พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระเมรุมาศ พระเมรุมาศใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับ “การตาย” ที่ใช้ราชาศัพท์ว่า “สวรรคต” เช่น พระมหากษัตริย์, พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า (อุปราชวังหน้า) พระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น ภายในจะมีพระเมรุทอง ทั่วไปนิยมเป็นกุฎาคารหรือเรือนยอด พระเมรุทองใช้ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งสุดท้ายตามโบราณราชประเพณี
พระเมรุ พระเมรุใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์เมื่อตายใช้ราชาศัพท์ว่า ทิวงคต หรือ สิ้นพระชนม์ ในพระเมรุไม่มีพระเมรุทอง
พระเมรุพิมาน เป็นสมมุตินาม คือ อาคารถาวรที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งตั้งพระบรมศพ หรือพระศพ ครั้นเวลาถวายพระเพลิงอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพจากพระเมรุพิมานไปถวายพระเพลิงที่พระเมรุ(ขนาดน้อย)อีกแห่งใกล้ๆ กันหรือไม่ไกลกันมาก
พระเมรุบรรพต พระเมรุซึ่งสร้างบนภูเขาสมมุติ
เมรุทิศ คือเมรุประจำ 4 ทิศ หรือ 8 ทิศ หรืออาจลดลงสุดแต่เหตุการณ์
เมรุประตู คือเมรุที่ทำเป็นประตูเข้าออก
เมรุแทรก คือเมรุซึ่งแทรกกลางระหว่างเมรุทิศทั้ง 4 หรือ จะแทรกตรงไหนก็ได้สุดแต่ความเหมาะสม
เมรุพระบุพโพ คือเมรุขนาดน้อย สำหรับถวายพระเพลิงพระบุพโพ (น้ำเหลือง) ส่วนใหญ่จะทำที่วัดมหาธาตุ ฯลฯ
จาก หนังสือ “ พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศาสตราจารย์ น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต
พระเมรุมาศสถาปัตยกรรมไทยอันล้ำเลิศ
เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2538 รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ทุกหมู่เหล่าต่างเศร้าโศกเสียใจ กับการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี งานพระราชพิธีถวายพระเพลิง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งโปรดเกล้าฯ กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2539 จึงต้องมีการจัดเตรียมงานในด้านต่างๆ อาทิการจัดงานด้านพระราชพิธี การก่อสร้างพระเมรุมาศ สิ่งก่อสร้างประกอบพระเมรุมาศ ราชรถ พระยานมาศ และส่วนประกอบพระราชพิธี
ในส่วนของการก่อสร้าง พระเมรุมาศ และอาคารในปริมณฑล เพื่อการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้มอบหมายภาระกิจ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร
ทางด้านกรมศิลปากร ได้ระดมช่างฝีมือที่มีความสามารถ ในการเตรียมการก่อสร้าง พระเมรุมาศและอาคารปริมณฑล เพื่อให้แล้วเสร็จทันการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยมี เรืออากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกระดับ 9 ของกรมศิลปากร เป็นกำลังสำคัญในการออกแบบ
พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพพระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ ต่อไปนี้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบกุฎาคารหรือเรือนยอด ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอนุรักษ์สืบทอดจากโบราณราชประเพณีและพัฒนามาเป็นลำดับตามควรแก่โอกาส และตามภาวะสังคม ณ ปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้มีโอกาสสืบทอด อนุรักษ์ แสดง ศิลปสถาปัตยกรรมแบบพระเมรุเป็นเอกในโลก
พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุนี้ ปัจจุบันยังเป็นโอกาสให้สถาปนิกได้มีโอกาสแสดงความคิดเนรมิตสร้างสรรค์ สืบทอด อนุรักษ์ ขนบประเพณี นับว่า สถาปนิกบรรพบุรุษท่านได้มอบสมบัติทางปัญญา (Intellectual prorerty) ไว้ให้ นับเป็นมรดกอันล้ำค่า สมควรสืบทอดต่อไปเท่าที่ภาวะของสังคมจะอำนวยให้
หนังสือพระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เล่มนี้กำเนิดสืบทอดต่อไปด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
1. พระเมรุ พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่4)เป็นภาพถ่ายเมรุครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2405
2. พระเมรุมาศ (เมรุใหญ่) ซึ่งมีพระเมรุทองอยู่ภายใน พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเมรุมาศตามแบบโบราณราชประเพณีศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ องค์สุดท้าย ซึ่งกระบวนแห่มีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งบุษบกไตรสังเค็ด แห่เป็นคู่ ๆ รวม 40 คู่ด้วย
3. พระเมรุบรรพตสมโภชพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่องานแล้ว สมโภชพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล แต่พระราชเพลิงในพระเมรุน้อยที่เชิงภูเขา
4. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่ครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงดำรงพระชนม์อยู่โดยสวัสดิภาพ พระราชทานพระกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ดังนี้ “แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคนและเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้วเห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร ณ ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”(เทศาภิบาล เล่ม 10 หน้า 59 และจากเรื่องงานถวายพระเพลิงศพ พระบรมศพ โดย นายยิ้ม ปัณฑยางกูร ในหนังสือจันทรเกษม ฉบับที่ 11 เมษายน 2499) อ้างตามหนังสือพระเมรุมาศฯ....ปริยวาที
5. พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทัศนียภาพเวลากลางคืน โปร่ง-เบา-เรียบ-ง่าย-งามสง่า เป็นสถาปัตยกรรมสมบูรณ์ลักษณ์(ARCHITECTONIC)
6. พระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ (จำลองแบบจากพระเมรุสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาพิมุข)พระที่นั่งทรงธรรม (ขวา) ศาลาเปลื้องเครื่อง (ซ้าย)
7. พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
8. พระเมรุทิศ เป็น พระเมรุมณฑปขนาดน้อย
9. พระเมรุ พระบุพโพ (น้ำเหลือง) ส่วนมากจะกระทำที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
www.m-culture.go.th