หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงเจ้าเมืองกรมการ
ด้วยท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ๆปรึกษาพร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณา แก่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดิน ซึ่งล่วงมาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นถวัลยราชาภิเษก เสวยสิริราชสมบัติ ครอบครองพระราชอาณาจักรอันนี้ได้ ๓ ปีแล้ว เคยโปรดเกล้าฯให้แต่ข้าหลวงออกไปรังวัดสวนนับต้นไม้มีผลในสวนของราษฎร จังหวัดกรุงเทพพระนครอมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา และเมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เมืองนครไชยศรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีทำหน้าโฉนดเสียใหม่ เรียกเงินอากรส่งเข้ามายังพระคลังมหาสมบัติตามหน้าโฉนดเสียใหม่นั้น เป็นราชประเพณีมีมา ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกสำเร็จบรมราไชศวรรยาธิปัติ ครอบครองพระราชอาณาจักรมาถึงปีที่ ๓ ในปีฉลูเบญจศกนี้ เป็นกาลอันควรจะแต่งข้าหลวงออกเดินสวนทำหน้าโฉนดใหม่ตามโบราณราชประเพณีนั้น การอันนี้สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดฯ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯดำรัสว่า(๑) การ ๒ อย่าง คือการสักเลขหมายหมู่ทำทะเบียนหางว่าวไว้ แล้วเกณฑ์ข้าราชการตามจำนวนหางว่างอันนั้นไปหลายปี และหักหนีตายเป็นคราวๆนานนั้นอย่างหนึ่ง การเดินสวนเดินนานับต้นไม้มีผลและกระทงนาให้แน่นอนแล้ว ทำหน้าโฉนดตราแดงให้ไว้แก่เจ้าของสวนเจ้าของนา แล้วเก็บอากรสวนและหางข้าวค่านา ตามจำนวนหน้าโฉนดตราแดงฉบับหนึ่งนั้นไปหลายปี จึงเดินสวนเดินนาใหม่ต่อกาลนานๆนั้นอย่างนึ่ง เห็นจะเป็นการบังเกิดเป็นอย่างธรรมเนียมมาแต่พระราชบัญญัติของพระมหากษัตริย์พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ที่ทรงพระสติปรีชาปัญญา และข่าราชการที่ปรึกษาอันเป็นปราชญ์ฉลาดในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เจริญเรียบร้อยง่ายสะดวก และการสักเลขหมู่มีทะเบียนหางว่าวตัวเลขตายหนีชราพิการหรือบวชเป็นภิกษุ เจ้าพนักงานยังไม่หักบัญชีจำหน่าย ก็คงเกณฑ์ราชการอยู่เสมอตามทะเบียนเดิมที่ลูกหมู่รุ่นฉกรรจ์ขึ้นก็มีมาก เจ้าหมู่ยังไม่ได้นำเข้ามาสักคงเหลืออยู่โดยมาก และนาของราษฎรที่เป็นนาคู่โค ข้าหลวงรังวัดแล้วทำตราแดงให้ไว้แก่เจ้าของนาเป็นสำคัญ เจ้าของนาจะได้ทำและมิได้ทำก็ดี มีอย่างธรรมเนียมว่าเมื่อถึงปีข้าหลวงเสนาก็คงเรียกหางข้าวค่านาเต็มตามตราแดงที่มีในบัญชี ที่เจ้าของนาเอาตราแดงไปเวนส่งแก่กำนันนายอำเภอแล้ว หรืออพยพทิ้งนาให้ร้างไว้ ถึงภายหลังบางแห่งจะแต่งอุบายให้ญาติพี่น้องเข้าทำในที่นาเวน ข้าหลวงเสนาก็ได้เรียกค่านาแต่ที่ทำได้ หรือแต่ตามตราแดงบัญชีตั้งคง ค่านาตกขาดจากภูมิตราแดงโดยมาก
และสวนของราษฎรนั้นเล่า ลางสวนต้นผลไม้หักโค่นตายเสีย เจ้าของสวนเกียจคร้าน หาปลูกซ่อมแซมเพิ่มเติมขึ้นไม่ เจ้าพนักงานก็คงเรียกอากรเต็มหน้าโฉนด ที่ปลูกต้นผลไม้ขึ้นใหม่กว่าหน้าโฉนดเดิมก็มิได้บวกเงินอากรขึ้น การทั้งนี้ที่แท้ก็ควรจะให้เจ้าพนักงานชำระบัญชีไล่ตัวเลขลูกหมู่เข้ามาสัก และหักบัญชีจำหน่ายแล้ว จึงเกณฑ์ข้าราชการตามตัวเลขที่มีจริงทุกคราวเกณฑ์ และแต่งข้าหลวงออกรังวัดนาเดินสวนของราษฎรให้เสมอทุกปีทุกคราวเก็บอากรสวน และหางข้าวค่านานั้นจึงจะชอบเป็นการเสมอทั่วหน้า แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็จะเป็นการฟั่นเฝือจะต้องชำระบัญชีเก่าใหม่ซับซ้อนทบทวนมา เมื่อบ้านเมืองมีราชการทัพศึกหรือราชการอื่นใหญ่สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็จะค้างเดินไม่เรียบร้อยง่านสะดวก จะลำบากแก่เจ้าพนักงาสนนักจึงมีธรรมเนียมใช้แต่การที่ใกล้ต่อความเสมอสมานดังนั้น
แต่ครั้นถ้าการชำระเลขและเดินนาเดินสวนใหม่นั้นงดเสีย นานไปการที่ใกล้ต่อที่จริงเสมอนั้นจะห่างจะไกลไปทุกปี บัดนี้การสักเลขหมู่ลูกฉกรรจ์ขึ้นใหม่ กับชำระตัวเลขที่ต้องหักบัญชีจำหน่ายนั้น กรมพระสัสดีก็ได้ตั้งการดัดแปลง และชำระอยู่แล้ว และการเดินนาเดินสวนนั้น ก็ควรให้เป็นไปใกล้ความเสมอดุจการสักเลขเหมือนกัน เจ้าของนาเจ้าของสวนจะได้มีความอุตสาหะปลูกต้นไม้มีผลทำไร่นาให้มากขึ้น เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่แผ่นดิน
และเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีฉลูเอกศก (พ.ศ. ๒๓๗๒) โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงออกเดินสวนครั้งหนึ่ง ครั้น ณ ปีเถาะตรีศก (พ.ศ. ๒๓๗๔) น้ำท่วมต้นผลไม้ตายเสียมาก ได้ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรเจ้าของสวนจะไม่ให้ได้ความเดือดร้อน ณ ปีมะโรงจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๗๕) จึงโปรดเกล้าฯให้เดินสวนอีกครั้งหนึ่ง แต่ปีมะโรงจัตวาศกมานั้นได้ ๒๐ ปีล่วงไปแล้ว ซึ่งเสนาบดีผู้ใหญ่ๆปรึกษาพร้อมกันเห็นว่ากาลนานมา จะขอให้แต่งข้าหลวงออกเดินสวนในปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๙๖) นี้นั้นก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว แต่ซึ่งจะถือเอาเป็นธรรมเนียมว่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ได้ ๓ ปีแล้ว จึงให้เดินสวนนาและชำระเลขนั้นไม่ควร เมื่อเหตุมีขึ้นหรือช้านานไปหลายปีแล้ว ก็ควรจะต้องจัดแจงการเสียใหม่ให้ใกล้จริงและเสมอเข้าครั้งนี้(๒)
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติพิริยพาหะ กับพระยาพิพิธโภไคยสวรรย์ จมื่นศรีสรรักษ์หัวหมื่นมหาดเล็กเป็นแม่กองชำระความ และชำระบัญชีต้นไม้ มีผลควรตรงอากรให้แน่นอน แล้วทำหน้าโฉนดแจกแก่ราษฎรเจ้าของสวนแขวงกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ และหัวเมือง อย่าให้เกิดวิวาทแก่กันขึ้นได้ โปรดเกล้าฯให้แต่งข้าหลวงเดินสวนแขวงกรุงเทพมหานคร และเมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ
ฝั่งเหนือพระบรมมหาราชวัง พระยาสีหราชเดโชชัยอภัยพิริยบรากรมพาหุแม่กอง ๑ พระยาราชสงครามจางวางทหารในขวา ๑ พระยาสมบัตยาภิบาลเจ้ากรมพระคลังในขวา ๑ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก ๑ หลวงอภิบาลภูวนาถเจ้ากรมรักษาพระองค์ขวา ๑ จมื่นมหาสนิทปลัดกรมพลพันขวา ๑ รวม ๖ พระบวรราชวังนั้น พระยาประเสริฐสาตรธำรงจางวางกรมหมอ ๑ หลวงรัตนรักษาเจ้ากรมแสงในซ้าย ๑ รวม ๒ รวมฝั่งเหนือ ๘
ฝั่งใต้ข้าหลวงในพระบรมมหาราชวัง พระยาเพชรพิชัยจางวางล้อมพระบรมมหาราชวังแม่กอง ๑ พระยาสามภพพ่ายจางวางกรมทหารในซ้าย ๑ พระยากาญจนานุกิจ ๑ จมื่นสรรเพธภักดีหัวหมื่นมหาดเล็ก ๑ จมื่นจงรักษาอง๕เจ้ากรมพระตำรวจวังซ้าย ๑ หลวงวิจารณ์ราชารักษ์ปลัดจางงวางรักษาพระองค์ ๑ รวม ๖ พระบวรราชวัง พระยาวิเศษศักดาจางวางทหารปืนใหญ่ ๑ พระจำนงสรไกรปลัดจางวางเกณฑ์หัดปืนแดง ๑ รวม ๒ รวมฝั่งใต้ ๘
เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี ข้าหลวงในพระบรมมหาราชวัง พระเทพาธิบดีเจ้ากรมพระสัสดีซ้าย ๑ พระจันทราทิตย์เจ้ากรมสนมพลเรือนขวา ๑ จมื่นราชาบาลปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ หลวงมไหศวรรย์ ๑ หลวงสุวรรณภักดี ๑ หมื่นเสพสวัสดิ์ปลัดกรม ๑ ข้าหลวงในพระบวรราชวัง พระยาอร่ามมณเฑียรจางวางทหารใน ๑ พระฤทธิ์เดชะเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ รวม ๘ รวมทั้งสิ้น ๒๔ นาย และสวนเมืองฉะเชิงเทรานั้น เดินสวนแขวงกรุงเทพฯเสร็จแล้วจึงให้ข้าหลวง ๘ นายฝั่งเหนือ ออกไปเดินสวนแขวงเมืองฉะเชิงเทราต่อไปเหมือนอย่างกรุงเทพฯ ให้ข้าหลวงมีชื่อแต่งทนายนายละ ๘ คนกำกับกัน ให้นายระวางนำไปรังวัดสวนนับต้นไม้ของราษฎรให้สิ้นเชิงจงทุกสวน อย่าให้หลงเหลือเบียดบังไว้ได้เป็นอันขาด
และต้นผลไม้มีอากร หมาก มะพร้าว พลู มะม่วง มะปราง ทุเรียน มังคุด ลางสาด ๘ สิ่งนี้(๓) หมากเอกสูง ๓ วา ๔ วา เรียกต้นละ ๕๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๓ สลึง ๒๐๐ เบี้ย หมากโทสูง ๕ วา ๖ วา เรียกต้นละ ๔๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๒ สลึงเฟื้อง หมากตรีสูง ๗ วา ๘ วา เรียกต้นละ ๓๐ เบี้ย ๑๐๐ ละสลึงเฟื้อง ๖๐๐ เบี้ย หมากผการายออกดอกประปราย ให้เรียกเท่าต้นโทต้นละ ๔๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๒ สลึงเฟื้อง หาก ๔ รายนี้มีหมากกรอกต้นละ ๑๑ ผล
มะพร้าวเล็กตั้งปล้องสูงศอกหนึ่งขึ้นไป ให้เรียกเท่าหมากเอกต้นละ ๕๐ เบี้ย ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร แต่หมากกรอกนั้นยังไม่เรียก ต้นสูงคอดคอเรียวชายเอนให้ยกอากรเสีย สูง ๘ ศอกขึ้นไปเอาเป็นใหญ่เรียกต้นละ ๑๐๐ เบี้ย ๘ ต้นเฟื้อง ๑ มีน้ำมันเฉลี่ย ตั้งปล้องสูงศอกหนึ่งขึ้นไปถึง ๗ ศอก อาเป็นปีขาลฉศกจึงเรียกอากร แต่น้ำมันเฉลี่ยนั้นยังไม่เรียก สูงคอดคอเรียวให้ยกเสีย แต่มะพร้าวมูลสีนาฬิเกหงสิบบาท สำหรับของทูลเกล้าฯถวาย และของกำนัลให้ยกอากรเสีย
พลูค้างทองหลางสูง ๗ ศอก ๘ ศอกขึ้นไปให้เอาเป็นใหญ่ ๔ ค้างเฟือง ๑ ร้อยละ ๓ บาทเฟื้อง สูง ๕ ศอก ๖ ศอกเอาเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจะเรียกเงินอากร
ทุเรียน มะม่วง วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนขึ้นไปเพียงตาโอบรอบ ๓ กำ เอาเป็นใหญ่ ทุเรียนต้นละ ๑ บาท มะม่วงต้นละเฟื้อง ใหญ่รอบไม่ถึง ๓ กำลงมาจนถึง ๒ กำเอาเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร
มังคุด ลางสาด วัดแต่โคนต้นขึ้นไป สูงศอกคืบนั่งยองเพียงตา โอบรอบ ๒ กำเอาเป็นใหญ่ เรียกต้นละเฟื้อง ใหญ่รอบไม่ถึง ๒ กำลงมาจนกำหนึ่ง เอาเป็น เล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกอากร
มะปราง วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนเพียงตาโอบรอบ ๓ กำเอาเป็นใหญ่ ๒ ต้นเฟื้อง โอบรอบ ๒ กำเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร
แต่ส้มโอ ส้มแก้ว ส้มเกลี้ยง ส้มเทพรส ส้มมะแป้น ส้มจุก ส้มเปลือกบาง ๗ สิ่งนั้น โปรดเกล้าให้ยกไม่ให้เรียกอากร ถ้าเป็นโพรง ยอดตายมีแต่กิ่ง ๑ สองกิ่งให้ตั้งเป็นโคนหาอากรมิได้ ถ้าโคนต้น ๒ ต้น ๓ ต้น เคียงชิดกันให้เอาแต่ต้นหนึ่ง ถ้าห่างกันตัวโคลอดได้ให้เรียกเรียงต้น และถ้าสวนผู้จับทำสร้างขึ้นใหม่ หาต้นผลไม้มิได้ก็ดี และต้นไม้เก่ามีอยู่อากรต่ำกว่าเดิมจอง ให้เรียกแต่ปีเดิมจองเป็นหลวง ปีละสลึง ๖๐๐ เบี้ย ให้หน้าโฉนดตราแดงไว้
อนึ่ง ราษฎรรู้ว่าข้าหลวงจะเดินสวน และราษฎรบังอาจลักตัดต้นผลไม้มีอากร ซึ่งนายระวางประกาศห้ามแล้วให้ขาดอากรของหลวงไป ให้ปรับไหมอากรต้นหนึ่งเป็น ๓ ต้น สักหลังไว้ในโฉนดเป็นโทษไหม แล้วอย่าให้หักสิบลดให้กับราษฎรผู้กระทำผิดนั้นเลย ให้ผูกอากรกับไม้ใหญ่สืบไป อย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกัน แล้วห้ามอย่าให้เรียกเอาค่าฤชาตลาการแก่ราษฎรผู้ลักตัดต้นไม้นั้นเลย
และห้ามอย่าให้ข้าหลวงกองเดินเอาเนื้อความแฝงอาญาอุทธรณ์นครบาล ซึ่งเป็นสินไหมพินัย ไว้พิจารณาว่ากล่าวเป็นอันขาดทีเดียว
และให้ข้าหลวงลงเส้นเชือกรังวัดสวนของราษฎร ให้รู้ว่ากว้างยาวลงไว้ในหน้าโฉนดจงทุกสวน
และเมื่อแรกวันจะลงมือรังวัดสวน ให้ราษฎรทำบายศรีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่สำรับหนึ่ง กรุงพาลีสำรับหนึ่ง ศีรษะสุกรคู่หนึ่งราคา ๕ สลึง เสื่ออ่อนผืนหนึ่งราคาเฟื้องหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่งราคาสลึงเฟื้อง รองเชือกรังวัดขันล้างหน้าใบหนึ่งราคาเฟื้องหนึ่ง สำหรับเสกน้ำปะพรมที่สวน ค่าเสกน้ำเฟื้องหนึ่ง ค่ารังวัดหัวเชือกสลึง หางเชือกเฟื้อง รวม ๒ บาทสลึงเฟื้อง แต่แรกลงมือแขวงกรุงเทพฯสวนหนึ่ง เมืองนนทบุรีสวนหนึ่ง และเมืองนครเขื่อนขันธ์สวนหนึ่ง เมืองสมุทรปราการสวนหนึ่ง เมืองนครไชยศรีสวนหนึ่ง เมืองสาครบุรีสวนหนึ่ง เมืองฉะเชิงเทราสวนหนึ่ง เมืองสมุทรสงครามสวนหนึ่ง แต่เท่านี้
และเงินของซึ่งราษฎรเสียไปกับข้าหลวงนั้น ให้นายระวางหักเงินอากรของหลวง ซึ่งจะเรียกในสวนนั้นหักให้แก้ราษฎรผู้เสียของและเงิน คิดเบ็ดเสร็จเงิน ๒ บาทสลึงเฟื้องนั้นแต่ปีเดียว
ถ้าข้าหลวงนับได้ไม้ใหญ่ไม้เล็ก สวนพระคลังสวนวัดได้เท่าใด ให้แม่กองเดินผู้ใหญ่เขียนหน้าโฉนดป่าปิดตราประจำต้นไม้ให้ไว้เป็นคู่มือราษฎรจงทุกสวน อย่าให้เรียกเงินค่าโฉนดป่าแก่ราษฎร ให้เรียกแต่มะพร้าว ๒ คู่ พลู ๒ กลุ่ม หมากทะลาย ๑ คิดเป็นเงินสลึงเฟื้อง เป็นหัวมือจงทุกสวน แล้วให้ราษฎรเจ้าของสวนและนายระวาง เอาโฉนดมาส่งแก่แม่กองผู้ชำระ จะได้สอบสวนจำนวนต้นผลไม้ให้ถูกตามบัญชี จะได้ทำโฉนดใหญ่ปิดตราให้ไว้กับเจ้าของสวนเป็นสำคัญ
แต่ก่อนนั้น ข้าหลวงได้เดินสวน ๕ ครั้งแล้ว และเมื่อข้าหลวงเดินสวนนั้น เป็นสวนของผู้ใด ให้ราษฎรเจ้าของสวนคิดให้เงินค่าหัวมือสวนละสลึงเฟื้อง เบี้ยเลี้ยงสวนละ ๒ สลึง สวนหนึ่งเป็นเงิน ๓ สลึงเฟื้อง ได้แก่ข้าหลวงนั้น ให้ข้าหลวงเดินสวนทำตามข้าหลวงเดินสวมมาแต่ก่อน
ครั้นถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ให้ข้าหลวงมีชื่อกองเดินเอาบัญชีเดินทุ่งมาส่งให้กองบัญชี แล้วให้กองเดินกองบัญชีและทนายผู้นับต้นผลไม้พร้อมด้วยนายกองใหญ่ เข้าไป ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สาบานตัวเฉพาะพระพักตร์พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าจะนับต้นผลไม้ของราษฎรและบัญชีแต่ตามสัจตามจริง อย่าให้เอาของหลวงเป็นของราษฎรๆมาเป็นของหลวงมากเป็นน้อยๆเป็นมาก ไม้ใหญ่ว่าเล็กๆว่าใหญ่ และเบียดบังเอาสินจ้างสินบน เป็นอาณาประโยชน์ตนเป็นอันขาดทีเดียว
และให้กองบัญชีคิดอากรไม้ใหญ่และหมากกรอก ให้นายระวางเรียกเงินอากรค่าหมากกรอก ซึ่งขึ้นใหม่ในจำนวนปีฉลูเบญจศก ส่งเข้ายังพระคลังมหาสมบัติ ถ้าต้นผลไม้ชำรุดต่ำลงกว่าเดิม ให้หักเงินอากรและหมากกรอกลงเสีย ยังคงไม้ใหญ่และไม้เล็กเท่าใด หักสิบลดหนึ่งพระราชทานให้แก่ราษฎรเจ้าของสวน คงนายระวางเรียกอากรไม้ใหญ่ไม้เล็กหมากกรอกได้เท่าไร ให้นายระวางเรียกส่งพระคลังสวนๆส่งเข้าไปยังพระคลังมหาสมบัติ จำนวนปีขาลฉศกตามหน้าโฉนดสืบไป
ให้กองบัญชีเขียนโฉนดขึ้นกระดาษรายต้นไม้ จำนวนเงินเป็นอักษร อย่าให้บุบสลายปิดตราข้าหลวง ๘ นายไว้จงทุกสวน ครั้นเดินสวนเสร็จแล้ว ให้ราษฎรเอาโฉนดป่ามาสอบทานกับโฉนดใหญ่ต้องกันแล้ว ให้กองบัญชีเอาโฉนดป่าเก็บไว้ส่งโฉนดใหญ่ให้แก่ราษฎร แล้วให้นายระวางเรียกเงินค่าโฉนดไว้ใบละ ๑ บาท ๒ สลึงจงทุกสวนแต่ปีเดียว และเงิน ๑ บาท ๒ สลึงนั้น ให้แก่นายระวางเป็นค่าสมุด ค่ากระดาษ ค่าดินสอสำหรับทำบัญชีในการเดินสวน ๑ สลึง ให้แก่ผู้ตราทำบัญชีคู่โฉนด ๑ เฟื้อง ให้เเก่ผู้เขียนโฉนดเฟื้อง ๑ ยกเป็นค่าตรา ๑ บาท แล้วให้กองบัญชีทำบัญชีจำนวนสวน จำนวนไม้ จำนวนเงิน จำนวนหมากกรอกยื่นให้แม่กองใหญ่ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วให้พนักงานรักษาไว้ในพระคลังมหาสมบัติ
อนึ่ง มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ไม้ ๓ จำพวกคือไม้มะเกลือเป็นไม้ดำ ๑ ไม้ละมุดสีดาเป็นไม้แดงเนื้อละเอียด ๑ ไม้จันทน์เป็นไม้ขาวเนื้อละเอียด ๑ ไม้ ๓ จำพวกนี้ถึงมีผลราษฎรซื้อขายกันได้บ้าง ก็ไม่ได้เรียกอากรมาแต่ก่อน ครั้งนี้ต้องพระราชประสงค์จะใคร่ทรงทราบจำนวนไว้ และเมื่อตันหักโค่นประการใด จะต้องพระราชประสงค์แก่นมาเลื่อยจักตัดออกใช้ราชการ เพราะดังนั้นเดินสวนครั้งนี้ ให้ข้าหลวงและเจ้าพนักงานนับไม้ ๓ จำพวก คือ ไม้มะเกลือ ไม้ละมุด ไม้จันทน์ ให้รู้จำนวนตามเล็กและใหญ่ใส่หน้าโฉนดไว้ แต่อย่าให้เรียกเงินเอาค่าธรรมเนียม เมื่อนับและทำบัญชีต้นไม้ ๓ อย่างนี้ เป็นอันขาดทีเดียว เป็นแต่ให้ประกาศมอบหมายแก่เจ้าของสวน และผู้รับหน้าโฉนดไว้ว่า ถ้าต้นมะเกลือและต้นละมุดต้นจันทน์ที่มีแก่นแล้วจะล้มซวนเอง หรือคร่ำคร่าเจ้าของจะใคร่ฟันเสีย ก็ให้มาบอกแก่เจ้าจำนวนก่อน แล้วจึงตัดฟัน แล้วนำเอาลำไม้มีแก่นมามอบให้เจ้าจำนวนนำมาทูลเกล้าฯถวาย จะพระราชทานราคาให้ตามราคาไม้แก่นเสงเพรงโดยสมควรราชการ แล้วมอบไม้ให้รักษาไว้ในพระคลังในขวาสำหรับใช้ ถ้าเจ้าต่างกรมยังไม่มีกรม และขุนนางเจ้าขุนมูลนายของชาวสวน จะใคร่ตัดเอาไม้สามอย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไปใช้ราชการ ถ้าเจ้าของสวนจะยอมให้ตัดก็ให้ตัด แล้วเอามามอบแก่เจ้าพนักงานก่อนแล้วจึงมารับไป เมื่อเจ้าพนักงานได้รู้เห็นด้วยดังนี้แล้ว ก็ให้สลักหลังหน้าโฉนดลดบัญชีลง แต่ต้นเล็กน้อยยังไม่มีแก่นนั้น ถ้าล้มตายก็ให้เจ้าของปลูกซ่อมแซมขึ้นใหม่ล่วงหน้า ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี จะบวกเป็นไม้ใหญ่
ห้ามอย่าให้ข้าหลวงมีชื่อเสมียนทนายบ่าวไพร่ ซึ่งไปด้วยกันนั้นทำข่มเหงแก่ราษฎรชาวสวน ขึ้นเก็บเอาผลไม้และสิ่งของในสวน และเครื่องอัญมณีต่างๆ กระทำให้ราษฎรได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟังกระทำผิดด้วยพระราชบัญญัตินี้ มีผู้มาร้องฟ้องว่ากล่าวมาพิจารณาเป็นสัจ จะเอานายและไพร่ผู้กระทำผิดเป็นโทษโดยโทษานุโทษ และให้ข้าหลวง เจ้าเมือง กรมการทำตามท้องตรา และรับสั่งมานี้จงทุกประการ
หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๙๖)
(๑) ความต่อไปนี้เข้าใจว่า เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๒) เข้าใจว่าหมดพระราชนิพนธ์เพียงนี้
(๓) จำนวนที่เป็นเลข ๘ นี้ เป็นข้อระวัง มีหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ พระราชดำรัสห้ามไว้ว่าอย่าให้เป็นคำผวนที่หยาบได้ - กัมม์
ประกาศสรรพนามสำหรับช้างม้า
(คัดจากหมายรับสั่ง ณ วันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีขาลฉศก)
ด้วยขุนมหาสิทธิโวหาร รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า ให้หมายประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลพระบวรราชวังฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ให้จงรู้ทั่วกัน ว่าช้างม้านี้เป็นสัตว์มีชาติมีสกุลไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว ให้เรียกว่าช้างหนึ่งสองช้าง ม้าหนึ่งสองม้า แต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้านั้นให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว อย่าให้ว่าสองชะมด สองเต่า สองปลา กับคำจำเป็นคำผวน เหมือนหนึ่งต้นไม้ ๘ ต้น ๙ ต้น หรือแปดเต่า แปดตัว อย่างนี้ ถ้าจะกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาอย่างอื่น อย่าให้เป็นคำผวนได้ ให้กรมมหาดไทย กลาโหม สัสดี หมายให้รู้ทั่วกันตามรับสั่ง
ภาพและที่มา www.bloggang.com