เตือนการนอนกลางวันเป็นประจำ รวมถึงการนอนกลางคืนไม่ถึง 6 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2
การศึกษากลุ่มตัวอย่าง 16,480 คน พบว่าคนที่นอนกลางวันมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้แอบงีบ ปัจจัยต่างๆ ที่อาจอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ รวมถึงการอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน และความเกี่ยวพันระหว่างการงีบหลับกับกิจกรรมทางร่างกายที่ลดลง
อย่างไรก็ดี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม อังกฤษ และโรงพยาบาลกว่างโจวในจีน แถลงต่อที่ประชุมไดอะบีตส์ ยูเคที่จัดขึ้นในกลาสโกว์ สกอตแลนด์ว่า ปัจจัยสำคัญกว่านั้นเป็นเรื่องของภาวะน้ำหนักเกินและพันธุกรรม
นักวิจัยแจงว่าการงีบหลับตอนกลางวัน อาจส่งผลให้ระยะเวลาการหลับตอนกลางคืนสั้นลง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานประเภท 2 นอกจากนี้ การหลับกลางวันยังกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนและกลไกในร่างกายที่หยุดยั้งไม่ ให้อินซูลินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความโน้มเอียงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2
ดร.เอียน เฟรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไดอะบีตส์ ยูเค กล่าวว่าเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าคนที่น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 นั้น อาจมีปัญหาในการนอนหลับ แต่งานวิจัยใหม่นี้ อาจเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในการอธิบายความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการนอน หลับไม่สนิทกับโรคเบาหวานประเภท 2
อย่างไรก็ตาม ในแง่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 การนอนหลับไม่สนิทหรือการนอนกลางวันยังคงมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยเสี่ยง อื่นๆ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน การมีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติผู้ป่วยโรคเบาหวานในครอบครัว
ทั้งนี้ โรคเบาหวานเป็นอาการร้ายแรงที่อาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ในระยะยาว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตาบอด ไตล้มเหลว และการต้องตัดแขนขา ส่วนอาการระยะสั้น คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาจทำให้หมดสติ และระดับน้ำตาลในเลือดสูงถาวรที่อาจถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลในนิวยอร์ก ได้นำเสนองานศึกษาต่อที่ประชุมสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ที่ระบุว่าการนอนหลับคืนละไม่ถึง 6 ชั่วโมงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 เช่นเดียวกัน
จากการติดตามผลกลุ่มตัวอย่างนาน 6 ปีพบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่าคืนละ 6 ชั่วโมงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4.56 เท่าที่จะมีภาวะความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าคนที่นอนคืนละ 6 - 8 ชั่วโมง
ดร.ลิซา ราฟาลสัน ผู้นำการวิจัยกล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้ตอกย้ำหลักฐานที่ชี้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างการนอนหลับพัก ผ่อนที่ไม่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพ โดยมีความเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนและระบบประสาทเป็นปัจจัยเบื้องหลังความเกี่ยว พันนี้
ดร. นีล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการนอนหลับจากโรงพยาบาลนอร์โฟล์กและนอริชในอังกฤษ เห็นด้วยกับงานวิจัยล่าสุด แต่ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุของเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แม้มีความเป็นไปได้ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอเพิ่มความเสี่ยงในการมีน้ำหนัก ตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยก็ตาม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ
https://www.thaihealth.or.th/node/8371