วิวัฒนาการของมนุษย์ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง พัฒนาหรือวิวัฒนาการ ที่ทำให้สิ่งมีชีวิต (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทลิงใหญ่ - Ape) มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ กลายเป็นสปีชีส์ใหม่ จนในที่สุดพัฒนาไปเป็นมนุษย์ปัจจุบัน
วิวัฒนาการของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีววิทยา เป็นสาขาวิชาที่ทำการสืบค้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจและอธิบาย ว่าการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาจากลิงใหญ่กลายเป็นมนุษย์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ รวบรวมวิทยาศาสตร์เข้าไว้หลายแขนง ที่เด่นชัดก็คือมานุษยวิทยากายภาพ (physical anthropology) และพันธุศาสตร์ (genetics)
คำว่า 'มนุษย์' ในบริบทของการวิวัฒนาการของมนุษย์ หมายถึงจีนัส โฮโม (Homo) แต่การศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์ก็มักจะรวมสมาชิกตระกูลมนุษย์ เรียกว่า โฮมินิด (hominid) (Family Hominidae) อย่าง australopithecines เข้าไปด้วย
ประวัติ
การศึกษามานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology, Paleoanthropology) ยุคใหม่ เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการค้นพบซากมนุษย์นีแอนเดอร์ธาล(Neanderthal man) และหลักฐานต่างๆ ของมนุษย์ถ้ำ
ความคิดที่ว่ามนุษย์มีความคล้ายคลึงกับลิงใหญ่มีมานานแล้ว แต่ความคิดเกี่ยวกับทฤษฏีวิวัฒนาการ ที่เป็นที่ยอมรับเริ่มขึ้น เมื่อ ชาร์ลส์ ดาร์วิน(Charles Darwin) ตีพิมพ์หนังสือ On the Origin of Species ในปี ค.ศ. 1859 และหนังสือเล่มถัดมาของเขา Descent of Man
ตั้งแต่สมัยของ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ได้จัดให้ ลิงใหญ่อยู่ในกลุ่ม ที่เป็นญาติใกล้ชิดมนุษย์ โดยดูจากลักษณะภายนอก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คาดกันว่า ลิงชิมแปนซีและลิงกอริลล่าเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ก่อนจะมาเป็นมนุษย์
เราสามารถสืบหาวิวัฒนาการของไพรเมตย้อนหลังไปได้ถึงประมาณ 60 ล้านปีก่อน ไพรเมตมีบรรพบุรุษร่วมกันกับสัตว์จำพวกค้างคาว ซึ่งอาจมีชีวิตอยู่ช่วงประมาณยุค ครีเทเชียส (ทันยุคท้ายๆของพวกไดโนเสาร์)
ไพรเมต (เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบกัน) มาจากบริเวณอเมริกาเหนือ แพร่กระจายผ่าน ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ในยุค Paleocene และ Eocene
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงเป็นหนาวเย็นในต้นยุค Oligocene (ประมาณ 40 ล้านปีก่อน) ไพรเมตสูญพันธ์ไปเป็นจำนวนมาก เหลืออยู่เพียงบริเวณแอฟริกาและเอเชียใต้
บรรพบุรุษยุคแรกๆของโฮมินิด (ลิงใหญ่และมนุษย์) ออกจากแอฟริกาเข้าสู่ยุโรปและเอเชีย เมื่อประมาณ 17 ล้านปีก่อน ซึ่งต่อมาวิวัฒนาการไปเป็น บรรพบุรุษของลิงใหญ่ ลิงกอริลลา และลิงชิมแปนซี และก็มีสายพันธ์หนึ่ง วิวัฒนาการกลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เมื่อประมาณ 6 ล้านปีก่อน
แม้จะยังไม่ได้ข้อมูลจากฟอสซิล แต่การตรวจสอบทางโมเลกุล (ดีเอ็นเอ) ก็บอกให้เราทราบว่า บรรพบุรุษของมนุษย์ วิวัฒนาการแยกจากลิงกอริลลาเมื่อประมาณ 8 ล้านปีก่อน และแยกจากลิงชิมแปนซี เมื่อประมาณ 4 ล้านปีก่อน
เมื่อ 8 ล้านปีก่อน ขณะนั้นทวีปแอฟริกาทั้งทวีปถูกปกคลุมด้วยป่าฝนที่รกทึบ แต่การกำเนิดของเทือกเขาหิมาลัย ที่สูงเทียมเมฆในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ทิศทางของลมมรสุมต่างๆ เปลี่ยนไป ส่งผลให้ฝนที่ตกในแอฟริกาลดลง ทวีปแอฟริกาจึงกลายสภาพเป็นป่าโปร่งแทนที่จะเป็นป่าฝนที่รกทึบ (แต่ก็ยังมีป่าฝนอยู่บ้างเป็นแห่งๆ)
Australopithecus afarensis
ป่าโปร่ง มีต้นไม้ที่น้อยกว่าป่าฝน ลิงที่อยู่ในป่าจึงต้องปรับตัวให้อยู่บนพื้นดินได้ด้วย การปรับตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุด 3,900,000 ปีก่อน ลิงกลุ่มนั้นได้วิวัฒนาการมาเป็นสปีชีส์ Australopithecus afarensis ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งบนต้นไม้และบนพื้นดิน สามารถเดินสองขาและเดินสี่ขาได้ ต่างจากลิงในอดีตที่ไม่สามารถเดินสองขาได้
ส่วนสาเหตุของการปรับตัวให้เดินสองขาได้นั้น ในอดีต นักวิทยาศาสตร์คาดว่า อาจเป็นเพราะการเดินสองขานั้นสามารถยืดตัวให้สูงขึ้น มองเห็นศัตรูได้จากระยะไกล แต่ว่า การทำตัวให้สูงขึ้น ย่อมทำให้ศัตรูเห็นตัวได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เหตุผลด้านนี้จึงตกไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว การเดินสองขานั้น มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในร่างกายมากกว่าการเดินสี่ขา ดังนั้น
Australopithecus afarensis สามารถประหยัดพลังงานในร่างกาย เพื่อทำกิจกรรมอื่นได้ดีขึ้น เช่น การปกป้องอาณาเขต หรือ การสืบพันธุ์
1 ล้านปีถัดมา เมื่อ 2,900,000 ปีก่อน Australopithecus afarensis เริ่มมีวิวัฒนาการ และพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ คือ Paranthropus boisei ซึ่งมีพละกำลังเพิ่มขึ้น เข้ามาแทนที่
เวลาผ่านไป 400,000 ปี ในช่วง 2,500,000 ปีก่อน โลกเกิดภาวะเย็นตัวลง เกิดน้ำแข็งยักษ์สะสมที่ขั้วโลก ทำให้น้ำที่เป็นของเหลวลดจำนวนลง แผ่นดินทั่วโลกจึงแล้งขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งแอฟริกาด้วย แอฟริกาในช่วงนี้กลายเป็นทวีปที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ป่าฝนรกๆ ป่าโปร่ง ทุงหญ้า หรือทะเลทราย
มนุษย์
Homo habilis
สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทำให้สิ่งมีชีวิตในแอฟริกาเกิดการปรับตัวที่แตกต่าง กลายเป็นมนุษย์วานรหลายสปีชีส์ อยู่รวมกันในบริเวณต่างๆ ของแอฟริกา แต่ทว่า สปีชีส์หนึ่งในนั้น ไม่ใช่มนุษย์วานร แต่เป็นมนุษย์
สปีชีส์แรกที่นับได้ว่าเป็นมนุษย์ ปรากฏขึ้นในแอฟริกาเมื่อ 2,200,000 ปีก่อน ชื่อว่าสปีชีส์ Homo habilis (Homo เป็นภาษาละติน แปลว่า มนุษย์) พวกเขาวิวัฒนาการให้เป็นสปีชีส์ที่มีความคล่องตัวทุกกรณี และมีสมองที่ฉลาดกว่าสปีชีส์อื่นๆ เขาเป็นสปีชีส์แรกที่คิดค้นการทำอาวุธเครื่องมือต่างๆ จากหิน แต่ไม่มีพละกำลังมากเท่ากลุ่ม Paranthropus boisei และยังไม่มีการสื่อสารด้วยการพูด
ทักษะของฮาบิลิส ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ในหลายสภาพภูมิศาสตร์ เพราะรู้จักการปรับตัวและการใช้สมอง จนกระทั่งเวลาผ่านไป 300,000 ปี Homo ergaster ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อ 1,900,000 ปีก่อน และเป็นเผ่าแรกที่สือสารด้วยการพูดได้ เป็นคู่แข่งทางวิวัฒนาการของฮาบิลิสที่ได้เปรียบฮาบิลิส เพราะเออร์กัสเตอร์ มีสมองที่ฉลาดกว่า และมีการพูดเป็นการสื่อสาร จนกระทั่งฮาบิลิสได้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 1,600,000 ปีก่อน
Homo erectus
เออร์กัสเตอร์ สูญพันธุ์ไปเมื่อ 1,400,000 ปีก่อน โดยมี Homo erectus ก้าวแทนที่ มีวิวัฒนาการมาจาก habilis โดยตรง ก้าวเข้ามาต่อสู้ในโลกแห่งความจริงแทนฮาบิลิส มีความเจริญใกล้เคียงมนุษย์ปัจจุบัน หลังจากอีเร็คตัสกำเนิดขึ้นมาได้ 200,000 ปี บอยเซอิก็สูญพันธุ์ไป
Homo sapiens
อีเร็คตัสมีชีวิตอยู่นาน 1,240,000 ปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 250,000 ปีก่อน เพราะได้วิวัฒนาการโดยตรงมาเป็น Homo sapiens ซึ่งก็คือมนุษย์ปัจจุบัน เข้าแทนที่หลังจากนั้นเป็นต้นมา
ดูเหมือนว่าพวกโฮมินิด จะเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถพัฒนา การดำรงชีวิต ซากฟอสซิลจากยุคนั้น ที่พบก็เช่น สายพันธุ์
- Sahelanthropus tchadensis (7-6 ล้านปีก่อน)
- Orrorin tugenensis (6 ล้านปีก่อน)
- และในยุคต่อๆมาก็พบ
- Ardipithecus (5.5-4.4 ล้านปีก่อน)
- Australopithecus (4-2 ล้านปีก่อน)
- Paranthropus (3-1.2 ล้านปีก่อน)
- Homo (1.98 ล้านปีก่อน-ปัจจุบัน)