รา เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิต ไม่ว่า มนุษย์ พืช หรือ สัตว์ “ราแมลง” เป็นตัวอย่างหนึ่งของราที่อาศัยแมลงเป็นเจ้าบ้าน เจริญเติบโตในตัวแมลงที่มีชีวิต จนในที่สุดแมลงตาย ราต้องหาเจ้าบ้านใหม่ โดยการสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีสปอร์ งอกออกมาจากซากแมลง สปอร์ถูกดีดออกและตกลงไปบนแมลงตัวใหม่ เป็นวัฎจักรเรื่อยไป
ราแมลงบางชนิด ในบางช่วงของวงจรชีวิต อาจอยู่เป็นอิสระในดินไม่ต้องการเจ้าบ้านอาศัย แม้ทำให้เกิดโรคกับแมลง แต่มนุษย์ใช้ประโยชน์ราแมลงมาเป็นเวลานาน ราแมลงชนิดหนึ่งที่คนจีนเรียก “ถังเฉ่า” ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรชูกำลัง ปัจจุบันมีราคาแพงมาก มีชุกชุมในประเทศภูฏาน ราแมลงหลายชนิดถูกนำมาผลิตเป็นสารปราบแมลงศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี
การวิจัยความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทย
คณะนักวิจัย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศึกษาความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทย พบว่ามีความหลากหลายสูงมาก โดยพบราแมลงมากกว่า 400 สปีชีส์ เช่น พบแมลงที่ตายแล้วเกาะติดบนใบไม้ กิ่งไม้ มีเส้นใยราคลุมอยู่บนตัวแมลงหรือมีช่อสปอร์งอกออกมา ราแมลงบางชนิดถูกพบโดยแมลงที่ตายฝังตัวอยู่ใต้ดิน แต่เห็นช่อสปอร์รา แทงขึ้นมาเหนือดิน บางชนิดมีสีหรือเป็นช่อคล้ายดอกไม้ จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ประเทศไทยนับเป็นแหล่งเก็บรวบรวมราแมลงที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก
ในด้านการใช้ประโยชน์ นักวิจัยไบโอเทคได้แยกราบริสุทธิ์ นำไปตรวจว่าราสร้างสารออกฤทธิ์ที่อาจยับยั้งเชื้อที่ก่อโรคในมนุษย์ได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนายาใหม่ พบว่ามีสารที่น่าสนใจในการยับยั้งเชื้อก่อโรคในหลอดทดลอง เช่น วัณโรค มาลาเรีย เป็นต้น การค้นพบสารใหม่ๆ จำนวนมาก ทำให้นักวิจัยไบโอเทคได้รับเชิญให้เขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกเผยแพร่ไปทั่ว
ไบโอเทค ได้สนับสนุน รศ.ดร.สืบศักดิ์ สนธิรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการใช้ราแมลงผลิตสารปราบไส้เดือนฝอย ทำให้ควบคุมความเสียหายจากการที่ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายมันฝรั่ง ไม้ดอก และสนับสนุน รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาการใช้ราแมลงในการปราบหนอนที่ทำลายผักและหน่อไม้ฝรั่ง
จากผลงานที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ผ่านวารสารวิชาการนานาชาติ และเว็บไซต์ไบโอเทค ทำให้พิพิธภัณฑ์ “National Museum of Emerging Science and Innovation” ของประเทศญี่ปุ่น ขอข้อมูลราแมลงจากประเทศไทย ไปจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนญี่ปุ่นได้ชม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 ผู้สนใจศึกษาราแมลงได้ที่เว็บไซต์ https://bbh.biotec.or.th
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)