ทุนนิยม หมายถึง อะไร
ทุนนิยม (อังกฤษ: capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ซึ่งผลิตภัณฑ์และสินค้ามีการจำหน่าย แลกเปลี่ยนซื้อขายโดยทางเอกชน บริษัท หรือกลุ่มธุรกิจ เพื่อสร้างผลกำไรให้กับหน่วยงาน โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการ ที่มีการรองรับทางกฎหมายและมีการแข่งขันการในเชิงการค้าเพื่อทำกำไรสูงสุด ซึ่งไม่ได้ควบคุมโดยหน่วยงานกลางหรือจากทางรัฐบาล
ทุนนิยมจะกล่าวถึง ทุนและที่ดินเป็นสมบัติส่วนบุคคล การตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมส่วนบุคคล ไม่ใช่การควบคุมบริหารโดยรัฐ และตลาดเสรีหรือเกือบเสรีจะเป็นตัวกำหนดราคา ควบคุมและระบุทิศทางการผลิต รวมถึงเป็นที่สร้างรายรับ บางคนกล่าวว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันของโลกตะวันตกคือระบบทุนนิยม ในขณะที่หลายคนมองว่าในบางประเทศก็มีระบบเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจแบบผสม กล่าวคือ มีลักษณะเฉพาะของทั้งทุนนิยมและรัฐนิยม
แนวคิดทุนนิยม จะมีแนวคิดตรงข้ามกับสังคมนิยม ที่มีความเห็นคัดค้านว่ากำไรที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมทำให้คนที่มีฐานะมั่งคั่งรวยมากขึ้น โดยกำไรควรจะมีการแบ่งปันให้กับสังคมในชั้นล่างลงมา
ประวัติทุนนิยม
ประวัติทฤษฎีเกี่ยวกับทุนนิยมถูกพัฒนาขึ้นในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18, 19 และ 20 ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมและลัทธิจักรวรรดินิยมของยุโรป (เช่น แอดัม สมิท, ริคาร์โด, มาร์กซ) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression (เช่น เคนส์), และสงครามเย็น (เช่น ฮาเย็ค, ฟรีดแมน) นักทฤษฎีเหล่านี้กล่าวว่าทุนนิยมคือระบบที่ให้คุณค่ากับการที่ราคาถูกตัดสินในตลาดเสรี นั่นคือโดยการค้าที่เป็นผลมาจากการตกลงด้วยความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ความคิดเชิงตลาด จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัญญาที่ชัดเจนและบังคับได้ตามกฎหมาย ทฤษฎีเหล่านี้โดยทั่วไปจะพยายามอธิบายว่า ทำไมทุนนิยมจึงมีแนวโน้มที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าในระบบอื่นๆ ที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทจัดการในระดับที่สูงกว่า (ดู เศรษฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, นโยบายแบบปล่อยให้ทำไป) มีหลายทฤษฎีเน้นว่าสิทธิการถือครองส่วนบุคคลของทุนคือแก่นของระบบทุนนิยม ในขณะที่บางทฤษฎีเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดเสรี ที่เป็นกลจักรที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายและสะสมตัวของทุน บางทฤษฎีชี้การขยายตัวของระบบการค้าระหว่างประเทศ และบางทฤษฎีสนใจผลของตลาดต่อแรงงานมนุษย์ ทฤษฎีที่กล่าวมาหลายทฤษฎีได้ชี้ให้เห็นถึงการที่แนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจหลายๆ แนวได้ถูกทำให้เป็นสถาบันในยุโรประหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ที่สำคัญเช่น สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะสามารถทำการได้แบบ "นิติบุคคล" (หรือบรรษัท) ในการซื้อและขายสินทรัพย์ และที่ดิน, แรงงาน, เงินตรา ในตลาดเสรี (ดู การค้า), และสามารถวางใจได้ว่ารัฐจะสามารถบังคับให้เกิดการเคารพสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคล แทนที่จะต้องพึ่งการคุ้มครองแบบศักดินา
การวิจารณ์ทุนนิยม
การโต้เถียงเกี่ยวกับทุนนิยมยังคงมีอยู่ในเรื่องต่างๆ เช่น
ทุนนิยมเป็นระบบที่มีตัวตนอยู่จริงๆ หรือเป็นแค่อุดมคติ
ทุนนิยมได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วในบางระบบเศรษฐกิจหรือไม่ หรือถ้ายังไม่มีจริง ในระดับใดที่ทุนนิยมได้เกิดขึ้นแล้วในระบบเหล่านั้น (ดู เศรษฐกิจแบบผสม)
ทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงในช่วงประวัติศาสตร์หรือไม่ (นั่นคือ ทุนนิยมเกิดขึ้นในช่วงเวลาและสถานที่เฉพาะ) หรือเป็นระบบที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ และในหลายๆ ช่วงเวลา
ทุนนิยมเป็นแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หรือว่าเป็นระบบที่รวมไปถึงระบบการเมือง ระบบสังคม และระบบวัฒนธรรมด้วย
ทุนนิยมเป็นระบบที่ยั่งยืนหรือไม่
ทุนนิยมเป็นระบบที่สมเหตุสมผลหรือไม่
ทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะขยายความร่ำรวยให้กับคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือจะเพิ่มจำนวนคนยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี