โรคซึมเศร้า (major depressive disorder)
คุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่
- รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
- ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
- รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
- อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
- กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
- คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย
ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
การรักษา
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี "ภูมิคุ้มกัน" สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างไร
เมื่ออาการของโรครุนแรง จนอาจมีอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
ยารักษาโรคซึมเศร้า
ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ
- กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง)
- กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI
- กลุ่มสุดท้ายคือยากลุ่มใหม่ชื่อ SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor)
ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วย ก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนอง เนื่องจากเราไม่อาจทราบก่อนได้เลยว่า ผู้ป่วยคนใดจะ"ถูก"กับยาชนิดใด แล้วแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไป
ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลย์ เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดึขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว
ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ
สิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงก็คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นหรือหมอฟันด้วยว่า ท่านกำลังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ อย่าวางใจว่า เป็นแค่ยาพื้นบ้านธรรมดา คงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรร้ายแรง การดื่มแอลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง
ยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง อย่างที่กล่าวแล้ว แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ควรถามแพทย์ทุกครั้งที่ท่านมีปัญหาที่เกิดจากยา หรือเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา
การรักษาทางจิตใจ
มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ"พูดคุย"กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย
การรักษาอีก 2 รูปแบบต่อไปนี้ที่มีการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ
- การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
- และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม
โดยการรักษารูปแบบแรกมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่อาจ เป็นสาเหตุและกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า ส่วนการรักษาแบบหลังจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง
ส่วนการรักษาโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ก็นำมารักษาโรคนี้ โดยช่วยผู้ป่วยค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งภายในจิตใจผู้ป่วย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก
โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์
สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
นอกจากนี้ หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้ สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย
ผลข้างเคียงของยา
ยารักษาโรคซึมเศร้า มีผลข้างเคียงอยู่บ้างกับผู้ใช้บางคน อันอาจก่อความรำคาญ แต่ไม่อันตราย อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้สึกว่ามีผลข้างเคียงของยาเกิดขึ้น กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบ
ผลข้างเคียงต่อไปนี้มักเกิดจาก กลุ่มยา tricyclics ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ถูกสั่งใช้บ่อยที่สุด และเราได้แนะนำวิธีบรรเทาผลข้างเคียงไว้ท้ายข้อแล้วดังนี้
1.ปากแห้งคอแห้ง - ดื่มน้ำบ่อยๆ เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี
2.ท้องผูก - กินอาหารที่มีกาก หรือมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ผักผลไม้ เช่น ส้มโอ มะขาม มะละกอ
3.ปัญหาการถ่ายปัสสาวะ - อาจมีการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่งเช่นเคย อาจใช้มือกดหน้าท้องช่วยและปรึกษาแพทย์
4.ปัญหาทางเพศ - อาจมีปัญหาขณะร่วมเพศได้บ้าง ซึ่งปรึกษาแพทย์ได้
5.ตาพร่ามัว - อาการนี้จะหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องตัดแว่นใหม่
6.เวียนศีรษะ - ลุกจากเก้าอี้ หรือเตียงช้าๆ ดื่มน้ำมากขึ้น
7.ง่วงนอน - อาการอาจหายไปเอง อย่าพยายามขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร หากง่วงมากในช่วงเช้าให้เลื่อนยามื้อก่อนนอนมากินหัวค่ำกว่าเดิม
สำหรับกลุ่ม SSRI อาจมีผลข้างเคียงที่ต่างออกไป ดังต่อไปนี้
1.ปวดศรีษะ อาจมีอาการสักช่วงหนึ่ง แล้วจะหายไป
2.คลื่นไส้ มักเป็นเพียงชั่วคราว
3.นอนไม่หลับหรือกระวนกระวาย พบได้ในช่วง 2 ถึง 3 สัปดาห์แรก ของการกินยา หากคงอยู่นานควรปรึกษาแพทย์
การช่วยรักษาตนเอง
การป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจะทำให้คุณรู้สึกเพลีย รู้สึกไร้ค่า เหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหวัง ความคิดในแง่ลบกับตนเองในแบบนี้ มักจะทำให้ผู้ป่วยบางคนท้อถอยและยอมแพ้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบว่าความคิดหรือความรู้สึก เหล่านี้เป็นเพียงแค่อาการของโรค มิได้สะท้อนเรื่องจริงในชีวิตของคุณอย่างถูกต้องแต่อย่างใด ความคิดเหล่านี้จะค่อยๆหมดไปเมื่อเริ่มต้นการรักษาไปสักระยะหนึ่ง
ในระหว่างนี้คุณควรจะ
- อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ
- พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้
- อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างความล้มเหลว
- ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้ามันไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง
- อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและมีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น
- อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ "ลัดนิ้วมือเดียว" เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ
- พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น
ผู้ใกล้ชิดช่วยได้อย่างไร
ครอบครัวและเพื่อนก็ช่วยได้
จากการที่โรคทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า หมดหวัง คุณอาจต้องการหรือต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่คนไม่เคยป่วยด้วยโรคนี้ จะเข้าใจผลของการเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาอาจพูดหรือแสดงท่าทีที่ทำให้คุณรู้สึกเสียใจ โดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ คุณอาจส่งคำแนะนำนี้ให้คนที่คุณอยากให้เขาเข้าใจที่สุดอ่านดู เผื่อเขาจะได้เข้าใจและช่วยเหลือคุณได้บ้าง
วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยให้เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ ทั้งยังอาจช่วยให้กำลังใจเขา ให้เขาร่วมมือกับแผนการรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา ในครั้งแรก เราอาจจะต้องเป็นผู้ช่วยนัดเหมายจิตแพทย์ให้ และไปตรวจพร้อมกับเขา แล้วช่วยติดตามว่าผู้ป่วยได้กินยาตามที่แพทย์สั่งมาหรือไม่
ลำดับถัดมาคือ การช่วยเหลือทางจิตใจ อันได้แก่การแสดงความเข้าใจ ความอดทน ความเอาใจใส่ และให้กกำลังใจ แก่ผู้ป่วยโดยการดึงผู้ป่วยเข้ามาร่วมวงสนทนา และเป็นผู้ฟังที่ดี อย่ามองข้ามคำพูดที่ว่า อยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย ควรรีบแจ้งให้จิตแพทย์ทราบ
พยายามชวนผู้ป่วยไปเดินเล่น เปลี่ยนสถานที่ ชมภาพยนต์ หรือเข้ากิจกรรมต่างๆ ควรแสดงความตั้งใจจริงที่เราอยากให้เขาไป หากตอนแรกเขาปฏิเสธ อาจต้องคะยั้นคะยอให้เขาทำกิจกรรมที่เขาชอบและเพลิดเพลิน เช่น งานอดิเรก กีฬา ศาสนา หรือสมาคมต่างๆ แต่ไม่ต้องรีบบังคับผู้ป่วยรับที่จะทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมมากๆ และเร็วเกินควร แม้ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่มาจรรโลงใจ แต่การคาดหวังกับเขามากเกินไปจะยิ่งทำให้เขารู้สึกล้มเหลว
อย่ากล่าวโทษผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าว่า แกล้งป่วย หรือเกียจคร้าน หรือคาดคั้นให้หายซึมเศร้าในพริบตา ในที่สุดแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ จงระลึกถึงความจริงข้อนี้และให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยเช่นกันว่า ด้วยการช่วยเหลือและการรักษา เขาจะหายจากโรคนี้แน่นอน
ที่มา www.mahidol.ac.th