พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระองค์เป็นผู้ทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงขยายเส้นทางเดินรถไฟสายต่าง ๆ ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งรถไฟไทย"
นอกจากนี้ยังทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ กิจการรถไฟได้เจริญก้าวหน้าสูงสุดในยุคที่พระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการ พระองค์ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วยการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อถึงกัน แต่น่าเสียดายที่พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2479
อย่างไรก็ดีรัฐบาล ยุคต่อๆ มาก็ได้สานต่อแนวพระดำริที่จะให้มีทางรถไฟเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านตามพระราชดำริไว้ ทางราชการได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน ของทุกปี เป็น " วันบุรฉัตร " และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประชาชน และประเทศไทยสืบไป
พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร มีพระนามเต็มว่า " นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฏ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดามัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตร์ชัยดิลกบพิตร "
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็น พระราชโอรส องค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติ เมื่อ วัน จันทร์ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า " พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร "
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ ( แก่น ) เป็นผู้ถวายพระอักษร เมื่อ พ.ศ.2536 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส แล้วไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ได้ชมเชยว่า พระองค์มีความสามารถ และ พรวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริช ตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำหนดไว้สำหรับพระองค์ เพื่อให้กลับมารับราชการสนองคถณประเทศชาติในสาขานี้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหารช่างที่ชัทแทม หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรีในเหล่า ทหารช่างเมื่อวันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 แล้ว เสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ กับได้เป็น สมาชิกสถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E.( Member of the Institute of Civil Engineers ) นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้
ในปี พ.ศ.2447 พระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทย ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น "นายพันตรีเหล่าทหารช่าง"
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2448 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงเป็นต้นราชตระกูล "ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและธิดารวม 11 พระองค์ คือ
1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร*
2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร*
3. หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรไชย
4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร*
5. หม่อมเจ้าหญิง กาณจนฉัตร ฉัตรไชย
6. หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
7. หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
8. หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
9. หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
10. หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
11. หม่อมเจ้าหญิง พิบูลฉัตร ฉัตรไชย
* พระโอรสและพระธิดา พระชายา
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจ และพระดำริที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ทางราชการได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน เป็น " วันบุรฉัตร " และ การรถไฟฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประชาชน และประเทศไทยสืบไป
พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับ กิจการรถไฟ
พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง โดยให้ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหารในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชา กิจการรถไฟนั้นพระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่ เข้ามาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า " พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ "
เนื่องจากเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟมีคนไทยอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ มีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเซียชาติต่างๆ เช่น ชาวอิเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยโดยเฉพาะ อย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ในที่สุดพระองค์ท่านก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรก ๆ ได้ส่งไปสหรัฐอมริกา เพราะในยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาจึงส่งไปยุโรป เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้านหน้ามาจนทุกวันนี้
พ.ศ.2471 นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกล จำนวน 2 คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูง ขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้จึงได้ประดับเครื่องหมาย " บุรฉัตร " อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึก และ เทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดี รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่หมด โดยเริ่มใช้ โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข ทรงวางแผนและดำเนินนำรถจักร ดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ โดยมุ่งเน้นการนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้การ เพราะได้ทรงวางแผนและศึกษาต่อไปถึงความเป็นไปได้ถึง การนำรถจักรดีเซลทำการลากจูงขบวนรถหมดแล้ว นับว่าพระดำริของพระองค์ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในกาลต่อมา พระกรณียกิจและพระดำริของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการ รถไฟและบังเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนไทยอย่างมหาศาล
การจัดให้มีพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟให้เป็นมาตรฐานสากล
กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงขอพระบรมราชานุญาตในการออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ และทางหลวง พุทธศักราช 2465 อันเป็นพระราชญัติควบคุมคุ้มครองของการรถไฟ ทางหลวง รถไฟเอกชนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการและรถไฟอุตสาหกรรม ให้มาขึ้นอยู่กับสภากรรมการรถไฟ เพื่อเป็นการวางหลักการบริหารกิจการรถไฟของประเทศให้มีระเบียบยิ่งขึ้น
การขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือ
การเดินรถไฟในสายเหนือ ก่อนที่กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน จะมารับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงมีการเปิดเส้นทางเดินรถไฟถึงสถานีปากพง และกำลังดำเนินการตรงช่วงถ้ำขุนตาน พระองค์มาดำเนินการต่อ โดยทรงซื้อที่ดินสำหรับสร้างสถานีลำพูน และสถานีเชียงใหม่ ทรงควบคุมการวางรางสร้างทางรถไฟจากถ้ำขุนตานไปจนถึงสถานีเชียงใหม่ และเปิดการเดินรถตลอดทางสายเหนือ จากกรุงเทพฯ ถึง เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464
ขอบคุณข้อมูลจาก www.railway.co.th