ช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่ตรงกับฤดูร้อน หลายครอบครัวจึงวางแผนที่จะไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลทางภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อชมความงามของทัศนียภาพชายทะเล หาดทราย เกาะต่างๆ และปะการังใต้ท้องทะเล รวมถึงพักผ่อนคลายร้อน ซึ่งการไปท่องเที่ยวทะเล มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติภัยทางน้ำได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติตนในการไปท่องเที่ยวทะเลอย่างปลอดภัย ดังนี้
ก่อนออกเดินทางตรวจสอบเส้นทางและศึกษาสภาพอากาศของแหล่งท่องเที่ยว โดยติดตามพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับคลื่นพายุลมแรง ควรงดหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ตรวจสอบสภาพแหล่งท่องเที่ยว หากเป็นบริเวณที่มีคลื่นสูง มีทรายดูด เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษ เคยเกิดคลื่นน้ำทะเลดูด (Rip Current) หรือคลื่นซัดฝั่งอย่างรุนแรง
ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว จัดเตรียมสัมภาระที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรค ห่วงยาง ชูชีพ เป็นต้น เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ขณะเล่นน้ำทะเล ไม่เล่นน้ำหลังรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้เป็นตะคริวที่ท้อง ทำให้จมน้ำได้ ควรพักประมาณ 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร เล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ห้ามเล่นน้ำบริเวณน้ำลึก บริเวณที่มีคลื่นลมแรงและมีโขดหินอย่างเด็ดขาด โดยสังเกตธงที่ปักแสดงความลึกของระดับน้ำ หากเป็นธงสีเขียว แสดงว่าสามารถเล่นน้ำได้
หากเป็นธงสีแดงหนึ่งอันแสดงว่าอันตราย แต่ถ้าเป็นธงสีแดง 2 อันแสดงว่าพื้นที่นั้นอันตรายมาก ส่วนธงสีเหลือง แสดงว่าให้ระวัง ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพัง หากว่ายน้ำไม่เป็น ควรสวมใส่เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง เพื่อป้องกันการจมน้ำ ห้ามว่ายน้ำเข้าใกล้เรือขณะที่เรือกำลังแล่นอย่างเด็ดขาด เพราะอาจถูกเรือชนหรือใบพัดเรือบาด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง
ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้คลาดสายตาเพราะหากเด็กถูกคลื่นซัด หรือเป็นตะคริว จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ปลอดภัยได้
การปฏิบัติตนในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากถูกคลื่นทะเลดูด ให้ว่ายน้ำเลี่ยงจากจุดที่คลื่นทะเลดูดและรีบว่ายเข้าหาฝั่งทันที กรณีถูกคลื่นทะเลซัดอย่างรุนแรงห้ามว่ายสวนกระแสน้ำ ให้ว่ายขนานกับชายฝั่ง จะช่วยให้พ้นจากกระแสน้ำได้
นอกจากนี้ การดำน้ำชมปะการังก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยม หากขาดความระมัดระวังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงมีข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- ตรวจสอบสภาพอากาศและคลื่นลม ในบริเวณที่จะไปดำน้ำ หากคลื่นลมรุนแรงเกินไปก็ไม่ควรดำน้ำในบริเวณดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อห้ามของพื้นที่ที่เข้าไปดำน้ำทุกครั้ง
- ในการดำน้ำบริเวณลึก จะต้องเรียนดำน้ำอย่างถูกวิธีและเลือกใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งาน
- ห้ามดำน้ำขึ้น - ลงอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ก๊าซภายในปอดขยายตัวอย่างรวดเร็วและเข้าไปอยู่ ในเลือด โดยเฉพาะช่วงขึ้นจากน้ำ จนทำให้เลือดขึ้นไปอุดตันสมอง จนเกิดภาวะน็อกน้ำทะเล ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
- กรณีถูกกระแสน้ำซัด อย่าว่ายสวนหรือว่ายทวนน้ำ จะทำให้เหนื่อยง่าย ให้ใช้วิธีลอยตัวไปตามกระแสน้ำ รอจนกว่าจะมีเรือมารับ
- ไม่ควรดำน้ำตามลำพัง ควรมีกลุ่มเพื่อนลงไปดำน้ำด้วย เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ และพยายามเกาะกลุ่มไว้ เพื่อไม่ให้พลัดหลง และควรหยุดดำน้ำทันที หากเริ่มมีกระแสน้ำพัดห่างออกจากฝั่งไปเรื่อยๆ หรือมีฝนตั้งเค้าและเริ่มมีคลื่นลมรุนแรงขึ้น
จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวทางทะเลมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำได้ในหลากหลาย รูปแบบ ดังนั้น ก่อนเดินทางควรตรวจสอบสภาพอากาศและสภาพพื้นที่ จัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็น เลือกสถานที่ในการเล่นน้ำหรือดำน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญหากนำเด็กไปด้วยต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพังอย่างเด็ดขาด เพื่อให้การท่องเที่ยวทางทะเลเป็นการพักผ่อนคลายร้อนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย
ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
https://www.thaihealth.or.th/node/8602