีนอ้นเป็นนายอากร เรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯตำบลบางแวก ๑ บางบอน ๑ บางวโทรัด ๑ หัวกระบือ ๑ แสนแสบ ๑ รวม ๕ ตำบล และเมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี เข้ากัน ๓ เมืองเป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๒ ชั่ง ขึ้นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง รวม ๓๖ ชั่ง

            ขอแต่งให้จีนชุ่มเป็นนายอากร เรียกค่าน้ำ ณ กรุงเก่า อำเภอนคร อำเภอเสนา อำเภออุทัย รวม ๓ อำเภอ เมืองอ่างทอง เมืองอินทบุรี เมืองพรมหมบุรี เมืองสิงหบุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองลพบุรี เมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสุพรรณบุรี เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี เข้ากัน ๑๗ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๑๕๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง รวม ๒๐๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

           ขอแต่งให้จีนหนูเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ ณ เมืองสมุทรสงคราม เมืองสาครบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ๘ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๕๘ ชั่ง ๕ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓ ชั่ง รวม ๕๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

          ขอแต่งให้จีนสีเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ เมืองนครนายก เมืองปราจิณบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสมุทรปราการ เมืองชลบุรี เมืองบางละมุง เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด ๙ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๖๙ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๖๙ ชั่ง

         เข้ากัน ๒๗ เมือง ๘ ตำบล เป็นเงินอากรปีละ ๓๗๐ ชั่งก่อนแต่ในจำนวนปีชวดจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๙๕ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔) พระศรีชัยบานจะส่งเงินอากรให้ครบ ถ้าทำอากรครบปีเงินอากรมีภาษีจะบวกทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีก

          จึงได้นำเรื่องราวพระศรีชัยบาน ขึ้นปรึกษากรมสมเด็จพระเดชาดิศร กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมพระพิทักเทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนาถ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ และเสนาบดีข้าราชการปรึกษาพร้อมกันว่า พระราชทรัพย์ของหลวงซึ่งจะได้มาใช้สอยในราชการทำนุบำรุงกรุงเทพฯ และถวายนิตยภัตเงินเดือนใช้ในการพระราชกุศล และแจกเบี้ยหวัดพระประยุรวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วไป ได้มาแต่ภาษีอากรสมพักสร ซึ่งราษฎรทำมาหากินในพระราชอาณาเขต และราษฎรทำสวนปลูกต้นผลไม้ทำไร่ปลูกผักปลูกถั่วต่างๆ และทำนาทำกินหาผลประโยชน์ซื้อขายเลี้ยงชีวิตสัมมาชีพ ก็ต้องเสียหางข้าวค่านาอากรสมพักสรทั้งสิ้น ซึ่งราษฎรทำการปาณาติบาตหาประโยชน์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพจะไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำนั้น เห็นว่าเหมือนหนึ่งยินดีด้วยคนทำปาณาติบาตหาควรไม่ ซึ่งพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมาว่า จะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำนั้นก็ชอบอยู่แล้ว ผู้ซึ่งทำมาหากินในพระราชอาณาเขต จะได้เสียอากรเสมอกัน ที่ห้วยที่หนอง คลอง บึงบางมีนายอากรเป็นเจ้าของหวงแหนอยู่แล้ว การปาณาติบาตที่ราษฎรจะทำซื้อขายแก่กันก็เลือกทำเอาแต่ที่ควรจะซื้อขายกันได้ ปลาเล็กน้อยที่ไม่ควรจะซื้อขายกัน ก็จะได้มีชีวิตเหลืออยู่เป็นพืชพันธุ์ต่อไป

            พระยาพิพิธโภไคย จมื่นศรีสรรักษ์ จึงนำเรื่องราวและคำปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีข้าราชการ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมนาถราชบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯโดยพระราชดำริว่า(๑) อากรค่าน้ำนี้ก็เป็นทางที่ให้บังเกิดพระราชทรัพย์อย่างหนึ่ง สำหรับแผ่นดินในสยามประเทศนี้ มีมาแต่โบราณสืบๆกาลพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทุกๆพระองค์ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่ามาจะได้ยินว่า ในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง จะให้เลิกถอนเสียนั้นหามิได้ เพราะคนชาวประเทศไทยมีปรกติดังธรรมดา มีเนื้อและปลาเป็นกับข้าวเป็นนิจทุกตัวคน ทุกตำบล ทุกแห่ง จะเป็นของคนกินแต่ของเครื่องเค็มและเต้าหู้ ซึ่งเป็นสิ่งมิใช่เนื้อปลาเป็นกับข้าวดังจีนบางจำพวกก็ดี หรือเป็นคนกินนมเนยถั่วงาเป็นกับข้าวดังพราหมณ์และคนมัชฌิมประเทศโดยมาก็ดี หามีไม่ เพราะฉะนั้นท่านผู้ครองแผ่นดินมาแต่ก่อนจึงได้เก็บอากรแก่คนหากุ้งหาปลาเหมือนเก็บค่านาสมพักสรแก่ผู้ทำนา ทำไร่ ทำสวน เสมอกันไปทั้งพระราชอาณาเขต รวบรวมพระราชทรัพย์มาใช้จ่ายเป็นการทำนุบำรุงแผ่นดิน คุ้มครองราษฎรทั้งปวงไว้ให้อยู่เย็นเป็นสุข

          ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลและประเทศอันนี้อยู่แล้ว เพราะพระเจ้าแผ่นดินกรุงไทยสืบมาแต่โบราณองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งจะมีบุญญาธิการเหลือล้นนัก จนถึงขุนคลังแก้วมีทิพจักษุเห็นทรัพยแผ่นดิน หยิบเอาทรัพย์ในแผ่นดินขึ้นมาถวายได้ทุกขณะทุกเวลา เหมือนขุนคลังแก้วของบรมจักรพรรดินั้นก็ดี และจะมีบุญฤทธิ์วิเศษยิ่ง จนบันดาลห่าฝนแก้ว ๗ ประการ ให้ตกลงมาได้พระหฤทัยปรารถนา หามีไม่แต่สักพระองค์หนึ่ง

         ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระบวรสันดานเพลิดเพลินในการพระราชกุศลทรงสดับเรื่องราวโบราณนิทานชาดก และอื่นๆมากแล้ว มีพระราชประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์และสัปบุรุษในพุทธศาสนาสร้องสรรเสริญนับถือว่า เป็นมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์มหัศจรรย์กว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ จึงทรงพระราชดำริตริตรองจะทรงปฏิบัติให้เหมือนพระโพธิสัตว์ที่มีเรื่องราวมาในชาดก ซึ่งกล่าวด้วยพระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสีและเมืองอื่นๆในมัฌชิมประเทศ ที่มีประชาชนกินนมเนยและถั่วงาเป็นกับข้าวนั้น เอามาเป็นพระอารมณ์ว่า พระโพธิสัตว์แต่ก่อนได้เสวยราชสมบัติแล้วพระราชทานอภัยให้แก่สัตว์ในป่า นกบินอยู่บนท้องฟ้า ปลาในน้ำทั้งสิ้น ไม่ให้ใครทำปาณาติบาตเลยทีเดียวได้อย่างไร การอย่างนั้นจะทรงปฏิบัติได้บ้าง

           อนึ่ง ทรงระแวงแคลงไปว่า เมื่อตั้งนายอากรไปให้เป็นเจ้าของเขตแดนห้วยหนองคลองบึงบางและเกาะในชเล เมื่อนายอากรจะเก็บเอาทรัพย์ที่เกิดด้วยปาณาติบาตของราษฎรรวบรวมมาส่งเป็นพระราชทรัพย์แล้ว พระกษัตริย์จะทรงใช้สอยพระราชทรัพย์นั้น ก็จะเป็นมิจฉาชีพไปด้วย จึงโปรดให้เลิกอากรฟองจันละเม็ดในชเล และค่าน้ำเสียให่หมด แต่ครั้งปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) มา ในปีนั้นปีเดียวโปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเผือก ซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไปแล้วทรงประกาศการอันนั้น ให้พระสงฆ์ราชาคณะอนุโมทนาสาธุการเป็นพระเกียรติยศครั้งหนึ่งเท่านั้น

(เมื่อปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙ มีประกาศในรัชกาลที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องอากรค่าน้ำฉบับ ๑ ประกาศนั้นก็เป็นพระราชนิพนธ์ทรงบรรยายเรื่องอากรค่าน้ำครั้งรัชกาลที่ ๓ ทำนองเดียวกับความในท้องตราฉบับนี้ แต่มีพลความบางข้อ ซึ่งมิได้ปรากฏในท้องตราฉบับนี้ คือ

          ข้อ ๑ ว่าเงินอากรค่าน้ำในรัชกาลที่ ๓ เมื่อก่อนจะเลิกอากรนั้น เป็นจำนวนเงินนายอากรนำส่งคลังปีละ ๗๐๐ ชั่ง

          อีกข้อ ๑ ทรงสืบทราบว่านายอากรไปเก็บอากรค่าน้ำ แล้วตัดตอนขายหนองคลองบึงบางเป็นคลองเขิน ให้แก่ราษฎรเป็นเจ้าของที่ต่างๆ จึงผู้ซึ่งซื้อตอนทั้งปวงนั้นปิดพนบลงกระบังรังเผือกกั้นคลองบึงบาง รุกรวมเอาปลากักขังไว้ในส่วนของตัวๆ ปลาจะว่ายไปมาตลอดไปในที่มีน้ำทั้งปวงตามธรรมดาก็ไม่ได้ คนที่มีประโยชน์จะเดินเรือก็เดินไม่ได้ จึงทรงพระกรุณากับปลาว่าเป็นสัตว์มีชีวิต อย่าให้ต้องติดขังจำตายเลย และจะให้คนที่มีประโยชน์เดินเรือไปมาได้คล่อง ไม่ต้องเข็นข้ามพนบและเผือก เป็นเหตุให้มีทะเลาะวิวาทกันนั้นด้วย จึงโปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเผือก ซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงบางไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไป ให้นายอากรเก็บค่าน้ำต่อไป แต่โดยพิกัดตามเครื่องมืออย่างเดียว อย่าตัดทอนขายต่อไปเลย เมื่ออากรจะขาดสักเท่าไร ก็ให้นายอากรมาร้องขาดเถิด จะลดให้ ฝ่ายนายอากรก็มาร้องขาด ให้ลดเงินอากรลงปีหนึ่ง ๓๐๐ ชั่งเศษ คงเงินอากรอยู่แต่ปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษ ครั้นภายหลังมายังทรงรังเกียจกลัวบาปต่อไป ด้วยทรงแคลงว่าเพราะมีค่าน้ำ คนจึงหาปลามากขึ้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง ให้ยกอากรค่าน้ำที่เคยเรียกได้เป็นเงินอากรเพียงปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษนั้นเสียทีเดียว)

         ครั้นกาลภายหลังต่อมาทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะห้ามการปาณาติบาตทุกแห่งทุกตำบล ด้วยพระราชอาญาหาเหตุและเขตบมิได้ก็ไม่ควร การจะไม่สำเร็จ จึงโปรดเกล้าฯให้มีตราออกไปให้กรมการหัวเมืองฝ่ายตะวันออกซึ่งขึ้นกรมท่า แต่งกองจับออกจับคนผู้หาฟองจันละเม็ดในชเล จับตัวได้ให้เอามาทำโทษและเรียกค่าปรับไหมโดยสมควร แต่การหากุ้งหาปลานั้นให้ห้ามแต่ในเขตเสาศิลา ซึ่งปักไว้แต่ก่อนเป็นอาถรรพ์กันปีศาจทุกทิศในเขตพระนคร ถ้าใครทำปาณาติบาตในเขตพระนครแล้วให้กรมเมืองจับปรับเอาทรายทำวัด การที่มีผู้ทำปาณาติบาตในที่อื่นๆนอกจากเสาศิลาเขตพระนครนั้น เป็นแต่ตรัสประภาษไว้ว่า เมื่อใครเป็นเจ้าของห้วยหนองคลองบึงบางแล้ว ราษฎรก็จะแย่งกันทำปาณาติบาตในที่นั้นๆก็จะเกิดวิวาทขึ้น แล้วจึงจะยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวงเสีย แล้วจึงจะได้ห้ามมิให้ใครทำปาณาติบาตในที่นั้นต่อไป ที่นั้นๆจะทำปาณาติบาตของราษฎรก็จะน้อยแคบเข้าทุกที ก็จะเป็นที่เจริญอภัยทานเป็นการพระราชกุศลเสมอไป ความข้อนี้เป็นแต่ตรัสประภาษไว้ตั้งแต่ปีจออัฐศก (พ.ศ. ๒๓๖๙) มาจนถึงปีจอโทศก (พ.ศ. ๒๓๙๓) เป็น ๒๕ ปี ก็ไม่มีใครซึ่งแย่งกันจนถึงความจนถึงได้ยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวง แม้ถึงจะเกิดวิวาทกันบ้างก็ชำระแล้วไปแต่ในเจ้านายเท่านั้น ไม่เป็นไปได้ตามพระราชประสงค์

         ซึ่งมีพระราชโองการรับสั่งในกรมการหัวเมืองจับผู้หาฟองจันละเม็ดในชเล และให้กรมการจับผู้หากุ้งหาปลาในเขตเสาศิลานั้น เมื่อมีรับสั่งครั้งหนึ่งแล้ว ก็ทรงไปด้วยราชการอื่นๆ ด้วยว่ามีราชกิจเป็นการใหญ่ๆมาก มิได้ทรงตักเตือนตรวจตราประการใดอีก การนั้นก็จืดจางไป ผู้ที่ทำปาณาติบาตก็ได้ช่องที่จะกำเริบขึ้น

         เพราะฉะนี้ที่จะเลิกอากรค่าน้ำเสียนั้นไม่เป็นคุณอันใดแก่แผ่นดินและพระพุทธศาสนาและตัวสัตว์คือกุ้งปลาในน้ำ กลับเป็นคุณแก่ผู้ที่ทำปาณาติบาตเป็นคนบาปนั้น ยิ่งกว่าคนที่เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม คือทำไร่นาเรือกสวนทั้งปวงนั้นเสียอีก เป็นการไม่เสมอในการที่จะถือเอาส่วยแต่ราษฎรทั้งปวงไป ซึ่งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ได้ปรึกษาพร้อมกันจะให้มีอากรค่าน้ำขึ้นตามเดิมที่เคยมีมาแต่ก่อน ตามธรรมเนียมบ้านเมืองนี้นั้นชอบแล้ว จามแต่เจ้านายผู้ใหญ่และเสนาบดีที่เป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินจะเห็นควรนั้นเถิด ก็ให้ตั้งพระศรีชัยบานเป็นนายอากรไปตามคำปรึกษาและเรื่องราวพระศรีชัยบาน และพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการเห็นพร้อมกัน(๒)

         เจ้าจำนวนได้เรียกเอานายประกันพระศรีชัยบาน จีนอ้น จีนชุ่ม จีนหนู จีนสี ไว้มั่นคงสมควรแก่เงินอากรของหลวงอยู่แล้ว ตั้งพระศรีชัยบานเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯ และหัวเมือง ๓๗ เมือง ๘ ตำบล ตั้งแต่จำนวนปีชวดจัตวาศกเป็นเงินอากรจำนวนปีละ ๓๗๐ ชั่งสืบไป
 
          พระศรีชัยบานแต่งให้จีนอ้นเป็นหมื่นเทพอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯตำบลบางแวก บางบอน บางโทรัด หัวกระบือ แสนแสบ รวม ๕ ตำบล เมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี รวม ๓ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๒ ชั่ง ขึ้นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง รวม ๓๖ ชั่ง

          แต่งให้จีนชุ่มเป็นหมื่นวิสูตรอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเก่า อำเภอนคร อำเภอเสนา อำเภออุทัย รวม ๓ อำเภอ เมืองอ่างทอง เมืองอินทบุรี เมืองพรมหมบุรี เมืองสิงหบุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองลพบุรี เมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสุพรรณบุรี เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี เข้ากัน ๑๗ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๑๕๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง รวม ๒๐๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

           แต่ให้จีนหนูเป็นหมื่นอินทรอากร ไปเรียกค่าน้ำเมืองสมุทรสงคราม เมืองสาครบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ๘ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๕๘ ชั่ง ๕ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓ ชั่ง รวม ๕๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

            แต่งให้จีนสีที่หมื่นศรีอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ เมืองนครนายก เมืองปราจิณบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสมุทรปราการ เมืองชลบุรี เมืองบางละมุง เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด ๙ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๖๙ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๖๙ ชั่ง เข้ากัน ๓๗ เมือง ๘ ตำบล ปีหนึ่งเป็นเงินอากรจำนวนปีละ ๓๗๐ ชั่งสืบไป

            ให้พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรี ส่งเงินอากรค่าน้ำคิดแต่จำนวนปีชวดจัตวาศก ส่งเงินอากรแก่เจ้าจำนวนปีละงวดๆ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีชวดจัตวาศกงวดหนึ่ง เป็นเงิน ๓๗๐ ชั่ง จงทุกงวดทุกปีสืบไป อย่าให้เงินอากรขาดค้างลวงงวดล่วงปีไปได้เป็นอันขาดทีเดียว และให้พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรีเรียกอากรค่าน้ำแก่ราษฎรตามพิกัดอัตรา ซึ่งสรรพากรในยื่นไว้ ให้นายอากรเรียกค่าน้ำแก่ผู้ทำกินน้ำจืด โพงพางละ ๓ ตำลึง เรือแหพานลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท เรือแหโปงลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท เรือแหทอดลำละ ๑ บาท ช้อนใหญ่ลำละ ๒ สลึง ช้อนเล็กลำละ ๑ สลึง สุ่มเรียกคนละ ๑ สลึง ดักชุดคนละ ๑ บาท ข่ายดักปลาตะเพียนคนละ ๑ บาท แทงตะกรบคนละ ๑ สลึง ฉมวกคนละเฟื้อง ลอบยืนคนละ ๑ บาท ๒ สลึง ลอบนอนคนละ ๑ บาท ดักตุมคนละ ๑ สลึง ดักไซคนละ ๒ สลึง ดักลันคนละ ๑ เฟื้อง เบ็ดราวคนละ ๒ สลึง ตกเบ็ดปลาช่อนปลาชะโดคนละ ๑ เฟื้อง สวิงกุ้งปลาคนละ ๑ เฟื้อง อวนลำละ ๒ ตำลึง ๒ ปลา ยกยอขันช่อปากกว้างตั้งแต่วาหนึ่งขึ้นไป ให้เรียกลำหนึ่งวาละ ๑ บาท เชงเลงให้เรียกคนละ ๑ บาท ยกยอเล็กปากกว้างต่ำกว่า ๔ ศอกลงมาให้เรียกคนละ ๑ สลึง ดักจั่นให้เรียกคนละ ๑ สลึง ฉะนางให้เรียกคนละ ๒ สลึง ตกเบ็ดทรง ๑๐๐ ละ ๒ สลึง

             น้ำเค็มรั้วปะกักคอกลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท รั้วปะกักลาลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท เรือฉลอมอวนลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท เรือไซมานลำละ ๓ ตำลึง เบ็ดลากลำละ ๒ บาท ๒ สลึง ที่โพงพางปากน้ำ ๑ ตำลึง ที่โพงพางถัดขึ้นมา ๓ บาท ที่โพงพางถัดมา ๒ บาท รั้วกางเคยที่บางhearลำละ ๑ บาท ๒ สลึง ทอดแหทะเลลำละ ๑ บาท เบ็ดกุเรา ๑ สลึง แทงรั้วปู ๒ สลึง สองคนลากอวนคนละ ๑ บาท เบ็ดวางตับๆ ๒ สลึง ช้อนกุ้งช้อนปลาคนละ ๑ เฟื้อง รุนกุ้งทะเล ๒ บาท รั้วโพงพางลากปลาในคลองลำละ ๒ สลึง รั้วโพงพางลำละ ๑ ตำลึง รั้วดักปูลำละ ๒ ตำลึง ปะกักคอกล้อมฉนากยกนายเรือเสียนอกนั้นเอาคนละ ๑ บาท ไสกุ้งไสเคยคนหนึ่งปีละ ๒ บาท ๒ สลึง ครึ่งปี ๑ บาท ๒ สลึง เดือนหนึ่งเป็นเงิน ๒ สลึง เรือกางกุ้งกางเคยน้ำจืดน้ำเค็มรั้วละ ๑ บาท เบ็ดลากกระเบนลำละ ๓ บาท เบ็ดวาสายลากเบ็ดลำละ ๑ บาท ๒ สลึง เบ็ดล่อกระพงคนละ ๒ สลึง เบ็ดราวหางกิ่ว ๒ สลึง เบ็ดสายหางกิ่ว ๑ สลึง แทงปลาหมอน้ำลำละ ๑ สลึง อวนลากยกนายเรือนอกนั้นเอาคนละ ๑ บาท รั้วไซมานรองคลองละ ๓ ตำลึง รั้วไซมานริมคลองลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ฉลอมกุเรา ๑ ตำลึง ปะกักคลองกะพงลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท อีชุดน้อยใส่เคยริมฝั่งคนละ ๑ สลึง กระดานถีบหอยคนละ ๑ สลึง (กระดานล้วงปลา)หมึก ๒ สลึง ขุดหอยปากเป็ด ๒ สลึง ฉมวกคนละ ๑ สลึง สวิงตักกุ้งไม่มีคัน ๑ เฟื้อง เรือหาหอยกะพงคนหนึ่ง ๑ เฟื้อง เรือหาหอยแมงภู่คนหนึ่ง ๔๐๐ เบี้ย เรือหาหอยหลอดคนหนึ่ง ๔๐๐ เบี้ย

          ซึ่งราษฎรชักหญ้ากร่ำลงกระบังรังเผือก ห้วยหนองคลองบึงบางบ่อหลุมเอาตัวปลานั้น บางทีทำบ่อหลุมน้อยก็มีบ้าง ใหญ่ก็มีบ้าง ที่ชักหญ้ากร่ำลงกระบังรังเผือก ที่ใหญ่ยาวกว้างบ้างเล็กบ้างไม่เสมอกัน นอกกว่าพิกัดนั้นเป็นอย่างธรรมเนียมสืบๆมา สุดแต่นายอากรกับราษฎรผู้ทำกินจะเห็นพร้อมยอมกัน แล้วแต่นายอากรจะเรียกราษฎร จะผูกแก่กันตามสมควรจะยอมกันนั้นเถิด ถ้านายอากรยอมให้ทำก็ได้ ถ้านายอากรไม่ยอมให้ทำก็อย่าให้ราษฎรลักลอบทำเป็นอันขาด จนกำหนดลงในพิกัดด้วยไม่ได้ ให้นายอากรเรียกอากรค่าน้ำตามพิกัดมีมากในท้องตราแต่เท่านี้ ห้ามอย่าให้นายอากรเรียกอากรค่าน้ำล่วงแขวงล่วงอำเภอให้ล้ำเหลือผิดด้วยพิกัดอย่างธรรมเนียมแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

        ประการหนึ่งถ้าพรรคพวกบ่าวและทาส ซึ่งไปทำการด้วยกันนั้น เกิดวิวาทแก่กันเป็นแต่เนื้อความเล็กน้อย ก็ให้นายอากรสมัครสมานว่ากล่าวให้สำเร็จแต่ในกันเอง ถ้าเป็นเนื้อความมหันตโทษข้อใหญ่ ก็ให้ส่งไปยังผู้รักษาเมืองกรมการพิจารณาว่ากล่าวตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าและราชษรฎรฟ้องหากล่าวโทษสมัครพรรคพวกนายอากร ก็ให้นายอากรส่งตัวผู้ต้องคดีให้ผู้รักษาเมือง ให้กรมการพิจารณาว่ากล่าว ถ้าคดีต้องตัวนายอากร ก็ให้แต่งทนายไปว่าต่างไปแก้ต่าง อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้

         อนึ่ง ห้ามอย่าให้ผู้รักษาเมือง กรมการ แขวงนายบ้าน นายอำเภอ เกาะกุมนายอากรพรรคพวกบ่าวและทาส ซึ่งไปทำอากรด้วยกันนั้น กะเกณฑ์ไปใช้ราชการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมิได้เป็นพนักงาน และเก็บยืมเรือจังกูดกรรเชียงถ่อพายเครื่องสำหรับเรือ ไปให้ป่วยการทำอากรแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้นายอากรกำชับห้ามปรามว่ากล่าวแก่พรรคพวกบ่าวและทาส อย่าให้กระทำคุมเหงฉกชิงฉ้อกระบัดทำการข่มเหงราษฎร และเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมเอาพัสดุทองเงินเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร ไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าพาณิช ทำลายพระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ พระอุโบสถพระวิหารการบุเรียนวัดวาอาราม ฆ่าช้างเอางาและขนายฆ่าสัตว์อันมีคุณ และห้ามอย่าให้รับซื้อเอาฝิ่นขายฝิ่นให้แก่กรมการราษฎรไทย มอญ ลาว เขมร แขก ญวน พม่า ทวาย ฝรั่งพุทธเกตเดิม ซึ่งเป็นกำลังราชการและทหารสำหรับไปณรงค์สงครามนั้น ซื้อขายของสิ่งของต้องห้าม ทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

        ครั้นลุท้องตรานี้ไซร้ ถ้ามีตรานกวายุภักษ์ มีหนังสือเจ้าจำนวนนำตั้งมาตั้งมาด้วยฉบับหนึ่ง เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้เจ้าเมืองกรมการลอกท้องตรานี้ไว้ แล้วให้ประทวนส่งตรานี้ให้แก่พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรีผู้เป็นนายอากร เข้าเรียกอากรค่าน้ำจืดน้ำเค็ม แต่จำนวนปีชวดจัตวาศกสืบไป ตามท้องตราและรับสั่งมานี้จงทุกประการ


(สารตรามา ณ วันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ. ๒๓๙๕))



เชิงอรรถ

(๑) ความต่อไปนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒) พระราชนิพนธ์หมดเพียงเท่านี้

ภาพและที่มา  www.bloggang.com



ตำนานอากรค่าน้ำ, ตำนานอากรค่าน้ำ หมายถึง, ตำนานอากรค่าน้ำ คือ, ตำนานอากรค่าน้ำ ความหมาย, ตำนานอากรค่าน้ำ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu