มหาชาติคำหลวง ก็คือเรื่องเวสสันดรชาดก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลแต่งที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพ.ศ. 2025 ดังปรากฏหลักฐานใน พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า " ศักราช 844 ขานศก ท่านให้เล่นการมหรสพ 15 วัน ฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์พระมหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ์ " แต่ละกัณฑ์ กวีจะแต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่ต่างกัน เช่น ร่ายโบราณ ฉันท์ โคลง เป็นต้น และการแต่งเรียกว่าแปลยกศัพท์ กล่าวคือขึ้นต้นวรรคด้วยภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษาไทยสลับกันไปทุกวรรค เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็โปรดให้นำมา อ่านตรวจทานแก้ไขและคิดทำนองสวดอย่างวิจิตรพิสดาร มหาชาติคำหลวงนี้ไม่ใช่สำหรับพระเทศน์แต่ให้เจ้าหน้าที่ กรมธรรมการ คือ ขุนทินบรรณาการและขุนธารกำนัล พร้อมกับผู้ช่วยอีก 2 คนใช้สวดถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงฟังทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษาในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทำนองสวดของแต่ละกัณฑ์ มีเม็ดพรายในการสวดก็แตกต่างกันไปทั้งหลบเสียง เอื้อนเสียง หลังจากเสียกรุงฯ เมื่อพ.ศ. 2310 ต้นฉบับ มหาชาติคำหลวงหายไป 6 กัณฑ์ คือ หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมกวีร่วมกัน แต่งซ่อมกัณฑ์ที่ยังขาดให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ ธรรมเนียมการสวดมหาชาติคำหลวงยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบันทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษาแต่เหลือสวด เพียงกัณฑ์มหาพนเท่านั้น ข้าราชการกรมการศาสนาจะแต่งชุดขาวตั้งเตียงสวดต่อท้ายอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบะบูชาปักธูปเทียน สมุดที่ใช้บันทึกมหาชาติคำหลวงเป็นสมุดไทยดำเขียนตัวหนังสือ ด้วยหรดาลและมีเครื่องหมายบอกทำนองสวดกำกับไปทุกวรรค
มหาเวสสันดรชาดก เป็นชาดกเรื่องใหญ่ กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้บำเพ็ญบารมีอย่างสูงสุด ยากเกินกว่าจะมีผู้ใดทำได้คือให้บุตรและภรรยาแก่ผู้ที่มาขอ นอกจากนั้นยังบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่อื่นๆครบถ้วนทั้ง 10 ประการ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มหาชาติ" และการเทศน์เรื่องพระเวสสันดรืก็เรียกว่าเทศน์มหาชาติมหาเวสสันดรชาดก
ชาดกเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งใน นิบาตชาดก มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เรามักเรียกนิบาตชาดกเป็นไทยๆว่า พระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติ นิบาตชาดกเป็นคัมภีร์ซึ่งประกอบไปด้วยนิทานเรื่องต่างๆ ล้วนเป็นอุทาหรณ์สอนธรรมะเล่าถึงการเสวยพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้าว่าชาติใดทรงเกิดเป็นอะไร และได้ทรงกระทำคุณความดี หรือที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า "บำเพ็ญบารมี" อะไรในพระชาตินั้นๆ พระชาติหนึ่งก็ทรงสร้างคุณความดีหรือบารมีอย่างหนึ่งทุกชาติไป ในจำนวน ๕๕๐ พระชาติที่ปรากฏในนิบาตชาดกนั้นได้บำเพ็ญบารมีเด่นยิ่งอยู่ ๑๐ ชาติ ที่เรียกกันว่า ทศชาติ ทรงบำเพ็ญทศบารมี คัมภีร์ที่กล่าวถึงทศชาติและบารมีนี้เรียกว่า คัมภีร์มหานิบาต ในทศชาติตามมหานิบาตนั้น ที่ถือว่าสำคัญที่สุด คือ พระชาติที่ทรงบังเกิดเป็นพระเวสสันดร นอกจากจะทรงบำเพ็ญทานบารมีเป็นที่เด่นที่สุดแล้วยังทรงบำเพ็ญบารมีอื่นๆ อันได้กระทำแล้วใน๙ พระชาติก่อนๆ อีกด้วย เท่ากับได้ทรงกระทำคุณความดีเด่นยิ่งครบ ๑๐ ประการในชาตินี้ มหาเวสสันดรชาดก จึงเป็นชาดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บางครั้งจึงเรียกชาดกเรื่องนี้ว่า มหาชาติ
มหาเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องสูงส่ง แสดงให้เห็นถึงการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนของพระเวสสันดร เพื่อเป็นทางนำไปสู่พระโพธิญาณ เมื่อได้บรรลุพระโพธิญาณแล้วก็มิได้รับประโยชน์เฉพาะตน แต่ได้นำมาสั่งสอนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกด้วย
มหาเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแต่ไม่มีหลักฐานเหลือมา หนังสือวสสันดรชาดกเพิ่งมามีลายลักษณ์อักษรแน่นอนเมื่องครั้งกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าโปรกกระหม่อมให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งขึ้นเมื่อปีขาล จุลศักราช 44 คือพ.ศ. 2025 เรียกชื่อว่า "มหาชาติ" เป็นคำคละกันมีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย มีวัตถุประสงค์แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการสวดในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้รุจนามหาเวสสันดรชาดกขึ้นอีก เมื่อจุลศักราช 964 คือพ.ศ. 2145 เรียกชื่อว่า "กาพย์มหาชาติ" เป็นคำประพันธ์ชนิดร่ายยาว วัตถุประสงค์แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับเทศน์
หนังสือกาพย์มหาชาติให้จบในวันเดียวไม่ได้ จึงมีผู้แต่งกัณฑ์ต่างๆขึ้นใหม่ เพื่อย่นย่อให้สั้นเข้าและเทศน์จบภายในวันเดียวปรากฎว่ามีผู้แต่งมากมายหลายสำนวน คำประพันธ์ที่ใช้ก็ใช้ร่ายยาวเป็นพื้นแต่เรียกชื่อกันใหม่ว่า "มหาชาติกลอนเทศน์"
มหาชาติกลอนเทศน์นี่เองที่รวมกันเข้าเป็น "ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก" คือท่านนักปราชญ์ เลือกเฟ้นเอากลอนเทศน์ที่สำนวนดีมารวมกันเข้า งานนี้เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. 2449 และสำเร็จเรียบง่ายบริบูรณ์เมื่อพ.ศ. 2452 ในรัชกาลที่ 5 และใช้เป็นแบบเรียนสืบเนื่องกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน
อานิสงส์ ๑๓ กัณฑ์
- ผู้ไดบูชากัณฑ์ทศพร (กัณฑ์ที่ ๑) อานิสงส์ท่านบอกว่าในชาติหน้าที่ไปบังเกิดจะประกอบด้วยรูปสมบัติมีสิริโฉมและรูปร่างที่งดงามอันงดงามกว่าชนทั้งหลาย จะเจรจาปราศัยก็มีน้ำเสียงไพเราะเสนาะโสต มีกลิ่นกายหอมฟุ้งไปไกล แม้จะได้สามีภรรยาบุตรธิดา ก็ล้วนแต่มีรูปทรงงดงาม
- ผู้บูชากัณฑ์หิมพานต์ (กัณฑ์ที่๒) อานิสงส์ท่านบอกว่าประกอบด้วยความสุขกายสบายใจทุกอิริยาบถ ครั้นตายแล้วจะได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขอยูในปราสาทแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ เสวยทิพย์สมบัติอันมโหฬาร มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์
- ผู้บูชากัณฑ์ทานกัณฑ์ (กัณฑ์ ที่๓) อานิสงส์ท่านบอกว่า จะได้ทรัพย์สมบัติดังปรารถนาบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทองนานัปประการ
- ผู้บุชากัณฑ์วนประเวสน์ (กัณฑ์ ที่ ๔) อานิสงส์ท่านบอกว่าแม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ มีที่ดิน บ้านเรือนใหญ่โตมากมาย มีสวนไร่นามากมาย จะมีอุทยานอันดาดาษด้วยต้นไม้ดอกไม้ของหอม และจะมีสระโบกขรณีกว้างใหญ่ มีน้ำใสสะอาดบริบูรณ์ อันเต็มไปด้วยปทุมชาติ
- ผู้บูชากัณฑ์ชูชก (กัณฑ์ ที่๕) อานิสงส์ท่านบอกว่าเกิดในชาติหน้าจะมีอายุยืนจะไปในที่ใดๆ ก็จะมีแต่ความสุขทุกแห่งหน ปราศจากโรคาพาธทั้งหลาย ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคภัยใดๆ และรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีพละกำลังมาก จะมีพลังต้านทานโรคหลายอย่าง และสิ่งใดที่หายไปก็จะได้กลับคืนดังเก่า
- ผู้บูชากัณฑ์จุลพน (กัณฑ์ที่ ๖) อานิสงส์ท่านบอกว่าจะได้รับการคุ้มครองจากผู้หลักผู้ใหญ่เกิดชาติไหนๆ ก็จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นหัวหน้าคนเป็นนายคน เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยเดชศักดานุภาพ เฟื่องฟุ้งไปทั่ว
- ผู้บูชากัณฑ์มหาพน (กัณฑ์ ที่ ๗) อานิสงส์ท่านบอกว่าจะสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา เป็นผู้ทรงปรีชา เฉลียวฉลาด จะเป็นผู้ที่ไม่โง่เขลา เป็นคนมีปัญญา สามารถปราบอริศัตรูให้ย่อยยับไปได้
- ผู้บูชากัณฑ์กุมาร (กัณฑ์ที่๘) อานิสงส์ท่านบอกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคล พร้อมด้วยคุณวิเศษทั้งปวง ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้ ตลอดจนนิพพานสมบัติ อันตัดเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากกองกิเลสและวัฏฏสงสาร
- ผู้บูชากัณฑ์มัทรี (กัณฑ์ ที่ ๙) อานิสงส์ท่านบอกว่า ผู้นั้นจะได้คู่ครองที่ใจปรารถนาและครอบครัวที่เป็นไปตามต้องการ ถ้าเป็นสตรี จะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ ถ้าเป็นบุรุษจะได้ภริยาเป็นที่ต้องประสงค์ จะได้บุตรหญิงชายที่ประเสริฐ เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย มีความประพฤติกิริยาเรียบร้อยดีทุกประการ
- ผู้บูชากัณฑ์มหาราช (กัณฑ์ที่๑๐) อานิสงส์ท่านบอกว่าเกิดชาติหน้าจะเกิดในตระกูลสูงศักดิ์เช่นตระกูลขัตติยมหาศาลในสมัยที่กษัตริย์สูงศักดิ์ หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในยุคที่ตระกูลพราหมณ์สูงส่งยิ่งนัก เป็นที่นับหน้าถือตาแห่งคนทั้งปวง
- ผู้บูชากัณฑ์สกบรรพ (กัณฑ์ที่ ๑๑) อานิสงส์ท่านบอกว่า มีบริวารมากมายทั้ง ทาส ทาสี และสัตว์ สองเท้า สี่เท้า เช่น โค กระบือ ช้างม้า รถ ยานพาหนะนับประมาณมิได้
- ผู้บูชากัณฑ์ ฉกษัตริย์ (กัณฑ์ ที่๑๒) อานิสงส์ท่านบอกว่า จะบริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติบุตร ธิดา สามี หรือภรรยา บิดา มารดา เป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก จะได้อยู่พร้อมหน้ากันอย่างมีความสุข จะทำกิจกรรมการงานใดก็ประสบความสำเร็จ จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพรียงกันยังการงานนั้นๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
- ผู้บูชากัณฑ์นครกัณฑ์ (กัณฑ์ ที่๑๓) อานิสงส์ท่านบอกว่า จะเกิดเป็นมนุษย์ทันยุคศาสนาพระศรีอาริยเมตตรัยจะได้ถือปฏิสนธิในสมัยที่พระศรีอริยเมตตรัยมาอุบัติและจะได้พบกับพระองค์ ตลอดจนได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์
ตัวอย่างมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มัทรี ตอนพระนางมัทรีครวญถึงพระกุมารทั้งสอง
หํสาว ดุจหงษโปฎก กระเหว่าเหล่านก พลัดแม่สูญหาย อุปริปลฺลเล ตกต่ำติดตม อดนมปางตาย ดุจแก้วแม่หาย ไม่คอยมารดา
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/มหาชาติคำหลวง