ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วัดท่าไม้, วัดท่าไม้ หมายถึง, วัดท่าไม้ คือ, วัดท่าไม้ ความหมาย, วัดท่าไม้ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
วัดท่าไม้


     ประวัติวัดท่าไม้      ตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ 11 ถ.เศรษฐกิจ 1 ซอย 8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด จำนวน 6 ไร่ วัดนี้ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2520 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามมะสีมา เมื่อปี พุทธศักราช 2537 
     ทรัพย์สินของวัดมีที่ดินตั้งวัด 6 ไร่ จากผู้มีจิตศรัทธาถวายและซื้อเพิ่มบ้าง ทิศเหนือติดแม่น้ำท่าจีน  
     **รายนามเจ้าอาวาสวัดท่าไม้**          1. พระอาจารย์ยอด  อุปติสฺโส          2. พระครูศีลสาครวิมล (สุรสิงห์  สุรสีโล)          3. พระครูปลัดอุเทน  สิริสาโร

      นับย้อนไปเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีพระภิกษุหนุ่มอายุราว ๒๔ ปี แบกกลดสะพายบาตร ยืนสงบอยู่ ทราบว่า ท่านเป็นพระธุดงค์ชื่อ ยอดชาย ฉายา อุปติสฺโส พรรษา ๑ วัดหนองโตนด (พันท้าว) ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ต้องการหาสถานที่เพื่อปฏิบัติสมณธรรม คุณทุยดีใจและได้ชี้นำบริเวณปากคลองคอกหมู ริมแม่น้ำท่าจีน อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นนัก ให้เป็นที่พักซึ่งวิเวกร่มรื่นสงบ อากาศดีไม่มีคนพลุกพล่าน คุณทุยได้ขอปวารณาตัวเพื่ออุปถัมภ์ท่านตลอดไป แล้วชักชวนญาติสนิทมิตรสหาย ช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์ 
      ด้วยจริยาวัตร และสามัคคีธรรมร่วมกันของพระภิกขุกับชาวบ้าน ประสงค์จะสร้างเป็นวัด ให้ถาวรวัฒนาสืบไป จึงขออนุญาตสร้างวัด ซึ่งต้องรวบรวมเงินยืมจากคหบดีใกล้เคียง มาเป็นทุนจดทะเบียนในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ และเมื่อวันที่ ๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ จนได้รับใบอนุญาตสร้างวัดจากกรมการศาสนา ให้นามว่า "สำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี(ท่าไม้)" ตั้งแต่นั้นมา  

      ท่านพระอาจารย์ยอด ประกอบด้วยบารมี สามารถสร้างศรัทธาและพัฒนาสำนักสงฆ์ ให้เจริญทั้งวัตถุธรรมและศีลธรรม ตลอดจนสาธารณประโยชน์ อาทิ ศาลาท่า,บ่อสูบน้ำบาดาลจ่ายไปยังหมู่บ้านหมู่ ๑๑, ติดตั้งไฟฟ้า, สร้างศาลาการเปรียญ  เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้น ใช้ทางเข้าออกสำนัก เพียงทางเรือทางเดียว ท่านจึงดำเนินการขอถนน เส้นทางจากวัดท่ากระบือมายังสำนักสงฆ์ ระยะทางยาวประมาณ ๕ กิโลเมตรเศษ 
      ต้นฤดูหนาว คืนวันพุธก่อนวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นวันลอยกระทง  ท่านพระอาจารย์ยอด  แจ้งแก่คุณทวี สมท่า ชาวบ้านอ้อมใหญ่ศิษย์ผู้ดูแลใกล้ชิดว่า "ขอฝากวัดด้วย"    รุ่งขึ้นท่านได้จาริกหายไป  ไม่กลับคืนอีกเลย   รวมเวลา ๔ ปี ของท่านพระอาจารย์ยอดชาย  อุปติสฺโส   

      วัดทิ้งร้างห่างหลายปี มีบางท่าน  ได้เสนอให้ยุบเลิกวัดเสีย  แต่ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ขณะนั้นคือ ท่านพระครูธรรมรัตน์ วัดนางสาว ได้เล็งเห็นประโยชน์แก่มหาชนรุ่นหลัง ให้คงสภาพสำนักสงฆ์ต่อไป และมอบให้ ท่านพระอาจารย์ประสิทธิ์  กิตฺติภทฺโท อายุ ๒๓ ปี พรรษา ๒ นักธรรมโท มาเป็นผู้ปกครองดูแล  ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๗   ร่วมกับ  พระวิรัตน์  ตนฺติปาโล  อายุ ๒๗ ปี พรรษา ๕  นักธรรมเอก  จากวัดนางสาวเช่นกัน            
      คุณแม่จินตนา  แสงวิรุณ  ได้นิมนต์ให้พระอาจารย์สุรสิงห์  สุรสีโล มาพักรักษาตัวที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ระหว่างวันที่ ๒๐มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ จนหายอาพาธกลับไปเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ศกเดียวกัน
      เมื่อถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๓๑   ได้ริเริ่มโครงการสร้างอุโบสถ   รวมกับทั้งอาราธนา  ท่านพระอาจารย์สุรสิงห์  สุรสีโล พร้อมคณะ  จากวัดสุมนาวาส เขากะโหลก ต.ปากน้ำ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์   ซึ่งเป็นลูกหลานของญาติโยมในพื้นที่  มาสังกัดสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเหลือในกิจการต่างๆ  และเชิญ คุณนิวัติ  โศภารักษ์  เป็นประธานสร้างอุโบสถ            
      ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒   ได้ยกฐานะของสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี ขึ้นเป็น  "วัดท่าไม้"   ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ     
      เนื่องจากเป็นการสมควรที่วัดท่าไม้จะได้มีเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ ในขณะนั้นคือท่านพระครูสาครธรรมรัตน์ วัดสุวรรณรัตนาราม ได้อาราธนาท่านพระครูโสภณธรรมสาคร เจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน วัดอ้อมน้อย มาประชุมร่วมกับพระภิกษุสามเณรและทายกทายิกาของวัดท่าไม้ สรรหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคม นำเสนอพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร วัดเจษฎาราม ให้พระอาจารย์สุรสิงห์ สุรสีโลเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓
      ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคุณพ่ออ่อน สุขวัฒก์และคุณแม่ป้อม สุทธิบุตร เป็นประธาน มี คุณนุกูล-คุณนวลจันทร์ สุขวัฒก์ เป็นผู้อุปถัมภ์ร่วมกับประชาชน ได้ทุนดำเนินการขั้นต้นรวม ๘๔๐,๐๐๐ บาท รับเหมาก่อสร้างโดยคุณสุกิจ แม้นเหมือน ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร เป็นอุโบสถภายในกว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร มีมุขหน้าและมุขหลังรวมอีก ๖ เมตร มี ๖ หน้าต่างมี ๔ ประตู ใช้เสาเข็มยาว ๖ เมตร ๓๐๐ ต้น เทคานคอดิน ๒ ชั้น หล่อเสา ๑๖ ต้น และเทพื้นภายในทั้งหมด สำเร็จในปีเดียวกัน และท่านพระครูศีลสาครวิมล ได้สร้างถาวรวัตถุไว้คู่พระศาสนามากมายจวบจบวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

      ถาวรวัตถุเหล่านี้มีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีน้ำท่วมเพราะเหตุที่พื้นที่บริเวณวัดต่ำกว่าเขื่อนกั้นน้ำ  จนกระทั่งเมื่อ พระครูศีลสาครวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ได้มรณภาพลง เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครจึงแต่งตั้งให้พระครูปลัดอุเทน สิริสาโร ย้ายจากวัดท่ากระบือมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบจนถึงปัจจุบัน
      ถาวรวัตถุที่ยังหลงเหลือจากอดีตถึงปัจจุบันคงมีเพียงแต่ พระอุโบสถที่มีพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานเท่านั้น ส่วนถาวรวัตถุอื่นได้เปลี่ยนแปรสภาพไปตามกาลเวลาและสถานการณ์          ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่ท่านพระครูปลัดอุเทน สิริสาโรได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการเปลี่ยนแปลงถาวรวัตถุภายในวัดท่าไม้โดยใช้ระยะเวลาในการบูรณะเพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน 26 วัน ดังนี้
      **ถาวรวัตถุที่สำคัญภายในวัดท่าไม้ ณ ปัจจุบัน** 
          1. พระอุโบสถ มีพระพุทธชินราชจำลองหน้าตัก ๖๙ นิ้ว เป็นพระประธานในพระอุโบสถ รวมทั้งมีพระเชียงแสน พระสุโขทัย และพระอู่ทอง ร่วมประดิษฐานในพระอุโบสถด้วย           2. ศาลาการเปรียญ มีพระพุทธหิรัญราช เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ปางประทานพร เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ           3. ศาลาชินบัญชร เป็นสถานที่รองรับพุทธศาสนิกชนในการปฏิบัติธรรมรักษาศีลเจริญสติปัฏฐานสี่            4. ศาลาบูรพาจารย์ เป็นศาลาที่ประดิษฐานพระเกจิดังในเมืองไทย ซึ่งทางวัดท่าไม้ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ 4 รูป มี               4.1. หลวงปู่ทวด วัดช้างให้               4.2. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)               4.3. พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (รุ่ง ติสสโร) เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน               4.4. หลวงพ่อยี          5. ศาลาเทวาพิทักษ์ เป็นที่ประดิษฐานพระราหูเป็นศาลาประกอบพิธีกรรมการสวดดาวนพเคราะห์ย้ายรวมถึงใช้เป็นศาลาเอนกประสงค์ต่างๆ          6. ศาลาพระธรรมจักรแก้ว          7. ศาลาเจ้าแม่กวนอิม เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเชื้อสายจีนได้กราบสักการบูชา          8. ศาลาพระแม่สิริมหามายา          9. หอฉัน          10. หอกลอง         11. หอระฆัง         12. หอวัตถุมงคลและของที่ระลึก

      ปัจจุบันวัดท่าไม้แห่งนี้ได้ขยายพื้นที่วัดเพิ่มขึ้นอีก 9 ไร่รวมทั้งหมดเป็น 15 ไร่ โดยมีบริษัทเหรียญไทยมอเตอร์ ศรัทธาซื้อที่ดินถวาย 6 ไร่ และคุณจุตินันท์-คุณหญิงหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ศรัทธาซื้อที่ดินถวายเพิ่มอีก 3 ไร่  เพื่อที่ทางวัดท่าไม้จะได้ใช้ที่ดินผืนนี้สร้าง "พระอุโบสถมหาปรินิพพาน" เป็นพระอุโบสถหลังใหม่ เนื่องจากพระอุโบสถหลังเดิมมีขนาดคับแคบไม่เพียงพอต่อการทำสังฆกรรม โดยรายละเอียดของพระอุโบสถมหาปรินิพพานมีดังนี้          พระอุโบสถมหาปรินิพพาน หมายถึงความพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงเข้าถึงความสงบร่มเย็นและความเป็นมหามิ่งมงคลแก่ศรัทธาสาธุชนผู้พบเห็นและบ่งบอกถึงปัญญาในการหาทางหลุดพ้นอันสูงสุดกล่าวคือพระนิพพาน
      พระอุโบสถมหาปรินิพพานนี้สร้างขึ้นโดยการประยุกต์ศิลปะพม่า ,หอคำหลวง  ซึ่งผสมศิลปะวัดสุวรรณดาราราม อยุธยา ซึ่งบ่งบอกถึงความอ่อนช้อยวิจิตรตระการตา การออกแบบทำอย่างปราณีต ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา
      พระอุโบสถมหาปรินิพพาน สร้างจากวัสดุอย่างดี หลังคาทำจากดินเผาชนิดพิเศษ เผาด้วยความร้อนถึง ๑๐๐๐ องศา ใส่ลวดลายไทยสีเขียวหยก ซึ่งหมายถึง สุขภาพร่างกาย เทวดาคุ้มครอง ภายในพระอุโบสถเป็นสีเหลืองทอง หมายถึง ทรัพย์สินเงินทอง รอบนอกพระอุโบสถสีแดง หมายถึง อำนาจวาสนา  ผนังกำแพงพระอุโบสถก่อด้วยอิฐ ๒ ชั้นเพื่อกันความร้อน ซึ่งอาจทำให้วัตถุของมีค่าเสียหายได้ เสมารอบพระอุโบสถแกะด้วยหินศิลาแรงโดยช่างที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เป็นที่ประดิษฐาน เป็นที่ประดิษฐานของพระมหาปรินิพพานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน แกะจากหินทรายที่มีขนาดยาว ๑๒ เมตร หนักถึง ๙๐ ตัน ล้อมด้วยปัญจวคีย์ทั้ง ๕  และประดิษฐานพระอริยคณาจารย์ทั้ง ๒๑ รูปรวมทั้งมีภาพพุทธประวัติจิตรกรรมฝาผนัง และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า   เป็นสถานที่ให้ญาติโยมฝึกกรรมฐานและเดินจงกรมในวันสำคัญต่าง ๆ    พื้นพระอุโบสถภายในปูด้วยไม้พยุงรอบพระอุโบสถปั้นด้วยลายสาดทรายซึ่งเป็นลายไทยที่สวยงามเหมาะกับการเดินจงกรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ขนาดหน้าตัก ๑๐๘ นิ้ว พระเกตุเป็นทองคำประดับด้วยเพชร พลอย อัญมณีตระการตา ซึ่งซุ้มพระพุทธชินราชนั้นใช้เป็นงานลายปูนปั้น รูปแบบไม่เหมือนกับที่ใดในโลก อีกทั้งอัครสาวกซ้าย ขวา พระโมคคัลลา พระสารีบุตร ทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลก และพระพุทธรูปปางลีลามหาเศรษฐีเนื้อสำริด สูง ๒ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนไหปลาร้า(พระรากขวัญ) เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ และศึกษาธรรมวินัย   ฐานในพระอุโบสถกุด้วยไม้โหลงเหลง ซึ่ง เป็นไม้มงคลหายาก มีราคาแพง และมีกลิ่นหอมทำให้ใจเย็น ประตูหน้าต่างไม้สักเนื้อแข็งแกะลวดลายจากวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ลงรักปิดทองรอบพระอุโบสถ มีเทวดาทั้ง ๘ ทิศคุ้มครอง
     รวมถึงพื้นที่ 5 ไร่ ทางวัดท่าไม้ได้จัดไว้ต้อนรับสำหรับญาติโยมสาธุชนจำนวนมากที่มา ได้สะดวกในการนำรถไปจอด รวมทั้งยังได้กำลังสร้างถาวรวัตถุขึ้นอีกหลายอย่างมากมายอาทิเช่น 
     1. ศาลากุฏิทรงพรตภิรมย์ภักดี เป็นกุฏิทรงไทยสร้างขึ้นเพื่อให้ญาติโยมสาธุชนได้เข้ามาฝึกนั่งวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งเป็นที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฎก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หอพระไตรปิฎก นั่นเอง      2. ศาลาปู่ไวยทัศน์  เทวดาผู้ปกปักรักษาวัดท่าไม้      3. ศาลา Baby Buddha (พระพุทธเจ้าปางประสูติ)โดยมีดร.สุทธิพร-คุณเจียมจิตต์ จิราธิวัฒน์ ศรัทธาสร้างถวาย      4. ศาลาปู่ทวด พระโพธิสัตว์เจ้า ผู้ได้รับสมญานามว่าหลวงปู่ทวด เทพเจ้าเหยียบน้ำทะเลจืด      5. พระมหาเจดีย์เศรษฐี 9 โกฏิ  สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อองค์ดำ หลวงพ่อเมตตา และใช้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา 
*****นี้คือประวัติความเป็นมาโดยย่อ ของการก่อสร้างวัดท่าไม้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา*****
     ปัจจุบันวัดท่าไม้มีจำพรรษา ทั้งสิ้น 18 รูป

     ท่านพระครูปลัดอุเทน สิริสาโร ท่านเล็งเห็นว่าปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนได้เข้ามาถือวัตร ปฏิบัติ รักษาศีลเป็นจำนวนมาก ท่านจึงสร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม สถานที่นั้นคือ
     ธรรมสถานวิโมกสิวาลัยมีพื้นที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่ใน  ต.ห้วยผาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จัดสร้างขึ้น เหตุผลเพราะ วัดท่าไม้มีสถานที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับพุทธศาสนิกชนที่จะมาเข้ามาถือวัตร ปฏิบัติธรรม และรักษาศีล รวมถึงท่านพระครูปลัดอุเทนเห็นแล้วว่าธรรมสถานวิโมกสิวาลัยมีความสงบ วิเวกเหมาะสมที่จะเป็นที่ปฏิบัติธรรม โดยธรรมสถานวิโมกสิวาลัยมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ คือ        1.ศาลาพระมหาจักรพรรดิสมมุติราชมหามัยมุนี โดยมีพระพระมหาจักรพรรดิสมมุติราชมหามัยมุนีเป็นพระประธานในศาลา        2.ศาลาประเสริฐศรีทอง       3.ศาลาพระเกจิ      4.ศาลาบารมี ๓๐ ทัศ      5.ศาลาพระอุปคุปต์      6.กุฏิชีพราหมณ์ จำนวน ๕๐ หลัง      7.โรงทานบารมี
      *****ปัจจุบันธรรมสถานวิโมกสิวาลัย มีพระประจำวัดทั้งสิ้น 20 รูป มีผู้ปฏิบัติถือธุดงควัตรทั้งสิ้นรวม 50 คน*****
     ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย ใช้ระยะเวลาเพียงปีเศษ ในการพัฒนาพื้นที่ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆขึ้นมา เพื่อให้ทันต่อการรองรับพุทธศาสนิกชนตามความมุ่งหมายของท่านพระครูปลัดอุเทน สิริสาโร


     ที่มา : วัดท่าไม้

วัดท่าไม้, วัดท่าไม้ หมายถึง, วัดท่าไม้ คือ, วัดท่าไม้ ความหมาย, วัดท่าไม้ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu