หลักการ
- AMED มีจุดกำเนิดจากการเดินทางเยือนตะวันออกกลางของนายโก๊ะ จ๊ก ตง ขณะยังดำรงตำแหน่ง นรม. สิงคโปร์ ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2547 โดยเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพเศรษฐภูมิศาสตร์ของโลก ทำให้ทั้งเอเชียและตะวันออกกลางต่างต้องการแสวงหาพันธมิตรทางการเมืองและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค
- ทั้งสองภูมิภาคเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโลกมุสลิมกับประชาชนศาสนาอื่น โดยเฉพาะในมิติด้านการเมือง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความขัดแย้งด้านศาสนากำลังทวีความรุนแรงและลุกลามไปในหลายภูมิภาค
- การเสริมสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องมีรากฐานมาจากการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายๆ มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีความร่วมมือในหลายระดับ ทั้งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ความเข้าใจระหว่างภูมิภาคในมิติต่างๆ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นปัจจัยส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติด้านการเมืองต่อไป
- ดังนั้น การหารือในเวที AMED จึงเน้นให้เป็น Track 1.5 คือ ภาครัฐ (Track I) เป็นผู้ริเริ่มนโยบาย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และการมีกิจกรรมร่วมกันภาคเอกชนและ stakeholders ต่างๆ เช่น นักวิชาการ นักคิด และนักธุรกิจ (Track II)
ผลการประชุมรัฐมนตรี AMED ครั้งที่ 1 : 20-21 มิ.ย. 2548
- ที่ประชุมหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งปัญหาท้าทายต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน เช่น ปัญหาการก่อการร้าย การส่งเสริมบทบาทของแนวทางสายกลาง ปัญหาน้ำมันและพลังงาน
- ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) ใน 3 สาขา โดยแต่ละสาขามีประธานร่วมจากสองภูมิภาค คือ
1. สาขาการเมืองและความมั่นคง ประธานร่วมได้แก่ มาเลเซียและซาอุดิอาระเบีย
2. สาขาสังคมและวัฒนธรรม ประธานร่วมได้แก่ สิงคโปร์และจอร์แดน
3. สาขาเศรษฐกิจ ประธานร่วมได้แก่ ไทยและอียิปต์
- คณะทำงานทุกคณะจะรายงานผลการหารือต่อ SC ซึ่งจะพิจารณาเพื่อนำเสนอที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่อไป
- สาระสำคัญของการประชุมด้านเศรษฐกิจ คือการรื้อฟื้นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและตะวันออกกลาง โดยที่ประชุมเสนอให้จัดตั้งคณะทำงานหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (Closer Economic Partnership) และจัดการประชุม Business Forum ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ที่กรุงไคโรในปี 2550 รวมทั้งเห็นความจำเป็นของการขยายความร่วมมือในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกันด้วย
วิสัยทัศน์ของไทยในการเข้าร่วมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของ AMED
- เอเชียและตะวันออกกลางมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกัน (complementary economic potential) โดยเอเชียมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พัฒนามากกว่าตะวันออกกลาง (อาทิ ระบบตลาด กฎหมายและระเบียบ รวมทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้อง) ในขณะที่ตะวันออกกลางเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ และสามารถเป็นแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพของเอเชีย
- การฟื้นฟูและเพิ่มระดับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโดยอาศัยจุดแข็งของกันและกันเพื่อเสริมสร้างรากฐานในด้านที่แต่ละฝ่ายยังขาดอยู่ จึงเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญยิ่ง
- จุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ ใช้การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภูมิภาคในด้านต่างๆเสริมสร้างการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือในกรอบ AMED
คณะทำงานด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบ AMED
วัตถุประสงค์ของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ
- เพื่อทบทวนการใช้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วระหว่างเอเชียกับตะวันออกกลางให้มีประสิทธิผล
- เพื่อศึกษาความพร้อมและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค โดยเน้นการใช้ AMED เป็นเวทีเพื่อการพบหารือระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคมของสองภูมิภาค
แนวทางและขอบเขตการดำเนินการ
- กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ เป็นหน่วยงานหลักของการดำเนินการภายใต้กรอบ AMED ของไทย มีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศรับผิดชอบการดำเนินการภายใต้กรอบคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
ความเป็นมาและกระบวนการ
- การริเริ่มของนายโก๊ะ จ๊ก ตง นำไปสู่การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบาย (Steering Committee – SC) ของ AMED 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคม 2547 (สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ) และกุมภาพันธ์ 2548 (จอร์แดนเป็นเจ้าภาพ) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมทั้งเสนอแนะแนวนโยบายและหัวข้อการหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรี
- SC ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจาก 10 ประเทศ ได้แก่ 5 ประเทศจากเอเชีย (มาเลเซีย ไทย บังกลาเทศ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) และ 4 ประเทศจากตะวันออกกลาง (อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย และคูเวต)
- สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรก ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2548 โดยมีประเทศจากทั้งสองภูมิภาคเข้าร่วม 39 ประเทศรวมปาเลสไตน์ เป็นประเทศจากเอเชีย 22 ประเทศ และจากตะวันออกกลาง 17 ประเทศ (แนบรายชื่อ - ผลการประชุมที่สำคัญจะกล่าวต่อไป) และการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 จะมีขึ้นที่กรุงไคโร ในปี 2550 และไทยรับเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 3 ในปี 2552
- ประเทศจากทั้งสองภูมิภาคผลัดกันเป็นเจ้าภาพการประชุมในทุกระดับ หัวข้อการหารือครอบคลุมหลายมิติ เป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับประเทศที่ไม่นิยมความรุนแรงจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศเป็นหน่วยประสานงานหลัก และเชิญผู้เข้าร่วมการประชุมตามที่แต่ละประเทศเห็นเหมาะสม (comfort level)