ที่มา
ประเพณีตักบาตรธูปเทียนนั้น ถือเป็นหนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร และเป็นประเพณีเก่าแก่ต้นแบบคู่มากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อย่างน้อยก็มีกล่าวไว้ แต่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ครั้งสุโขทัยแล้วว่ประเพณีตักบาตรธุปเทียนอันมีต้นกำเนินที่เมืองนคร ได้เผยแพร่ไปสู่สุโขทัย ทั้งนี้เป็นเพราะพุทธศาสนาได้แพร่ขยายเข้ามาที่เมืองนครก่อนเป็น
แห่งแรก ประเพณีตักบาตรธูปเทียนเป็นส่วนหนึ่งของพิธีถวายสังฆทานเนื่องในโอกาสเข้าพรรษา ณ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เมื่อถึงวันดังกล่าวชาวเมืองนครจะต่างพากันไปที่วัดในชุมชนของตนพร้อมทั้งนำเทียนพรรษาขนาดใหญ่พอที่จะใช้ได้ตลอดพรรษา กับดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน ดั่ง เตียง ตะเกียง ยา และอาหารแห้ง ไปถวายพระที่วัดด้วย
แต่เดิมนั้น การตักบาตรธูปเทียนจัดกันที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเพียงแห่งเดียว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่วัดพระมหาธาตุฯ ยังไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เมื่อปรากฏว่าเครื่องสังฆทานที่ชาวบ้านนำมาถวายมีมากเกินไป ใช้ทั้งปีก็ไม่หมด จึงมีการอาราธนาพระจากวัดอื่นๆ รอบวัดพระมหาธาตุฯ มารับเครื่องสังฆทานด้วย โดยนิมนต์ให้มายืนเข้าแถวยาวเหยียดที่หน้าวิหารทับเกษตร ชาวบ้านจะได้นำเครื่องสังฆทานพร้อมทั้งกำดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมาไปใส่ลงในย่ามพระที่เรียงแถวอยู่นั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะพากันไปจุดเปรียงหรือที่เรียกว่า "จองเปรียง" (เปรียงตามศัพท์แปลว่าไขข้อโค คือไขมันสัตว์นั่นเอง) ตามหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือใส่ด้ายดิบลงไปในภาชนะเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เปลือกหอยแครง หยอดน้ำมันมะพร้าวหรือไขมันสัตว์ลงไปแล้วจุดไฟ
ปัจจุบัน รายละเอียดของพิธีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างเช่น สถานที่ที่พระจะมารับบิณฑบาตดอกไม้ธูปเทียนนั้นนอกจากจะเป็นบริเวณหน้าวิหารทับเกษตรเช่น ในอดีตแล้ว ยังขยายต่อออกมาที่ลานหน้าวัดในตัวเมืองนคร ด้วยเหตุนี้ในตอนบ่ายวันเข้าพรรษา จะได้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากมายออกมารับบิณฑบาตดอกไม้ธูปเทียนกันเป็นทิวแถว ดอกไม้ที่นำมาตักบาตรนั้นก็กลายเป็นดอกไม้สดที่พ่อค้าแม่ค้าจัดเตรียมมาเพื่อการนี้ แทนที่จะเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่ชาวบ้านต่างคนต่างทำกันมาสำหรับวันนี้โดยเฉพาะ และการจุดเปรียงนั้นก็เปลี่ยนจากที่เคยจุดในเปลือกหอยมาเป็นการจุดเทียนไขแทน และจำกัดเฉพาะในบริเวณวิหารพระม้าแห่งเดียวต่างจากเดิมที่เคยจุดหรือจองเปรียงกันทั่วไปทั้งวัด
ความสำคัญ
เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน
พิธีกรรม
วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียน จึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมีย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะนำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี
แนวคิด/คุณค่า
1.สะท้อนให้เห็นถึงความยึดมั่นในการนับถือศาสนา
2.เพื่อความสุขใขจากบุญกุศลที่ได้ทำบุญตักบาตรธูปเทียน
3.เป็นการอบรบให้ลูกหลานที่ไปร่วมพิธีตักบาตรธูปเทียนได้มีความรู้ความเข้าใจในประเพณีท้องถิ่น
แหล่งที่มา : https://student.nu.ac.th/jitrada/South1.html