ไรน้ำนางฟ้า หรือ แมงอ่อนช้อย มีความสำคัญต่อ ห่วงโซ่อาหาร ของสัตว์น้ำ โดยเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลา ปู กุ้ง และแมลงน้ำ และยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนเสริมของชาวอีสาน
จากการศึกษาความหลากชนิดและการแพร่กระจายของไรน้ำนางฟ้าจากแหล่งน้ำจืดในประเทศไทย นำโดย ศ.ดร. ละออศรี เสนาะเมือง ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ บีอาร์ที (BRT, The Biodiversity Research and Training Program) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ตั้งแต่ ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน คณะผู้วิจัยค้นพบไรน้ำนางฟ้าชนิดใหม่ของโลก จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ไรน้ำนางฟ้าไทย และ ไรน้ำนางฟ้าสยาม ซึ่งทั้ง 3 ชนิดเป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นที่พบในประเทศไทยเท่านั้น
คณะผู้วิจัยศึกษาการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า ไรน้ำนางฟ้าไทยมี ศักยภาพในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าในอนาคต เพราะมีปริมาณโปรตีนสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งสูงกว่าอาร์ทีเมียที่มีร้อยละ 56 นอกจากนี้ ยังมีปริมาณไขมันต่ำเพียงร้อยละ 1.6 เลี้ยงง่าย โตเร็ว ดูแลไม่ยุ่งยาก ต้นทุนไม่สูงนัก และเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีจำนวนไข่เฉลี่ยราว 6,500-6,700 ฟองต่อแม่ไรน้ำนางฟ้าหนึ่งตัว โดยแม่ไรน้ำนางฟ้ามีจำนวนครั้งที่วางไข่เฉลี่ย 14 ครั้ง มีจำนวนไข่เฉลี่ย 460 ฟองต่อครั้ง และมีช่วงอายุเฉลี่ย 25 วัน นอกจากไข่ไรน้ำนางฟ้าสามารถเก็บได้ในสภาพแห้งได้เป็นเวลานานแล้ว ยังสามารถแช่แข็งไรน้ำนางฟ้าตัวเต็มวัยส่งขายเป็นอาหาร สำหรับกุ้งกุลาดำที่เพาะเลี้ยงบริเวณชายทะเล หรือใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาเศรษฐกิจทั้งชนิดน้ำจืด และน้ำเค็ม แทนการนำเข้าอาร์ทีเมียบางส่วน ซึ่งจากการทดลองพบว่าสามารถกระตุ้นการสร้างสีในปลาสวยงามได้ดี
คณะผู้วิจัยได้จดอนุสิทธิบัตรวิธีการเตรียม "ไข่ไรน้ำนางฟ้าไทยพร้อมฟัก" และฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าให้แก่กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย บริษัทเอกชน และนักวิชาการไปหลายรุ่น ปัจจุบัน มีผู้เข้าอบรมที่สามารถนำไข่ไรน้ำนางฟ้าไปเพาะเลี้ยง ส่งขายให้กับธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้ในราคาสูง โดยที่ยังมีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)