น้ำมันไบโอดีเซล คืออะไร
ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตได้จาก น้ำมันพืชและไขมันสัตว์ เช่น ปาล์ม มะพร้าว ถั่วเหลือง ทานตะวัน เมล็ดเรพ (rape seed ) สบู่ดำ หรือ น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมี transesterification ร่วมกับเมทานอล หรือ เอทานอลจนเกิดเป็นสารเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า ไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเกรดที่ใช้กันในปัจจุบันในสัดส่วนร้อยละ 5- 10 (B5-B10) จะสามารถนำมาใช้งานในเครื่องยนต์ดีเซลได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังได้กลีเซอรอลและกรดไขมัน เป็นผลพลอยได้ ซึ่งปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นสามารถแสดงได้ดังนี้
ประวัติความเป็นมา น้ำมันไบโอดีเซล
เครื่องยนต์ดีเซลสันดาปภายใน ได้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) โดยวิศวกรที่ชื่อว่า รูดอล์ฟ ดีเซล ส่วนการนำน้ำมันจากพืชมาใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็ต้องหยุดไปเนื่องจากมีการค้นพบวิธีการผลิตน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียมที่มีราคาถูกกว่า จนกระทั่งปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) เกิดวิกฤติราคาน้ำมันขึ้นทำให้พลังงานจากพืชได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ไบโอดีเซล มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศในแถบยุโรป มีการทดลองกระบวนการ Trans-Esterification ในปี พ.ศ.2525 โดยใช้เมล็ดเรฟ ณ สถาบัน Institute of Organic Chemistry, Graz, Austria
- ปัจจุบันในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการผลิตและจำหน่ายอย่างกว้างขวางโดยได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้ค้าน้ำมัน โดยผสมไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 2 (B2) ซึ่งบังคับใช้ในมลรัฐมินิโซต้า และร้อยละ 20 (B20) ตามคำแนะนำให้ใช้ได้ตามกฏหมายยานยนต์เชื้อเพลิงทดแทนของสหรัฐอเมริกา
- กว่า 28 ประเทศทั่วโลกมีการศึกษาและพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ผลิตไบโอดีเซลเป็นอุตสาหกรรมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย
- ประเทศสหรัฐอเมริกานิยมใช้น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันใช้แล้ว (Used cooking oil) เป็นวัตถุดิบ
- ประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันลินสีด และไขสัตว์ เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล
วัตถุดิบที่ใช้ผลิตไบโอดีเซล
ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตได้จาก น้ำมันพืชและไขมันสัตว์ เช่น ปาล์ม มะพร้าว ถั่วเหลือง ทานตะวัน เมล็ดเรพ (rape seed ) สบู่ดำ หรือ น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ ที่ใช้แล้ว ซึ่งพืชน้ำมันเหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากร ที่สามารถผลิตทดแทนได้ในธรรมชาติ
เมล็ดเรพ
มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนเมล็ดงา เป็นพืชล้มลุกประเภทวัชพืชที่พบอยู่ทั่วไปในทวีปยุโรป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica napus ในปี พ.ศ.2525 ได้มีการริเริ่มคิดค้นกระบวนการ Trans-Esterification โดยใช้เมล็ดเรพ ที่สถาบัน Institute of Organic Chemistry, Graz, Austria และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้รถเป็นอย่างดี ปัจจุบันเมล็ดเรฟเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลมากที่สุดในยุโรป คือ มีส่วนแบ่งในการผลิตถึงร้อยละ 80 ของวัตถุดิบอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งประเทศเยอรมันถือได้ว่าเป็นทั้งผู้นำในการนำไบโอดีเซลมาใช้แทนน้ำมันดีเซลและเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้วัตถุดิบจากเมล็ดเรพ นอกจากนี้ยังมีประเทศผรั่งเศส และสเปน ที่ใช้เมล็ดเรพและทานตะวันเป็นวัตถุดิบเช่นกัน
ถั่วเหลือง
เป็นพืชน้ำมันที่นิยมใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปริมาณการผลิตถั่วเหลืองสูงถึงกว่า 30 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีประเทศอิตาลีซึ่งนิยมใช้ถั่วเหลืองในการผลิตไบโอดีเซล
ปาล์มน้ำมัน
เป็นพืชน้ำมันที่นิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยขณะนี้ เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น คือมีต้นทุนการผลิตต่ำ ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง โดยปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่สูงกว่าเมล็ดเรฟ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศแถบยุโรปถึง 5 เท่า และสูงกว่าถั่วเหลืองที่ใช้กันมากในสหรัฐอเมริกาถึง 10 เท่า เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น ทนต่อผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
อีกทั้งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 20 ปี จึงทำให้ความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งประเทศที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดคือประเทศมาเลเซีย สำหรับความคุ้มค่าในการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันนั้น จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่าโดยเฉลี่ยการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันมีผลตอบแทนกำไรต่อไร่ สูงถึงประมาณ 4,000 บาทต่อปี จึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกปาล์มพันธุ์ดี ทดแทนพืชอื่นๆ ที่มีรายได้ต่ำกว่า
รัฐได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกปาล์มที่เหมาะสมทั้งภาคใต้และภาคอีสาน รวมทั้งมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะปลูกแก่เกษตรกร โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ในปัจจุบันจังหวัดกระบี่มีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ ร้อยละ40 ของพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ รองลงมาคือ สุราษฎร์ธานี และ ชุมพร อย่างไรก็ตามได้มีการทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในภาคกลาง เช่น โครงการพัฒนาทุ่งรังสิต ซึ่งพบว่าสามารถให้ผลผลิตได้เมื่อสวนปาล์มมีอายุประมาณ 28 เดือน
สบู่ดำ
เป็นพืชน้ำมันอย่างหนึ่งที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลชุมชน เนื่องจากเป็นพืชที่เพาะปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมาก ทนต่อสภาพแล้งและน้ำท่วมทำให้ปลูกได้ในพื้นที่ทั่วทุกภาคแม้แต่ในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้น้อย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในหนึ่งปีหลังปลูก และมีอายุยืนกว่า 30 ปี อีกทั้งปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง น้ำมันที่บีบจากผลสบู่ดำสามารถนำมาใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำสำหรับการเกษตรแทนน้ำมันดีเซลได้ทันที ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักสบู่ดำ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทยมานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยชาวโปรตุเกสนำเข้ามาเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้คนไทยปลูก แล้วรับซื้อเมล็ดซึ่งมีสีดำกลับไปอัดบีบเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทำสบู่
ด้วยเหตุนี้อาจเป็นที่มาของคำว่า “สบู่ดำ” อย่างไรก็ตาม คนไทยจะเรียกชื่อพืชชนิดนี้แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ภาคกลางเรียก สบู่ดำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก มะเยา ภาคใต้เรียก มะหงเทศ ส่วนภาคเหนือเรียก มะหุ่งฮั้ว แต่ชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า Jatropha curcas Linn.
สบู่ดำเป็นพืชน้ำมันทางเลือกที่เหมาะสมอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรระบุว่า หากมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และมีวิธีดูแลการเพาะปลูกที่เหมาะสมแล้วจะสามารถให้น้ำมันต่อไร่ได้สูงถึงปีละ 300 ลิตร แต่ถ้าปลูกตามธรรมชาติจะได้ผลผลิตเพียง 100 ลิตรต่อไร่ต่อปีเท่านั้น ขณะที่ผลผลิตปาล์มให้น้ำมันปีละประมาณ 600 ลิตร แต่ต้องใช้เวลาปลูก 3 - 4 ปี และข้อดีอีกประการหนึ่งจากที่สบู่ดำเป็นพืชรับประทานไม่ได้ซึ่งแตกต่างจากพืชน้ำมันชนิดอื่น จึงทำให้ราคาไม่ผันผวน โดยราคาเมล็ดสบู่ดำอยู่ที่ประมาณ 3 - 4 บาทต่อกิโลกรัม การสกัดต้องใช้จำนวนเมล็ดถึง 4 กิโลกรัมจึงจะได้น้ำมัน 1 ลิตร ทำให้ต้นทุนน้ำมันสบู่ดำอยู่ที่ 12 - 16 บาทต่อลิตร ซึ่งยังคงต่ำกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่มีราคาค่อนข้างผันผวนประมาณ 14 - 22 บาทต่อลิตร
น้ำมันสบู่ดำที่สกัดได้จะสามารถนำไปใช้กับเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ เช่น เครื่องปั่นไฟ รถอีแต๋น รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องสูบน้ำได้โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ แต่มีปัญหาด้านคุณภาพบางประการ อาทิ ค่าความหนืดที่สูงกว่าน้ำมันดีเซลถึง10 เท่า ทำให้ไม่สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูงทั่วไปได้ จำเป็นต้องนำไปผ่านกระบวนการ Transesterification แปลงเป็นไบโอดีเซล ( B 100 ) ก่อนนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลปกติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
ในต่างประเทศสบู่ดำเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศเม็กซิโก และได้มีการส่งเสริมให้เพาะปลูกในประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย มานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่แห้งแล้งเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา หรืออินเดีย ซึ่งนอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในประเทศเหล่านั้นแล้ว ยังพบว่ามีหลายประเทศในแถบยุโรป อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศอังกฤษ ที่เข้าไปลงทุนเพาะปลูกสบู่ดำที่ประเทศอินเดีย และ ประเทศมาลิ (Mali)
ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาเกียวโต โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จะลดปัญหาดังกล่าว คือการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพโดยมีข้อตกลงที่เรียกว่า “The EU Biofuel Directive” มีเป้าหมายการใช้ เอทานอล และ ไบโอดีเซล จากร้อยละ 2 ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2005 เพิ่มเป็นร้อยละ 5.75 ในปี 2010 และ ร้อยละ 20 ภายในปี 2020 ประเทศในกลุ่มยุโรปจึงมีการส่งเสริมการปลูกต้นเรพเพื่อนำเมล็ดเรพไปเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล แต่จากเป้าหมายที่กำหนดไว้พบว่าปริมาณไบโอดีเซลที่จะผลิตได้ภายในประเทศมีไม่เพียงพอ จึงต้องไปลงทุนปลูกพืชน้ำมันในประเทศอื่นและรับซื้อผลผลิตกลับมายังประเทศของตน
นอกจากเหตุผลของการนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนแล้ว ประโยชน์จากการเพาะปลูกสบู่ดำยังมีไว้เพื่อใช้เป็นพืชคลุมดินลดการกัดเซาะหน้าดินจาก ลมและน้ำ รวมทั้งช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินให้สามารถใช้เพาะปลูกพืชเกษตรอื่นได้
น้ำมันพืชใช้แล้ว
ในระหว่างที่ต้องรอการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มให้เพียงพอ วัตถุดิบอีกประเภทหนึ่ง ที่ควรส่งเสริมให้นำไปผลิตไบโอดีเซล คือ น้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีอัตราเฉลี่ยในการบริโภคน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ต่อปี ส่งผลให้ปัจจุบันมีการบริโภคน้ำมันพืชสูงกว่า 100 ล้านตันต่อปี เพราะวิถีการบริโภคที่หันมานิยมอาหารประเภทจานด่วน (Fast Food) ที่ปรุงด้วยการทอดมากขึ้น ผลที่ตามมา คือ มีน้ำมันพืชใช้แล้วจำนวนมากที่เหลือจากการปรุงอาหารซึ่งจำเป็นต้องหาวิธีจัดการ ไม่ว่าเป็นการกำจัด บำบัด หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
สำหรับประเทศไทยมีการบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตันต่อปี ประเมินกันว่าน่าจะมีน้ำมันพืชใช้แล้วเหลือมากกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่ หรือใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ ขณะที่บางส่วนถูกทิ้งออกสู่คูคลองสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม บ้างก็ถูกลักลอบนำไปขายในราคาถูกเพื่อใช้ทอดซ้ำ ซึ่งน้ำมันพืชที่นำกลับมาใช้ซ้ำจะมีลักษณะที่เสื่อมสภาพทั้งทางกายภาพและทางเคมี ทั้งนี้ผู้ที่บริโภคอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลานาน เซลล์ตับและไตจะถูกทำลาย รวมถึงอาจเป็นโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ภาครัฐ ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่บริโภคน้ำมันพืชใช้แล้วโดยไม่รู้ตัว จึงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 283 ปี 2547 โดยกำหนดมาตรฐานน้ำมันพืชที่นำไปใช้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย แต่ประสบกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการในปัจจุบัน ทำให้บางรายนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาปรุงอาหารเพื่อลดต้นทุน ยังผลให้การรณรงค์ไม่นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้ซ้ำไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีการออกกฎหมายมาควบคุมดูแล และมีวิธีการจัดการกับน้ำมันพืชใช้แล้วอย่างเข้มงวด เพราะถือว่าเป็นของเสียที่ต้องถูกกำจัด หรือบำบัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ นิยมนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ในด้านพลังงานด้วยการนำไปผลิตเป็น “น้ำมันไบโอดีเซล” ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ในปี 2550 บริษัทบางจากฯ ได้ริเริ่มโครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากตลาดทั่วไป และรับซื้อผ่านสถานีบริการน้ำมันกว่า 20 แห่ง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลของหน่วยผลิตไบโอดีเซลบางจาก สุขุมวิท64 มีกำลังผลิต 50,000 ลิตรต่อวัน
น้ำมันไบโอดีเซล ในประเทศไทย
ไบโอดีเซลในประเทศไทย
- ปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก ณ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเกิดวิกฤติราคาน้ำมันปาล์มดิบตกต่ำเพราะมีผลผลิตล้นตลาด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กมีกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ณ ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
- ปี 2543 กองงานส่วนพระองค์ได้ทำวิจัยพัฒนา และทดลองนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์หรือปาล์มดีเซล มาทดลองใช้กับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- จากผลความสำเร็จดังกล่าว ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ยื่นจดสิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” สิทธิบัตรเลขที่ 10764
- วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2544 วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีหน่วยงาน 4 หน่วยงาน ได้นำผลงานเกี่ยวกับการวิจัยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลไปจัดนิทรรศการที่สวนจิตรลดา ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบริษัท ยูนิวานิช จำกัด
- ปี พ.ศ.2544 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้จัดส่งผลงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติชื่องาน “Brussels Eureka 2001” ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ด้วยพระอัจฉริยะภาพและพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่งผลให้ผลงานการคิดค้น 3 ผลงานของพระองค์ คือ “ทฤษฎีใหม่” “โครงการฝนหลวง” และ “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ได้รับเหรียญทอง ประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ พร้อมถ้วยรางวัล ในงานดังกล่าวล้วนเป็นผลงานการคิดค้นแนวใหม่ในการพัฒนาประเทศ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล
ต่อมา หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เกษตรกร และบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ร่วมมือกันพัฒนาหน่วยผลิตต้นแบบ ในหลายๆ โครงการ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักและสร้างความมั่นใจในการใช้น้ำมันไบโอดีเซล ภาครัฐจึงได้มีโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล ดังต่อไปนี้
- โครงการทดลองจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B2 ได้เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2547 โดยเป็นโครงการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สนับสนุนให้นำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนสารเพิ่มความหล่อลื่นในสัดส่วนร้อยละ 2 (B2) จำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจาก และ ปตท. โดยจำหน่ายให้รถยนต์สองแถวรับจ้างของจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้าร่วมประมาณ 1,300 คัน ในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 50 สตางค์ต่อลิตร โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องสนับสนุนให้ผู้ใช้รถหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล
- โครงการนำร่องของชุมชนสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 200,000 ไร่ มีโรงหีบน้ำมันที่มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 400,000 ลิตรต่อวันได้ และมีการลงทุนสร้างโรงงานไบโอดีเซล กำลังผลิต 20,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ เป็นผู้ออกแบบ และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
- โครงการนำร่องห้วยโมง จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกน้ำมันปาล์มประมาณ 40,000 ไร่ และได้ทดลองปลูกปาล์มในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 30 เดือน ได้ผลใกล้เคียงกับการทดลองในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันได้มีบริษัทเอกชนกำลังศึกษารายละเอียดเพื่อเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ภาครัฐยังมีโครงการอื่นๆ สำหรับศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตและการใช้น้ำมันไบโอดีเซล อาทิ
- โครงการศึกษาความเหมาะสมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลจากพืชน้ำมันและไขมันสัตว์ ซึ่งเป็นการทดลองใช้งานจริงกับรถยนต์ราชการ โดยใช้ไบโอดีเซลผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 20 , 40 และ 100 ตามลำดับ แล้วนำผลการใช้มาเปรียบเทียบสมรรถนะกับรถที่ใช้น้ำมันดีเซลปกติ
- โครงการศึกษาออกแบบจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลนำร่องระดับชุมชน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาพัฒนาเครื่องต้นแบบระบบผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชนจากน้ำมันปาล์มดิบแบบต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิต 50 ลิตรต่อวัน
- โครงการศึกษาจัดทำแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลในภาคขนส่ง เพื่อศึกษาวิจัย พัฒนาและสาธิต การใช้งานจริงไบโอดีเซลร่วมกับก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ตู้โดยสาร และรถยนต์ในลักษณะ Dual Fuel โดยใช้น้ำมันไบโอดีเซลร้อยละ 30 ผสมกับก๊าซธรรมชาติอัด
- โครงการกรุงเทพฟ้าใสด้วยไบโอดีเซล เป็นโครงการนำร่องของ พพ. เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 ในเชิงพาณิชย์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน
- โครงการหน่วยผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ขนาดกำลังผลิต 50,000 ลิตรต่อวัน ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยน้อมนำแนวพระราชดำริด้านพลังงานทดแทน มาขยายผลและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ไบโอดีเซล พร้อมเปิดจุดรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อผลิตไบโอดีเซล ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก สุขุมวิท64 และสถานีบริการน้ำมันบางจากอีกกว่า 20 แห่ง ใน กทม. ปริมณฑล และที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งได้รณรงค์รับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากตลาดต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนหน่วยผลิตไบโอดีเซลที่ตั้งอยู่ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก
อีกทั้งได้ขยายสถานีบริการน้ำมันบางจากที่จำหน่ายไบโอดีเซลสูตร B5 ออกไปทั่วประเทศมากกว่า 300 แห่ง ในปี 2549 และมีแผนจะเพิ่มเป็น 500 แห่งในปี 2550 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งน้ำมันพืชใช้แล้วสู่สาธารณะและลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากการนำไปใช้ซ้ำ
- โครงการไบโอดีเซลเพื่อสังคมไทยสู่เศรษฐกิจพอเพียง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นความร่วมมือของ กรุงเทพมหานคร บริษัทบางจากฯ และชุมชน ในการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยที่ดี โดยรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากชุมชนมาจำหน่ายให้กับบริษัทบางจากฯ เพื่อผลิตไบโอดีเซล พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายผล ให้เขตพระโขนงเป็นพื้นที่นำร่อง จากนั้นจะขยายให้ครบทั้ง 50 เขตใน กทม. รวมถึงผลักดันให้รถยนต์ของหน่วยงาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้ไบโอดีเซล B5 ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมของ กทม. และสร้างรายได้ให้กับชุมชนและทุกภาคส่วนที่เข้าร่วม
โครงการต่างๆ เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล และมุ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าน้ำมันไบโอดีเซลสามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลปกติได้ และมีการผลิต-จำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์