สัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดไม้ในธรรมชาติของแต่ละสังคมอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบนิเวศที่สัตว์ป่าเหล่านั้นอาศัย สำหรับระบบนิเวศบริเวณ มอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ “ชะนี” เป็นหนึ่งในบรรดาสัตว์ป่าที่มีส่วนในการกระจายเมล็ดพันธุ์ นอกเหนือไปจากนก กระรอก และลิง
ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2513 ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน และคณะ ติดตามศึกษาพฤติกรรมสังคมของชะนีมือขาว บริเวณมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในเชิงประชากร ความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มและต่างกลุ่ม การส่งเสียงร้อง การจับคู่ และการแยกครอบครัว พบว่าชะนีอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ มีอาณาเขตเฉพาะกลุ่ม ใหญ่บ้างเล็กบ้าง เฉลี่ยประมาณ 180 ไร่ จากการศึกษาความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มและต่างกลุ่มพบว่า ชะนีมีสังคมแบบผัวเดียวเมียเดียว และอยู่กันเป็นครอบครัวเช่นเดียวกับคน ชะนีบางตัวมีพฤติกรรมคบชู้สู่ชาย และมีการกีดกัน ขับไล่ สมาชิกรุ่นหนุ่มสาวออกจากครอบครัว เพื่อป้องกันการผสมในสายพันธุ์ ที่นำมาซึ่งการปรากฏลักษณะด้อย
ในปี พ.ศ. 2539 ดร.วรเรณ ฯ และคณะนักวิจัยไบโอเทค ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบาย การจัดการทรัพยากรทางชีวภาพในประเทศไทย หรือ บีอาร์ที ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการวางแปลงถาวรเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณมอสิงโต โดยเน้นพืชอาหารของชะนี ทีมวิจัยติดตามกลุ่มชะนีที่ออกหาอาหารตั้งแต่เช้าจากต้นนอน จนเข้านอนในตอนเย็น บันทึกหมายเลขต้นไม้ทุกต้นที่ชะนีเข้าไปใช้ประโยชน์ พฤติกรรมที่พวกมันแสดง รวมถึงเวลาในการกินอาหาร ขับถ่าย และจำนวนเมล็ดที่อยู่ในมูล ข้อมูลการหาอาหารจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ได้จากการสำรวจภาคสนาม และแผนที่เส้นทางการหาอาหารของชะนี การกระจายของมูล การกระจายของพันธุ์ไม้ และการกระจายของกล้าไม้ ที่ใช้ระบบภูมิสารสนเทศ หรือ GIS มาช่วย
ผลการวิจัยพฤติกรรมชะนีต่อระบบนิเวศมอสิงโต
จากการติดตามกลุ่มชะนี พบว่าในแต่ละวัน ชะนีออกหากินแต่เช้าตรู่ ชะนีรู้ว่าในแต่ละฤดูกาลมีผลไม้อะไร ชะนีจะออกจากต้นนอนเพื่อตรงดิ่งไปยังต้นอาหารทันทีโดยไม่แวะไปที่อื่น นอกจากใบและผล ยางโอน สีเสียดเทศ ผลมะป่วน สายหยุด มังคุดป่า จันป่า มะไฟป่า กระท้อนป่า ลำใยป่า ดอกกระทุ่ม เงาะป่าซึ่งออกผลในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นหนึ่งในอาหารโปรดของชะนี ชะนีใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงแวะกินเงาะป่าประมาณ 5-10 ต้นต่อวัน ตลอดเส้นทางหาอาหาร ชะนีขับถ่ายมูล เมล็ดไม้ต่างๆ รวมทั้งเมล็ดเงาะป่าถูกกระจายไปทั่วอาณาเขตของกลุ่ม
ชะนีรู้จักฉีกเปลือกเงาะออกเป็นสองซีก ก่อนกินทั้งผลและเมล็ดไปพร้อมกัน แล้วขับถ่ายเมล็ดออกมาพร้อมมูล จำนวนเมล็ดในมูลบอกถึงจำนวนเงาะป่าที่ชะนีแต่ละตัวบริโภคในหนึ่งวันคือ ประมาณ 50 ผลต่อตัว หรือมากถึง 6,000 ผล ถ้าชะนีทั้งสี่ตัว บริโภครวมกันตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่ต้นเงาะป่าออกผล ซึ่งหากทุกเมล็ดงอกได้ ก็เท่ากับชะนีกลุ่มเอช่วยปลูกต้นไม้ถึง 6,000 ต้น ในขณะที่ความเป็นจริงมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการงอกของเมล็ดและการรอดตายของกล้าไม้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ แสงแดด น้ำ ความชื้น
จากการที่ทีมวิจัยเฝ้าสังเกตต้นเงาะในตอนกลางวัน และติดตั้งกล้องอินฟราเรดเพื่อดักถ่ายในเวลากลางคืน ร่วมกับการวางที่ดักผลไม้ พบว่ายังมีสัตว์กินพืชอีกหลายชนิด กินเงาะป่าเป็นอาหาร เช่น ลิง กระรอก เก้ง และกวาง สัตว์เหล่านี้มีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการงอกของเมล็ดไม้ ลิงซึ่งแวะมาเป็นฝูงแต่ไม่ทุกวัน กินทิ้งกินขว้าง บางเมล็ดที่มีเนื้อติดอยู่ กลายเป็นอาหารของสัตว์หากินระดับพื้นล่างอย่างเก้ง กวาง และหนู มากกว่าช่วยกระจายพันธุ์ กระรอกที่แม้ว่ากินเงาะป่าเป็นจำนวนรวมมากที่สุด แต่เมล็ดส่วนใหญ่เสียหาย เป็นรอยถลอกจากการแทะ สำหรับเก้งและกวางที่ออกมากินเมล็ดไม้ในตอนกลางคืน ช่วยกระจายเมล็ดในบริเวณใกล้ๆ จากการสำรอกเมล็ดที่กระเพาะย่อยไม่ได้ออกมา ในขณะที่ชะนีฉีกเปลือกเป็นสองซีกก่อนกินทีเดียวหมดทั้งผล และขับถ่ายออกมาพร้อมมูล เป็นการช่วยกระจายเมล็ดไปทั่วพื้นที่ เนื่องจากชะนีเป็นนักเดินทาง พวกมันจึงมีบทบาทสำคัญ ช่วยกระจายเมล็ดไม้ไปทั่วพื้นที่ เป็นการเพิ่มโอกาสการงอกและการเจริญของเมล็ดไม้ได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)