กลอนสุภาพ คือกลอนที่ใช้ถ้อยคำ และทำนองเรียบๆ แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑. กลอน ๖ ( ๖ พยางค์)
๒. กลอน ๗ ( ๗ พยางค์)
๓. กลอน ๘ ( ๘ พยางค์)
๔. กลอน ๙ ( ๙ พยางค์)
กลอนสุภาพ นับว่าเป็นกลอนหลัก เพราะเป็นหลัก ของบรรดากลอนทุกชนิด ถ้าเข้าใจกลอนสุภาพ เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถจะเข้าใจกลอนอื่นๆ ได้โดยง่าย กลอนอื่นๆ ที่มีชื่อเรียกไปต่างๆ นั้น ล้วนแต่ยักเยื้อง แบบวิธี ไปจากกลอนสุภาพ ซึ่งเป็นกลอนหลัก ทั้งสิ้น
เสียงวรรณยุกต์ลงท้ายวรรค
-วรรคที่ ๑(วรรคสดับ)...สามารถลงท้ายด้วยเสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้ แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ
-วรรคที่ ๒(วรรครับ)...ให้ลงท้ายด้วยเสียงเอก หรือ โท หรือ จัตวา ห้ามเสียงสามัญ และ ตร
-วรรคที่ ๓(วรรครอง)...ให้ลงท้ายด้วยเสียงสามัญ หรือ ตรี ห้ามเสียงเอก โท จัตวา
-วรรคที่ ๔(วรรคส่ง)...ให้ลงท้ายเช่นเดียวกับในวรรคที่ ๓
สำหรับผู้ที่เพิ่งหัดแต่งกลอนใหม่ๆ ไม่ควรลงท้ายวรรคที่๒/ ๓ /๔ ด้วยมาตราแม่ กก กบ กด เพราะอาจจะทำให้หลงเสียงวรรณยุกต์ได้
แต่งกลอนให้ไพเราะ
การที่เราจะแต่งกลอนให้ไพเราะนั้นคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่การเริ่มต้นมากกว่า เพราะหลายต่อหลายคนมักจะมีปํญหาตรงที่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ? อย่างไร? ขอแนะนำว่าให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
ฝึกแต่งกลอนจากง่ายไปหายาก
-ลองสำรวจดูซิว่าในชั้นเรียนของเรามีชื่อว่าอะไรกันบ้างเช่น สมมุตติว่ามีชื่อเกรียงไกร สมควร ศุภชัย ศักดา กรองพล ทักษิณ เฉลิมชนม์ คำรณ ...เราก็อาจเรียบเรียงให้เป็นกลอนสี่อย่างง่ายๆได้ว่า...
สมควรเกรียงไกร ศุภชัยกรองพล
ทักษิณเฉลิมชนม์ คำรณศักดา
***หรืออาจจะเรียงเป็นกาพย์ยานี๑๑ ก็คงไม่มีใครห้ามเช่น...
สมควรเพื่อนเกรียงไกร ส่วนศุภชัยเพื่อนกรองพล
ทักษิณกับเฉลิมชนม์ เพื่อนคำรณและศักดา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ม.บันลือ จินดาศรี โรงเรียนอัสสัมชัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
เเผนผังและข้อบังคับของกลอนสุภาพ
กลอนสุภาพ (กลอนแปด) หนึ่งบทมี ๔วรรคหรือ ๒บาท มีชื่อเรียกต่างๆกันคือ
-วรรคที่ ๑ เรียกว่า วรรคสดับ
-วรรคที่ ๒ เรียกว่า วรรครับ
-วรรคที่ ๓ เรียกว่า วรรครอง
-วรรคที่ ๔ เรียกว่า วรรคส่ง
ในแต่ละวรรคของกลอนสุภาพจะมีจำนวนคำประมาณ ๗-๙ คำ(พยางค์) แต่ที่นิยมใช้คือ ๘ คำ
แผนผังของกลอนสุภาพ
ลักษณะสัมผัสของกลอนสุภาพ
ลักษณะสัมผัสของกลอนสุภาพมีดังนี้
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ หรือ ๕ของวรรคที่ ๒ ในกรณีที่วรรคที่ ๒มี ๘คำพอดี แต่ถ้าในวรรคที่ ๒มีอยู่ ๙คำ จะเลื่อนไปสัมผัสกับคำที่ ๖ แทน
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ไปสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ (เช่นเดียวกับสัมผัสในวรรคที่ ๑ ไปวรรคที่ ๒)
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
สัมผัสนอก-สัมผัสใน
กลอนสุภาพมีสัมผัสที่เราต้องคำนึงถึงอยู่ ๒ ชนิดคือ
๑. สัมผัสนอก ได้แก่สัมผัสที่อยู่นอกวรรคอันได้แก ่สัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบท ถือเป็นสัมผัสบังคับ สัมผัสชนิดนี้จะใช้คำที่มีสระเดียวกัน ตัวสะกดมาตราเดียวกันมาสัมผัสกันเช่น กา-ขา-ค้า-ป้า-ช้า-น่า หรือ กิน-ดิน-ศิลป์-จินต์....ฯลฯ เราเรียกสัมผัสที่ใช้สระเดียวกัน และตัวสะกดมาตราเดียวกันนี้ว่า สัมผัสสระ
๒. สัมผัสใน ได้แก่สัมผัสที่อยู่ในวรรคเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ จะมีหรือไม่มีก็ได้ เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เกิดความไพเราะ สัมผัสในจะใช้เป็นสัมผัสสระ หรือ สัมผัสพยัญชนะ(สัมผัสอักษร) ก็ได้ สัมผัสในจะอยู่ระหว่างคำที่ ๕ กับ ๖ หรือ ๕ กับ ๗ (ในกรณีที่วรรคนั้นๆมี ๘ คำ)และระหว่างคำที่ ๖ กับ ๗ หรือ ๖ กับ ๘ (ในกรณีที่วรรคนั้นๆมี ๙ คำ)
ตัวอย่าง
โน่นเสื้อครุยยังว่างเปล่ารอเจ้าแล้ว เสน่ห์แพรวแย้มบานมานานเนิ่น
ภาพบัณฑิตยิ้มระเรื่ออย่างเชื้อเชิญ คือทางเดินสำหรับเจ้าจะก้าวไป
( บันลือ จินดาศรี )
สัมผัสในนิยมใช้สัมผัสสระมากกว่าสัมผัสพยัญชนะและสามารถอนุโลมให้คำที่มีสระเสียง
สั้น-ยาวต่างกัน แต่มีตัวสะกดมาตราเดียวกันสัมผัสกันได้ เช่น ดิน-ศีล/ วัน-การ/ใจ-กาย เป็นต้น