ตำนานอากรรักษาเกาะ
ตำนานอากรรักษาเกาะ, ตำนานอากรรักษาเกาะ หมายถึง, ตำนานอากรรักษาเกาะ คือ, ตำนานอากรรักษาเกาะ ความหมาย, ตำนานอากรรักษาเกาะ คืออะไร
หนังสือหมื่นวิเศษอักษรนายเวรกรมท่าเจ้าจำนวน มายังท่านพระยาวิชยาธิบดี พระระนอง พระยาสาครสงคราม พระยาพิพิธสมัย พระพิไชยชลธี
ด้วยจีนกิมตุ๋นทำเรื่องราวยื่นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เดิมจีนแป๊ะผู้เป็นที่ขุนรักษาสมุทรคิรี เป็นนายอากรเจ้าของเกาะในทะเลฝั่งตะวันออก ที่ขึ้นอยู่ในแขวงเมืองบางละมุง ระยอง จันทบุรี เมืองตราด เมืองปัจจันตคิรีเขต ระวังสลัดศัตรูเข้าพักอาศัยในเกาะ และหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะ ซื้อขายทำมาหากินแต่พรรคพวกของตัวฝ่ายเดียว ขอถวายกำไรที่ซื้อหาได้ให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินปีละ ๑๓ ชั่ง ขุรนรักษาสมุทรคิรีรับรักษาเกาะหาสิ่งของซื้อขายได้ ๒ ปีแล้ว มีกำไรหาบวกเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายไม่ จีนกิมตุ๋นเห็นว่ายังมีกำไรอยู่ ขอประมูลเงินขึ้นทูลเกล้าฯอีก ๑๐ ตำลึง รวมเดิมประมูลเป็นเงิน ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ถ้ารักษาเกาะซื้อขายสิ่งของครบปีมีกำไรจะบวกเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกนั้น
ได้หาตัวขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรรักษาเกาะคนเก่ามาว่ากล่าวให้สู้ประมูล ขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรคนเก่าว่าอากรสูงอยู่แล้วไม่รับประมูล ยอมให้จีนกิมตุ๋นรับทำตามเรื่องราวนั้น ได้นำเรื่องราวจีนกิมตุ๋นและคำขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรคนเก่าขึ้นกราบบังทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว
มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า ได้เสด็จออกประพาสในทะเลฝั่งตะวันออกจนถึงเมืองตราด ฝั่งตะวันตกจนถึงเมืองสงขลา ได้ทอดพระเนตรเห็นฝั่งและเกาะในทะเลฝั่งตะวันตกตะวันออกทุกแห่ง ทุกตำบล และทรงพระราชดำริเห็นว่า เกาะในทะเลเป็นที่เปลี่ยว อ้ายสลัดศัตรูจะเข้าพักอาศัยแอบแฝงอยู่ได้ แต่เกาะในทะเลฝั่งตะวันตกนั้นมีรังนก นายอากรรังนกแต่งคนออกไประวังรักษาอยู่ ถ้ามีสลัดศัตรูมาเมื่อใดได้รู้เร็ว แต่เกาะในทะเลฝั่งตะวันออกนี้ แต่ก่อนมีนายอากรฟองเต่าตนุคอยระวังรักษาอยู่ อ้ายสลัดศัตรูไปมาอาศัยก็เป็นที่เกรงขาม
และเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า มีนายอากรเก็บฟองเต่ามาซื้อขาย เป็นการบาป โปรดฯให้ยกเลิกเสีย ตั้งแต่นั้นมาเกาะในทะเลฝั่งตะวันออกไม่มีผู้ใดระวังรักษา พวกสลัดศัตรูกำเริบเข้าอาศัยตีเรือลูกค้าได้ไปเนืองๆ ตัวเต่าที่อาศัยขึ้นถ่ายฟองในเกาะนั้น พวกจีนไหหลำมาตั้งกองจับฆ่าเอาเนื้อทำเค็มออกไปซื้อขายจนเป็นสินค้าได้ และคนในกรุงเทพฯ คนหัวเมืองพากันเอาอย่าง จับตัวเต่ากระฆ่ากินและซื้อขายบ้าง จนตัวเต่ากระในเกาะสาบสูญไปเกือบจะหมดอยู่แล้ว การก็ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดกับแผ่นดิน
จึงโปรดเกล้าฯให้ปรึกษาท่านเสนาบดีทั้งปวงว่า เกาะในทะเลนี้จะทิ้งไว้ให้เป็นที่เปลี่ยวดีหรือจะให้มีเจ้าของคอยระวังรักษาอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อนดี ท่านเสนาบดีทั้งปวงก็ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า มีผู้รักษาเป็นเจ้าของนั้นดีมีคุณหลายประการ ทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของระวังรักษานั้นไม่มีคุณและประโยชน์สิ่งใด และซึ่งขุนรักษาสมุทรคิรีรักษาเกาะมาถึง ๒ ปีแล้วมีกำไร ไม่บวกเงินขึ้นให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน จีนกิมตุ๋นเห็นว่าอากรยังมีกำไรอยู่ ขอรับรักษาเกาะและหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะซื้อขายตามพิกัดเดิม ประมูลเงินขึ้นอีก ๑๐ ตำลึง รวมเดิมประมูล ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึงนั้น มีความชอบอยู่ ให้ตั้งจีนกิมตุ๋นเป็นผู้รักษาเกาะ และให้หาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะต่อไปเถิด
แต่เกาะสีชังเป็นเกาะหน้าด่าน มีผู้คนระวังรักษามากอยู่แล้วให้ยกเสีย และไม้กฤษณาหวายพัศเดา ซึ่งเกิดในเกาะต่างๆเป็นของสำหรับไพร่ส่วยตัด ส่งส่วยทูลเกล้าฯถวายและใช้ราชการเบ็ดเสร็จจะห้ามเสียไม่ได้ ไพร่ส่วยจะร้องขาด และของอื่นๆที่มีในเกาะให้เป็นสิทธิ์แก่ผู้รักษาเกาะนั้น เจ้าจำนวนได้เรียกนายประกันจีนกิมตุ๋นไว้มั่นคง สมควรกับเงินของหลวงอยู่แล้ว จึงตั้งจีนกิมตุ๋นเป็นที่ขุนรักษาสมุทรคิรี ออกมารักษาเกาะในทะเลฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ ณ วันอังคาร ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีมะโรงยังเป็นนพศก สืบไป และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีส่งเงินเข้าท้องพระคลัง เดือน ๔ งวดหนึ่งเงิน ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ให้ครบจงทุกปี อย่าให้เงินหลวงค้างล่วงงวดปีแต่จำนวนหนึ่งได้นั้น
ให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการหมายให้กำนัน นายบ้าน นายอำเภอ ประกาศป่าวร้องราษฎรซึ่งอยู่ในแขวงบ้านแขวงเมืองให้รู้จงทั่ว ว่าเกาะในทะเลฝั่งตะวันออกนี้ ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีรับอาสาเป็นเจ้าของระวังรักษา ส่งเงินเข้าท้องพระคลัง เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินแล้ว ห้ามอย่าให้ราษฎรคนใดคนหนึ่งไปหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะ และตัดฟืนไปซื้อขายตามอำเภอใจเหมือนแต่ก่อน ถ้าราษฎรคนใดจะไปทำมาหากินในเกาะ ทำไร่ทำสวนและตัดฟืน ซื้อขายเป็นอาณาประโยชน์ ก็ให้ไปว่ากล่าวต่อขุนรัษาสมุทรคิรีให้รู้ก่อน ขุนรักษาสมุทรคิรียอมให้ทำจึงทำได้ ถ้าไม่ได้ไปบอกกล่าวขุนรักษาสมุทรคิรีให้รู้ก่อน ไปลักลอบตัดฟืนและหาสิ่งของ ซึ่งเกิดในเกาะและจับตัวเต่าตัวกระและขุดฟองเต่าไปซื้อขาย ขุนรักษาสมุทรคิรีพบปะจับได้ ก็ให้เอามาส่งยังผู้ว่าราชการเมืองกรมการ คดีเช่นนี้ ฝ่ายจำเลยจะแก้ตัวว่าขุดฟองเต่ามาได้ที่หาด ที่ฝั่ง และจับตัวเต่าตัวกระในน้ำในหาดนั้นไม่ได้ ต้องปรับไหมให้แก่ขุนรักษาสมุทรคิรี เพราะเหตุนี้จะตัดสินไปเป็นอันยากไม่มีพยาน ต้องเอาสิ่งของที่จับได้เป็นสำคัญตั้งปรับ ๑๐ ต่อ และค่าสินบนด้วย
ประการหนึ่งของในน้ำ ราษฎรมีเครื่องมือได้เสียอากรน้ำแล้ว จะหากินในท้องทะเลที่แห่งใด ตำบลใด ห้ามมิให้ขุนรักษาสมุทรคิรีห้ามปรามเกาะกุม ประการหนึ่ง เรือลูกค้าและเรืออื่นๆจะไปมาอาศัยเข้าตักน้ำตัดฟืนในเกาะไปใช้สอยไม่ได้ซื้อขายเป็นอาณาประโยชน์ ก็อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีจับกุมเอาพัสดุทองเงินในราษฎรลูกค้าได้รับความเดือดร้อน ถ้าขุนรักษาสมุทรคิรีจับตัวผู้ลักลอบหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะและตัดฟืนได้แขวงเมืองใด ก็ให้เอาตัวไปส่งยังผู้ว่าราชการเมืองกรมการชำระว่ากล่าวตัดสิน อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีปรับไหมเอาเองตามอำเภอใจ และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีตั้งใจรักษาเกาะโดยซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีและพรรคพวกซึ่งรักษาเกาะด้วยกัน จับตัวเต่าตัวกระซึ่งอาศัยที่ฝั่งและที่เกาะฆ่ากิน ซื้อขาย ให้ตัวเต่าตัวกระสาบสูญพืชพันธุ์ไปได้ ให้ทะนุบำรุงให้เกิดพืชพันธุ์ขึ้นให้มาก จะได้ผลประโยชน์กับแผ่นดินไปข้างหน้าอีก ถ้ามีผู้ฟ้องร้องว่า ขุนรักษาสมุทรคิรีและพรรคพวกฆ่าตัวเต่าตัวกระกิน และซื้อขาย พิจารณาเป็นสัจจะปรับไหมทำโทษจงหนัก ถ้าขุนรักษาสมุทรคิรีจะซื้อขายสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะให้ผู้ใดไป ก็ให้ทำตั๋วฎีกาประทับตราให้ไว้แก่ผู้ซื้อเป็นสำคัญทุกราย อย่าให้เคลือบแฝงพาลพาโลจับกุมเป็นสองซ้ำได้ ถ้าผู้ใดซื้อของไปได้ตั๋วแล้ว ของนั้นไม่ได้ซื้อขายไปกลางทางเป็นเหตุต่างๆ ตั๋วเปียกน้ำก็ดีแลพหายไปก็ดี จะมาขอตั๋วใหม่อีก ถ้าของยังไม่ได้จำหน่ายจริง ก็ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีทำตั๋วฎีกาให้ใหม่อีก อย่าให้ขัดขวาง และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีกำชับว่ากล่าวห้ามปราบบุตรภรรยาบ่าวทาส และสมัครพรรคพวกซึ่งรักษาเกาะด้วยกัน อย่าให้คบหากันเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมตีเรือลูกค้า ฉ้อกระบัดเอาพัสดุทองเงินแก่ลูกค้าพาณิชสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร ซึ่งไปมาอาศัยอยู่ในเกาะ กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปราบเก่าใหม่ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอันขาด
อนึ่ง ฝิ่นมีเจ้าภาษีรับผูกขาดส่งเงินเข้าพระคลังแล้ว ห้ามขุนรักษาสมุทรคิรีคบหากันลักลอบซื้อฝิ่น ขายฝิ่น กินฝิ่นที่เกาะเป็นอันขาดทีเดียว ประการหนึ่งราษฎรฟ้องหากล่าวโทษพรรคพวกขุนรักษาสมุทรคิรีซึ่งไปรักษาเกาะด้วยกันนั้น ด้วยข้อคดีสิ่งใดๆก็ให้ส่งตัวผู้ต้องคดีไปให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการชำระว่ากล่าวตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าคดีต้องตัวขุนรักษาสมุทรคิรีก็ให้แต่งทนายไปว่าต่างแก้ต่าง อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้เนิ่นช้า
ถึงพระราชพิธีตรุษสารทก็ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีไปพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง กรมการ กำนัน นายอำเภอ ณ พระอุโบสถอารามใดอารามหนึ่งซึ่งเคยกระทำสัตยานุสัตย์ ให้ไปพร้อมกันที่พระอารามนั้นแล้วบ่ายหน้าต่อกรุงเทพฯ ตั้งสัตยานุสัตย์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้ง จงทุกปีอย่าให้ขาดได้
ถ้าผู้ว่าราชการเมืองกรมการลุหนังสือนี้แล้วมีตราโกษาธิบดีตั้งมาด้วยฉบับหนึ่ง เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้ยึดเอาต้นตราโกษาธิบดีไว้ แล้วให้หมายยกขุนรักษาสมุทรคิรีคนเก่าออกเสียจากที่ผู้รักษาเกาะ แล้วให้ประทวนส่งต้นหนังสือเจ้าจำนวนให้แก่ขุนรักษาสมุทรคิรีคนใหม่ เข้ารับรักษาเกาะตามท้องตราสืบไป
หนังสือมา ณ วันอังคาร ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีมะโรงยังเป็นนพศก (พ.ศ. ๒๔๑๐)
ภาพและที่มา www.bloggang.com
ตำนานอากรรักษาเกาะ, ตำนานอากรรักษาเกาะ หมายถึง, ตำนานอากรรักษาเกาะ คือ, ตำนานอากรรักษาเกาะ ความหมาย, ตำนานอากรรักษาเกาะ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!