เทวภูมิ หรือโลกของทวยเทพนี้ เป็นโลกที่อยู่อาศัยแห่ง สัตว์ซึ่งเป็นทิพย์ มีแสงรุ่งเรือง เพราะคำว่าทิพย์นี้ หมายถึงว่ามีแสงรุ่งเรือง พูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่าเป็นที่อยู่ ของเหล่าเทวดาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่สวรรค์ชั้นฟ้า แดนสุขาวดีนั่นเอง
เมื่อจะกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ ทวยเทพทั้งปวงในแดน สุขาวดี ย่อมมีรูปโฉมโนมพรรณเป็นทิพย์สวยงามนักหนา สรีระกายาเนื้อตัวบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากมลทินโทษ โดยประการทั้งปวง จะได้มีกลิ่นอันเหม็นและกลิ่นอัน ร้ายในกายของเขา เช่นมนุษย์เรานี้แม้แต่สักนิดหนึ่งเป็น ไม่มีเลย และเขาจะเนรมิตกายให้ใหญ่และเล็กเท่าใด ก็ได้ดังจิตปรารถนา เพราะกายาแห่งเขานั้นเป็นทิพย์ เทวดาจำนวน ๑๐-๘๐ องค์อาจจะเนรมิตตนลง ให้อยู่ในสถานที่อันเล็กน้อยประมาณเท่าปลายเส้นผม ก็ย่อมทำได้
ยกตัวอย่างเช่น ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเรา ท่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ บางกาลหมู่เทวดาทั้งหลาย ได้พากันมาเฝ้าพระองค์ เพื่อสดับตรับฟังพระสัทธรรม เทศนา บางครามีประมาณมายมากนับจำนวนได้ถึง ๑๐๐๐๐ โกฏิ ถ้าว่า เมื่อไม่เนรมิตกายให้เล็กลงแล้ว ไหนเลยสถานที่จักมีพอ ฉะนั้น เขาจึงพากันเนรมิตกาย ลงให้เล็กนักหนา แล้วตั้งใจสดับพระธรรมเทศนา ได้โดยสะดวกดาย
สวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ
เทวภูมิอันดับที่ ๑ นี้ เป็นแดนสุขาวดี มีเทวราชผู้ยิ่งใหญ่ ๔ พระองค์ ทรงเป็นผู้ปกครองดูแล จึงได้ชื่อว่า จาตุมหาราชิการเทวภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพ ซึ่งมีท้าวจาตุมหาราชทรงเป็นอธิบดี
เมืองสวรรค์ชั้นฟ้าจาตุมหาราชิกานี้ มีเมืองใหญ่เป็น เทพนครอยู่ถึง ๔ เทพนคร (ธตรฐมหาราช วิรุฬหกมหาราช วิรูปักษ์มหาราช เวสสุวัณมหาราช) แต่ละเทพนครมีป้อมปราการ กำแพงทองทิพย์เหลืองอร่ามงามนัก ประดับประดาไป ด้วยสัตตรัตนะแก้ว ๗ ประการ ภายในเทพนครอัน กว้างใหญ่ไพศาลนั้น มีปราสาทแก้วซึ่งเป็นวิมานที่อยู่ ของเทพยดาชาวฟ้าทั้งหลายปรากฏตั้งเรียงรายอยู่ เรียงรายมากมาย พื้นภูมิภาคก็หาใช่เป็นพื้นแผ่นปฐพี เช่นมนุษยโลกเรา โดยที่แท้ เป็นพื้นแผ่นสุวรรณทองคำ มีสีเหลืองอร่ามรุ่งเรืองเลื่อมพรรณรายเรียบเสมอมี ครุวนาดุจหน้ากลอง และมีความวิเศษอ่อนนิ่มดังฟูกผ้า เมื่อฝูงเทพยดาทั้งหลายเหยียบลงไป ก็มีลักษณาการ อ่อนยุบลง แล้วก็เต็มขึ้นมาเช่นเดิม มิได้เห็นรอยเท้า ของเทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นเลย
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเทวภูมินี้ นอกจากจะมีสมบัติ ทิพย์อันอำนวยความสุขนานาประการแล้ว ยังมีสระ โบกขรณีซึ่งมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยปทุมชาติ นานาชนิด ส่งกลิ่นทิพย์หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ เป็นดั่งเช่นมีใครแสร้งเอาน้ำอบน้ำหอมไปประพรมไว้ ตลอดกาลฉะนั้น มีดอกไม้นานาพรรณสีสันวิจิตร ตระการตาและมีรุกขชาติต้นไม่สวรรค์อันแสน ประเสริฐนักหนา เพราะมีผลอันโอชารสยิ่ง และอันว่า มิ่งไม้ในสรวงสวรรค์นั้น ย่อมมีดอกมีผลเป็นทิพย์ ปรากฏให้เหล่าชาวสวรรค์ได้ชื่นชมอยู่ตลอดกาล ไม่มีวันร่วงโรยและหมดไปเลย
ทางไปสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ก็คือต้องประกอบกรรมอันเป็นบุญเป็นกุศล เช่น ให้ทานรักษาศีลเป็นต้น นี่กล่าวอย่างกว้างๆ
ทานสูตร
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
"ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวัง ให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการ สั่งสมทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้ เสวยผลแห่งทานนี้ เขาผู้นั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง ความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช"
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป แล้วเขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ชั้น จาตุมหาราช
"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ นั้น ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็น อดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรระณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐิพพทิพย์
สวรรค์ชั้นที่ ๒ ตาวติงสเทวภูมิ
เทวภูมิ อันดับที่ ๒ นี้ เป็นแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นที่สถิตย์ อยู่แห่งปวงเทพยดาชาวฟ้าผู้อุปปัติเทพ มีเทพผู้เป็น อธิบดีมเหศักดิ์รวม ๓๓ องค์ โดยมีสมเด็จพระ อมรินทราชาทรงเป็นประธานาธิดี จึงได้ชื่อว่า ตาวติงสเทวภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพ ซึ่งมีเทพสามสิบสามองค์ทรงเป็นประธานาธิบดี
แดนสวรรค์นี้เรียกให้ฟังกันง่ายๆ ในหมู่ชาวเราว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่เหนือจอมเขาสิเนรุราชบรรพต ปรากฏเป็นเทพนครใหญ่กว้างขวางนักหนา ปรางค์ ปราสาทล้วนแล้วไปด้วยแก้วอันเป็นทิพย์ แวดล้อมรอบเทวนครด้วยปราการกำแพงแก้วทิพย์ อีกเช่นกัน มีประตูกำแพงแก้วถึง ๑๐๐๐ ประตู เมื่อประตูเหล่านั้นเปิดออกแต่ละครั้ง ย่อมปรากฏเสียง ดังไพเราะเป็นยิ่งนัก ในท่ามกลางพระนครนั้น มีปราสาท พิมานอันมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลืออยู่วิมานหนึ่ง คือ ไพชยนตปราสาทพิมาน มีรูปทรงสูงเยี่ยม เอี่ยมอ่องไป ด้วยรัศมีสัตตรัตน์ เพราะประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการ งามสุดจะพรรณา เป็นที่ประทับอยู่ แห่ง สมเด็จ พระอมรินทราธิราช
สวนสวรรค์
แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงเลื่องลือ รู้กันแพร่หลายทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์ รู้กันว่าเป็น แดนที่อยู่อันแสนจะสนุกเป็นสุขสำราญ รื่นรมย์น่าชม น่าเที่ยวน่าทอดทัศนา ฉะนั้น จึงปรากฏว่า โยคีฤาษี สิทธิทั้งหลายผู้ได้ฌานอภิญญาก็ดี หรือแม้แต่พระ อริยเจ้าในพระบวรพุทธศาสนาผู้ได้บรรลุอภิญญา ประกอบด้วยอริยฤทธิ์ก็ดี ย่อมถือโอกาสมาเที่ยวชม สวรรค์ชั้นนี้อยู่เสมอๆ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็คือสวนสวรรค์ อุทยานทิพย์ที่มีอยู่มากมาย แต่ที่ใหญ่ๆ และมีชื่อเสียงมี ๔ อุทยาน คือ นันทวันอุทยานทิพย์ จิตรลดาวันอุทยานทิพย์ มิสกสวันอุทยานทิพย์ ปารุสกวันอุทยานทิพย์
พระเกศจุฬามณีเจดีย์
เบื้องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ มีสถานที่สำคัญที่สุดอยู่ แห่งหนึ่ง คือ พระเกศาจุฬามณีเจดีย์ เป็นพระเจดีย์มี ทรงสัณฐานใหญ่ ประเสริฐวิเศษเป็นมโหฬาริกและ ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ในทิศอาคเนย์คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ แห่งเทพนคร องค์พระเจดีย์นั้นสวยสดงดงามมีรัศมี รุ่งเรืองนักหนา เพราะว่าสร้างด้วยแก้วอินทนิลอันเป็น ทิพย์ ตั้งแต่กลางถึงยอดประเจดีย์นั้นทำด้วยสุวรรณ ทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และประดับไปด้วยสัตต พิธรัตนะคือแก้ว ๗ ประการ ส่วนสูงทั้งหมด ๘๐๐๐๐ วา มีปราการกำแพงทองคำเนื้อแท้ล้อมรอบทุกด้านเป็น จตุรทิศ แต่ละทิศมีความยาวนับได้ ๑๖๐๐๐๐ วา มีธงประดับนานาชนิดมีสีสันแตกต่างกัน ฝูงเทพยดา ทั้งหลายบางหมู่ถือเครื่องดีดสีตีเป่าสังคีตสรรพดุริยางค์ ต่างๆ มาบรรเลงถวายบูชาพระเจดีย์ทุกวันมิได้ขาด พระเกศาจุฬามณีเจดีย์นี้ เป็นที่บรรจุสิ่งสำคัญอันหา ค่ามิได้ถึง ๒ อย่างด้วยกัน คือ
๑. พระเกศโมลี แห่งพระพุทธองค์ โดยมีประวัติความเป็นมา ว่า เมื่อครั้งจะเสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงตัดมวยพระ โมลี แล้วทรงอธิษฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณแล้ว ขอให้มวยพระเกศโมลีจงลอยขึ้นไป บนนภากาศเถิด อย่าได้ตกลงมาสู่พื้นปฐพีเลย" คราที่นั้น สมเด็จพระอมรินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ จึงทรงนำผอบทองคำมารองรับพระเกศโมลีไว้ แล้วทรงนำขึ้นบนดาวดึงส์สวรรค์ สร้างพระเจดีย์นี้ สำหรับบรรจุพระโมลีนั้น
๒. พระบรมธาตุ เขี้ยวแก้วเบื้องขวาของพระพุทธองค์ โดยมีความเป็นมาว่า เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธ สรีระเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ท่านโทณพราหมณ์ ซึ่งได้รับ แต่งตั้งให้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเปิดรางทองคำ ออกนั้น โทณพราหมณ์เห็นเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย พิลาปร่ำไห้ถึงพระบรมครูก็พลันฉุกคิดได้ จึงแยกพระเขี้ยว แก้วนี้เสียต่างหากจากพระบรมสารีริกธาตุส่วนอื่น โดยซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะแห่งตน แล้วสาละวนจัดแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเพื่อถวายกษัตริย์ เหล่านั้นต่อไป ฝ่ายสมเด็จพระอมรินทราธิราชผู้เลื่อมใส ในพระสัพพัญญูเจ้าอย่างลึกซึ้ง ได้เสด็จมาสังเกตุการณ์ อยู่ ด้วยพระทัยประสงค์จะได้พระบรมสารีริกธาตุเหมือนกัน จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาอันประเสริฐจากผ้าโพก ศีรษะของพราหมณ์เฒ่านั้น ลงสู่ผอบทองคำทิพย์อีกทอด หนึ่ง ด้วยกิริยาอันเลื่อมใสยิ่ง แล้วรีบเสด็จเอามา ประดิษฐานบรรจุไว้ ณ พระเกศจุฬามณีเจดีย์
ทางไปดาวดึงส์สวรรค์
คำตอบง่ายๆ คือ "สร้างเสบียง" กล่าวคือ บุญกุศล พยายามทำตนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ห้ามตนไม่ให้ ทำกรรมอันหยาบช้าลามก ความสกปรกแห่งกายวาจาใจ อย่าให้มีบังเกิด
ทานสูตร
(อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "ตายไปแล้ว เราจักได้เสวยผลทานนี้" แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า "การให้ทาน เป็นการกระทำที่ดี" เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยา ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลาย ในชั้น ดาวดึงส์สวรรค์
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมี ประมาณยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล มีประมาณยิ่ง แต่ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จ ด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ดาวดึงส์
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ท้าวสักกะ จอมเทพในชั้นดาวดึงส์สวรรค์นั้น ได้กระทำบุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ได้กระทำบุญกิริยาวัตถุที่ สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก พระองค์จึงทางเจริญก้าวล่วง เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการคือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์
สวรรค์ชั้นที่ ๓ ยามาเทวภูมิ
เทวภูมิ อันดับที่ ๓ มีเทพผู้มเหศักดิ์ทรงนามว่า สมเด็จ ท้าวสุยามเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดีผู้ปกครอง เพราะฉะนั้น จึงมีนามว่า ยามาเทวภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพซึ่งมี สมเด็จพระสุยามเทวาธิราชทรงเป็นอธิบดี
ยามาเทวภูมินี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์ขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกล ภายในเทพนครนี้ ปรากฏว่ามีปราสาทเงินและปราสาททอง เป็นปราสาท พิมานที่สถิตอยู่ของเทพเจ้าชาวสวรรค์ชั้นยามาทั้งหลาย ปราสาทวิมานเหล่านั้นสวยงามวิจิตรตระการยิ่งกว่า ปราสาทวิมานในสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ มีสวนอุทยาน และสระโบกขรณีอันเป็นทิพย์อยู่หลากหลาย จำง่ายๆ คือ ในสวรรค์ชั้นนี้ ไม่ปรากฏมีแสงพระอาทิตย์ และพระจันทร์เลย เพราะว่าอยู่สูงกว่าพระอาทิตย์และ พระจันทร์มากมายนัก เทพยดาทั้งหลายย่อมแลเห็น แสงสว่าง ด้วยรัศมีแห่งแก้วและรัศมีที่ออกมาจากกาย ตัวแห่งเทพเจ้าเหล่านั้นเอง การจักรู้วันคืนได้ก็ด้วย จากบุปผชาติดอกไม้ทิพย์ในสวรรค์ชั้นนี้นั่นเอง หากว่า เห็นดอกไม้ทิพย์บาน ก็แสดงว่าเป็นเพลารุ่งกลางวัน หากดอกไม้ทิพย์หุบลง ก็เป็นนิมิตแสดงว่า เพลาราตรี
เหล่าเทพผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมมีองคาพยพและหน้าตา งดงามรุ่งเรืองนักหนา มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างผาสุก เสวยสมบัติอันเป็นทิพย์ตามสมควรแก่อัตภาพ
ทางไปสวรรค์ชั้นยามา ต้องพยายามอุตส่าห์สร้างเสบียงกล่าวคือบุญกุศล ต้องเป็นผู้มีกมลสันดานหนักแน่นไปด้วยกุศลสมภาร ไม่หวั่นไหวง่อนแง่นในการบำเพ็ญบุญ
ทานสูตร
(อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณ ยิ่ง แต่ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ยามา
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ท้าวสุยามเทพบุตร จอมเทพในชั้นยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุด้วยทานเป็น อดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ท้าวเธอจึงทางเจริญรุ่งเรืองก้าวล่วงเหล่าเทวดา ชั้นยามาสวรรค์ โดยฐานะ ๑๐ ประการคือ อายุทิพย์ วรระณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์
สวรรค์ชั้นที่ ๔ ตุสิตาเทวภูมิ
เทวภูมิ อันดับที่ ๔ นี้ เป็นแดนสุขาวดี ที่สถิตย์อยู่ แห่งปวงเทพเจ้าชาวฟ้าทั้งหลาย ผู้มีความยินดีและ ความแช่มชื่นอยู่เป็นนิตย์ โดยมีเทพเจ้าผู้มเหศักดิ์ ทรงนามว่าสมเด็จท้าวสันดุสิตเทวาธิราชทรงเป็น อธิบดี จึงมีนามว่า ตุสิตาเทวภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ของ แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จท้าวสันดุสิตเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดี
แดนสุขาวดีเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า ซึ่งมีนามว่าดุสิตาเทวภูมิ นี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป ในเบื้องบน ไกลแสนไกล ภายในเทพนครนี้ ปรากฏว่า มีปราสาทวิมานอยู่ ๓ ชนิด
๑. รัตนวิมาน = วิมานแก้ว
๒. กนกวิมาน = วิมานทอง
๓. รชตวิมาน = วิมานเงิน
ปราสาทวิมานเหล่านี้ ตั้งอยู่เรียงรายมากมาย แต่ละ วิมานเป็นปราสาทสวยสดงดงาม มีความวิจิตรตระการตา เหลือที่จะพรรณา และมีรัตนปราการกำแพงแก้วล้อมรอบ ทุกวิมาน มีรัศมีรุ่งเรืองเลื่อมพรรณราย สวยงามยิ่งกว่า ปราสาทพิมานของเทพยดาในสรวงสวรรค์ชั้นยามาภูมิ นอกจากนั้น สถานที่ต่างๆ ในเทวสถานชั้นนี้ ยังมี สระโบกขรณีและอุทยานอันเป็นทิพย์ สำหรับเป็นที่ เที่ยวเล่นให้ได้ความชื่นบานเริงสราญ แห่งเทพเจ้า ชาวสวรรค์ชั้นนี้มากมายนัก
สำหรับปวงเทพเจ้าผู้สถิตย์อยู่ในดุสิตสวรรค์นี้ แต่ละองค์ย่อมปรากฏมีรูปทรงสวยงาม มีความสง่ากว่า เหล่าเทพยดาชั้นต่ำๆ ทั้งมีน้ำใจรู้บุญรู้ธรรมเป็นอย่างดี มีจิตยินดีต่อการสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเป็นยิ่งนัก ทุกวันธรรมสวณะ เทพเจ้าเหล่านี้ย่อมจะมีเทวสันนิบาต ประชุมฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดเลย ทั้งนี้ ก็เพราะ เหตุที่องค์สมเด็จท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราช จอมเทพ ผู้มีอิสริยยศยิ่งใหญ่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ทรงเป็นเทพเจ้า ผู้พหูสูต เป็นผู้รู้ธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าเป็นอันมาก อีกประการหนึ่ง ตามปกติดุสิตสวรรค์นี้ เป็นที่สถิตย์อยู่แห่งเทพบุตรผู้เป็นโพธิสัตว์ ซึ่งมีโอกาสจัก ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคต เพราะฉะนั้นท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิบดี จึงมักมีเทวโองการ ตรัสอัญเชิญให้เทพบุตรพระ โพธิสัตว์ผู้ทรงปัญญานั้นเป็นองค์แสดงธรรมเช่นใน ปัจจุบันนี้
สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันในหมู่พุทธบริษัทว่า จักได้ ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ในอนาคตอันตรกัปที่ ๑๓ แห่ง ภัทรกัปนี้ พระองค์ก็สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นนี้ และมักได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงธรรมโปรดเหล่า เทพบริษัทในดุสิตสวรรค์นี้อยู่เสมอ นอกจากจะเป็น สวรรค์ชั้นสำคัญดังกล่าวมาแล้ว ในขณะนี้ แดนสวรรค์ ชั้นดุสิต ยังเป็นที่สถิตย์อยู่ของเทพเจ้าองค์สำคัญซึ่งเรา ท่านทั้งหลายรู้จักกันดี เทพเจ้าองค์นี้ก็คือพระสิริมหามายา เทพบุตรผู้มีบุรพวาสนาเป็นพระพุทธมารดาแต่ปางบรรพ์
ทางไปสวรรค์ชั้นดุสิต คือต้องอุตส่าห์พยายามสร้างเสบียง กล่าวคือบุญกุศล ต้องมีกมลสันดานชอบสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เพื่ออบรมปัญญาให้เจริญผ่องใส ไม่หวั่นไหวโยกคลอน ในการประกอบกุศล ไม่เป็นผู้มัวเมาประมาทในวัย และชีวิตของตน เร่งสร้างกุศลเช่น บำเพ็ญทานและ รักษาศีลเป็นเนืองนิตย์
ทานสูตร
ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำ ให้ประเพณี" แต่ให้ทานด้วยคิดว่า "เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร" เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำ กาลกิริยาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิต
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร! บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญ กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงกาลกิริยา ตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นดุสิต
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร! ท้าวสันดุสิตเทพบุตร จอมเทพในชั้นดุสิตนั้น ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จ ด้วยทานเป็นอดิเรก ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีลเป็นอดิเรก ท้าวเธอจึงทรงเจริญรุ่งเรือง ก้าวล่วง เหล่าเทวดาชั้นดุสิตสวรรค์ โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์
สังคีติสูตร
(ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๔๖ หน้า ๒๗๑ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรสารีบุตร! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่นั่ง ที่พัก ที่อาศัย และสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่ ประทีป ให้เป็นทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไป โดยเขาได้ยินมาว่า "พวกเทพเจ้าเหล่าดุสิตสวรรค์เป็นเทพที่มีอายุยืน มีวรรณะงาม มากไปด้วยความสุข" ดังนี้แล้ว เขาจึงจินตนาอธิษฐานอย่างนี้ว่า "โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพวกเทพเจ้าเหล่า ดุสิตสวรรค์เถิด" เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขา นั้นน้อมไปในสิ่งที่ต่ำ มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จลงได้เพราะเป็นของบริสุทธิ์ ดังนี้
สวรรค์ชั้นที่ ๕ นิมมานรดีเทวภูมิ
เทวภูมิ อันดับที่ ๕ นี้เป็นที่สถิตย์ของปวงเทพเจ้า ผู้มีความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ ที่เนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตนเอง โดยมีเทพเจ้ามเหศักดิ์ ทรงนามว่า สมเด็จท่านท้าวสุนิมมิตเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดีผู้ปกครอง จึงได้ชื่อว่า นิมมานรดีภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จพระนิมมิตเทวา ธิราชทรงเป็นอธิบดี
เทพนครนี้ ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปในเบื้องบน ไกลแสนไกล ภายในเทพนครมีปราสาทเงิน ปราสาททอง และปราสาทแก้ว ทั้งมีกำแพงแก้วกำแพงทองอันเป็น ของทิพย์ เป็นวิมานที่อยู่ของเหล่าเทวดา นอกจากนั้น พื้นภูมิภาคยังมีสภาวะเป็นทองราบเรียบเสมอกัน มีสระโบกขรณีและสวนอุทยานอันเป็นทิพย์ สำหรับ เป็นที่เที่ยวเล่นสำราญแห่งเหล่าชาวสวรรค์นิมมานรดี ทั้งหลาย เช่นเดียวกับสมบัติทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต ต่างกันแต่ว่าทุกอย่างที่นี่มีสภาวะสวยสดงดงามและ ประณีตกว่าทิพยสมบัติในดุสิตเทวพิภพเท่านั้น
เทพยดาทั้งหลาย ย่อมมีรูปทรงสวยงาม น่าดูน่าชม ยิ่งกว่าชาวสวรรค์ชั้นที่ต่ำกว่าทั้งหลาย และมีกายทิพย์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองเป็นยิ่งนัก หากเขาเกิดความปรารถนา จะเสวยสุขด้วยกามคุณารมณ์สิ่งใด เขาย่อมเนรมิต เอาได้ตามความพอใจชอบใจแห่งตนทุกสิ่งทุกประการ ไม่มีความขัดข้องและเดือดเนื้อร้อนในในกรณีใดๆ เลย ปรองดองรักใคร่และได้รับความสุขสำราญชื่นบาน ทุกถ้วนหน้า
ทางไปสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ต้องอุตส่าห์ก่อสร้างกองบุญกุศลให้ยิ่งใหญ่ อบรมจิตใจ ของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ให้สกปรกลามกมีมลทิน โดยพยายามรักษาศีลไม่ให้ขาดได้ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยะอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทานและศีลอันสูงส่งเท่านั้น จึงจะบันดาลให้ไปอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้
ทานสูตร
ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราหุ่งหากินได้ แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะ หรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร" แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับท่านฤาษี ทั้งหลายคือ ท่านอัฏฐกฤาษี ท่าวามกฤาษี ท่านวาม เทวฤาษี ท่านเวสสามิตรฤาษี ท่านยมทัคคฤาษี ท่านอังคีรสฤาษี ท่านภารทวาชฤาษี ท่านวาเสฏฐฤาษี ท่านกัสสปฤาษี ท่านภคุฤาษี"เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำ กาลกิริยาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิกาย ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึง แก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งเทวดาชั้น นิมมานรดี
สังคีติสูตร
(ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๔๖ หน้า ๒๗๑ บาลีฉบับสยามรัฐ)
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่นั่ง ที่พัก ที่อาศัย และสิ่งเป็นอุปกรณ์แก่ประทีป ให้เป็นทานแก่สมณะหรือ พราหมณ์ เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไปโดยเขาได้ศึกษา มาว่า "พวกเทพเจ้าเหล่านิมมานรดีสวรรค์ เป็นเทพที่มีอายุยืน วรรณะงาม มากไปด้วยความสุข" ดังนี้แล้ว เขาจึงจินตนาอธิษฐานอย่างนี้ว่า "โอหนอ! เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึง เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพวกเทพเจ้าเหล่านิมมานรดี สวรรค์เถิด" เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตใจนั้นไว้ จิตของเขานั้นน้อมไปในสิ่งที่ต่ำ มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี นี้ ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับ บุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของบุคคล ผู้มีศีลย่อมสำเร็จลงได้ เพราะเป็นของบริสุทธิ์ ดังนี้
สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัสตีเทวภูมิ
เทวภูมิ อันดับที่ ๖ นี้ เป็นแดนสุขาวดีสวรรค์เทวโลก ชั้นสูงสุดฝ่ายกามาพจร ซึ่งเป็นที่สถิตย์อยู่แห่งปวงเทพเจ้า ผู้เสวยกามคุณารมณ์ที่เทวดาอื่นรู้ความต้องการของตน แล้วเนรมิตให้ เป็นที่อยู่อันประเสริฐด้วยสุขสมบัติยิ่งกว่า สวรรค์ชั้นฟ้าทั้งหลาย โดยมีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่นามว่า สมเด็จท่านท้าวปรนิมมิตเทวาธิราชทรงเป็นอธิบดี กับทั้งเป็นที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพยดาจำพวกมารทั้งหลาย โดยมีสมเด็จท่านท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชทรงเป็น อธิบดี จึงได้ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จพระปรนิมมิตวสวัตตีเทวาธิราช และสมเด็จพระปรนิมมิตมาราธิราชทรงเป็นอธิบดี
ยอดสวรรค์นี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้น นิมมานรดีขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกล แบ่งเป็นสองแดน
๑. แดนเทพยดา
๒. แดนมาร
อยู่กันฝ่ายละแดน มีเขตแดนกั้นในระหว่างกลาง ต่างฝ่าย ต่างอยู่ หากมีกิจจำเป็นจึงจะไปมาหาสู่แก่กันและกัน ทุกท่านล้วนแต่ได้รับความสุขอันประณีต เสวยทิพยสมบัติ ณ ทิพยสถานพิมานแห่งตนๆ สำราญสุขมากกกว่า สวรรค์ชั้นฟ้าอื่นๆ
ทางไปสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ต้องอุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฎ์ อบรมจิตใจให้สูงส่งด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีล ก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไปด้วยศรัทธาปสาทะ อย่างยิ่งยวดและถูกต้อง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผลวิบากแห่ง ทานและศีลอันสูงยิ่งเท่านั้น จึงจะบันดาลให้ไปอุบัติ ในสวรรค์ชั้นนี้ได้
ทานสูตร
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า "เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลาย แต่กาลก่อนคือท่านอัฏฐกฤาษี ท่านวามกฤาษี ท่านวามเทว ฤาษี ท่านเวสสามิตฤาษี ท่านยมทัคคฤาษี ท่านอังคีรสฤาษี ท่านภารทวาชฤาษี ท่านวาเสฏฐฤาษี ท่านกัสสปฤาษี ท่านภคฤาษี" ดังนี้ แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า "เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิด ความปลื้มใจและโสมนัส" เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยา ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี
ปุญญกิริยวัตถุสูตร
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๑๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี
ข้อมูลจาก "ภูมิวิลาสินี" โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)
ที่มา https://www.geocities.com/easydharma/