คนเรายังมีอยู่อยู่เป็นอันมาก ซึ่งยังมิได้สังเกตว่านามสกุลกับชื่อแซ่ของจีนนั้นผิดกันอย่างไร ผู้ที่ดูแลแต่เผินๆ หรือซึ่งมิได้เอาใจใส่สอบสวนในข้อนี้ มักจะกล่าวว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชปรารภออกพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นนั้น โดยทรงพระราชนิยมตามประเพณีชื่อแซ่ของจีน ซึ่งถ้าจะตรองดูก็จะเห็นว่าคงไม่เป็นไปเช่นนั้น โดยเหตุที่จะได้อธิบายต่อไปนี้
แซ่ของจีนนั้น ตรงกับ “แคลน” ของพวกสก็อต คือ เป็นคณะหรือพวก หรือถ้าจะเปรียญทางวัดๆ ก็คล้ายสำนัก (เช่นที่เราเคนได้ยินเขากล่าวๆ กันบ่อยๆ ว่า คนนั้นเป็นสำนักวัดบวร คนนี้เป็นสำนักวัดโสมนัส ดังนี้เป็นต้น) ส่วนสกุลนั้นตรงกับคำอังกฤษว่า “แฟมิลี” ข้อผิดกันสำคัญในระหว่างแซ่กับสกุลนั้นก็คือ ผู้ร่วมแซ่ไม่ได้เป็นญาติสายโลหิตกันก็ได้ แต่ส่วนผู้ร่วมสกลนั้น ถ้าไม่ได้เป็นญาติสายโลหิตต่อกันโดยแท้แล้ว ก็ร่วมสกุลกันไม่ได้ นอกจากที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพิเศษเท่านั้น
ชื่อแซ่หรือ “แคลนเนม” เป็นประเพณีที่ได้มีมาก่อนนามสกุลหรือ “แฟมิลีเนม” นั้นช้านาน เช่นในสก็อตแลนด์เขาได้ใช้ “แคลนเนม” มาหลายร้อยปีก่อนที่จะเกิดใช้ “แฟมิลีเนม” ในประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง จะนับว่านาม ๒ ชนิดนี้เป็นอย่างเดียวกันไม่ได้เลย ถ้าหากจะมีที่ว่าเหมือนกันได้ก็แต่ตรงที่ว่าเป็นฉายาด้วยกันทั้ง ๒ ชนิดเท่านั้น แต่นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ทั้งสาเหตุก็ดี ความมุ่งหมายก็ดี ย่อมผิดกันทั้งสิ้น
การที่คนหลายๆ คนได้รวมกันเข้าตั้งเป็นคณะ ซึ่งจีนเรียกว่า “แซ่” สก็อตเรียกว่า “แคลน” และอังกฤษเรียกว่า “ไตรบ์” ได้บังเกิดขึ้นในสมัยเมื่อคนยังไม่ถึงซึ่งความรุ่งเรือง (ซิวิไลซ์) บริบูรณ์ ยังไม่รู้จักรักษาธรรมจริยาอันมีเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง ยังต่างคนต่างรบพุ่งฆ่าฟันกันเพื่อแย่งอาหารกันกิน แย่งที่อยู่กันอยู่ และแย่งชิงผู้หญิงกัน ผู้ใดมีพวกมากก็อาจที่จะเอาเปรียบผู้ที่ไม่มีพวกพ้อง หรือที่มีพวกน้อยได้ในทางหากินเป็นต้น จึงเกิดความจำเป็นในการที่จะต้องคิดอ่านหาพวกไว้มากๆ และเมื่ออยู่ร่วมถิ่นกันก็คงจะรู้จักกันดีอยู่ในหมู่เอง แต่มีบางเวลาซึ่งจำเป็นต้องแยกย้ายกันไปในที่ห่างภูมิลำเนาเดิมของตน คนที่ไปจากคณะเดียวกันไปพบกันในที่ไกลภูมิลำเนาเดิมของตนๆ ไม่รู้จักกันว่าเป็นคนสำนัดเดียวกัน ก็ได้เกิดทำร้ายแกกันขึ้นบ้าง จึงได้บังเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องสังเกตเพื่อรู้กันได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ในชั้นต้นจึงนัดกันมีเครื่องแต่งตัวให้เหมือนกัน เช่นมีขนนกหรือดอกหญ้าปักผมอย่างแบบที่คนดำในอาฟริกายังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ แต่การใช้เครื่องหมายเช่นนี้มาเกิดรู้สึกกันขึ้นว่ายังไม่สู้จะเรียบร้อยดี เพราะคนพวกอื่นก็อาจจะปักขนนกหรือดอกหญ้าบ้างเหมือนกัน จึงเกิดมีความคิดมุ่นผมให้เหมือนกันซึ่งชาวอาฟริกาก็ยังคงใช้อยู่อีก และเกิดคิดเขียนหน้าเขียนตัวเป็นลวดลายซึ่งมีอยู่ในหมู่ชาวอาฟริกา ในหมู่คนที่เรียกว่าอินเดียนแดงในอเมริกา และในหมู่คนมาวรีชาวนิวซีแลนด์ เป็นต้น
ต่อมาคนมีความเจริญขึ้น มีความคิดดีขึ้นอีกชั้นหนึ่ง จึงได้บังเกิดความคิดขึ้นว่า ควรเลือกเอานามใดนามหนึ่งเป็นชื่อแซ่ กำกับชื่อตัวของสมาชิกแห่งแซ่ เพื่อว่าเมื่อคนที่ร่วมคณะกัน แม้จะไปพบปะกันในที่ใดๆ ก็อาจจะรู้จักกันได้ โดยถามชื่อแซ่กันเท่านั้น พวกจีนจึงได้เกิดมีชื่อ “แซ่” สก็อตมีชื่อ “แคลน” อินเดียนแดงในอเมริกามีชื่อ “โตเตม” และยังคงวมีเครื่องหมายให้แลเห็นเป็นพวกเดียวกันนั้นอีกด้วย เช่นในสก็อตแลนด์ใช้ผ้านุ่งห่มเป็นลายต่างๆ กันเรียกว่า “ตาร์ตัน” (ซึ่งเราเรียกกันว่าผ้าลายสก็อต) แคลน ๑ ก็มีตาร์ตันอย่าง ๑ คนในแคลนนั้นใช้นุ่งห่มเหมือนกันหมด ข้างฝ่ายพวกอินเดียนแดงมีเครื่องหมาย “โตเตม” ปักไว้ที่หน้าศาลาที่ชุมนุมแห่งหัวหน้าคณะ ทำเป็นรูปหมาป่าหรือนกหรือกระทิงตามชื่อโตเตม และคนที่เป็นสมาชิกคณะใดก็เขียนหน้าเป็นลายคล้ายที่หลักเครื่องหมายโตเตม แห่งคณะนั้นๆ
เมื่อความมุ่งหมายแห่งการมีแซ่ของจีน แคลนของสก็อต และโตเตมของอินเดียนแดง มีอยู่เพื่อความประสงค์ในทางช่วยกันต่อสู้ศัตรูและอนุเคราะห์พวกกันเอง ซึ่งเป็นอาการแห่งการตั้งซ่องเช่นนี้ ชื่อแซ่ก็ดี ชื่อแคลนก็ดี ชื่อโตเตมก็ดี จึงเป็นของสาธารณะสำหรับบรรดาผู้ที่เป็นสมาชิกแห่งคณะนั้นทุกคน จะได้กำจัดให้ใช้ร่วมกันแต่จำเพาะที่เป็นญาติสายโลหิตกันนั้นหามิได้ ยกตัวอย่างเช่นชื่อ แคมบ์เบล เป็น แคลนแนม ซึ่งบรรดาคนที่อาศัยในเขตอารไคล์ในสก็อตแลนด์ในอดีตสมัยใช้กันทั่ว ตั้งแต่ท่านเออลผู้ครองอาร์ไคล์ลงไปจนทนายบ่าวไพร่ และชาวไร่ชาวนาอันพึ่งบารมีแห่งท่านเออลผู้นี้ ดังนี้เป็นประเพณีเก่าในสก็อตแลนด์ (แต่ประเพณีนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพื่อเหตุใด จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)
ประเพณีใช้แคลนเนมของสก็อตนี้ ตรงกับประเพณีจีนที่ใช้ชื่อแซ่ และความมุ่งหมายก็มีอยู่ตรงกันโดยแท้ แม้ในเมืองไทยเรานี้เองก็ได้เคยใช้ประเพณีที่คล้ายคลึงกัน คือ วิธีรวมคนเป็นเลขสมสังกัดขึ้นในกรมนั้นกรมนี้ หรือที่ถวายตัวเป็นข้าในกรมนั้นกรมนี้ดังนี้เป็นต้น เมื่อใครไปพบกันเข้าถามกันว่าสังกัดกรมไหน พอบอกว่าสังกัดกรมนั้นหรือกรมนี้ รู้ว่าเป็นข้ากรมเดียวกันแล้วก็ไม่ทำร้ายกัน และช่วยอุดหนุนกันตามสมควร เหมือนจีนที่เป็นคนแซ่เดียวกัน สก็อตเป็นแคนเดียวกัน หรืออีกนัย ๑ ถ้าจะหาของเปรียบเทียบให้เป็นของใหม่ใกล้สมัยของเราเข้าอีก เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ก็ขอให้ท่านนึกถึงประเพณีที่ใช้กันอยู่ในโรงเลี้ยงเด็ก ซึ่งยังมีอยู่จนเมื่อเร็วๆ นี้เอง คือบรรดาเด็กที่เลี้ยงในที่นี้ผู้อำนวยการให้ชื่อมีคำว่า “บุญ” นำหน้าอยู่ทุกคน ต่อไปได้พบปะกันในที่ใดๆ ก็จะได้รู้จักกันได้ด้วยมีชื่อ “บุญ” นั้นเอง ในที่นี้ “บุญ” ก็หาใช่นามสกุลไม่ เป็นแต่เพียงคำที่แสดงให้ปรากฏว่ามาจากสำนักโรงเลี้ยงเด็กเท่านั้น ดังนี้ฉันใด แม้วิธีใช้ชื่อแซ่ของจีน แคลนเนมของสก็อต และโตเตมของอินเดียนแดงก็ฉันนั้น คือเป็นวิธีการมีผู้ได้คิดขึ้นโบราณกาล เพื่อความสะดวกในสมัยโบราณ อันยังมิได้ประเพณีที่รวบรวมชนภาษาเดียวกันเป็นปึกแผ่นอันเดียวกันเป็นชาติ (เนชัน) ก็นับว่าเป็นประโยชน์ดีสมควรแก่กาลสมัยเก่าอยู่นั้นเอง
แต่นับจำเดิมเริ่มแต่เมืองคนได้มีความคิดควบคุมกันเป็นซ่องหรือคณะแล้วนั้น คนเราก็ได้ดำเนินขึ้นสู่ความเจริญต่อๆ มาเป็นลำดับ แต่ความเจริญหาได้ดำเนินทันๆ กันหมดไม่ บางจำพวกก็เดินเร็ว ถึงซึ่งความเจริญก่อน เช่น จีนได้ถึงซึ่งความเจริญก่อนชาวประเทศใกล้เคียงในทวีปอาเซียด้วยกัน และสก็อตถึงก่อนอังกฤษซึ่งเป็นเพื่อบ้าน ดังนี้เป็นต้น แต่บางจำพวกเมื่อถึงความเจริญขั้นหนึ่งแล้ว ก็เลยพอใจไม่คิดเดินต่อไปอีก เพราะฉะนั้นจำพวกที่เจริญภายหลังกลับเดินหน้าไป เหมือนคนหนุ่มที่เกิดทีหลังวิ่งไล่ทันคนแก่ฉะนั้น คนเราในโลกนี้ในปัจจุบันนี้จึงเกิดมีประเพณีผิดๆ กันอยู่ เช่นพวกแขกดำยังคงไม่มีทั้งชื่อทั้งนามสกุล อินเดียนแดงยังคงมีแต่ชื่อโตเตม จีนยังคงมีแต่ชื่อแซ่ ไม่มีนามสกุลอันเป็นประเพณีนิยมแห่งคนสมัยใหม่ที่สุก ซึ่งถึงความเจริญภายหลังแต่ไล่ทันจนผ่านหน้าไปแล้ว เช่นอังกฤษซึ่งถึงความเจริญภายหลังสก็อต กลับบังคับให้สก็อตใช้ประเพณีมีนามสกุลตามอังกฤษ ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นไทยเราไม่ควรจะนึกละอายในการที่จีนมีชื่อแซ่มาแล้ว ก่อนที่เรามีนามสกุล เพราะถึงแม้ว่าเราจะได้ถึงความเจริญภายหลังจีนก็ตามเถิด แต่เราได้มีนามสกุลแล้ว จึงนับว่าเราได้ทะยานผ่านหน้าเพื่อนบ้านเรา ซึ่งยังหามีนามสกุลไม่ คงมีแต่ชื่อแซ่อยู่ตามประเพณีแห่งคนสมัยเก่าเท่านั้น
ส่วนสาเหตุแห่งการใช้นามสกุล หรือ “แฟมิลีเนม” นั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีคนชื่อเหมือนๆ กันหลายคน ทำให้เป็นที่ฉงนไม่รู้ว่าใครเป็นใครได้ ในชั้นแรกๆ เมื่อคนเรายังต่างคนต่างคุมกันเป็นซ่องอยู่ ต่างคนต่างอยู่เป็นหมู่เล็กๆ ก็อาจจะเลือกชื่อไม่ให้ซ้ำกันได้ แต่ต่อมาเมื่อการสมาคมไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันมีแพร่หลายมากขึ้น และคนเรารู้จักถือธรรมจริยาเลิกฆ่าแกงกัน รู้จักตั้งใจแผ่ไมตรีต่อกันขึ้นแล้ว เมื่อคนต่างถิ่นเข้าไปในสมาคมอันเดียวกัน ก็ย่อมจะพบคนที่ชื่อซ้ำกันเข้าเนื่องๆ จึงเกิดต้องใช้ฉายาแถมท้าย การตั้งฉายาย่อมอาศัยลักษณะแห่งบุคคล เช่น ใหญ่ เล็ก ดำ ขาว ดังนี้อย่าง ๑ อาศัยการเลี้ยงชีพอย่าง ๑ อาศัยนามตำบลที่ตั้งภูมิลำเนาเช่น แดงบางกอก แดงบ้านโพ ดังนี้เป็นต้นอย่าง ๑ หรือมิฉะนั้นก็ใช้ว่า นายแดงลูกนายขาว นายแดงลูกนายดำ เช่นนี้อีกอย่างหนึ่ง วิธีใช้เรียกว่าลูกคนนั้นคนนี้เป็นวิธีที่รู้กันว่าดีอยู่ เพราะพอบอกชื่อก็ไม่ต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเล่าใคร ย่อมรู้ได้ทันทีว่าเป็นเชื้อคนดีหรือเลวปานใด ประเพณีออกชื่อว่า “คนนั้นลูกคนนี้” เช่นนี้ มีใช้อยู่ด้วยกันหลายประเทศ เช่นในมัธยมประเทศในหมู่ชาติยิวและอาหรับในสกันดิเนเวียในประเทศรัสเซีย ประเทศอังกฤษและเวลล์ เป็นต้น เหล่านี้ได้มีประเพณีใช้กันมาแต่โบราณ และถึงแม้ในเมืองเราในราชการก็ใช้อยู่ว่า “นายนั่นบุตรผู้นั้นๆ” ดังนี้ นับว่าเป็นมูลแห่งนามสกุล ผิดกับมูลแห่งชื่อแซ่
ต่อมาอีกชั้น ๑ การบอกแต่ชื่อพ่อไม่เป็นการเพียงพอ เพราะผู้ที่ได้มีบรรพบุรุษเป็นคนสำคัญมาหลายๆ ชั่วคน ย่อมจะอยากอวดให้คนทั้งหลายรู้ข้อนี้จึงเกิดมีต้องบอกชื่อกันยาวๆ เช่นในมัธยมประเทศ กษัตริย์ต้องบอกว่า “เราชื่อรามจันทร์ ลูกทศรถ ลูกอัชบาล ลูกระฆุ ลูกอิกษวากุ ลูกพระสุริยเทวราช” ในพวกยิวต้องบอกว่า “โชโลมอน ลูกเดวิด ลูกไอสาก ลูกเอบระแฮม” ในเวลล์ต้องบอกว่า “ลูกเลลินอัปเดวิด อัปคริฟฟิธ อัปลูเวลลิน” หรือพวกอาหรับต้องบอกว่า “หัสซันมินมะหมุด บินไซอิด บินอับดัลลาห์ บินตุรกี” ดังนี้เป็นตัวอย่าง การที่ต้องกล่าวชื่อโดยยืดยาวเช่นนี้ ย่อมจะเป็นการฟั่นเฝือมากอยู่ จึงได้คิดบอกแต่โดยย่อพอเป็นสังเขป เลือกเอาขนกผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเก่งที่สุดในวงศ์ของตน เช่นพระรามอาจจะบอกว่า “เราชื่อรามจัมทร์สุริยวงศ์” หรือ “รามจันทร์อิกษวากุวงศ์” หรือ “รามราฆพ” (เกิดแต่ระฆุ) ยิวบอกว่า “โซโลมอนลูกเอบระแฮม” ชาวเลล์บอกว่า “ลูเวลลินอัปลูเลลิน” อาหรับว่า “หัสซันบินตุรกี” ดังนี้เป็นต้น นับว้เดินขึ้นสู่ขั้นแรกแห่งการรู้ที่บอกว่า “สุริยวงศ์” ต้องเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาจากพระสุริยเทวราช สุมันตร หรือ อำมาตย์ของพระรามจะใช้ชื่อว่า “สุริยวงศ์” บ้างไม่ได้เป็นอันขาด ไม่เหมือนชื่อแซ่หรือชื่อแคลน ซึ่งข้ากับเจ้าบ่าวกับนายใช้ร่วมกัน ตามประเพณีจีนเดี๋ยวนี้และสก็อตโบราณ
ส่วนพวกสก็อตนั้นได้ใช้นามตามแคลนเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อตกไปอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ซึ่งมีธรรมเนียมใช้นามสกุล อังกฤษบังคับให้ใช้นามสกุลบ้าง พวกสก็อตที่มีชื่อแซ่อยู่แล้ว จึงใช้ชื่อแซ่นั้นเองเป็นนามสกุลโดยมาก แต่บางคนก็ได้เลือกเอานามสกุลใหม่ตามระเบียบตั้งฉายา คืออาศัยเกณฑ์ลักษณะบุคคลบ้าง เกณฑ์ทางหาเลี้ยงชีพบ้าง เกณฑ์ตำบลภูมิลำเนาบ้าง เกณฑ์ชื่อบรรพบุรุษบ้าง อย่างที่อังกฤษใช้อยู่ และในแระเทศอื่นๆ นอกจากนี้ที่มีนามสกุลแล้ว ก็ได้เกิดมีอาการเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะฉะนั้นชาติที่รุ่งเรือง (ซิวิไลซ์) แล้ว ตามความนิยมอย่างสมัยใหม่ ถึงแม้ที่มีประเพณีใช้ชื่อแซ่อยู่แต่เดิมก็ได้เปลี่ยนไปเป็นใช้นามสกุลแทนแล้ว ยังคงเหลือแต่จีนที่ยังคงใช้ชื่อแซ่ตามแบบเก่าอยู่ชาติเดียว
ส่วนไทยเราเมื่อก่อนนี้ เราไม่ใคร่จะได้มีโอกาสพบปะชาวยุโรป เราจึงได้นิยมเอาอย่างจีน ซึ่งได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองก่อนเรา และได้จำประเพณีจีนมาใช้อยู่หลายอย่าง แต่อาศัยเหตุที่มีชาวมัธยมประเทศเจ้ามาถึงเมืองเรา ด้วยได้นำความรู้และความรุ่งเองของเขามาสอนเราด้วย เราจึงมิได้ถือแต่ประเพณีจีนอย่างเดียว เช่นการใช้ชื่อแซ่เรามิได้ใช้ เพราะไม่ได้เอาอย่างจีนในการตั้งคนแยกเป็นแซ่หรือซ่องภายในชาติเดียวกัน แต่มีใช้นามสกุลอยู่บ้างในหมู่คนชั้นสูงๆ เช่นบอกว่า คนนั้นๆ เป็นเชื้อวงศ์นั้นๆ เราก็ได้ใช้กันมานานแล้ว แต่ยังมิได้แพร่หลายลงไปถึงสาธารณชนเท่านั้น บัดนี้เรามีนามสกุลแล้ว นับว่าได้ย่างไปทันชนที่นับถือกันว่ารุ่งเรือง (ซิวิไลซ์) แล้วตามความเห็นแห่งสมัยใหม่ นับว่าเราดีกว่าผู้ที่ยังคงใช้แต่แซ่ ไม่มีนามสกุล ส่วนชื่อแซ่ของเขาทั้งหลาย ถ้าแม้ใครจะถามเราก็อาจจะบอกไดว่าชื่อไทย เพราะพวกเราไม่ได้ต่างคนต่างแยกกันอยู่เป็นคณะย่อมๆ อย่างโบราณแล้ว
ประเพณีตั้งแซ่เป็นประเพณีที่พ้นสมัยเสียแล้ว และในนานาประเทศต้องเลิกเสียแล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นการไม่เป็นประโยชน์พอเพียง คือการที่คงมีแซ่อยู่นั้น ย่อมเป็นเครื่องบำรุงความถือก๊กถือเหล่ อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปรองดองกว้างขวางพอ คือสมาชิกแห่งแซ่มักมัวคิดถึงแต่แซ่เสียมากกว่าคิดถึงชาติ การแบ่งคนเป็นก๊กเป็นแซ่ต่างๆ ภายในอาณาจักรอันเดียวเป็นผลแตกร้าวในยุโรปจึงต้องเลิกฟิวดัลซิสเต็ม และแคลนซิสเต็ม ทั่วไปหมดแล้ว และในกรุงสยามก็ต้องเลิกแบบเลกสมสังกัดต่างกรมแล้ว ด้วยเหตุอันเดียวกัน
แต่ส่วนประเพณีรักษาวงศ์สกุลให้มั่นคงนั้น ย่อมมีผลผิดกันกับแซ่ เพราะผู้ที่ร่วมสกุลต่างคนต่างต้องรักสกลของตน และต่างระวังมิให้บังเกิดเหตุเสื่อมเสียถึงสกุลได้ และหัวหน้าสกุลทุกๆ คน เป็นผู้รับผิดชอบอยู่โดยตรงต่อผู้ปกครองชาติ การที่รักกันในระหว่างคณาญาติเป็นของที่มีอยู่โดยธรรมดาแล้ว สกุลจึงรวมกันอยู่ด้วยความสิเนหา ไม่ใช่เพราะความจำเป็นแห่งการต่อสู้ศัตรูอย่างแซ่ การที่มีนามสกุลย่อมเป็นเครื่องผูกให้ญาติต่อญาติสนิทกัน ให้รู้สึกว่าเกิดจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน ต้องช่วยกันรักษาชื่อท่านบรรพบุรุษผู้นั้น เพราะการบำรุงความนับถือบรรพบุรุษเป็นองค์แห่งความนับถือ ความมั่นคงในวงศ์สกุลเป็นที่ตั้ง มิได้มุ่งไปทางที่จะยกพวกไปต่อสู้กับใครๆ อย่างซ่องหรือแซ่
สรุปความอีกที ๑ ว่า ชื่อแซ่เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าใครเป็นพวกเดียวกัน จะได้ช่วยกันและกัน ทั้งในทางบุกรุกหรือป้องกันคนต่างพวก ไม่ใช่ว่าแปลว่าเป็นญาติกันเลย แต่นามสกุลเป็นเครื่องหมายให้รู้จักกันว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน ต้องช่วยกันรักษาชื่อบรรพบุรุษนั้นไว้อย่าให้เสีย และทำให้เกิดไมตรีจิตต่อกัน แซ่เป็นประเพณีอันเกิดขึ้นจากความปรารถนาป้องกันหรือรุกรานด้วยกันอย่างตั้งซ่อง ซึ่งมุ่งแต่ทางหากำลังรวมไว้นั้นแหละเป็นที่ตั้ง สกุลเป็นประเพณีอันเนื่องจากความรัก อันมีอยู่เป็นธรรมดาในระหว่างบิดามารดากับบุตร ญาติต่อญาติที่ร่วมสายโลหิตกันควบคุมผูกพันกันไว้ได้ด้วยความสิเนหา ไม่ใช่ด้วยอำนาความกลัวภัย แซ่เกิดขึ้นเพื่อความกลัว (คือกลัวผู้อื่นทำร้าย) หรือเพื่อความปรารถนาอาศัยกำลังซึ่งกันและกัน สกุลมีขึ้นเพื่อความรักใคร่ไมตรีต่อกันโดยแท้ เพราะฉะนั้นการถือแซ่จึงอาจเป็นเหตุแห่งความแตกร้าวภายในชาติ คือแซ่ต่อแซ่แก่งแย่งกัน เช่นในสก็อตแลนด์ แคลนต่อแคลนรบราฆ่าฟันกันไม่หยุดหย่อน และถึงแม้ในเมื่อมีพวกอังกฤษไปติดเมือง แคลนต่อแคลนก็ยังแก่งแย่งกันอยู่ จนต้องแพ้แก่อังกฤษหลายหน ถึงแม้ในจีนเองก็มีเหตุจลาจลเพราะแซ่ต่อแซ่วิวาทกันนั้นอยู่เนืองๆ มิใช่หรือแต่การถือนามสกุลนั้นตรงกันข้าม ย่อมจะเป็นไปเพื่อ ความสงบเป็นเบื้องต้น เพราะผู้ที่ปกครองสกุลย่อมจะต้องเป็นผู้ใหญ่ซึ่งเมตตารักใคร่บุตรหลาน เกินกว่าที่จะยอมให้ไปก่อวิวาทบาดทะเลาะให้มีหนทางถูกเจ็บหรืออันตรายได้
อีกประการ ๑ การปกครองอย่างแซ่ ไม่เป็นเครื่องเพาะความเคารพในผู้ปกครอง เพราะผู้เป็นหัวหน้าแซ่ในชั้นต้นก็ต้องเลือกเอาคนที่มีกำลัง หรือความคิดมากที่สุดนั้นแลเป็นอาทิ และเมื่อใดหมดกำลัง เมื่อนั้นก็สิ้นอำนาจเหมือนกัน คงมีผู้อื่นแย่งเอาอำนาจนั้นเสีย ข้อนี้เองย่อมเป็นเครื่องเพราะความกระด้างกระเดื่องในคณะ คือมักมีผู้คิดเห็นไปว่า ผู้ปกครองนั้นมีความบกพร่องสู้ตัวเองหรือคนอื่นไม่ได้ จึงชักให้ยุ่งเหยิงคิดร้ายแก่กัน และผู้ที่ใช้ประเพณีแซ่จึงมักพอใจในการคิดร้ายต่อผู้ปกครอง ซึ่งทำแก่กันได้เช่นนี้ เพราะไม่ใช่ญาติกัน มิได้มีความรักใคร่แก่กัน เป็นแต่คนร่วมซ่องกันเพื่อหาประโยชน์ด้วยกันต่างหาก แต่ส่วนการปกครองสกุลนั้นตรงกันข้าม ย่อมเป็นเครื่องเพาะความเคารพในผู้ปกครอง ผู้น้อยย่อมอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เพราะเป็นกุเลเชษฐา และยอมโดยชื่อตา เพราะผู้ใหญ่นั้นเป็นบิดาหรือญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีความรักใคร่อยู่ตามธรรมดาโลกแล้ว จึงมิได้คิดเกี่ยงงอนแก่งแย่งเลย นับว่าเป็นมูลแห่งความจงรักภักดีต่อผู้ที่เป็นหัวหน้าปกครองสกุลชั้น ๑ และเป็นเครื่องจูงใจให้รู้จักความภักดีต่อท่านผู้ปกครองชาติอีกชั้น ๑ เพราะรู้จักรักความมั่นคงนั่นเอง
เมื่อแลเห็นว่าแซ่กับสกุลผิดกันอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรเลยที่จะเห็นผิดไปว่า ชื่อแซ่กับนามสกุลนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่ควรนึกเลยว่าในการที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ออกพระราชบัญญัตินามสกุลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริตามชื่อแซ่ของจีน เพราะเราต้องเข้าใจว่า พระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถพอที่จะทรงทราบชัดเจนว่า ชื่อแซ่กับนามสกุลนั้นผิดกันอย่างไร คงจะไม่ทรงพระราชนิยมไปตามประเพณีต่างภาษา ซึ่งพ้นสมัยอย่างเช่นประเพณีใช่ชื่อแซ่นั้นเป็นแน่แท้ ฯ
ภาพและที่มา www.bloggang.com