ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัลกุรอานของ ศาสนาอิสลาม พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน พระสงฆ์สาวกซึ่งท่องจำไว้ได้ ได้จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เป็นปิฎกต่างๆ หลังจากพระศาสดานิพพานแล้วเพื่อเป็นหลักพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”
มีหลักฐานกำหนดลงได้ว่าในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฎก” มีแต่คำว่า “ธรรมวินัย” คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้นเกิดขึ้นมาภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว คำว่า พระไตรปิฎก กล่าวโดยรูปศัพท์ แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ+ไตร+ ปิฎก คำว่า “พระ” เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า “ไตร” แปลว่า ๓ คำว่า “ปิฎก” แปลได้ ๒ อย่างคือ แปลว่าคัมภีร์หรือตำนานอย่างหนึ่ง แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่ แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่าเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด หมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของ ฉะนั้น เมื่อทราบแล้วว่า คำว่าพระไตรปิฎกแปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎกนั้นแบ่งออกดังนี้ (๑) วินัยปิฎก - ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี (๒) สุตตันตปิฎก - ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป (๓) อภิธัมมปิฎก - ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ.
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
๑. พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สืบมาจนทุกวันนี้
๒. พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่นๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้
๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็น หลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจานเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมา ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่
๔. พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก
นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ ๔ รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้า ยังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระอานนท์ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณิยธรรม ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง ๒ ครั้งของพระจุนทเถระนี้คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา
การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้วก็ได้ให้สร้างมณเฑียร ในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ใน การจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นคงเป็นอักษรแบบไทยลานนาคล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว
สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในปัจจุบัน) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตร ปิฎกลงในใบลาน และให้แปลฉบับอักษรลาวอักษรมอญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง นอกจากนั้น ยังทรง ให้ช่างปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัด ถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึกและฉลากทอเป็นตัวอักษรบอก ชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์
สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือ คัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทย แล้วชำระแก้ไข และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม
สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีข้อที่พึงกล่าวถึงดังนี้
๑. ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธีตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่
๒. พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
๓. การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์
๔. ผลของการที่ส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อสามารถอ่าน พระไตรปิฎกฉบับไทยได้ เช่น พระญาณติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ที่ได้ชมเชยไว้ว่า ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก
๕. ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่างๆ ไว้ท้ายเล่มเพื่อสะดวกในการค้น แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็มี ประโยชน์มาก
ข้อมูลจาก https://mahamakuta.inet.co.th