ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (Kingdom of Denmark) (ภาษาเดนมาร์ก: Kongeriget Danmark) เป็นประเทศที่เล็กที่สุดและอยู่ทางใต้สุดของกลุ่มประเทศนอร์ดิก มีที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเยอรมนี (ดินแดนเพื่อนบ้านทางบกดินแดนเดียว) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสวีเดน และทางใต้ของนอร์เวย์ ประเทศนี้จัดอยู่ในภูมิภาคสแกนดิเนเวียในยุโรปเหนือ แต่ไม่ได้อยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
เดนมาร์กมีพื้นที่จรดทะเลบอลติกและทะเลเหนือ และประกอบด้วยดินแดนบนคาบสมุทรจัตแลนด์ (ติดกับภาคเหนือของเยอรมนี) เกาะฟูเนน เกาะซีแลนด์ เกาะบอร์นโฮล์ม และเกาะเล็ก ๆ อีกหลายเกาะ บางครั้งมักเรียกรวมกันว่ากลุ่มเกาะเดนมาร์ก
เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป กรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโรถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเดนมาร์กที่มีการปกครองตนเอง
ประวัติศาสตร์
เดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของเดนมาร์กเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1528 ค.ศ. 985) และได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2392(ค.ศ. 1849) ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้นราชอาณาจักรเดนมาร์ก
เขตแดนของเดนทาร์กเคยครอบคลุมถึงประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ จนกระทั่งสวีเดนแยกตัวออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2066(ค.ศ. 1523) และเดนมาร์กสูญเสียนอร์เวย์ให้แก่สวีเดนภายใต้สนธิสัญญา Kiel เมื่อปี พ.ศ. 2357(ค.ศ. 1814) ภายหลังสงครามนโปเลียนยุติลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2457–2461 (ค.ศ. 1914-1918) เดนมาร์กได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง และเมื่อปี พ.ศ. 2482(ค.ศ.1939) ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เดนมาร์กได้ประกาศความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี เดนมาร์กถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2483(ค.ศ.1940) ซึ่งนำไปสู่การรวมตัวของขบวนการต่อต้านของประชาชนชาวเดนมาร์ก
โดยตลอดช่วงสงคราม ฝ่ายเยอรมันได้ตอบโต้ด้วยการเข้าปกครองเดนมาร์กโดยตรง จนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2488(ค.ศ.1945) เดนมาร์กถูกปลดปล่อยโดยกองกำลังพันธมิตร และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดนมาร์กได้รับรองความเป็นเอกราชของไอซ์แลนด์ (เป็นดินแดนหรือเกาะโพ้นทะเลที่เดนมาร์กได้ปกครองมาตั้งแต่ในสมัยที่เดนมาร์กยังคงรวมราชอาณาจักรกับนอร์เวย์) ซึ่งได้ประกาศตัวเป็นเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2487(ค.ศ. 1944) และต่อมาเดนมาร์กได้ให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่หมู่เกาะแฟโรและเกาะกรีนแลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2491(ค.ศ.1948) และปี พ.ศ. 2522(ค.ศ.1979) ตามลำดับ
ในปี พ.ศ. 2496(ค.ศ. 1953) รัฐธรรมนูญเดนมาร์กได้รับการแก้ไขซึ่งส่งผลทำให้มีบทบัญญัติใหม่ที่สำคัญๆ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ให้รัชทายาทสตรีมีสิทธิขึ้นครองราชสมบัติ กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียว และให้ประชาชนชาวเดนมาร์กชายและหญิงที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นประมุข คือ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2515(ค.ศ.1972) และทรงเป็นพระประมุขแห่งเดนมาร์กลำดับที่ 52
การเมือง
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)
ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
นายกรัฐมนตรี นาย Anders Fogh Rasmussen (พรรค Liberal)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Per Stig Moller (พรรค Conservative)
สถาบันการเมือง รัฐสภาเดนมาร์กเป็นระบบรัฐสภาเดียว (Folketing) มีสมาชิกจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (รวมผู้แทนจากหมู่เกาะ Faroe 2 คน และเกาะ Greenland 2 คน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาสถาบันตุลาการ ศาลของเดนมาร์กประกอบด้วยศาลชั้นต้นประจำท้องถิ่น ศาลสูง 2 ศาล และศาลฎีกา 1 ศาล นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีเฉพาะด้าน อาทิ คดีเกี่ยวกับการเดินเรือ/กฎหมายทะเล
เดนมาร์กเป็นประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของเดนมาร์ก รัฐสภาเดนมาร์ก (Folketing) เป็นระบบสภาเดียว สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (แยกเป็น 175 คนจากเดนมาร์ก 2 คนจากหมู่เกาะ Faroeและอีก 2 คนจากเกาะ Greenland ซึ่งหมู่เกาะทั้งสองเป็นดินแดนโพ้นทะเลภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง)
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรครัฐบาลประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรค Liberal ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Rasmussen ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 52 ที่นั่งจาก 179 ที่นั่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเดนมาร์ก ที่พรรค Liberal ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน 2 ครั้ง (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 พรรค Social Democrat จะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปและได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มาโดยตลอด) สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล พรรค Liberal ยังคงเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค Conservative เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี Rasmussen ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน
การจัดตั้งรัฐบาลเดนมาร์กมักจะเป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อย และในช่วงเวลาที่ผ่านมาพัฒนาการการเมืองเดนมาร์กมีลักษณะของการประนีประนอมระหว่างพรรคการเมืองและมักจะเจรจากันในเรื่องสำคัญๆ เช่น การต่อรองการเจรจาจัดทำงบประมาณประจำปี นอกรัฐสภาก่อนลงคะแนนเสียงในรัฐสภา และจะมีการให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายของประเทศมากกว่าการแบ่งแยกเป็นนโยบายของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และหากในกรณีที่รัฐสภามีมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลจะต้องลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ซึ่งรัฐบาลอาจกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่โดยไม่จำเป็นต้องลาออกในขณะนั้นก็ได้ อนึ่ง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งทั่วไปกำหนดจัดขึ้นทุก 4 ปี ประชาชนชาวเดนมาร์ก อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (กล่าวคือ 4,004,000 คน จากประชากรทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน ณ ปี ค.ศ.2000) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ทรงไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงรับฟังการบรรยายสรุปจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องต่างๆ ทุกวันพุธ และทรงรับทราบพัฒนาการต่างๆ ของประเทศจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในระหว่างการประชุมในวันพุธสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดังนั้น สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 จึงทรงรับทราบข้อมูลข่าวสารและพัฒนาการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเดนมาร์กเป็นสมาชิกและเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(North Atlantic Treaty Organization - NATO) เมื่อปี 2492 (ค.ศ.1949) เป็นประเทศริเริ่มการจัดตั้งคณะมนตรีนอร์ดิก (Nordic Council) เมื่อปี 2495 (ค.ศ.1952) และเข้าร่วมประชาคมยุโรป (หรือสหภาพยุโรปต่อมา) เมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973)