ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระสมเด็จจิตรลดา, พระสมเด็จจิตรลดา หมายถึง, พระสมเด็จจิตรลดา คือ, พระสมเด็จจิตรลดา ความหมาย, พระสมเด็จจิตรลดา คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระสมเด็จจิตรลดา

          พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน นั้น ถือว่าเป็นพระพุทธรูปพิมพ์องค์เดียวที่สร้างในเมืองไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ได้มีพิธีพุทธาภิเษก เหมือนเช่น พระเครื่อง เหรียญ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ ที่จะต้องผ่านพิธีพุทธภิเษกเสียก่อน เพื่อให้มีพุทธานุภาพ โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากวัดต่างๆ

          ทุกครั้งที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระพิมพ์นี้ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ผู้รับพระราชทาน จงประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีอยู่ในศีลธรรม และยึดมั่นในอำนาจแห่งพระพุทธคุณ ทรงกำชับให้เอาทองเปลวปิด ที่ด้านหลังขององค์พระก่อนนำไปบูชา

          พระพุทธรูปพิมพ์องค์นี้ ผู้รับพระราชทานได้ขนานนามกันเป็นภายในว่า "สมเด็จจิตรลดา" ส่วนคำว่า "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระองค์ท่านคือ "ภูมิพล" คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" คำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนามองค์พระ "สมเด็จจิตรลดา" อีกพระนามหนึ่งว่า "พระกำลังแผ่นดิน"

           พระสมเด็จจิตรลดา ทุกองค์ จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะมี ใบพระราชทาน (ใบกำกับพระพิมพ์) ขนาดกว้างประมาณ ๑๒.๗ ซม. ยาว ๑๕.๘ ซม. พื้นสีขาว ด้านบนมีภาพพิมพ์องค์ พระสมเด็จจิตรลดา ประกอบอยู่ แต่ไม่ใช่องค์ที่พระราชทานให้ ขนาดจะใหญ่กว่าองค์พระจริงเล็กน้อย สีน้ำตาลเข้ม เป็นเอกสารส่วนพระองค์

           อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง พระสมเด็จจิตรลดา พระพุทธรูปพิมพ์ไม่มากไปกว่า สามพันองค์ เนื่องจากแพทย์หลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำว่า พระองค์ทรงแพ้สารเคมีและผงฝุ่นบางชนิดในส่วนผมขององค์พระ ทำให้พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคทางเดินหายใจบ่อยครั้ง ในช่วงหลังๆ

          อีกทั้งพระองค์ท่านทรงไม่อยากเห็นพสกนิกรผู้ปรารถนาในพระพุทธรูปพิมพ์ของพระองค์อีกจำนวนมาก จะต้องสิ้นทรัพย์มากเป็นหมื่นๆ อย่างขาดสติ เป็นเหยื่อของคนสิ้นคิด ซึ่งแอบทำพระพุทธรูปพิมพ์นี้ปลอมกันออกมามาก ในระยะนั้น

          ดังนั้นในราวปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ จึงไม่ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปพิมพ์นี้ โดยพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกเลย



พระราชประสงค์ในการสร้างพระพุทธรูป

          พระราชประสงค์ ในการสร้างพระพุทธรูปพิมพ์นี้ สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัยดอกไม้สดจากประชาชนในการเสด็จพระราชดำเนิน เปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ ณ ที่บูชาองค์พระพุทธรูปปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ทรงเห็นเป็นสำคัญที่ควรเก็บดอกไม้แห้งเหล่านี้ไว้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นสิริมงคล ประโยชน์ที่จะใช้ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า สมควรใช้เป็นส่วนผสมสำหรับสร้างเป็นพระพุทธรูปพิมพ์ โดยมีพระราชประสงค์เป็นเบื้องต้น เพื่อจะบรรจุที่ฐานบัวหงายขององค์พระพุทธนวราชบพิตร และพระราชทานแก่ข้าราชบริพารฝ่ายในที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท รวมทั้งราชองค์รักษ์ประจำเท่านั้น


พุทธลักษณะ

          พระพุทธรูปพิมพ์ ปางสมาธิขัดราบ ประทับเหนือดอกบัวบาน 9 กลีบ พุทธศิลป์คล้ายพระพุทธปฏิมาสมัยสุโขทัย

ขนาดพระพิมพ์
          พระพิมพ์ใหญ่ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร ความหนาโดยประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ขอบองค์พระพิมพ์ทั้ง 3 ด้าน จะป้านเฉียงออกสู่ด้านหลังองค์พระพิมพ์มากน้อยขึ้นอยู่กับความหนาขององค์พระพิมพ์ที่ทรงสร้าง พิมพ์เล็กขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร ความหนาโดยประมาณ 0.5 เซนติเมตร ขอบองค์พระพิมพ์ทั้ง 3 ด้าน จะป้านเฉียงออกสู่ด้านหลังขององค์พระพิมพ์เล็กน้อย

พระพักตร์
          ใบหน้าองค์พระพิมพ์ ดูลักษณะคล้ายผลมะตูมอิ่มเอิบ

พระเกศ
          พระเกศขององค์พระพิมพ์ดูเด่นชัด

พระกรรณ
          ใบหูทั้งสองข้างขององค์พระพิมพ์จะติดเด่นชัด และโค้งอ่อนช้อย ยกเว้นพระพิมพ์ที่ทรงสร้างในปีพุทธศักราช 2508-2509 จะติดไม่เด่นชัด

พระนาสิก
          จมูกขององค์พระพิมพ์จะดูเป็นสันเด่นชัด ยกเว้นพระพิมพ์ที่ทรงสร้างในปี 2508-2509 จะไม่ติดเป็นสันเด่นชัด

ดอกบัวบาน
          กลีบดอกบัวบานจะอ่อนช้อยได้สัดส่วนเด่นชัด ส่วนมากมักมีการประทุของฟองอากาศเป็นรูปเล็กๆ

เกสรดอกบัว
          เกสรเหนือกลีบดอกบัวบาน จะติดเป็นเม็ดกลมเรียงกันเป็นแถวเด่นชัด ส่วนมากมักจะเกิดการประทุของฟองอากาศเป็นรูเล็กๆ ส่วนพระพิมพ์ที่ทรงสร้างในปีพุทธศักราช 2508-2509 มักจะไม่ติดเป็นเม็ดกลมๆและเรียงกันเป็นแถว

มวลสาร
          มวลสารหลักที่ปรากฏให้เห็นในองค์พระพิมพ์ จะเป็นเศษชิ้นเล็กๆ ส่วนมากจะเป็นเศษของดอกไม้แห้ง เศษของผงธูป และก้านธูป เศษชิ้นส่วนของสีที่ขูดจากผ้าใบภาพฝีพระหัตถ์ และจากเรือใบพระที่นั่งที่ทรงต่อขึ้น จะเป็นเศษสีแดง สีเขียว สีเขียวอ่อน สีเขียวอ่อนอมฟ้า สีขาวนม เศษชิ้นเล็กๆของแกนเทียนชัย เนื้อเทียนชัยสีขาวนม เศษชิ้นเล็กๆของเม็ดกรวด เม็ดทราย เศษดิน เศษชิ้นส่วนของทองคำเปลว บางองค์จะปรากฏเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ส่วนมากจะฝังอยู่ด้านขอบข้างหรือด้านหลังขององค์พระพิมพ์ มวลสารศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ จะมีจำนวนมากน้อย แบบหยาบ แบบหยาบปนละเอียด หรือแบบละเอียด ขึ้นอยู่กับปีที่ทรงสร้างพระพิมพ์ ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน

          แล้วทรงนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆผสมรวมกับตัวประสานหลักที่ทรงในการสร้างพระพิมพ์ คงจะเป็นโพลีเอสเตอร์เรซิน(เป็นพลาสติกในรูปของเหลว) และใช้ ฮาร์ดเดนเนอร์(ตัวทำให้แข็ง) หรือที่เรียกกันว่า คะตะลิสต์(ตัวเร่งปฏิกิริยา) เมื่อใส่สารเร่งปฏกิริยาบางชนิดลงไปในเนื้อของเรซิ่น จะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีขึ้น โดยการเปลี่ยนสภาพจากพลาสติกเหลว เป็นพลาสติกแข็งใส หรืออมเหลืองอมแดงแล้วแต่ชนิดของวัตถุดิบที่ทรงใช้ โดยตามธรรมชาติของเรซิ่นแล้ว จะเกิดความมันใส และเมื่อถูกผสมกับตัวเร่งปฏิกิริยา จะก่อให้เกอดความร้อน จึงเป็นสาเหตุให้องค์พระพิมพ์ส่วนมากปรากฏการประทุของฟองอากาศเป็นรูเล็กๆ หรือไม่ก็เป็นฟองอากาศอยู่บนผิวขององค์พระพิมพ์(ที่เข้าใจว่าทรงใช้โพลีเอสเตอร์เรซินเป็นตัวประสานหลัก อันเนื่องมาจากในช่วงนั้น พระองค์ทรงกำลังต่อเรือใบพระที่นั่งพอดี


พระสมเด็จจิตรลดา, พระสมเด็จจิตรลดา หมายถึง, พระสมเด็จจิตรลดา คือ, พระสมเด็จจิตรลดา ความหมาย, พระสมเด็จจิตรลดา คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu