เครื่องประกอบพระศพตามฐานานุศักดิ์สมเด็จเจ้าฟ้า (ทรงกรม) ตามฐานันดรศักดิ์สมเด็จเจ้าฟ้า (ทรงกรม) ได้รับพระราชทานเครื่องเกียรติยศ ดังนี้
- น้ำหลวง
- พระโกศทองใหญ่ มีเศวตฉัตร ๕ ชั้นแขวนเหนือพระโกศ ฉัตรเครื่องทองแฝลวด ตั้งประดับ สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะแดงทองลาย ประโคมเวลาพระราชทานน้ำสรง พระอภิธรรมกลางวัน กลางคืน ตามกำหนดไว้ทุกข์ ทรงบำเบ็ญพระราชกุศล ๗ วัน , ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน
ราชรถ ที่ใช้ในการพระบรมศพและพระศพ
- พระมหาพิชัยราชรถ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๘ ในรัชกาลที่ ๑ นำออกใช้ครั้งแรกคราวอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในพ.ศ. ๒๓๓๙ จากนั้นถือเป็นราชประเพณีที่จะนำราชรถองค์นี้เป็นราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ผู้สูงศักดิ์ในสมัยต่อๆมาจนปัจจุบัน
- พระเวชยันตราชรถ สร้างในรัชการที่ ๑ ประมาณ ๒๓๔๒ เมื่อแรกสร้างพระราชทานชื่อว่า เวไชยยันตราชรถ ภายหลังเปลี่ยนเป็น เวชยันตราชรถ ในคราวงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ แต่เดิมพระเวชยันตราชรถได้รับการกำหนดเป็นราชประเพณีว่า สำหรับทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูงพระยศเจ้าฟ้า ใช้งานครั้งแรกโดยทรงพระโกศ สมเด็จพรี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมศรีสุดารักษ์ ออกงานพระเมรุในคราวเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งทรงพระโกศสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี
- ราชรถน้อย ๓ องค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ พร้อมกับพระมหาพิชัยราชรถเป็นรถพระนำสมเด็จพระราชาคณะประทับอ่านพระอภิธรรมและรถสำหรับโยงโปรยทาน
ราชรถทั้งหมดนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ยังมีพระราชยาน คานหาม ได้แก่ พระเสลี่ยงและพระยานมาศอื่นๆ
พระเมรุ
- เมื่อพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี หรือพระบรมวงศ์เสด็จสวรรคต หรือสิ้นพระชนม์ จะจัดพิธีพระบรมศพ/พระศพ โดยจำลองเขาพระสุเมรุขึ้นซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาทองใหญ่ของแกนกลางจักรวาล เพื่อส่งเสด็จพระวิญญาณพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระบรมราชชนนี ถวายพระเพลิงที่พระเมรุกลางเมือง เรียกว่า “พระเมรุมาศ” ส่วนพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าและมีอิสริยยศสูงศักดิ์ ต้องทำที่พระเมรุกลางเมือง ส่วนพระบรมวงศ์นอกจากนี้ ถ้าโปรดเกล้าพระราชทานเพลิง จะสร้างเมรุที่วัดตามความเหมาะสมหรือที่สุสานหลวง พระเมรุและอาคารประกอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอตั้งพระศพที่พระเมรุกลางเมืองลักษระเป็นพระเมรุเครื่องยอดตามคติมณฑลจักรวาล เพื่อส่งเสด็จ สู่สวรรคาลัย ประกอบด้วยอาคารสำคัญ คือ พระเมรุตั้งอยู่กลาง มีอาคารรายล้อม เรียกว่า ทับเกษตร หรือคด และส้างหรือลำส้าง ที่มุมคดล้อมรอบพระเมรุ บางครั้งมีการสร้างเมรุทิศ พระที่นั่งทรงธรรม หอเปลื้อง ทิม เกย ประกอบอีกด้วยและปักราชวัตรล้อมเป็นชั้นๆมีฉัตร ธง พุ่ม ดอกไม้ ตกแต่งทั้งภายนอก ภายใน ตัวพระเมรุประดับลวดลาย ปิดทองประดับกระจกหรือประดับลวดลายฉลุกระดาษพร้อมม่าน ฉากบังเพลิง อาจเป็นสีทอง หรือมีสีสันอื่นๆประกอบ ที่กึ่งกลางพระเมรุตั้งพระจิตกาธาน
อนึ่ง บริเวณโดยรอบพระเมรุมีการออกแบบให้มีเทวดา วิทยาธร คนธรรพ์ และสัตว์หิมพานต์เป็นส่วนประกอบตกแต่ง ตามคติเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางแห่งมณฑลจักรวาล
เครื่องเกียรติยศที่ได้รับพระราชทานเมื่อพระราชทานเพลิง
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ
- กระบวนแห่พระราชอิสริยยศ ราชรถทรงพระโกศพระศพจากที่ประดิษฐานไปยังพระเมรุหลวง
- พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำส้างเมรุ
- กลองชนะแดงลายทอง ประโคม ย่ำยาม
- เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระเมรุ และพระราชทานเพลิง
- พระราชทานฉัตรแขวนสุมพระอัฐิบนพระเมรุ
การทั้งหมดนี้และการอื่นๆแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ที่มา www.m-culture.go.th