การสัมภาษณ์งานมีชนิด รูปแบบ และกรรมวิธีหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งผู้สมัครจำเป็นต้องทราบก่อนเข้า ทำการสัมภาษณ์ว่าเป็นการสัมภาษณ์ชนิดไหน เพื่อว่าจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องในทางปฏิบัติ สำหรับชนิดและกรรมวิธีของการสัมภาษณ์งานที่ให้ไว้ข้างล่าง ต่างเป็นกรรมวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป ในการสัมภาษณ์งานยุคปัจจุบัน ดังนั้นผู้สมัครจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับชนิดและกรรมวิธีเหล่านี้เสียก่อน
(1) การสัมภาษณ์งานแบบบุคคลต่อบุคคล (Individual Interview)
การสัมภาษณ์งานแบบบุคคลต่อบุคคลเป็นชนิดที่ใช้กันทั่วไปสำหรับหน่วยงานหรือบริษัทที่ต้องการ
คัดเลือกพนักงานในระดับทั่วๆ ไป ซึ่งการสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ "ผู้สัมภาษณ์" จะติดต่อนัดหมายให้ "ผู้สมัคร" ไปทำการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ในตำแหน่งงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญนักที่ "ผู้สัมภาษณ์" สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครทราบว่าตนจะต้องถูกสัมภาษณ์แบบบุคคลต่อบุคคลแล้ว ท่านก็ จำเป็นจะต้องเตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้าตามคำแนะนำที่จะให้ไว้ในบทต่อไปเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อใดที่ท่านต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว เมื่อนั้นท่านจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขาให้มากที่สุด
(2) การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ (Phone Interview)
การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามธรรมดา เพื่อต้องการทราบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทำการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอออกไป การสัมภาษณ์ชนิดนี้บางครั้งก็เรียก "Screening Interview" ซึ่งหมายถึงการกลั่นกรองเอาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ นัดไปสอบสัมภาษณ์แบบใดแบบหนึ่งที่หน่วยงานหรือที่บริษัทต่อไป
ขอให้เข้าใจว่าการสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์จะดูเป็นสิ่งง่ายๆ ที่สามารถกระทำได้ทุกเวลาก็ตาม แต่สำหรับผู้สมัครงานแล้วถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ได้ ทั้งนี้ เพราะหากท่านล้มเหลวใน ขั้นตอนแรกของการสัมภาษณ์งานนี้แล้ว โอกาสที่ท่านจะได้งานนั้นก็หมดไปทันทีโดยปริยาย
(3) การสัมภาษณ์งานแบบใช้คณะผู้เชี่ยวชาญ (Panel or Board Interview)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ "ผู้สัมภาษณ์" จะเป็น "กลุ่มบุคคล" ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ โดยปรกติการสัมภาษณ์ชนิดที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ มักจะเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ เท่านั้น และเหตุผลที่ต้องใช้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็เพราะต้องการให้เป็นการเลือกเฟ้นที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นหากท่านทราบว่าจะต้องรับการสัมภาษณ์ด้วยวิธีนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องเตรียมตัวและวางแนวทางการตอบคำถามให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจะต้องเข้าใจว่าการสัมภาษณ์งานแบบใช้กลุ่มคณะผู้เชี่ยวชาญนี้ ยังแบ่งออกเป็นแบบย่อยอีกสองแบบด้วยกันคือ:
(3.1) การสัมภาษณ์งานแบบอิสระ (Free Interview) การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ กลุ่มคณะ ผู้สัมภาษณ์แต่ละคนสามารถถามผู้สมัครได้ตามความต้องการ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ทางหน่วยงานหรือบริษัทให้อิสระในการตั้งคำถามแก่คณะผู้สัมภาษณ์เต็มที่ ดังนั้น สำหรับทางด้านผู้สมัครแล้ว การสัมภาษณ์ชนิดนี้นับว่ายากกว่าการสัมภาษณ์ชนิดอื่นๆ มากที่สุด เพราะเป็นการยากมากที่ผู้สมัครจะคาดหวังได้หมดว่าตนเองจะต้องตอบคำถามในเรื่องใดบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครรู้ตนเองจะถูกสัมภาษณ์ในลักษณะนี้ ก็คงเตรียมรับมือด้วยสมาธิมั่นคง ไม่หวั่นไหวตามบุคลิกภาพของคณะผู้สัมภาษณ์แต่ละคนเป็นอันขาด
(3.2) การสัมภาษณ์แบบจัดรูปแบบคำถามที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน (Structured Interview) การสัมภาษณ์ในลักษณะนี้ คณะผู้สัมภาษณ์แต่ละคนจะต้องตั้งคำถามให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กับคำถามของผู้อื่นหรือไม่ ก็อาจมอบหน้าที่ให้ผู้สัมภาษณ์แต่ละคนทำการสัมภาษณ์ในแต่ละด้านของข้อกำหนดในคุณสมบัติของผู้สมัคร อย่างเช่นประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา การศึกษา กิจกรรมพิเศษ ฯลฯ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์งานในแบบนี้จะทำให้ผู้สมัครไม่ต้องพะวงอยู่กับบุคลิกภาพของผู้สัมภาษณ์มากนัก ทั้งนี้ เพราะคำถามของแต่ละคนต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
(4) การสัมภาษณ์แบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (Situational Interview)
การสัมภาษณ์ชนิดนี้เป็นการทดสอบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สมัคร ผู้สัมภาษณ์จะตั้งปัญหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ปฏิบัติงานจริงๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดสอบว่า ผู้สมัครมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ชนิดนี้จะมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยงานมาก เพราะการรับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ขาดไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะสร้างความยุ่งยากหรือความเสียหายให้กับบริษัทได้
(5) การสัมภาษณ์งานแบบประเมินผลงานสำคัญ (Assessment Centers Interview)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการสัมภาษณ์งานแบบต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือผู้สัมภาษณ์จะมอบหมายให้ผู้สมัครทดลองปฏิบัติงานหรือสาธิตการทำงานของตนต่อหน้าผู้สัมภาษณ์ อย่างเช่น การสาธิตการขาย สาธิตการควบคุมเครื่องจักรเครื่องยนต์ ฯลฯ ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะใช้วิธีประเมินผลจาการสาธิตนั้นๆ จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ชนิดนี้จะให้ผลตามความเป็นจริงแก่หน่วยงานมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะผู้สมัครจำเป่นจะต้องรอบรู้และมีประสบการณ์ในงานที่กำลังสมัครในระดับที่เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะผ่านการคัดเลือกเข้าไปได้ ทำให้ทางบริษัทหรือหน่วยงานขาดความเสี่ยงต่อการต้อนรับพนักงานที่ขาดประสบการณ์ไปได้
(6) การสัมภาษณ์งานโดยตัวแทนหางาน (Employment Agency)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ ทางบริษัทหรือหน่วยงานมอบให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนจัดหางาน ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการสัมภาษณ์งานอื่นๆ ทั้งหมด จะเห็นว่าง่ายต่อผู้สมัครมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะตัวแทนจัดหางานไม่จำเป็นต้องซักถามอะไรมากนักนอกจากคุณสมบัติตามที่ทางหน่วยงานกำหนดเอาไว้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์งานชนิดนี้จะนำไปใช้เฉพาะการสมัครงานในตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญเท่านั้น ซึ่งคุณภาพของผู้สมัครอาจมีผลต่อการทำงานไม่มากนัก
คำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน
คำถาม 10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
1. โดยมากแล้วในคำถามแรกจะให้แนะนำตัวเอง และประวัติการศึกษา
2. ปัจจุบันคุณพักอาศัยอยู่ที่ไหน เดินทางมาที่สัมภาษณ์ยังไง
3. โปรเจคจบของคุณทำเรื่องอะไร ทำไมถึงทำเรื่องนั้น
4. วิชาเรียนที่คุณชอบ และวิชาเรียนที่คุณไม่ชอบ คืออะไร เพราะอะไร
5. เป้าหมายในชีวิตที่วางไว้คุณอยากทำหรือเป็นอะไร
6. ความสามารถพิเศษที่คุณมีนอกเหนือจากการทำงานคืออะไร
7. บอกข้อดีและข้อเสีย หรือ บอกจุดเด่นและจุดด้อยในตัวคุณ
8. สิ่งที่คุณได้ทำแล้วภูมิใจที่สุด และสิ่งที่คุณทำแล้วเสียใจที่สุด คืออะไร
9. บอกกิจกรรมที่คุณเคยร่วม เคยทำสมัยเรียน
10. เวลาว่างหรืองานอดิเรกคุณทำอะไร
คำถาม 10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเรื่องงานที่สมัคร (ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานที่สัมภาษณ์)
1. เล่าประสบการณ์การทำงาน หรือ การฝึกงานที่คุณเคยทำมา
2. รู้ข่าวการรับสมัครนี้จากที่ไหน และทำไมสนใจทำงานตำแหน่งนี้
3. ทำไมถึงออก หรืออยากออกจากที่ทำงานเดิม (กรณีที่เคยทำงานแล้ว)
4. หน้าที่ที่คุณรับผิดชอบอยู่ที่ทำงานเดิมคืออะไร (กรณีที่เคยทำงานแล้ว)
5. บอกลักษณะและหน้าที่ของตำแหน่งงานที่คุณสมัครในความคิดของคุณ
6. บอกลักษณะของเพื่อนร่วมงานและเจ้านายที่คุณอยากร่วมงานด้วย
7. คุณชอบทำงานคนเดียว หรือชอบทำงานเป็นทีม เพราะอะไร
8. ปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่คุณคิดเป็นปัญหาในการทำงานของคุณ
9. คุณอยากได้อะไรจากองค์กรหลังจากที่รับคุณเข้ามาแล้ว
10. คุณคาดหวังเงินเดือนไว้เท่าไร ที่เก่าคุณได้เงินเดือนเท่าไร