โรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับสามารถพบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ในเด็กมักเกิดจากต่อมทอนซิลโต หรือปัญหาเรื่องโครงสร้างใบหน้า หรือเด็กอ้วน ส่วนในผู้ใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยคุ้มครองจากโรคนี้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น
สัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับในผู้ใหญ่ จะมีอาการดังนี้
- นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ
- สังเกตเห็นว่า ขณะนอนหลับมีการหยุดหายใจ โดยอาจหายใจแรง ๆ เสียงดังเป็นพัก ๆ สลับกับนิ่งเงียบ แล้วหายใจเฮือกเหมือนจะสำลักน้ำลาย บางครั้งผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก
- ง่วงนอนกลางวัน บางครั้งเผลอหลับไปในสถานการณ์ที่ไม่สมควร เช่น ขณะทำงาน ขณะประชุม หรือขณะขับรถ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตตนเองและผู้อื่นจากการหลับในได้เมื่อขับขี่
- มีปัญหา ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริต หรือซึมเศร้า
- ปวดศีรษะเมื่อตื่นนอนตอนเช้า หรือมีอาการคลื่นไส้
- ปัสสาวะบ่อยช่วงนอนหลับกลางคืน
- ความต้องการทางเพศลดลง ผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลง ผู้หญิงอาจมีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
ในเด็กที่มีโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ อาจมีอาการดังนี้
- เด็กอ้วน หรือเด็กที่มีต่อมทอนซิล และหรือต่อมอะดีนอยด์โต
- เด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด บางอย่างมีผลต่อโครงสร้างใบหน้า เช่น เด็กดาวน์ซินโดรม
- ขณะนอนหลับ เด็กมีอาการ ดังนี้ นอนกรน หรือหายใจเสียงดัง หายใจลำบาก กลางวันเด็กมีอาการไฮเปอร์ อยู่นิ่งไม่ได้ และสมาธิสั้น
- เด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจมีอาการเชื่องช้า เรียนได้ไม่ดี ที่โรงเรียนอาจบอกว่าเด็กช้าหรือขี้เกียจ
การตรวจวินิจฉัยจำเป็นต้องมารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ (สลีป แล็บ) โดยจะมีการติดอุปกรณ์หลายอย่างเพื่อวัดคลื่นสมองขณะนอนหลับวัดระดับออกซิเจนและลมหายใจ เป็นต้น การตรวจการนอนหลับ ตรวจกันอย่างไร? การตรวจการนอนหลับเป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยโดยการติดอุปกรณ์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยใช้เวลาในการติดอุปกรณ์ 30-45 นาทีต่อราย คือ
- ติดอุปกรณ์ที่ศีรษะ หางตา หลังหู และคาง เพื่อดูการหลับของคลื่นสมองและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
- ติดอุปกรณ์ที่คอ เพื่อบันทึกการสั่นสะเทือนของกล่องเสียงรวมถึงเสียงกรน
- ติดอุปกรณ์ที่จมูก หน้าอก หน้าท้อง เพื่อดูความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจที่สูดเข้าออก หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจทั้งหน้าอกและหน้าท้องที่จะต้องสัมพันธ์กัน
- ติดอุปกรณ์ที่ปลายนิ้ว เพื่อวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่ได้จากการหายใจว่าเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่
- ติดอุปกรณ์ที่ขาทั้ง 2 ข้างเพื่อตรวจวัดกล้ามเนื้อบริเวณขา