นักวิจัยออสเตรเลียรายงาน บริโภคเนื้อแดงมากเกินเฉลี่ย 10 ครั้งต่อสัปดาห์ทำให้เสี่ยงตาบอดจากภาวะเสื่อมของเรตินาเพิ่มเกือบ 50% คาดเนื้อแดงกระตุ้นให้เกิดสารอันตรายในระดับสูง และส่งผลทำลายเรตินา
วารสารระบาดวิทยาแห่งอเมริกันรายงานผลการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นใน ออสเตรเลีย ที่แสดงให้เห็นว่าหากรับประทานเนื้อแดงมากเกินไปสามารถทำให้เกิด โรคจอประสาทตาเสื่อม (age - related macular degeneration - AMD) ที่ทำให้เสี่ยงตาบอดเพิ่มขึ้นได้เกือบ 50%
โรค AMD เป็น สาเหตุสำคัญของภาวะสูญเสียการมองเห็นในอังกฤษ โดยมีชาวอังกฤษประสบปัญหาดังกล่าวประมาณ 500,000 คน ซึ่งโดยปรกติโรคนี้มักเกิดขึ้นหลังอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว เมื่อหลอดเลือดใหม่ๆ ในตาเกิดรั่วไหล ทำให้เกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นที่ทำลายการมองเห็น และผู้ประสบปัญหา AMD 9 ใน 10 คนไม่สามารถรักษาได้ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าปัญหาการตาบอดด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามการคาดการณ์ที่ว่าจะมีประชากรที่เป็นผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
แต่การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้อายุมากถึง 50 ปีก็สามารถเป็นได้หากมีการบริโภคเนื้อแดงมาก โดยในการศึกษาซึ่งเป็นการตรวจสอบอาหารการกินของประชาชนจำนวน 6,700 คนที่มีอายุระหว่าง 58 - 69 ปี และเชื่อมโยงผลลัพธ์กับสัญญาณเกิดโรค AMD พบ ว่า ผู้ที่บริโภคเนื้อแดง 10 ครั้งต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มเกิดอาการของโรคเร็วกว่าผู้ที่บริโภคเนื้อแดงน้อยกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ถึง 47% โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นเนื้อแดงสดหรือเนื้อแดงปรุงสำเร็จรูป แต่ในขณะเดียวกันนักวิจัยพบด้วยว่า การบริโภคเนื้อไก่อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่า 50%
เชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้เนื้อแดงสร้างปัญหาดังกล่าวเกิดจากเนื้อแดงกระตุ้นให้เกิด สารอันตรายในระดับสูง และส่งผลทำลายเรตินา การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคเนื้อสัตว์แต่พอประมาณอาจช่วยป้องกันตาบอดได้ และนับเป็นอีกการศึกษาหนึ่งที่เชื่อมโยงอาหารกับโรค AMD ซึ่ง ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานักวิจัยมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลของ อังกฤษเปิดเผยว่า การบริโภคผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่วมากๆ จะช่วยลดอัตราเกิดโรค AMD ได้สูงถึง 20%
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
https://www.thaihealth.or.th/node/8518