ผู้หญิงไทยมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้นทุกวัน ในเมืองใหญ่ หลายๆ เมือง เช่น กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, เชียงใหม่ และลำปาง ก้าวแซงมะเร็งปากมดลูกมาเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งในสตรี และในอีกไม่นานภาพรวมทั้งประเทศ มะเร็งเต้านมน่าจะเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของหญิงไทยแน่นอน ความเชื่อเดิม เราคิดว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคของผู้หญิงสูงวัย, หญิงวัยทอง จากการศึกษาของกลุ่มศัลยแพทย์ในประเทศไทยพบว่า อายุเฉลี่ยโดยประมาณที่เริ่มเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 40 ปี น้อยกว่าตัวเลขของต่างชาติถึง 10 ปี ในคนอายุน้อยพบมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบว่า เด็กหญิงอายุ 16 ปี ก็เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว คงต้องกลับมาดูว่าอะไรเป็นตัวที่เพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ พบประมาณ 5-10% การกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับฮอร์โมนภายนอกเป็นเวลานานกว่า 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง ล้วนแต่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้ มีหลายคำถามที่สงสัยกันว่าการใส่เสื้อชั้นในมีโครงเหล็ก การใช้โรลออลส์ทารักแร้ การผ่าตัดเสริมเต้านม ดื่มนมถั่วเหลือง ล้วนแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ ที่ชัดเจนว่าเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม แม้แต่การมีซีสต์ในเต้านมก็ยังไม่ มีข้อบ่งชี้ว่าเพิ่มความเสี่ยง
เราป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป ไม่บริโภคอาหารไขมันสูง ระมัดระวังการใช้ฮอร์โมนภายนอก นอกจากนี้ผู้หญิงทุกคน ควรที่จะฝึกคลำเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจอื่นๆ มีแนวทางดังนี้
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป
- ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่ อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
- ควรทำแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวน์ในช่วงอายุ 35-40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไปควรทำทุก 1-2 ปี
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็น ลบออก 5 ปี
สิ่งที่ตรวจพบที่ต้องระวังและมาพบแพทย์ คือถ้าเจออาการต่อไปนี้ ก้อน หรือ เนื้อเต้านมหนากว่าปกติ ผิวหนังแดง หรือร้อน รูขุมขนใหญ่ขึ้นเหมือนผิวส้ม ผิวหนังบุ๋ม หรือมีการหดรั้งมีการนูนของผิว ปวดกว่าปกติที่เคย คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และฐานรอบหัวนม หัวนมบุ๋ม การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง เลือดไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หายยากของเต้านม หัวนม เมื่อมาพบแพทย์ การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในปัจจุบันก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเจ็บตัวหรือมีแผลขนาดใหญ่ๆ จากการผ่าตัด หลังจากที่มีการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอล แมมโมแกรมทำให้ภาพที่เห็นมีความชัดมากขึ้นกว่าเดิมที่เป็นระบบอนาล็อค ในรายที่มีเนื้อเต้านมแน่นมาก หรือมีความเสี่ยงสูง การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพบรอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์ก็จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กเพียง 1.5 มม.
มาทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ แม้ในรายที่คลำก้อนไม่ได้ ก็สามารถใช้แมมโมแกรม อัลตราซาวน์ หรือ MRI มาเป็นตัวนำทางให้เข็มไปเจาะถูกตำแหน่งที่สงสัยได้อย่างแม่นยำ เมื่อได้ชิ้นเนื้อ พยาธิแพทย์ก็จะดูผลว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ถ้าท่านเป็นมะเร็งก็ไม่ต้องตกใจ เพราะปัจจุบัน วิวัฒนาการด้านการรักษา ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยฮอร์โมน การฉายแสง หรือการรักษาแบบพุ่งเป้า (Target therapy) ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดี สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความทันสมัยมากขึ้น ปัญหาแทรกซ้อนน้อยลง เต้านมยังมีความสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้นไม่ต้องทุกข์ทรมาน จากแขนที่บวมเนื่องมาจากการเลาะต่อมนำเหลืองรักแร้
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท
แหล่งที่มา : https://www.phyathai.com