ศึกพม่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพมา ๕ ทาง
ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘
ว่าด้วยเรื่องเบื้องต้นแห่งการสงคราม
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พอทรงระงับดับยุคเข็ญในกรุงธนบุรีราบคาบ และโปรดให้มีสารตราให้หากองทัพกลับมาจากกรุงกัมพูชาแล้ว ก็ให้เริ่มการย้ายเข้าพระนครข้ามฟากจากเมืองมาสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ทางข้างฝั่งตะวันออก
มูลเหตุซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจะฬาโลก ทรงรังเกียจที่พระราชวังเดิม(๑)ด้วยอยู่ใกล้ชิดติดอุปจารวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดล้อมอยู่ทั้ง ๒ ด้าน ดังนี้ ชวนให้เข้าใจผิดไป เป็นเหมือนหนึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างวังที่ประทับใหม่ จึงให้ย้ายพระนคครมาสร้างทางฝั่งตะวันออกแต่ฝั่งเดียว
เหตุที่จริงนั้นเป็นอย่างอื่นและเป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าจะสร้างวังมาก ด้วยทรงพระราชดำริว่า พม่าคงจะมาตีเมืองไทย กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง ๒ ฝั่ง เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมืองเมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การสู้รบรักษาเมืองคนข้างในจะถ่ายเทช่วยกันรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามน้ำ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไดเคยทรงรักษาเมืองพิษณุโลกสู้ศึกอะแซหวุ่นกี้ เมืองพิษณุโลกลำน้ำแคบและตื้นพอทำสะพานได้ ยังลำบาก ทรงพระราชดำริเห็นว่าที่กรุงธนบุรีแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งกว้างทั้งลึก จะทำสะพานข้ามไม่ได้ ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนคร จะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้
ข้างฝั่งตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิเพราะเป็นหัวแหลม ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่น้ำใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตกและด้านใต้ ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถึงข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตะวันออกแต่ฝั่งเดียว
น่าจะได้เคยเป็นปัญหาในรัฐบาล แต่ครั้งกรุงธนบุรีเมื่อแรกเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้และบางทีจะถึงได้ตรวจแผนที่เสร็จแล้ว แต่จะเป็นด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นชอบด้วยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือมิฉะนั้นจะติดราชการศึกสงครามอยู่จึงค้างมา
ข้อนี้พึงสังเกตได้ด้วย พอเสด็จปราบดาภิเษกแล้วก็ให้ลงมือสร้างพระนครใหม่ทันที ไม่ตรวจตราภูมิลำเนาให้รู้แน่ชัด และคิดประมาณการทั้งกำลังซึ่งจะสร้างให้ตลอดก่อนนั้น ใช่วิสัยที่จะเป็นได้ จึงเห็นว่าการย้ายพระนครมาสร้างฝั่งตะวันออกเป็นการที่ได้มีความคิดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว
การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอันยุติว่าจะตั้งราชธานีอยู่ที่บางกอกนี้ต่อไป ไม่คิดกลับคืนขึ้นไปตั้งที่กรุงศรีอยุธยาอย่างโบราณ จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปรื้อกำแพงกรุงเก่าเอาอิฐลงมาสร้างป้อมปราการกรุงเทพฯ และจะมิให้กรุงเก่าเป็นที่อาศัยของข้าศึกด้วยอีกประการหนึ่ง สร้างพระนครอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จ เมื่อในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๓๒๘ พอสมโภชพระนครแล้วไม่ช้า ในปีนั้นเองพม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย
ในตอนนี้ จะต้องขอย้อนไปเล่าเรื่องพงศาวดารพม่าเสียก่อน คือเมื่อพระเจ้าอลองพญาผู้เป็นต้นราชวงศ์สิ้นพระชนม์ มังลอกราชบุตรองค์ใหญ่ได้ครองแผ่นดินพม่าต่อมา พระเจ้ามังลอกมีราชบุตรกับพระมเหสีองค์หนึ่ง ชื่อว่า มังหม่อง
เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ มังหม่องยังเป็นทารกอยู่ ราชสมบัติจึงได้แก่มังระราชอนุชา ครั้นมังหม่องเติมใหญ่ขึ้นพระเจ้ามังระมีความรังเกียจเกรงจะชิงราชสมบัติ คิดจะประหารมังหม่องเสีย แต่นางราชชนนีผู้เป็นย่าของมังหม่องขอชีวิตไว้ รับว่าจะให้ไปศึกษาบวชเรียนอยู่ในวัดจนตลอดชีวิต มิให้มาเกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดิน พระเจ้ามังระจึงมิได้ทำอันตรายแก่มังหม่อง
พระเจ้ามังระเสวยราชย์มา มีราชบุตร ๒ องค์ องค์ใหญ่เรียกกันว่าจิงกูจา แปลว่าผู้กินส่วยเมืองจิงกู เป็นลูกมเหสี องค์น้อยเรียกกันว่าแชลงจาเป็นลูกพระสนม จิงกูจาพอโตขึ้นก็ชอบคบคนพาล ชักชวนให้ประพฤติเสเพลมาเนืองๆ พระเจ้ามังระมิใคร่เต็มพระทัยจะให้เป็นรัชทายาท
ครั้นปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ามังระประชวรหนักจวนจะสิ้นพระชนม์ จะมอบราชสมบัติให้ผู้อื่นเกรงจะเกิดจลาจล จึงมอบราชสมบัติให้แก่จิงกูจาราชบุตรใหญ่ พระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้ว สงสัยว่ามีผู้จะคิดร้าย จึงให้จับแชลงจาราชอนุชาสำเร็จโทษเสีย แล้วให้หาอะแซหวุ่นกี้กลับไปจากเมืองพิษณุโลก ไปถึงก็พาลหาเหตุถอยยศอะแซหวุ่นกี้เสียจากบรรดาศักดิ์ แล้วจับพระเจ้าอาองค์ใหญ่ชื่อมังโป ซึ่งเรียกกันว่า ตแคงอะเมียง ตามตำแหน่งยศเป็นเจ้าเมืองอะเมียง สำเร็จโทศเสียองค์หนึ่ง และให้เนรเทศพระเจ้าอาอีก ๓ องค์ คือ มังเวงตะแคงปดุง มังจูตะแคงพุกาม และมังโพเมียงตะแคงตะแล ไปเสียจากเมืองอังวะ เอาไปคุมไว้ในหัวเมือง
พระเจ้าจิงกูจามีพระมเหสีแต่ไม่มีราชบุตร แล้วได้ธิดาของอำมาตย์อะตวนหวุ่นมาเป็นนางสนม แต่แรกมีความเสน่หาแก่นางนั้นมาก ถึงยกขึ้นเป็นสนมเอก รองแต่มเหสีลงมา บิดาของนางก็เอามายกย่องให้มียศเป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่พระเจ้าจิงกูจานั้นมักเสวยสุราเมา และประพฤติทารุณร้ายกาจต่างๆ
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าจิงกูจากำลังเมา เกิดพิโรธให้เอานางสนมเอกนั้นไปถ่วงน้ำเสีย แล้วถอดบิดาของนางลงเป็นไพร่ อะตวนหวุ่นโกรธแค้นจึงไปคบคิดกับตะแคงปดุงซึ่งเป็นพระเจ้าอาองค์ใหญ่ และอะแซหวุ่นกี้ซึ่งถูกถอดนั้น(๒) ปรึกษากันจะกำจัดพระเจ้าจิงกูจาเสียจากราชสมบัติ ทำนองตะแคงปดุงจะเกรงพระเจ้าน้องอีก ๒ องค์จะไม่ยอมให้ราชสมบัติ ในขั้นแรกจึงอุดหนุนมังหม่อม ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ให้คิดชิงราชสมบัติ เพราะมังหม่อมเป็นลูกมเหสีของพระเจ้ามังลอก อันอยู่ในที่ควรจะได้ราชสมบัติมาแต่ก่อนแล้ว
ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พระเจ้าจิงกูจาออกไปประพาสหัวเมือง ทางนี้มังหม่องจึงสึกจากสามเณร คุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นได้เมืองอังวะโดยง่าย มังหม่องจะมอบราชสมบัติถวายพระเจ้าอา ๓ องค์ แต่พระเจ้าอาไม่รับ มังหม่องจึงขึ้นว่าราชการ แต่พอมังหม่องขึ้นนั่งเมือง ก็ปรากฏว่าไม่สามารถจะปกครองแผ่นดินได้ ด้วยปล่อยให้เหล่าโจรที่เป็นพรรคพวกช่วยปล้นเมืองอังวะ ไปเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติของพวกชาวเมืองตามอำเภอใจ มังหม่องควบคุมไว้ไม่อยู่ เกิดวุ่นวายขึ้นทั้งเมืองอังวะ พวกข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมกันไปเชิญตะแคงปดุงครองราชสมบัติ ด้วยเป็นราชบุตรคนที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญา มังหม่องนั่งเมืองอยู่ได้ ๑๑ วัน พระเจ้าปดุงก็จับสำเร็จโทษเสีย
ฝ่ายพระเจ้าจิงกูจา ซึ่งออกไปประพาสอยู่หัวเมือง เมื่อข่าวปรากฏไปถึงว่า มังหม่องชิงได้เมืองอังวะ พวกไพร่พลที่ติดตามไปด้วยก็พากันหลบหนีทิ้งไปเสียเป็นอันมาก เหลือขุนนทางคนสนิทติดพระองค์ไม่กี่คน แต่แรกพระเจ้าจิงกูจาคิดจะหนีไปอาศัยอยู่เมืองกะแซ แต่เป็นห่วงนางราชชนนี จึงลอบลงมาใกล้เมืองอังวะ แล้วมีหนังสือเข้าไปทูลให้ทราบว่าจะหนีไปเมืองกะแซ นางราชชนีให้มาห้ามปราบว่า เกิดมาเป็นกษัตริย์ถึงจะตายก็ชอบแต่จะตายอยู่ในเมืองของตัว ที่จะหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเป็นข้าหาควรไม่
พระเจ้าจิงกูจาก็เกิดมานะ พาพวกบริวารที่มีอยู่ตรงเข้าไปในเมืองอังวะ ทำองอาจเหมือนกันเสด็จไปประพาสแล้วกลับคืนมายังพระนคร พวกพลไพร่ที่รักษาประตูเมืองเห็นพระเจ้าจิงกูจาก็พากันเกรงกลัวไม่มีใครกล้าจะต่อสู้ พระเจ้าจิงกูจาเข้าไปได้จนในเมือง พออะตวนหวุ่นพ่อนางสนมเอกที่พระเจ้าจิงกูจาให้ฆ่าเสีย ทราบความจึงคุมพลมาล้อมจับพระเจ้าจิงกูจา อะตวนหวุ่นเองฟันพระเจ้าจิงกูจาสิ้นพระชนม์ที่ในเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงทราบความว่าอะตวนหวุ่นฆ่าพระเจ้าจิงกูจา ก็ทรงพระพิโรธว่าควรจะจับมาถวายโดยละม่อม ไม่ควรจะฆ่าฟันเจ้านายโดยพลการ ให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตเสีย
ตรงนี้ผู้ที่แต่งหนังสือในพระราชพงศาวดารเข้าใจผิดไปว่าประหารชีวิตอะแซหวุ่นกี้ มี่จริงอะแซหวุ่นกี้นั้น เมื่อพระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้ว เอากลับมายกย่องแต่งตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้เป็นอุปราชสำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาะตะมะจนตายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ และว่าได้เป็นแม่ทัพมารบไทยอีกคราวหนึ่ง คราวไทยยกไปตีเมืองทวายเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ (แต่ความข้อหลังข้าพเจ้าสงสัยอยู่)
ขณะเมื่อเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันวุ่นวายในเมืองพม่าครั้งนั้น เหล่าหัวเมืองขึ้นของพม่าก็พากันกระด้างกระเดื่อง ถึงบังอาจคุมกำลังไปปล้นเมืองอังวะซึ่งเป็นราชธานีก็มี พระเจ้าปดุงต้องทำสงครามปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินอยู่หลายปี แต่พระเจ้าปดุงนั้นเข้มแข็งในการศึกยิ่งกว่าบรรดาราชวงศ์ของพระเจ้าอลองพญาองค์อื่นๆ เมื่อปราบปรามพวกที่คิดร้ายราบคาบทั่วทั้งเขตพม่ารามัญและไทยใหญ่แล้ว จึงสร้างเมืองอมระบุระขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แล้วยกกองทัพไปตีประเทศมณีบุระทางฝ่ายเหนือ และประเทศยะไข่ทางตะวันตกได้ทั้ง ๒ ประเทศ แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวางยิ่งกว่ารัชกาลก่อนๆโดยมาก
พระเจ้าปดุงเสวยราชย์มาได้ ๓ ปี จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศเป็นมหาราชเหมือนเช่นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ด้วยในขณะนั้นพระเจ้าปดุงก็ได้ประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอาณาเขตมีรี้พลบริบูรณ์ และทำสงครามมีชัยชนะมาทุกแห่ง พลทหารกำลังร่าเริงทำนองเดียวกัน
ครั้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงให้เตรียมกองทัพที่จะยกเข้ามาตีเมืองไทย เกณฑ์คนในเมืองหลวงและหัวเมืองขึ้น ตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติหลายภาษา รวมจำนวนพล ๑๔๔,๐๐๐ จัดเป็นกระบวนทัพ ๙ ทัพ คือ
ทัพที่ ๑ ให้เเมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบกทัพเรือจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาทางเมืองมะริดให้ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนเมืองสงขลา ส่วนทัพเรือนั้นให้ตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกัวป่าไปจนเมืองถลาง
ในพงศาวดารพม่าว่า แมงยี แมงข่องกยอ ยกลงมาแต่เดือน ๘ ปีมะเส็ง ด้วยพระเจ้าปดุงให้เป็นพนักงานรวบรวมเสบียงอาหาร ไว้สำหรับกองทัพหลวงที่จะยกลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะด้วย ครั้นเมื่อกองทัพหลวงยกลงมาไม่ได้เสบียงอาหารไว้พอการ พระเจ้าปดุงทรงพิโรธให้ประหารชีวิตแมงยี แม่งข่องกยอเสีย แล้วตั้งเกงหวุ่นแมงยีหมาสีหะสุระอัครมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพที่หนึ่งแทน
ทัพที่ ๒ ให้อนอกแผกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้ามาด่านบ้องตี้ มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ลงไปประจบกองทัพเมืองชุมพร
ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคยีสะโดะสิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้ลงมาตีเมืองลำปางและหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่และน้ำยมตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
ทัพที่ ๔ ให้เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๕ ให้เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ(๓) เป็นทัพหนุนทัพที่ ๔
ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่าศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามากรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุ ราชบุตรที่ ๓ (พม่าเรียกว่าสะโดะมันซอ) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง
ทัพที่ ๘ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ พระเจ้าปดุงเป็นจอมพล เสด็จลงมาเมืองเมาะตะมะเมื่อเดือน ๑๒ ปีมะเส็ง
ทัพที่ ๙ ให้จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ (เข้าใจว่าตั้งที่เมืองเมาะตะมะเหมือนกัน) ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก มาตีหัวเมืองทางริมแม่น้ำพิง ตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร ลงมาประจบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
กองทัพ ๙ ทัพที่กล่าวมานี้ กำหนดให้ยกเข้ามาตีเมืองไทยในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง พร้อมกันทุกทัพ คือจะตรงมาตีกรุงเทพฯ ๕ ทัพเป็นจำนวนพล ๘๙,๐๐๐ ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒ ทัพเป็นจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ๒ ทัพจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ จำนวนพลของข่าศึกที่ยกมาตีเมืองไทยครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๑๔๔,๐๐๐๐ ด้วยกัน
กระบวนทัพที่พระเจ้าปดุงให้ยกมาครั้งนี้ ผิดกับกระบวนทัพที่พม่าเคยยกมาตีเมืองไทยแต่ก่อน กองทัพพม่ายกมาตีเมืองไทยแต่ก่อนแม้เป็นทัพใหญ่ทัพกษัตริย์ เช่นครั้งพระเจ้าหงสาวดีก็ดีและครั้งพระเจ้าอลองพญาก็ดี ก็ยกมาแต่ทางเดียว บางทีก็ยกมาเป็นสองทาง เช่นเมืองคราวให้พระยาพสิมยกมากับพระเจ้าเชียงใหม่ในครั้งสมเด็จพระนเรศวร และครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวหลังนั้น
แต่คราวนี้ยกมาถึง ๕ ทาง คือทางใดที่พม่าเคยยกกองทัพเข้ามาเมืองไทยแต่ก่อน ก็ให้กองทัพยกเข้ามาในคราวนี้พร้อมกันหมดทุกทาง ประสงค์จะเอากำลังใหญ่หลวงเข้ามาทุ่มเทตีให้พร้อมกันหมดทุกด้าน มิให้ไทยมีประตูที่จะสู้ได้
แต่ที่แท้พระเจ้าปดุงปรีชาญาณในยุทธวิธีไม่เหมือนพระเจ้าหงสาวดีแต่ปางก่อน กะการประมาณพลาดในข้อสำคัญ ด้วยไพร่พลมากมายย้ายแยกกันเป็นหลายทัพหลายกอง และยกมาหลายทิศหลายทางเช่นนั้น ไม่คิดเห็นว่ายากที่จะเดินทัพเข้ามาถึงที่มุ่งหมายให้พร้อมกันได้ อีกประการหนึ่งซึ่งยิ่งสำคัญกว่านั้นคือ มิได้คิดถึงความยากในเรื่องที่จะหาและลำเลียงเสบียงอาหารให้พอเลี้ยงกองทัพได้หมดทุกทาง ความพลาดพลั้งของพระเจ้าปดุงทั้งสองข้อนี้ ที่ไทยเอาเป็นประโยชน์ในการต่อสู้พม่าครั้งนั้นได้เป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้ในรายการที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า
ที่นี้จะกล่าวถึงฝ่ายข้างไทยต่อไป ขณะพม่าลงมือประชุมพลในฤดูฝนปีมะเส็งนั้น พวกกองมอญไปลาดตระเวนสืบทราบความ ว่าพม่าเตรียมทัพที่เมืองเมาะตะมะจะมาตีเมืองไทย เมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ ต่อนั้นมาหัวเมืองเหนือใต้ทั้งปวงก็บอกข่าวศึกพม่าเข้ามาโดยลำดับ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับทั้งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันหน้าพระที่นั่ง ทรงปรึกษาการที่จะต่อสู้พม่าข้าศึก ข้อปรึกษาและมติที่ตกลงกันในครั้งนั้นจะเป็นอย่างไรยังหาพบจดหมายเหตุไม่ จึงได้แต่พิเคราะห์ดูโดยลักษณาการที่ได้ต่อมา เข้าใจว่าคงเห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่า
ศึกพม่าที่พระเจ้าปดุงยกมาครั้งนั้นใหญ่หลวง ผิดกับศึกพม่าที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยรี้พลมากมายและจะยกมาทุกทิศทุกทาง กำลังข้างฝ่ายไทยมีจำนวนพลสำรวจได้เพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ น้อยกว่าข้าศึกมากนัก ถ้าจะแต่งกองทัพไปต่อสู้รักษาเขตแดนทุกทางที่ข้าศึกยกเข้ามา เห็นว่าเสียเปรียบข้าศึก เพราะเหตุที่ต้องแบ่งกำลังแยกย้ายไปหลายแห่ง กำลังกองทัพไทยก็จะอ่อนแอด้วยกันทุกทาง เพราะฉะนั้นควรจะรวบรวมกำลังไปต่อสู้ข้าศึกแต่ในทางที่สำคัญก่อน ทางไหนไม่เห็นสำคัญปล่อยให้ข้าศึกทำตามใจชอบไปพลาง เมื่อเอาชัยชนะข้าศึกเป็นทัพสำคัญได้แล้ว จึงปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป
เนื้อความที่ปรึกษาคงจะลงมติเป็นอย่างนี้ ก็เลานั้นสืบได้ความว่ากองทัพใหญ่ของข้าศึกยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และพระเจ้าปดุงเป็นจอมพลมาเองในทางนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯให้จัดกองทัพสำหรับที่จะต่อสู้เป็น ๔ ทัพ
ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลัง (เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี) เป็นแม่ทัพถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันอย่าให้กองทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือ ล่วงเลยมาถึงกรุงเทพฯได้ ในเวลากำลังต่อสู้ข้าศึกเมืองกาญจนบุรี
ทัพที่ ๒ เป็นกองทัพใหญ่กว่าทุกทัพ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเป็นจอมพลไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี(เก่า) คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปดุง ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา(บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราชถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ ๒ และคอยต่อสู้พม่าซึ่งจะยกมาแต่ทางข้างใต้หรือทางเมืองทวาย
ทัพที่ ๔ กองทัพหลวงจัดเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นกองหนุน ถ้ากำลังศึกหนักทางด้านไหนจะได้ยกไปช่วยให้ทันที
ตอนที่ ๑ รบพม่าที่ลาดหญ้า
กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง ทรงจัดให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรเป็นกองหน้าเป็นกองหน้า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตรทัพ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเป็นเกียกกาย พระยามณเฑียรบาลเป็นกองหลัง ยกไปถึงเมืองกาญจนบุรี(เก่า) ให้ตั้งค่ายมั่นในทุ่งลาดหญ้าที่เชิงเขาบรรทัดเป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันสกัดทางที่พม่าจะยกเข้ามา แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา(เจ่ง) คุมกองมอญจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมแม่น้ำแควใหญ่ในทางที่ข้าศึกจะยกมานั้นอีกแห่งหนึ่ง
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพเมียวหวุ่นที่ ๔ ยกเข้ามาก่อน เดินผ่านแขวงเมืองไทรโยค ตัดมาลงทางริมแม่น้ำแควใหญ่ที่เมืองท่ากระดาน เดินทางริมน้ำต่อลงมาถึงด่านกรามช้าง พม่ามากกว่าก็ระดมตีกองมอญซึ่งตั้งรักษาด่านกรามช้างแตก แล้วยกทัพเข้ามาถึงชายทุ่งลาดหญ้าที่กองทัพกรมพระราชวังบวรฯตั้งรับอยู่ ทัพพม่าที่ ๔ ก็ตั้งค่ายลงตรงนั้น ครั้นทัพเมหวุ่นที่ ๕ ตามเข้ามาถึงก็ตั้งค่ายเป็นแนวรบต่อกันไป จำนวนพลพม่าทั้ง ๒ ทัพรวม ๑๕,๐๐๐
ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่ายกเข้ามาได้สู้รบกับกองมอญที่รักษาด่านกรามช้าง กองมอญล่าถอย พม่าติดตามมาถึงที่ค่ายไทยที่ลาดหญ้า พม่าก็ตรงเข้าตีค่ายไทย ได้รบกันเป็นสามารถ พม่ารบถลำเข้ามาให้ไทยล้อมจับได้กองหนึ่ง นายทัพพม่าเห็นว่าไทยมีกำลังมากเกรงจะเสียที จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงหวังจะรบพุ่งขับเคี่ยวกับทัพไทยต่อไป
กระบวนยุทธวิธีที่ไทยไปตั้งระบพม่าข้าศึกที่ลาดหญ้า คราวนี้ผิดกับวิธีที่ไทยได้เคยต่อสู้พม่ามาแต่ก่อน พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฏมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ดี ครั้งสมเด็จพระนเรศวรก็ดี ถ้าพม่ายกมาเป็นศึกใหญ่เหลือกำลัง ไทยมักต่อสู้ที่พระนคร ถ้าคราวไหนไทยเห็นว่ากำลังพอจะต่อสู้ข้าศึกที่ยกมา ก็ยกกองทัพมาดักตีข้าศึกให้แตกในกลางทางเมื่อก่อนจะเข้ามาถึงชานพระนคร มักรบกันในแขวงเมืองสุพรรณบุรีโดยมาก ถ้าทางเหนือก็รบกันที่เมืองอ่างทอง
วิธีที่เอากองทัพใหญ่ออกไปตั้งสกัดกองทัพใหญ่ของข้าศึกถึงชายแดน เพิ่งมีขึ้นคราวนี้เป็นครั้งแรก เป็นวิธีที่คิดขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๑ คงเป็นเพราะพิจารณาเห็นว่า ที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่ต่อเชิงเขาบรรทัด ทางที่พม่าต้องเดินทัพเข้ามา ถ้าไทยรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้ กองทัพพม่าที่ยกมาต้องตั้งอยู่บนภูเขาอันเป็นที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพเข้ามาและจะเดินกระบวนทัพก็ยาก เปรียบเหมือนข้าศึกต้องอยู่ในตรอกไทยสกัดคอยอยู่ปากตรอก(๔) ถึงกำลังน้อยกว่าก็พอจะสู้ได้ด้วยอาศัยชัยภูมิดังกล่าวมา
การก็เป็นจริงเช่นนั้น เมื่อกองทัพหน้าของพม่ายกเข้ามาปะทะกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า ก็ต้องหยุดอยู่เพียงเชิงภูเขา เมื่อกองหน้าหยุดอยู่บนเขา กองทัพที่ยกตามมาข้างหลังก็ต้องหยุดอยู่บนภูเขาเป็นระยะกันไป ปรากฏว่าทัพตะแคงกามะราชบุตรทัพที่ ๖ ตั้งอยู่ที่สามสบ(๕) ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงทัพที่ ๘ ต้องตั้งอยู่ที่ปลายลำน้ำลอนซี พ้นพระเจดีย์สามองค์เข้ามาเพียง ๒ ระยะ กองทัพพม่าตั้งอยู่บนภูเขา จะหาเสบียงอาหารในแดนไทยไม่ได้ ก็ต้องหาบขนเสบียงจากแดนเมืองพม่าเข้ามาส่งกันทุกทัพ พม่าจึงเสียเปรียบไทยตั้งแต่แรกยกข้ามแดนไทยเข้ามาด้วยประการฉะนี้
รายการที่รบกันที่ลาดหญ้า ปรากฏว่าพอกองทัพพม่าตั้งค่ายลงที่เชิงเขาบรรทัด กรมพระราชวังบวรฯก็ให้ตีค่ายพม่า แต่พม่าสู้รบแข็งแรง ไทยตีเอาค่ายพม่ายังไม่ได้ ก็ตั้งรบพุ่งติดพันกัยอยู่ พม่าให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายไทย กรมพระราชวังบวรฯจึงให้เอาปืนใหญ่และปืนปากกว้างอย่างยิงด้วยท่อนไม้ใช้เป็นกระสุน ไปตั้งรายยิงหอรบพม่าหักพังลงและถูกผู้คนล้มตายจนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาตีค่ายไทย
กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ กับพระยาเพชรบุรี คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้วไปเกียจคร้านอ่อนแอ ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วให้พระองค์เจ้าขุนเณร(๖) ถือพล ๑,๘๐๐ ไปเป็นกองโจรซุ่มอยู่ที่พุตะไคร้ทางลำน้ำแควไทรโยค ซึ่งใกล้กับทางที่พม่าจะส่งลำเลียงมานั้น
ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่าที่ยกมาด่านพระเจดีย์สามองค์คราวนั้น ขัดสนเสบียงอาหารมาแต่แรกทุกๆทัพ พระเจ้าปดุงทรงทราบว่า กองทัพหน้ามาตั้งประชิดอยู่กับไทย ให้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้า ก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งให้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงคุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยที่ไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้
ในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ที่ลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระปริวิตกเกรงกำลังจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่าย จึงเสด็จยกกองทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จไปจนถึงค่ายกรมพระราชวังบวรฯทรงปรึกษาราชการสงคราม
กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่า พม่าอดอยากมากอยู่แล้ว อย่าให้ทรงพระวิตกถึงทางลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกไปในไม่ช้า ขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะได้อุดหนุนกันทันท่วงที ทรงพระดำริเห็นชอบด้วย ก็เสด็จยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร
ต่อมากรมพระรวังบวรฯ ทรงทำกลอุบาย เวลากลางคืนแบ่งกองทัพให้ลอบกลับมาจนพ้นสายตาพม่า ครั้นเวลาเช้าให้กองทัพนั้นถือธงทิวเดินเป็นกระบวนทัพกลับไปเนืองๆ พม่าอยู่บนที่สูงแลเห็นว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมไปเสมอ พม่าก็ยิ่งครั่นคร้ามเข้าทุกที
กรมพระราชวังบวรฯทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยาก(๗)ครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ก็ตรัสสั่งให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน พม่าก็แตกฉานทั้งกองทัพที่ ๔ และที่ ๕ ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย ฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายแตกหนีกลับไป กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรพบเข้าก็ตีซ้ำเติม ฆ่าฟันพม่าและจับส่งมาถวายอีกก็มาก
ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อไทยตีค่ายพม่าได้ครั้งนั้น พม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายเสียบ้างจับได้บ้าง เสียทั้งนายไพร่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน
ครั้นพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกกลับไป ก็เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ด้วยกองทัพพม่าที่ยกมากับพระเจ้าปดุงทางด่านพระเจดีย์สามองค์ขัดสนเสบียงอาหาร และผู้คนเจ็บไข้ล้มตายลงด้วยกันทุกๆทัพ จึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวายนั้น เมื่อรวบรวมรี้พลได้พร้อมแล้ว จึงจัดให้พระยาทวายเป็นกองหน้าถือพล ๓,๐๐๐ ตัวอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นกองหลวงถือพล ๔,๐๐๐ ให้จิกสิบโบ่เป็นกองหลังถือพล ๓,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แต่ทางที่ข้ามภูเขาเข้ามาเป็นทางกันดารกว่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ช้างม้าพาหนะเดินยากต้องรั้งรอกันมาทุกระยะจึงเข้ามาช้า ที่สุดพระยาทวายกองทัพหน้ามาตั้งค่ายที่ (ราวหนองบัว) นอกเขางู อนอกแฝกคิดหวุ่นแทพตั้งที่ท้องที่ชาตรี จิกสิบโบ่ทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าขว้าวริมลำน้ำภาชี ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าทางลาดหญ้าแตกไปแล้ว
แต่เจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราชซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีก็ประมาท ไม่ได้ให้กองตระเวนออกไปสืบ หาทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาถึงลำน้ำภาชีและหลังเขางูไม่ จนกรงพระราชวังบวรฯมีชัยชนะที่ลาดหญ้า เสร็จแล้วก็มีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากรคุมกองทัพกลับมาทางบก มาทราบว่าพม่ามาตั้งค่ายที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าไปตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน พม่าทานกำลังไม่ได้ก็แตกหนีทั้งกองหน้าและกองหลวง ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันไปจนปะทะทัพหลวง ทัพหลวงก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับพม่าและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าพาหนะได้เป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันหนีกลับไปเมืองทวาย
ตอนที่ ๒ รบพม่าที่ปากพิง
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งเจ้าเมืองตองอูเป็นแม่ทัพนั้น ครั้นมาตั้งประชุมพลที่เมืองเชียงแสนพร้อมแล้ว จึงให้เนมะโยสีหะปติถือพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางแจ้ห่มกองหนึ่งให้ลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก แล้วให้โปมะยุง่วนถือพล ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า ตัวเจ้าเมืองตองอูเป็นกองหลวง ถือพล ๑๕,๐๐๐ ยกลงมาทางเมืองเชียงใหม่อีกทางหนึ่ง เวลานั้นเมืองเชียงใหม่ร้างมาตั้งแต่พม่ายกมาตีในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
พระเจ้าตองอูจึงยกเลยลงมาตีเมืองนครลำปาง พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางเป็นคนเข้มแข็งในการสงครามตั้งต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าจะตีหักเอาไม่ได้ เจ้าเมืองตองอูก็ตั้งล้อมเมืองนครลำปางตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะเส็ง แต่ทางเมืองสวรรคโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือไพร่บ้านพลเมืองยับเยินเสียเมื่อครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้ ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้พม่าได้ ผู้รักษาเมืองก็อพยพผู้คนหนีเข้าป่า กองทัพเนมะโยสีหะปติที่แยกมาทางแจ้ห่มจึงได้หัวเมืองเหนือทั้งปวง ตลอดลงมาจนเมืองพิษณุโลก
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๘ ซึ่งจอข่องนรทาถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมานั้น ก็เดินเข้ามาโดยสะดวก ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้ ในพงศาวดารพม่าว่า เมืองตากยอมอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าส่งตัวเจ้าเมืองตากกับครอบครัวพลเมือง ๕๐๐ ไปยังเมืองพม่า จอข่องนรทาจึงเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก
ขณะเมื่อกรมพระราชวังหลังยกกองทัพขึ้นไป กองทัพพม่ายกล่วงแดนไทยเข้ามาแล้วทั้งสองทาง จึงทรงจัดกองทัพเป็นสามกอง ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้า ยกขึ้นไปตั้งรักษาเมืองพิจิตรแห่งหนึ่ง กองหลวงกรมพระราชวังหลังตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แห่งหนึ่ง และให้พระยาพระคลังกับพระยาอุทัยธรรมคุมกองหลังตั้งรักษาเมืองชัยนาท คอยป้องกันพม่าที่จะมาทางเมืองอุทัยธานีแห่งหนึ่ง
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือครั้นพบกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ เนมะโยสีหะปติที่ยกมาทางเมืองสวรรคโลกจึงตั้งค่ายอยู่ที่ปากพิงใต้เมืองพิษณุโลก ด้วยเป็นที่สำคัญ ทางน้ำร่วมไปมาถึงกันในระหว่างลำน้ำยมกับแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนกองทัพจอข่องนรทาที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาก็ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านระแหง ทำนองจะคอยให้เจ้าเมืองตองอูยกหนุนมาก่อน จึงจะยกมาตีกองทัพไทยที่เมืองพิจิตร และที่เมืองนครสวรรค์พร้อมกันทั้ง ๒ ทาง
ฝ่ายข้างกองกรมพระราชวังหลังยกขึ้นไปคราวนั้น ความมุ่งหมายอันเป็นข้อสำคัญในเบื้องต้นอยู่ที่จะป้องกันมิให้กองทัพพม่าล่วงเลยมาถึงกรุงเทพฯได้ ในเวลาที่ไทยกำลังรบกับพม่าอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี กรมพระราชวังหลังไม่ทรงทราบว่า ข้าศึกจะมีกำลังหนุนกันมาอีกสักเท่าใด จึงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ ไม่ยกไปรบพุ่งข้าศึกซึ่งมาตั้งอยู่ที่ปากพิงและบ้านระแหง กองทัพทั้งสองฝ่ายจึงตั้งรอกันอยู่
ก็การที่จะปราบปรามพม่าซึ่งยกมาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเวลาเมื่อเสด็จออกไปที่ลาดหญ้า กระแสพระราชดำริตกลงกันว่า ถ้าตีทัพพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ถอยไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปปราบปรามพม่
ศึกหินดาดลาดหญ้า
ศึกหินดาดลาดหญ้า, ศึกหินดาดลาดหญ้า หมายถึง, ศึกหินดาดลาดหญ้า คือ, ศึกหินดาดลาดหญ้า ความหมาย, ศึกหินดาดลาดหญ้า คืออะไร
ศึกหินดาดลาดหญ้า, ศึกหินดาดลาดหญ้า หมายถึง, ศึกหินดาดลาดหญ้า คือ, ศึกหินดาดลาดหญ้า ความหมาย, ศึกหินดาดลาดหญ้า คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!