ฮันกึล (Hangeul, Hangul) นั้นเป็นชื่อเรียกตัวอักษรของเกาหลีที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แทนตัวอักษรฮันจาซึ่งเป็นตัวอักษรจีนที่ใช้ในภาษาจีนช่วงก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใหม่ โดยตัวอักษร ฮันกึล นั้นประดิษฐ์ขึ้นโดย พระเจ้าเซจงมหาราช
การกำเนิดการเขียนในเกาหลี
การเขียนภาษาจีนเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อจีนได้เข้าปกครองเกาหลีในช่วง พุทธศักราช 435 - 856 จากนั้นจนถึงประมาณช่วง พุทธศักราช 1000 ประชาชนก็เริ่มมีการเขียนภาษาเกาหลีด้วยอักษรจีนโบราณ ซึ่งมีการค้นพ้นเมื่อราว พุทธศักราช 947 โดยการเขียนภาษาเกาหลีด้วยอักษรจีนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ คำภาษาเกาหลีส่วนใหญ่ล้วนเป็นคำยืมมาจากภาษาจีน ทำให้ภาษาเกาหลีสามารถอ่าน หรือสื่อความหมายได้ด้วยอักษรจีน อีกทั้งยังมีการประดิษฐ์สัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่ประมาณ 150 ตัว ส่วนใหญ่มีที่ให้ใช้สัญลักษณ์เหล่านี้น้อย หรือเป็นชื่อเฉพาะ
การประดิษฐ์อักษรขึ้นใหม่
ตัวอักษรฮันกึล ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย พระเจ้าเซจงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซ็อนของเกาหลี ซึ่งนักวิชาการบางรายได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การประดิษฐ์อักษรนั้นเป็นงานที่ซับซ้อน เป็นไปได้ว่าตัวอักษรฮันกึลอาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มบัณฑิตในสมัยนั้นเสียมากกว่า แต่หลักฐานที่มีทางประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบได้แสดงให้เห็นว่า บัณฑิตในสมัยนั้นต่างก็คัดค้านการใช้ตัวอักษรแบบใหม่แทนตัวอักษรฮันจา ฉะนั้น จึงได้มีการบันทึกว่าผลงานการประดิษฐ์อักษรฮันกึลนั้นเป็นผลงานของพระเจ้าเซจงแต่เพียงพระองค์เดียว นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่า พระญาติของพระเจ้าเซจองยังได้มีส่วนร่วมอย่างลับๆ ในการประดิษฐ์อักษร เนื่องจากประเด็นนี้ในสมัยก่อนเป็นข้อคัดแย้งระหว่างกลุ่มบัณฑิตอยู่มาก
ตัวอักษรฮันกึล ได้ประดิษฐ์เสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 1986 หรือในช่วงเดือนมกราคม และถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช 1989 ในเอกสารที่มีชื่อว่า ฮุนมิน จองอึม ที่แปลว่า เสียงอักษรที่ถูกต้องเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชน โดยในวันที่ 9 ตุลาคมของทุกปี ทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศให้เป็น วันฮันกึล ซึ่งนับว่าเป็นวันหยุดราชการ ส่วนในประเทศเกาหลีเหนือตรงกับวันที่ 15 มกราคม
พระเจ้าเซจงมหาราช ได้ทรงให้เหตุผลของการประดิษ์ตัวอักษรในแบบใหม่นี้ว่า อักษรจีนนั้นมีไม่เพียงพอที่จะเขียนคำในภาษาเกาหลี และอักษรจีนนั้นเขียนยาก เรียนยาก เป็นเหตุให้ชาวบ้านรู้หนังสือน้อย ซึ่งในสมัยนั้นจะมีแค่เพียงเฉพาะผู้ชายในชนชั้นขุนนางเท่านั้นที่จะมีสิทธิเรียนและเขียนตัวอักษรฮันจาได้ โดยการประดิษฐ์และใช้ตัวอักษรใหม่แทนตัวอักษรเดิมนี้ถูกต่อต้านอย่างมากจากเหล่าบัณฑิต เห็นว่าตัวอักษรฮันจาเท่านั้นที่เป็นตัวอักษรที่ถูกต้องและชอบธรรมที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม: wikipedia.org