
07 สิงหาคม พ.ศ.2484 : รพินทรนาถ ฐากูร มหากวีชาวอินเดียถึงแก่กรรม
7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) มหากวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย ถึงแก่กรรม ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2404 ในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งในเมืองกัลกัตตา ท่านเริ่มเขียนบทกวีตอนอายุ 8 ขวบ อายุ 16 ปีหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายมาตั้งแต่นั้น ในปี 2421 บิดาก็ส่งท่านไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ กลับอินเดียในปี 2423 หลังจากแต่งงานตอนอายุ 22 ปีท่านก็เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ท่านเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วอินเดีย และมีโอกาสได้เดินทางยุโรป อเมริกา และเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศสยามด้วย ในปี 2464 ท่านก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิศวภารตี (Visva-Bharati University) ที่เมืองศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอลตะวันตก เพื่อทดลองการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยนั่งเรียนและสอนกันใต้ต้นไม้ ท่านมีความสามารถมากมายทั้งนักเขียน ศิลปิน กวี นักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักปราชญ์ นักการศึกษา จนกระทั่งชาวอินเดียขนานนามว่า “คุรุเทพ” ท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 2456 จากผลงานเรื่อง "คีตาญชลี” (Gitanjali) งานเขียนที่มีชื่อเสียงเล่มอื่น ๆ ของท่านได้แก่ "หิ่งห้อย” (Fierflres), "จันทร์เสี้ยว” (The Crescent Moon), "Ghare Baire” (The Home and the World) ทางด้านการเมือง ท่านเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม และสนับสนุนชาตินิยมอินเดีย แม้ท่านจะเกิดในวรรณพราหมณ์ซึ่งนับถือพระเจ้า แต่พระเจ้าของท่านมิใช่แค่พระเจ้าในศาสนาฮินดู แต่คือธรรมชาติ ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ทำงานที่ยิ่งใหญ่ งดงาม และมีคุณค่าต่อมนุษยชาติตราบจนทุกวันนี้