ระยะนี้มีข่าวเรื่องการตรวจและการรักษาโรคหัวใจชนิดใหม่ๆ มากมายหลายวิธี ทำให้ทั้งประชาชน (คนปกติ) คนไข้ หมอ (ที่ไม่ใช้หมอหัวใจ) และหมอหัวใจ บางครั้งก็สับสนไปเหมือนกันว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จะเลือกตรวจหรือเลือกรักษาด้วยวิธีไหน
วิธีหาคำตอบ ตามหลักการ (ที่พวกหมอ) คิดนั้นไม่ยาก แต่ต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า การตรวจ การรักษาทุกชนิดมีความเสี่ยงและการที่ไม่ตรวจและไม่รักษาภาวะผิดปกติหรือโรคใดๆ ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน!!
ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกการตรวจหรือการรักษาด้วยวิธีไหน ก็ต้องมีความรู้ว่า การตรวจหรือรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ กับการไม่ตรวจหรือไม่รักษาอะไรจะเสี่ยงกว่ากัน ถ้าอยู่เฉยๆ (ไม่ทำอะไรเลย) เสี่ยงน้อยกว่า ก็อยู่เฉยๆ ดีกว่าครับ.....!!!
แต่ถ้าอยู่เฉยๆ (ไม่ทำอะไรเลย..... เพราะกลัวเจ็บ!!!) แล้วมีความเสี่ยงมากกว่า เราก็ค่อยหาวิธีตรวจและรักษาความผิดปกติหรือโรคที่มีต่อไป ทีนี้จึงค่อยมาดูกันว่า การตรวจและการรักษาที่มีให้เลือกสำหรับภาวะและโรคนั้นๆ วิธีไหนจะให้ประโยชน์มากกว่ากัน
สำหรับการตรวจต่างๆ นั้นประโยชน์ ก็คือต้องดูว่า การตรวจวิธีไหนจะถูกต้องแม่นยำกว่ากัน สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจอาจจะต้องถามผู้ตรวจด้วยว่า วิธีไหนเจ็บมากน้อยแค่ไหน ความสะดวก (รวดเร็ว) ในการตรวจเป็นอย่างไร และบางคนที่มีประกันสุขภาพ ก็ต้องดูให้ดีด้วยว่า ประกันของเราจะรวมการตรวจรักษาใหม่ๆ นั้นหรือไม่ เพราะระบบประกันสุขภาพต่างๆ (รวมทั้งประกันส่วนตัว, ประกันสังคมและโครงการ 30 บาท) มักจะตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากการตรวจเหล่านี้จะมีราคาสูงมากและประโยชน์เพิ่มขึ้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับราคาที่เพิ่มขึ้น (ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราตีราคาความเสี่ยงและชีวิตคนเป็นเงินได้!!!)
ถ้าเป็นวิธีการรักษาประโยชน์ที่จะดูว่าวิธีใหม่ๆ นั้นดีกว่าวิธีเก่าอย่างไรก็ให้ดูที่ว่า วิธีรักษานั้นๆ มีโอกาสที่ทำให้ท่านหายจากโรคนั้นได้มากน้อยเพียงไร อาการ (ความเจ็บปวด ทรมาน รู้สึกไม่สบาย) ดีขึ้นแค่ไหน และวิธีการรักษานั้นๆ ป้องกันไม่ให้ท่านกลับมาเป็นโรคเดิมได้อีกและได้ดีแค่ไหน
ส่วนความเสี่ยงจากการตรวจและรักษา ในเรื่องของหัวใจก็ให้ดูเรื่องโอกาสที่จะเสียชีวิต เกิดหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว อัมพาตหรืออัมพฤกษ์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนระหว่างการไม่รักษาหรือการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเรื่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) ความเสี่ยงของการตรวจต่างๆ เรียงลำดับจากน้อยไปมาก......
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), คลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ (ECHO), ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยการเดินสายพาน หรือใช้ยา (Stress Test), ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI), ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multislices Detector CT scan