ข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาว แม้ไม่ใช่พืชหลักสำหรับเกษตรกรไทย แต่ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ข้าวสาลีเป็นพืชทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร ที่มีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เกษตรกรปลูกข้าวสาลีเป็นพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากข้าวสาลีเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาว และปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด ซึ่งไม่เหมาะกับพืชหลังนาชนิดอื่นๆ พื้นที่บ้านผาคับ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีของจังหวัดน่าน โดยปลูกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้น โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของข้าวสาลีเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่นาในฤดูแล้ง ที่สนับสนุนโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)
นอกจากแปรรูปข้าวสาลีเป็นแป้งข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นบะหมี่ ขนม และเบเกอรี่ ดร.ปัทมา ศิริธัญญา และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ชาจากต้นอ่อนของข้าวสาลี ซึ่งมีโปร–วิตามินเอ วิตามินบีรวม ซี อี และ เค เป็นจำนวนมาก ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้น้ำต้นข้าวสาลีมีโปรตีนอยู่ร้อยละ 25 ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับเนื้อปลา ไข่ นม หรือถั่วต่าง ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีได้รับความนิยมอย่างมาก
ไบโอเทค ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จัดฝึกอบรมการผลิตชาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสาลี อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตชาข้าวสาลีบ้านผาคับ จนเกิดเป็นกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีบ้านผาคับ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2549 จากสมาชิกเริ่มต้นเพียง 6 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน มีรายได้สะสมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมาณ 25,000 บาท การผลิตชาข้าวจากสาลีจึงเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกและรายได้เสริมให้กับชุมชน
ขั้นตอนการผลิตชาจากข้าวสาลี
1. เพาะต้นกล้าข้าวสาลีและตัดเมื่ออายุ 10 - 12 วัน (แตกใบอ่อนประมาณ 4 ใบ เป็นช่วงอายุที่มีอาหารสะสมมาก) โดยตัดให้เหนือข้อลำต้น ใบข้าวสาลีที่ตัดมาแล้วต้องทำให้เสร็จวันต่อวัน เพื่อให้คงคุณค่าสารอาหาร
2. เลือกใบที่ปราศจากโรค/แมลง ล้างด้วยน้ำสะอาด พักสะเด็ดน้ำ
3. หั่นใบให้มีขนาดความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผึ่งซับน้ำบนผ้าขาวบาง
4. นำใบที่หั่นมานวดในกระทะด้วยมือโดยใช้ไฟอ่อนๆ กระทะที่ใช้ต้องไม่มีกลิ่นหรือผ่านการทำอาหารมาก่อน(หากเป็นกระทะที่ใช้เฉพาะการผลิตชาจะดีไม่ดูดกลิ่น) ตรวจความร้อนโดยใช้มือสัมผัสกระทะหากสามารถสัมผัสได้ถือว่าให้ความร้อนพอดี เมื่อนวดจนแห้งแล้วพักให้เย็น
5. บรรจุชาในภาชนะทึบแสงเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียคุณค่าสารอาหาร และไม่ให้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)