ดังคำปรารภที่ว่าไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่สมบูรณ์แบบและเป็นที่พอใจของทุกคนในประเทศ ฉะนั้น ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุดก็คือระบบที่เลวน้อยที่สุด เพราะทุกระบบก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อยคละกันไป
ในปัจจุบัน ทั่วโลกที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยใช้ระบบเลือกตั้งหนึ่งในสองระบบสำคัญคือระบบเสียงส่วนใหญ่ (Majority Vote หรือ Plurality Vote) หรือเรียกเป็นอย่างอื่นเช่นระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้ง (First Past the Post) และเป็นที่รู้กันในหมู่คนทั่วไปว่าเป็นระบบเลือกตั้งแบบง่าย และอีกระบบหนึ่งคือระบบสัดส่วน (Proportional Representation) ซึ่งโดยทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นระบบเดียวกับระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) แต่แท้จริงแล้วระบบสัดส่วนมีรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการเลือกตั้งได้ในอีกหลายรูปแบบ
1. ระบบเสียงส่วนใหญ่ หรือระบบเลือกตั้งแบบง่าย ในปัจจุบันได้แตกแขนงออกเป็นระบบย่อยที่สำคัญ 2 ระบบคือ
- ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (Single Transferable Vote)
- ระบบทางเลือกอื่น (Alternative Vote) หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบเสริม (Supplementary Vote)
2. ระบบสัดส่วน (Proportional Representation) ซึ่งมี 2 รูปแบบที่สำคัญคือ
- ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ (Party List) ซึ่งสามารถซอยย่อยออกเป็น 2 ระบบย่อยคือระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด (Closed Party List) และระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open Party List)
- ระบบเสริมสมาชิก (Additional Member System) ซึ่งเป็นระบบผสม (Mixed System)ระหว่างระบบเสียงส่วนใหญ่ กับระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบัญชีรายชื่อแบบปิดหรือแบบเปิด ซึ่งเท่ากับเป็นการผสมกันระหว่างระบบเสียงส่วนใหญ่กับระบบสัดส่วนนั่นเอง
ก่อนที่จะพิจารณาว่าระบบใดดีหรือไม่ดีมากกว่ากันอย่างไร เราอาจเริ่มต้นพิจารณาเปรียบเทียบระบบใหญ่ หรือระบบแม่ของทั้งสองระบบเสียก่อน นั่นคือระบบเสียงส่วนใหญ่ กับระบบสัดส่วนว่าทั้งสองระบบมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ก่อนที่จะไปพิจารณาระบบย่อย ซึ่งเป็นความพยายามที่จะอุดช่องว่างหรือจุดด้อยของระบบใหญ่แต่ละระบบนั่นเอง
ระบบเสียงส่วนใหญ่กับระบบย่อย
นอกเหนือจากระบบสัดส่วนที่มีการแตกออกมาเป็นระบบย่อยที่กล่าวถึงข้างต้นนี้แล้ว ระบบเสียงส่วนใหญ่ หรือ Majority Vote หรือ First Past the Post ก็มีความพยายามจะแก้ไขจุดอ่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนเช่นกันแต่ไม่มีที่นั่งในสภาตามสัดส่วนคะแนนเสียง โดยได้มีการสร้างระบบย่อยขึ้นมา 2 ระบบ เพื่อเป็นทางเลือก นั่นคือระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงได้ (Single Transferable Vote หรือ STV) กับระบบทางเลือก (Alternative Vote) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระบบเสริม (Supplementary Vote หรือ SV)
ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงได้ (STV) นี้ เคยทดลองใช้กับการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น และสภายุโรปของไอแลนด์เหนือ (Northern Ireland) เนื่องจากเกิดปัญหาว่าระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้งที่ใช้กันมาเป็นเวลานานนั้นทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสภาไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเพียงพอ และต้องการได้สมาชิกสภาหน้าใหม่ในสภาบ้าง ระบบที่ถูกนำมาใช้ นอกเหนือจากที่อังกฤษคือที่สภาท้องถิ่นของไอร์แลนด์ และการเลือกตั้งสภาสูงของของออสเตรเลีย ตลอดจนองค์กรต่างๆในประเทศอังกฤษเช่นสหภาพแรงงาน (Trade Union) หรือพรรคประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democrats) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงได้ (STV) เมื่อเทียบกับระบบเสียงส่วนใหญ่ อาจจะซับซ้อนมากกว่า แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของผู้เลือกตั้ง ยกตัวอย่างการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นที่ไอร์แลนด์เหนือ กล่าวโดยย่อก็คือ แต่ละเขตเลือกตั้งจะส่งรายชื่อของผู้สมัครของแต่ละเขตรวมกัน จากนั้นก็จัดให้มีบัตรเลือกตั้งคะแนนแบบ STV ซึ่งมีรายชื่อผู้สมัครเรียงตามตัวอักษร โดยกำกับแต่ละชื่อว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคใด แต่ละพรรคก็จะใส่ชื่อผู้สมัครในจำนวนที่คิดว่าน่าจะได้รับเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใส่ตามจำนวนที่นั่งของเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ลงคะแนนก็จะเลือกผู้สมัครที่ตนสนับสนุนเรียงลำดับตามความพอใจ ซึ่งผลจากการนับคะแนนจะทำให้เกิดการกระจายที่นั่งไปยังผู้สมัคร
การนับคะแนนจะเป็นไปตามโควต้า (Quota) โดยจำนวนคะแนนเสียงที่ลงทั้งหมดจะถูกแบ่งตามจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาบวกหนึ่ง ตัวอย่างเช่นในเขตเลือกตั้งที่มีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 100,000 คน โควต้าก็จะเป็น 100,000 หารด้วย 5+1 หรือ 16,666 เมื่อการคัดเลือกตามความพอใจรอบแรกเริ่มต้น ผู้สมัครที่ได้คะแนนถึง 16,666 คนแรกจะได้รับเลือกเป็นคนที่หนึ่ง จากนั้นคะแนนของผู้สมัครที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดจะถูกถ่ายโอนมาให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนนิยมเป็นคนที่สองรองลงมาจากคนแรกที่ได้รับเลือกไปแล้ว รวมถึงคะแนนส่วนเกินของผู้ที่ได้รับเลือกคนแรกที่เกิน 16,666 ก็จะถูกถ่ายโอนมาให้ผู้ได้รับความนิยมลำดับที่สอง และเริ่มนับคะแนนกันอีก จนกระทั่งคนที่สองได้คะแนนครบโควต้า 16,666 และได้รับเลือกเป็นคนที่สอง การนับคะแนนและถ่ายโอนคะแนนรอบใหม่ก็จะเริ่มขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะได้สมาชิกสภาครบ 5 ที่นั่ง
ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงนี้มีจุดอ่อนเช่นกันเมื่อเทียบกับระบบผสมระหว่างระบบเสียงส่วนใหญ่ผสมกับระบบเสริมสมาชิกเพิ่มเติม (AMS) ปัญหาใหญ่ก็คือจะไม่มีผู้แทนที่ได้คะแนนสูงสุดจากเขตเลือกตั้ง ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับนักการเมือง เขตเลือกตั้งในระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงนี้จะมีขนาดใหญ่ทำให้ผู้แทนไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น ความสำคัญของผู้แทนท้องถิ่นจากระบบนี้จะลดลง นอกจากนี้ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง หรือ STV นี้ทำให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันต้องแข่งกันเอง ซึ่งก็ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีประการใด อย่างไรก็ตามระบบนี้ทำให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีทางเลือกเช่นระหว่างชายกับหญิง ระหว่างผู้นิยมสายกลางกับผู้นิยมแบบสุดขั้ว ซึ่งจะเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ชื่นชอบ
ข้อดีของระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงได้ หรือ STV นี้ มีมากเช่นกันเพราะทำให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูง อย่างเช่นกรณีข้างต้นปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 83 ในการเลือก 5 ที่นั่งในเขตเลือกตั้ง ได้ผู้สมัครที่ตนพอใจอย่างน้อยหนึ่งคน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ (First Past the Post) ก่อนหน้านี้ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นการออกมาใช้สิทธิออกเสียง สัดส่วนของสมาชิกในสภาก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน พรรคทั้งหลายสามารถคาดหวังที่จะได้ที่นั่งตามสัดส่วน ถ้าได้คะแนนเสียงจากผู้สมัครที่ได้รับความนิยมคนแรกของพรรคถึง ร้อยละ 6 ระบบนี้แม้ว่าจะเป็นระบบย่อยของระบบเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็มีความแตกต่างอยู่มากเช่นกัน ระบบนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาผู้สมัครที่มีอำนาจหรือเป็นผู้อุปถัมภ์พรรครายใหญ่เหมือนระบบบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะปัญหาของระบบบัญชีรายชื่อแบบปิดซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงได้นี้ตอบสนองและสนับสนุนองค์กรพรรคให้มีความรับผิดชอบในการคัดสรรผู้สมัครที่มีกระแสตอบรับจากประชาชน โดยต้องเป็นผู้สมัครที่สะท้อนถึงความนิยมของประชาชนในท้องถิ่น แต่จะดีมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ระบบเลือกตั้งตามความพอใจระบบที่สองซึ่งเป็นระบบย่อยของระบบเลือกตั้งใช้เสียงส่วนใหญ่เรียกว่า ระบบทางเลือก (Alternative Vote หรือ AV) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบเสริม (Supplementary Vote หรือ SV) ระบบนี้เคยใช้กับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในปี 2000 โดยคำแนะนำของคณะกรรมการเลือกตั้งเจนกินส์ ภายใต้การเลือกตั้งในระบบนี้ ผู้สมัครเพียงคนเดียวได้รับการเลือกตั้ง ผู้ออกเสียงลงคะแนนจะเรียงลำดับความพอใจที่มีต่อผู้สมัครก่อน และถ้าปรากฏว่าผู้ที่ได้รับความพอใจเป็นลำดับแรกเป็นผู้สมัครที่ไม่เป็นที่รู้จัก (Popular) อย่างกว้างขวางเพียงพอ ก็สามารถยกเลิกได้ และเลือกผู้ได้รับความพอใจในลำดับรองลงไป ระบบ AV ไม่สามารถสร้างความเป็นสัดส่วนระหว่างพรรคต่างๆในสภา และไม่สามารถทำให้เกิดสภาที่สะท้อนการสนับสนุนพรรคการเมืองของผู้เลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ระบบ AV ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เลือกตั้งได้ผู้แทนที่ตนออกเสียงเลือก แม้ว่าอาจเป็นผู้ที่พอใจในลำดับรองหรือลำดับท้ายๆก็ตาม แต่ระบบนี้ก็ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเล็กๆมีความยากลำบากมากขึ้นที่จะได้ผู้แทนที่ตนพอใจ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการเจนกิ้นส์จึงเสนอให้ใช้ผสมกับระบบบัญชีรายชื่อ (AMD) แบบเปิด
ระบบสัดส่วน
ระบบสัดส่วน (Proportional Representation) เป็นระบบที่ทุกพรรคมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้มาจากการออกเสียงของผู้เลือกตั้ง ระบบนี้ผู้เลือกตั้งกับผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีความสัมพันธ์กันโดยตรงเพราะผู้สมัครจะมาในรูปแบบของบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งมาเป็นชุด ผู้เลือกตั้งได้แต่ตัดสินใจว่าจะเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคใด การที่ผู้เลือกตั้งกับผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีความสัมพันธ์กันเช่นนี้ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน นั่นคือประชาชนต้องการคนที่ตนมีความนิยมและพอใจไปเป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในสภา แต่ระบบนี้เกือบจะเป็นระบบที่ตัดสายใยระหว่างประชาชนผู้เลือกตั้งกับสมาชิกสภา เพราะองค์กรพรรคการเมืองจะอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสอง พรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัครลงในบัญชีรายชื่อ ประชาชนไม่ได้เลือก อย่างไรก็ตามระบบสัดส่วนก็มีจุดแข็งอยู่มาก นั่นคือ ด้วยวิธีการคัดเลือกเช่นว่านั้นจะทำให้แต่ละพรรคมีโอกาสที่จะได้รับเลือกหรือได้ที่นั่งในสภาตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ประชาชนออกเสียงให้กับบัญชีรายชื่อของพรรค แม้จะได้คะแนนเสียงไม่มาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเสียงส่วนใหญ่แล้ว คะแนนของผู้ที่ไม่ได้เลือกผู้ชนะ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ จะหายไปทั้งหมด และยิ่งมากขึ้นเมื่อรวมกับคะแนนของผู้ไม่มาออกเสียงเลือกตั้งและผู้ที่กาเครื่องหมายไม่เลือกใคร
ในความพยายามแก้ไขจุดด้อยของทั้งสองระบบใหญ่ข้างต้น ทำให้เกิดระบบย่อย เป็นทางเลือกที่จะลดข้อด้อยหรือจุดอ่อนของระบบใหญ่ ซึ่งเราจะเริ่มต้นที่ระบบสัดส่วน (Proportional Representation System)
การเลือกตั้งระบบสัดส่วน สามารถทำได้ในหลายระดับ และหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งเราจะเริ่มต้นจากระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว และต่อจากนั้นจะเป็นระบบผสมในรูปแบบต่างๆ
ข้อสังเกต
ระบบเลือกตั้งทั้งหลายที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ถือเป็นทางเลือกของระบบเสียงส่วนใหญ่ได้ ถ้าหากจะมีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ระบบย่อยที่เป็นทางเลือกใหม่ๆจะทำให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเพิ่มสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาให้สะท้อนความเป็นจริงจากผู้ออกเลียงเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนอยากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่ไม่เคยใช้ระบบเลือกตั้งระบบย่อยทั้งหลายเหล่านี้ ควรที่จะพิจารณาให้ดีถึงความเหมาะสมของสภาพท้องถิ่นหรือประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก การริเริ่มใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ควรเริ่มต้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีเขตเลือกตั้งขนาดเล็ก และผลการเลือกตั้งจะไม่กระทบกว้างไกลเกินจะแก้ไขได้ เพราะถ้าองค์กรหรือผู้จัดการเลือกตั้งตัดสินใจใช้ระบบใหม่กับการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ และประสบปัญหาจากระบบเลือกตั้งเช่นว่านั้น ผลกระทบจะกว้างไกลและจะเกินขีดความสามารถที่จะแก้ไขได้โดยง่าย
ประการสุดท้ายที่อยากให้พิจารณาก็คือการได้มาซึ่งสมาชิกสภาสูง ซึ่งระบบเลือกตั้งที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้อาจจะนำมาประยุกต์ใช้ได้บางส่วน แม้ว่าในอดีตสมาชิกสภาสูงในหลายประเทศใช้ระบบสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงมากขึ้น ในประเทศอังกฤษเองกำลังยกเลิกการสรรหาสมาชิกสภาสูงที่เคยสรรหาจากชนชั้นต่างๆ
แต่ในขณะนี้มีความเป็นได้สูงที่จะใช้ระบบเลือกตั้งผสมกับระบบสรรหาหรือแต่งตั้ง เพียงแต่ว่ายังไม่มีข้อยุติว่าสัดส่วนของสมาชิกจากการเลือกตั้งกับการสรรหาแต่งตั้งควรจะเป็นอย่างไร แต่ที่สำคัญก็คือ ถ้ากำหนดหรือคาดหวังว่าสภาสูงจะต้องทำหน้าที่ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าสภาล่าง การได้สมาชิกจากการเลือกตั้งน่าจะสร้างความชอบธรรมให้กับสภาสูงได้มากกว่าการได้มาซึ่งสมาชิกจากการสรรหาแต่งตั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะทำงานศึกษาวิเคราะห์และติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
https://www.nccc.go.th/constitution/NewsUpload/82_1_การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง.pdf
ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด
ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open Party List System) เป็นระบบย่อยของระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่ออีกระบบหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นแบบ เปิดเต็มที่ (Fully Open List) หรือ เปิดบางส่วน (Partially Open List) ระบบนี้ชื่อผู้สมัครที่ปรากฏในบัญชีจะถูกเรียงลำดับจากการสุ่ม หรือมิฉะนั้นก็เรียงตามตัวอักษร ซึ่งผู้ออกเสียงลงคะแนนมีสิทธิที่จะเรียงลำดับใหม่ตามความพอใจ ระบบนี้ทำให้ผู้สมัครที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งพอใจมากที่สุดจะได้รับเลือกก่อน และเรียงลงมาตามลำดับของความพอใจของผู้เลือกตั้ง แต่ในกรณีที่เป็นบัญชีรายชื่อแบบเปิดบางส่วน จะเปิดให้ทั้งองค์กรพรรคการเมืองที่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครและผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีส่วนร่วมกันในการตัดสินว่าผู้สมัครรายใดจะได้รับเลือกตามลำดับ ระบบนี้ได้รับการเสนอให้ใช้ในการเลือกตั้งสภายุโรป (European Parliament) และการเลือกตั้งสภาสูง (House of Lords) ของอังกฤษในปี 2000 และถือเป็นการปฏิรูประบบแต่งตั้งสภาสูงของอังกฤษไปในตัวด้วย
ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดจะมีประสิทธิผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของบัญชีรายชื่อด้วย ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นบ้างแล้ว พบว่าถ้ามีรายชื่อมากเกินไปในหนึ่งบัญชี เช่นมีถึง 20 คน ประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้งจะสับสน และไม่สามารถเรียงลำดับตามความพอใจได้ทั้งหมด นอกเสียจากจะรู้จักผู้สมัครทุกคนในบัญชีเป็นอย่างดี และการที่พรรคพยายามที่จะใส่รายชื่อของผู้สมัครที่ไม่เป็นที่รู้จักก็อาจทำให้เป้าหมายของระบบเลือกตั้งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ บัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้ง สภายุโรป (European Parliament) และการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างสั้นประมาณ 5 คน จึงไม่ค่อยมีปัญหา
การเลือกตั้งที่ใช้ระบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อแต่เพียงอย่างเดียวจะทำให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพสูงในแง่ที่ว่า ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งได้เลือกคนที่ตนพอใจอย่างน้อยหนึ่งคนในบัญชีหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งจะทำให้สนใจในการออกมาใช้สิทธิมากขึ้น แต่การเลือกตั้งในรูปแบบนี้ก็มีจุดอ่อนนั่นคือระบบนี้ไม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งกับประชาชนโดยตรง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่องค์กรหรือผู้ที่จัดการเลือกตั้งจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะใช้ระบบใด เพราะถ้าใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่ก็จะได้ผลการเลือกตั้งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครกับผู้เลือกตั้ง ในขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อจะมีความสัมพันธ์เช่นว่านี้น้อยมาก
ทางเลือกหนึ่งของการใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียวก็คือการใช้ระบบผสม (Mixed System) ซึ่งเป็นการผสมระหว่างระบบผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้งหรือระบบเสียงส่วนใหญ่ และเสริมด้วยสมาชิกที่มาจากระบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อ ซึ่งเรียกว่าระบบเสริมสมาชิกเพิ่มเติม (Additional Member System หรือ AMS) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาของสก็อตแลนด์ และ เวลส์ ที่อังกฤษ ใช้ระบบเสริมสมาชิกเพิ่มเติมเช่นว่านี้ จำนวนสมาชิกที่จะเสริมควรจะมีสัดส่วนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งที่อังกฤษจะมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 20ของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด
การผสมกันของทั้งสองระบบในการเลือกตั้งครั้งเดียวกันสามารถแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิผลการเลือกตั้ง และการกระจายจำนวนที่นั่งในสภาตามสัดส่วนของผู้ออกเสียงลงคะแนนได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญก็คือผู้แทนจากเขตเลือกตั้งที่มาจากผู้ได้คะแนนสูงสุดจะยังคงมีอยู่ ซึ่งประเทศอังกฤษให้ความสำคัญ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครกับผู้เลือกตั้ง ในขณะเดียวกันอำนาจของผู้อุปถัมภ์พรรคที่เคยมีอย่างมากในระบบบัญชีรายชื่อก็ลดน้อยลงด้วย คณะกรรมการเลือกตั้งเจนกิ้นส์ของอังกฤษเคยเสนอว่า ควรจะได้ผู้สมัครจากบัญชีรายชื่อในระดับ 15 -20 % ต้นๆของบัญชีให้เป็นทางเลือกของระบบเสียงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าระบบผสมดังกล่าวทำให้ได้ผู้แทนสองระดับ เมื่อพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน
ระบบเสียงส่วนใหญ่
ระบบเสียงส่วนใหญ่ หรือ ระบบที่ผู้ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งได้รับการเลือกตั้ง เป็นระบบที่นิยมใช้กันมานานโดยได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นแม่แบบของการเลือกตั้งระบบนี้ ซึ่งในประเทศอังกฤษจะเรียกว่าระบบ First Past the Post ระบบการเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบง่าย เพราะง่ายต่อการจัดการเลือกตั้ง ไม่ต้องสนใจว่าผู้ได้รับเลือกตั้งจะได้คะแนนเท่าใด ขอให้ชนะเป็นที่หนึ่งในเขตนั้นก็ใช้ได้ ซึ่งความง่ายของการเลือกตั้งในระบบนี้กลับเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นระบบที่ไม่ชอบธรรม เพราะในการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ผลการเลือกตั้งมักปรากฏว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งได้รับคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้ที่เลือกผู้สมัครจากพรรคอื่นหรือคนอื่นที่เหลือ กว่าร้อยละ 50 กลับไม่มีผลใดๆและไม่มีที่นั่งในสภาที่จะเป็นปากเสียงแทนประชาชนส่วนใหญ่ที่เหลือทั้งหมด ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมผู้มีสิทธิออกเสียงแต่มิได้มาใช้สิทธิ หรือใช้สิทธิแต่กาเครื่องหมายไม่เลือกผู้ใด กรณีเช่นว่านี้ทำให้น่าพิจารณาว่าสภาผู้แทนที่ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามานั่งในสภาโดยระบบนี้จะถือว่าเป็นสภาที่ชอบธรรมหรือไม่ เพียงไร อย่างไรก็ตาม ข้อดีของระบบนี้ก็คือ แม้ว่าผู้ชนะเลือกตั้งที่ได้เป็นผู้แทนของเขต แม้ว่าจะไม่ถึง ร้อยละ 50 แต่ทุกคะแนนที่ได้จากผู้เลือกตั้งถือเป็นคะแนนที่มาจากความพอใจของผู้เลือกตั้งที่มีต่อผู้สมัครคนนั้นโดยตรง ซึ่งเป็นหัวใจของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ซึ่งอาจไม่มีหรือไม่อาจหาได้ในระบบอื่น
การใช้ระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียวในการเลือกตั้ง
การใช้ระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียวในการเลือกตั้ง (Exclusive Use of Party List)
ระบบนี้อาจใช้เป็นบัญชีรายชื่อแบบปิด (Closed Party List System) กล่าวคือกำหนดให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งเลือกบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ซึ่งโดยปกติหนึ่งบัญชีก็คือหนึ่งพรรค และถ้าบัญชีใดได้รับเลือก ผู้สมัครทุกคนในบัญชีนั้นหรือพรรคนั้นก็จะได้รับเลือกทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open Party List System) ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกและเรียงลำดับความพอใจในผู้สมัครแต่ละคนในบัญชีรายชื่อได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ ได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียวมาเป็นแบบผสมกับระบบเสียงส่วนใหญ่ ทำให้เกิดระบบผสม (Mixed Use of Party List) แต่สัดส่วนระหว่างผู้แทนจากเสียงส่วนใหญ่และผู้แทนจากบัญชีรายชื่อนั้นเป็นอีกประเด็นที่ผู้จัดการเลือกตั้งจะต้องพิจารณา ซึ่งจะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าองค์กรหรือผู้จัดการเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งประชาชนในประเทศต้องการผู้แทนที่มีความสัมพันธ์กับประชาชนมากน้อยเพียงใด กล่าวคือถ้าเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งกับนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก สัดส่วนของผู้แทนจากเสียงส่วนใหญ่ก็จะสูงมาก ซึ่งอาจจะถึง ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้แทนทั้งหมดในสภา ประเทศอังกฤษได้ใช้สัดส่วนที่ว่านี้สำหรับการเลือกตั้งสภาล่าง และสภาท้องถิ่นหลายครั้ง ในขณะเดียวกัน ถ้าต้องการให้ความสำคัญของการกระจายผู้แทนตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคต่างๆ จำนวนสัดส่วนของผู้แทนจากเสียงส่วนใหญ่กับผู้แทนจากระบบสัดส่วนก็จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจาก 80/20 ก็อาจเป็น 70/30 หรือ 60/40 หรือแม้กระทั่ง 50/50 ประเด็นสัดส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละประเทศหรือแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกหลายประเทศอาทิเยอรมัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศอิสราเอลที่แม้มิได้อยู่ในยุโรปก็ตาม ได้ใช้หรือเคยใช้การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่แท้จริง (True Proportional Representation System) ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้สัดส่วนของพรรคการเมืองทั้งหลายเข้ามาทำหน้าที่ในสภาแน่นอน โดยปกติแล้ว วิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนอย่างแท้จริงจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่ควรเป็นเขตเลือกตั้งที่เล็กเกินไปจนมีที่นั่งสำหรับบัญชีรายชื่อเพียงคนเดียว ซึ่งก็คงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบัญชีรายชื่อ เพราะถ้ามีคนเดียวอยู่ในบัญชีรายชื่อ ก็คงไม่แตกต่างจากระบบเสียงส่วนใหญ่ที่ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือกแต่เพียงผู้เดียวอยู่แล้ว
หรือถ้าเขตเลือกตั้งใหญ่เกินไปจนทำให้บัญชีรายชื่อมีชื่อผู้สมัครมากมายหลายสิบคน ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะมีความรู้สึกห่างไกลกับผู้สมัครแต่ละคนในบัญชีรายชื่อนั้นอย่างมาก และมีผลให้ไม่อยากออกมาเลือกตั้งคนที่ไม่รู้จักเข้ามาเป็นผู้แทน ในบางประเทศแก้ปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้งโดยรวมเขตเลือกตั้ง (Constituency) เข้าด้วยกันโดยจัดแบ่งเป็นภูมิภาค (Region) หรือขยายให้เป็นเขตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะกว้างขวางและครอบคลุมเขตเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ ในแต่ละภูมิภาคหรือเขตนี้ จะกระจายจำนวนที่นั่งในสภา และพรรคการเมืองก็จะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคทั้งหมดให้ประชาชนพิจารณาเลือกตั้งในภูมิภาค ประเทศเยอรมันใช้วิธีการเช่นว่านี้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ใช้ระบบสัดส่วนอย่างแท้จริง ระบบนี้ยังสามารถเปิดกว้างให้ผู้สมัครอิสระรวมตัวกันสมัครในบัญชีรายชื่อเดียวกันได้ แม้ว่าโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งจะมีน้อยมาก
ระบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่ออย่างแท้จริงนี้(Exclusive Use of Party List หรือ Pure Closed List System) ต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครในบัญชีรายชื่อกับประชาชนผู้เลือกตั้งอย่างมาก เพราะพรรคเป็นผู้กำหนดชื่อผู้สมัครซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอำนาจในพรรคหรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้อุปถัมภ์หรือมีบุญคุณกับพรรค การกำหนดวิธีคัดเลือกชื่อผู้สมัครโดยทั่วไปถือเป็นเรื่องภายในองค์กรพรรค มีไม่กี่ประเทศอาทิประเทศเยอรมันที่มีกฎหมายกำหนดวิธีคัดเลือกชื่อผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ ระบบสัดส่วนที่แท้จริงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเปิดโอกาสให้องค์กรพรรคมีอำนาจควบคุมผู้สมัครมากเกินไปตั้งแต่การวางตัวผู้สมัครและเรียงลำดับชื่อผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ ทำให้ผู้เลือกตั้งถูกมัดมือมัดเท้า ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเลือกบัญชีใดบัญชีหนึ่งเท่านั้น ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษที่สก็อตแลนด์ และที่เวลส์ ในปี 1999 ซึ่งใช้ระบบบัญชีปิดเช่นว่านี้ได้ถูกวิเคราะห์และสรุปว่าเป็นระบบที่ไม่เป็นที่นิยมเมื่อเปรียบเทียบกับอีกระบบหนึ่งคือระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด