ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้ 'นาง' หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณวันที่ 4 มิถุนายน 2551 ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่การใช้คำนำหน้านามของหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วต้องใช้คำนำหน้านามว่า'นาง'คำเดียว โดยมิอาจเลือกได้ตามความสมัครใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อหญิงดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวันอาทิ การประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตร และการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การใช้คำนำหน้านามในลักษณะดังกล่าวของหญิงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ สมควรกำหนดให้หญิงมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคลรายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีดังนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑'
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง' หรือ 'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามตามพระราชบัญญัตินี้