ลักษณะทั่วไป
ท้องเดิน (ท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระร่วง) หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่าย
เหลวมากกว่า วันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว ในทารกที่กินนม
แม่ ปกติอาจถ่ายอุจจาระเหลว ๆ บ่อยครั้งได้ เราไม่ถือว่าเป็นอาการของท้องเดิน แต่ถ้าถ่าย
เป็นน้ำจำนวนมาก และบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น ก็ถือว่าผิดปกติ ท้องเดินเป็นอาการที่พบได้บ่อย
และมีสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และมักจะหายได้เอง ส่วนน้อยอาจ
มีอาการรุนแรงทำให้มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะในเด็ก
เล็กและคนแก่ นอกจากอาการถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกเลือดปนแล้ว อาจมีอาการ
ไข้ ปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วยซึ่งสุดแล้วแต่สาเหตุที่เป็น
สาเหตุ
ก. ถ้าเป็นท้องเดินชนิดเฉียบพลัน อาจเกิดจาก
1. การติดเชื้อ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น อาจเกิดจากเชื้อไวรัส (เช่น โรตาไวรัส) บิด ,
ไทฟอยด์ ,อหิวาต์ , มาลาเรีย ,พยาธิบางชนิด (เช่น ไกอาร์เดีย, พยาธิแส้ม้า)
2. สารพิษจากเชื้อโรค โดยการกินพิษของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักจะพบว่า ในกลุ่ม
คนที่กินอาหารด้วยกัน มีอาการพร้อมกันหลายคน
3.สารเคมี เช่น ตะกั่ว, สารหนู,ไนเทรต, ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มักจะทำให้มีอาการอาเจียน ปวด
ท้องรุนแรงและชักร่วมด้วย
4. ยา เช่น ยาถ่าย, ยาลดกรด, ยาปฏิชีวนะ (เตตราไซคลีน, อะม็อกซีซิลลิน, อีริโทรไมซิน),
คอลชิซีน (ยารักษาโรคเกาต์) เป็นต้น
5. พืชพิษ เช่น เห็ดพิษ, กลอย
ข. ถ้าเป็นเรื้อรัง (ถ่ายนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย) อาจเกิดจาก
1. กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า มักทำให้มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปี
โดยที่ร่างกายแข็งแรงดี
2. การติดเชื้อ เช่น บิดอะมีบา , ไกอาร์เดีย, วัณโรคลำไส้, พยาธิแส้ม้า , เอดส์ ฯลฯ
3. โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน , คอพอกเป็นพิษ
4. การขาดเอนไซม์แล็กเทส (lactase) ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ซึ่งมีอยู่ในนมสด
จึงทำให้เกิดอาการท้องเดินหลังดื่มนม
5. ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมของลำไส้ (malabsorption) ทำให้ถ่ายบ่อย อุจจาระมี
ลักษณะเป็นมันลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด (เนื่องจากไขมันไม่ถูกดูดซึม) และอาจมีอาการ
ของโรคขาดอาหารร่วมด้วย
6. เนื้องอก หรือมะเร็งของลำไส้หรือตับอ่อน
7. ยา เช่น กินยาถ่าย หรือยาลดกรดเป็นประจำก็ทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรังได้
8. อื่น ๆ เช่น หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร ทำให้การดูดซึมอาหารผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ
ท้องเดินบ่อย หรือภายหลังการฝังแร่รักษามะเร็งปากมดลูก อาจทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ
(colitis) ถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรังได้
การรักษา
ในที่นี้จะกล่าวถึง หลักการรักษาอาการท้องเดินโดยทั่วไป
1. ควรงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกาก ( เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อน
หรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวานแทน ในทารกให้ดื่มนมแม่ตามปกติ ถ้า
ดื่มนมผงในระยะ 2-4 ชั่วโมงแรก ให้ผสมนมเจือจางลงเท่าตัว แล้วค่อยให้กินนมผสมตาม
ปกติ
2. ให้น้ำเกลือ
2.1 ผู้ป่วยยังกินได้ ไม่อาเจียนหรืออาเจียนเพียงเล็กน้อย ให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โดย
ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม กับน้ำสุกดื่มกินต่างน้ำบ่อย ๆ ครั้งละ 1/2 - 1
ถ้วย (250 มล.) หรือจะใช้น้ำเกลือผสมเองก็ได้ โดยใช้น้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม (หรือขวดน้ำ
เปล่าใหญ่ คือขนาดประมาณ 750 มล.) ผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (25-30 กรัม) และ
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา (1.7 กรัม) หรือจะใช้น้ำอัดลมหรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ (ใส่เกลือ 1/2 ช้อน
ชาในน้ำอัดลมหรือน้ำข้าว1 ขวดแม่โขง) ก็ได้ ในเด็กเล็ก ในช่วง 4 ชั่วโมงแรก ให้สารละลาย
น้ำตาลเกลือแร่ในปริมาณ 50 มล.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สำหรับภาวะขาดน้ำเล็กน้อย) และ
100 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สำหรับภาวะขาดน้ำเห็นได้ชัด)
2.2 ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเล็กน้อย แต่ยังพอดื่มน้ำเกลือหรือน้ำข้าวต้มได้ ให้คอยสังเกตว่า
ได้รับน้ำเข้าไปมากกว่าส่วนที่อาเจียนออกหรือไม่ ถ้าอาเจียนออกมามากกว่าส่วนที่ดื่มเข้าไป
ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแทน
ผู้ใหญ่ ให้น้ำเกลือชนิด 5% เดกซ์โทรสในนอร์มัลซาไลน์ (5% D/NSS) หรือนอร์มัลชาไลน์
(NSS) 1,000-2,000 มล.ใน 12-24 ชั่วโมง ถ้ามีภาวะขาดน้ำปานกลางหรือรุนแรงในระยะ
1-2 ชั่วโมง ควรให้น้ำเกลือหยดเร็ว ๆ จนกระทั่งชีพจรเต้นช้าลงและแรงขึ้น ความดันกลับคืน
เป็นปกติ จึงค่อยหยดช้าลง
เด็ก ให้น้ำเกลือขนาด 5% เดกซ์โทรสใน 1/3 นอร์มัลซาไลน์ (5% D/1/3 NSS) ขนาด 100
มล. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรง ในระยะ 1-2 ชั่วโมงแรก
ให้ขนาด 20 มล.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมใน 1 ชั่วโมง ขณะให้น้ำเกลือ ควรเฝ้าดูอาการอย่าง
ใกล้ชิด และใช้ครื่องฟังตรวจฟังปอดบ่อย ๆ ถ้ามีอาการหน้าบวม หอบตัวเขียว หรือฟังปอดมี
เสียงกรอบแกรบ (crepitation) แสดงว่าให้น้ำเกลือเร็วหรือมากเกินไปควรหยุดน้ำเกลือและ
ฉีดลาซิกส์ 1/2 - 1 หลอด เข้าหลอดเลือดดำ ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาล
3. ยาแก้ท้องเดิน ไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการท้องเดิน และถ้าใช้ผิด ๆ อาจเกิดโทษ
ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อ ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่
แนะนำให้ใช้ยาแก้ท้องเดิน แต่เน้นที่การให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ดังในข้อ 2.1 ให้ได้
เพียงพอ อาการท้องเดินก็จะค่อย ๆ ดีขี้น
4. ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้ ควรให้เฉพาะรายที่สงสัยเป็นบิด , อหิวาต์ หรือไทฟอยด์
เท่านั้น
5. ถ้าทราบสาเหตุของท้องเดิน ให้รักษาตามสาเหตุ
6. ควรติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของโรค ถ้าถ่ายรุนแรง อาเจียนรุนแรง มีภาวะขาดน้ำมาก
ขึ้น มีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน โดยให้น้ำ
เกลือทางหลอดเลือดมาระหว่างทางด้วย อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น ได้แก่
- ถ่ายและอาเจียนน้อยลง
- ภาวะขาดน้ำลดน้อยลง
- ปัสสาวะออกมากขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- หน้าตาแจ่มใส ลุกนั่ง หรือเดินได้ เด็กเล็กเริ่มวิ่งเล่นได้
7. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปน
เลือด หลังเข้านอนกลางคืนต้องตื่นขึ้นถ่ายท้องตอนดึก หรือมีอาการอุจจาระราด (กลั้นไม่อยู่)
ควรแนะนำไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาล ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้อาจให้รักษาตามอาการ
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ ถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่อาจมีอันตรายถึงตายได้ ถ้าให้การรักษาขั้นต้นแล้ว
อาการไม่ดีขึ้น ควรส่งโรงพยาบาล
2. อันตรายที่เกิดจากโรคนี้ คือ การเสียน้ำและเกลือแร่ จึงควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปรู้จัก
ใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ น้ำเกลือ ผสมเอง น้ำอัดลม หรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ ดื่มกิน ทันทีที่มี
อาการท้องเดิน จะช่วยป้องกันมิให้อาการรุนแรงได้สิ่งนี้นับเป็น "ยาแก้ท้องเดิน" ที่จำเป็นที่
สุด
3. ในเด็กเล็ก อาการท้องเดินมีความสัมพันธ์กับโรคขาดอาหารอย่างมาก กล่าวคือ ท้องเดิน
บ่อยอาจทำให้ขาดอาหาร และโรคขาดอาหารอาจทำให้ท้องเดินบ่อย จึงควรรักษาทั้ง 2 โรค
นี้อย่างจริงจัง
4. ควรอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึง สาเหตุของโรคท้องเดินในเด็กเล็กว่าไม่ได้เกี่ยวกับการ
ยืดตัวของเด็กดังที่เข้าใจกันทั่วไป แต่เกิดจากการติดเชื้อ ชึ่งสามารถป้องกันได้
การป้องกัน
1. กินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด
2. ล้างมือก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระ
3. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4. สำหรับทารก
- ควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่
- ถ้าใช้ขวดนมเลี้ยงทารก ควรต้มขวดในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค พื้นฐานต่าง ๆ ตามกำหนดเวลาและให้อาหารเสริมแก่ทารก เพื่อ
ให้สุขภาพแข็งแรงและ ไม่เป็นโรคขาดอาหาร
รายละเอียด
อันตรายจากโรคท้องเดิน คือ การเสียน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาล
เกลือแร่ทันทีตั้งแต่มีอาการ