กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา
กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา หมายถึง, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา คือ, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา ความหมาย, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา คืออะไร
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีความสำคัญในประเทศไทย เพียงใดคงไม่ต้องกล่าวถึง เพราะในหนังสือพิมพ์จะมีข่าวการเจ็บป่วยและเสียชีวิต จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่เสมอ ๆ ซึ่งเตือนให้เราทราบว่า โรคนี้ไม่ไกลตัวเราเลย การป้องกันคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด สำหรับคนไทยทุกคน เพราะชีวิตในปัจจุบันมีความเครียดสูง การรับประทานอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก การออกกำลังกายลดลง ล้วนส่งเสริมให้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น
โรคนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการมากนัก เช่น จุกแน่นแถวลิ้นปี่ ซึ่งอาจคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ หรืออาหารไม่ย่อย อาการจะคล้ายกันมากต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายจึงจะแยกโรคได้ คนไข้หลายคนรู้ว่าเป็นโรคหัวใจครั้งแรก เมื่อเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยไม่เคยเจ็บหน้าอกมาก่อน โดยเฉพาะคนไข้เบาหวานอาจไม่เคยเจ็บหน้าอก แม้ว่าหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากการมีไขมัน ไปอุดตันในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลง และยังอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดหัวใจกะทันหัน ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เสียชีวิตเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หรือเกิดภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน ผนังหัวใจห้องล่างทะลุ หรือผนังหัวใจทะลหัวใจแตกมีเลือดออกมากดหัวใจ
ในรายที่มีอาการ อาการที่พบบ่อยคือ อาการเจ็บแน่นหน้าอกหลังกระดูกหน้าอก อาจร้าวไปที่แขนซ้ายหรือขากรรไกรซ้าย มักมีอาการเมื่อออกกำลังกายหรือเมื่อเครียด พักแล้วอาการอาจลดลง อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นเพียง 2-3 นาที แล้วดีขึ้นเองหรือหลังอมยาขยายหลอดเลือดหัวใจ แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการแน่นหน้าอกจะเป็นนาน และมักมีอาการเหงื่อออกมาก มือเท้าเย็น รู้สึกจะเป็นลม
ในคนไข้ที่มีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ การรักษาก็เพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงก็ต้องเข้าใจว่าเป็นโรครักษาไม่หาย อาจต้องทานยาตลอดชีวิต เหล่านี้ล้วนทำให้การตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ ไม่เป็นมากขึ้นเร็วนัก และอาจทำให้การตีบตันลดลง หรือเป็นการเพิ่มแขนงหลอดเลือดในหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และมีโอกาสตายจากการขาดเลือดลงลง
การตรวจวินิจฉัยความรุนแรงของการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ที่แม่นยำที่สุดคือ การฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ข้อบ่งชี้ของการฉีดสี คือ คนไข้ที่มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแสดงว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คนไข้ที่คลื่นไฟฟ้าผิดปกติ เมื่อออกกำลังกาย คนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การตรวจเส้นเลือดหัวใจด้วยวิธีการอื่น เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 64 ภาพ คุณภาพของภาพของเส้นเลือดหัวใจยังไม่ดีพอ และไม่ชัดเจนเท่าการฉีดสีผ่านเข้าเส้นเลือดหัวใจ
ในคนไข้ที่มีการตีบตันของเส้นเลือดหัวใจเส้นหลัก (ซึ่งมี 3 เส้น คือ เส้นขวา เส้นซ้ายด้านหน้าและเส้นซ้ายด้านข้าง) จะมีการขาดเลือดของผนังของหัวใจห้องซ้ายล่าง ถ้าการตีบตันมากอาจต้องรักษาด้วยการขยายด้วยขดลวด หรือการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หลักการโดยทั่วไปคือ คนไข้กลุ่มที่ได้ผลดีจากการขยายด้วยขดลวด (มีทั้งชนิดที่มี และไม่มียาเคลือบ) คือ คนไข้ที่มีการตีบตันที่ไม่ยาวมากนักของเส้นเลือด ไม่มีแคลเซียมที่ผนังเส้นเลือดมาก เส้นเลือดไม่อุดตันทั้งหมด
การตีบตันไม่ใช่ที่เส้นเลือดซ้ายหลัก การขยายด้วยขดลวดมีข้อดีคือ ไม่มีแผลผ่าตัด เสียเลือดน้อยมาก เจ็บปวดน้อยมาก อยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน แต่มีข้อเสียคือ มีข้อจำกัดในกรณีเส้นเลือดอุดตันไม่สามารถผ่านลวดได้ เส้นเลือดตีบตันยาว อาจต้องใส่ขดลวดหลายอันในเส้นเลือดเส้นเดียว
การตีบตันของเส้นเลือดซ้ายหลักจะมีความเสี่ยงถึงชีวิตได้ ถ้าการขยายด้วยขดลวดแล้ว เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การอุดตันในขดลวด หรือผนังเส้นเลือดหัวใจปริแตก การมีแคลเซียมในผนังเส้นเลือดมาก ก็อาจขยายออกได้ยากและไม่เต็มที่ ค่าใช้จ่ายแพง (ขดลวด 1 อันที่มีความยาว 1-2 เซนติเมตร มีราคาตั้งแต่หลายหมื่นบาทถึง 1 แสนกว่าบาท) และเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ไม่สามารถผลิตในประเทศ หลังการใส่ขดลวดก็ต้องทานยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือด ไปเป็นเวลานานหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี มิฉะนั้นก็อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันขดลวดทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าในปัจจุบันมีขดลวดชนิดเคลือบยา ที่คาดว่าจะลดการตีบตันของขดลวดลงได้ แต่การศึกษาก็พบว่าการตีบตันยังคงมีอยู่ และอาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในขดลวดเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการรักษาด้วยขดลวดคือ ผลระยะยาวหลังการรักษา จะมีการตีบตันของเส้นเลือดตรงที่มีขดลวดได้ ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันอีกได้มากกว่า
การรักษาด้วยการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตันโดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เส้นเลือดดำที่ขา เส้นเลือดแดงที่ผนังหน้าอกด้านใน เส้นเลือดแดงที่ปลายแขน เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยทั่วไปในปัจจุบันมีความเสี่ยงประมาณร้อยละ 2-3 คนไข้จะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัด โดยมีแผลผ่าตัดทางด้านหน้าของหน้าอก แผลที่ปลายแขนและที่ขา (ในกรณีเราะนำเส้นเลือดแดงที่ปลายแขน หรือเส้นเลือดดำที่ขามาใช้) ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้เช่นการเป็นอัมพาต การติดเชื้อของแผลผ่าตัด ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทั้งหมดรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น คนไข้ที่เป็นอัมพาตก่อนผ่าตัด มีโอกาสเป็นอัมพาตหลังผ่าตัดมากกว่าคนที่ไม่เป็น ภาวะไตวายอาจเป็นมากขึ้น คนไข้โรคถุงลมโป่งพอง อาจมีการติดเชื้อของปอดหลังผ่าตัดมากกว่าคนไข้ทั่วไป หลังการผ่าตัดสองเดือนคนไข้จะแข็งแรง สามารถออกกำลังกายได้เหมือนปกติ
การผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในปัจจุบันทำได้สองวิธี คือ การผ่าตัดโดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ซึ่งในขณะเย็บเส้นเลือดหัวใจ หัวใจจะอยู่นิ่ง ๆ ทำให้การเย็บเส้นเลือดหัวใจที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร สามารถทำได้อย่างแม่นยำทำให้ผลในระยะยาวดี และการผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ซึ่งในขณะเย็บเส้นเลือดหัวใจ หัวใจยังคงเต้นอยู่ แพทย์จะพยายามทำให้เส้นเลือดบริเวณที่เย็บอยู่นิ่ง ๆ ด้วยเครื่องมือที่ดูด หรือกดหัวใจบริเวณรอบ ๆ และต้องไม่ให้มีเลือดมารบกวนการมองเห็น ด้วยการใส่ท่ออุดในเส้นเลือดหัวใจ
การผ่าตัดวิธีนี้แม้ไม่ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม
แต่ก็ยังต้องเปิดแผลตรงกลางหน้าอก โดยการเลื่อยกระดูกหน้าอกเหมือนวิธีแรก และหลังผ่าตัดต้องรับประทานยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือด เหมือนคนไข้ที่ใส่ขดลวดในเส้นเลือดหัวใจ ในระยะแรกศัลยแพทย์เข้าใจว่า วิธีนี้ดีกว่าวิธีดั้งเดิมเพราะสามารถลดภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แต่ในปัจจุบันพบว่าภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ต่างจากการผ่าตัดโดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมมากนัก และปัญหาที่พบมากกว่าการผ่าตัดดั้งเดิมคือ การตีบตันของหลอดเลือดหัวใจภายหลังผ่าตัดหลาย ๆ ปี มีมากกว่าการผ่าตัดโดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้ต้องรักษาด้วย การฉีดสี ใส่ขดลวด หรือผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจใหม่
การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจนับว่าเป็นความพยายามใหม่ ๆ แต่การศึกษาพบว่า การเย็บด้วยหุ่นยนต์ใช้เวลานานกว่าเย็บด้วยมือมนุษย์มาก และมีการตีบตันมากกว่าการเย็บด้วยมือ ต้องอาศัยประสบการณ์เรียนรู้นาน จึงยังไม่เป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน หุ่นยนต์ยังห่างจากความสมบูรณ์อีกมากนัก ยังต้องมีพัฒนาการอีกนานกว่า ที่จะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท
แหล่งที่มา : https://www.phyathai.com
กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา หมายถึง, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา คือ, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา ความหมาย, กายภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบและการรักษา คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!