เทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนในโค ถูกใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศนานกว่า 30 ปี ปัจจุบัน ทั่วโลกผลิตตัวอ่อนจากแม่โคตัวให้ เพื่อย้ายฝากตัวอ่อนแก่แม่โคตัวรับมากกว่า 500,000 ตัวอ่อนต่อปี เทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนช่วยเร่งการเพิ่มปริมาณโคนมพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตน้ำนมสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่อุตสาหกรรมโคนมไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ เทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนยังช่วยคัดเลือกเพศตัวอ่อน ก่อนการย้ายฝาก จึงเพิ่มโอกาสการได้โคเพศเมียมากขึ้น
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน สพ.ญ.จุรีย์รัตน์ สำเร็จประสงค์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนในโคเพื่อใช้ในเชิงธุรกิจ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนไปใช้ในระดับฟาร์ม ศึกษาการตอบสนองต่อฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ของแม่โคกับความสามารถในการผลิตตัวอ่อน การตอบสนองต่อฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัดในแม่โคตัวรับ การผลิตตัวอ่อนคุณภาพดี การตรวจเพศตัวอ่อนโดยวิธีพีซีอาร์ รวมไปถึงศึกษาอัตราการตั้งท้องหลังการฝากตัวอ่อนแช่แข็งและตัวอ่อนสด
ขั้นตอนการย้ายฝากตัวอ่อนโค
ขั้นตอนการย้ายฝากตัวอ่อน เริ่มจากการเหนี่ยวนำการเป็นสัดในแม่โคตัวให้และโคตัวรับ จากนั้นฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ และผสมเทียมแม่โคตัวให้ภายใน 12 ชั่วโมงหลังอาการสัด 2 – 3 ครั้ง จึงเก็บตัวอ่อน 7 วันหลังจากอาการสัดวันแรก ประเมินคุณภาพตัวอ่อนที่เก็บได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตัวอ่อนที่ได้จะย้ายฝากในแม่โคตัวรับทันที หรือแช่แข็งไว้ใช้ เมื่อแม่โคตัวรับมีความพร้อม ถ้าต้องการแยกเพศเพื่อคัดเลือกตัวอ่อนเพศเมีย ตรวจได้โดยใช้วิธีพีซีอาร์ก่อนการฝากตัวอ่อน
การผลิตลูกโคโดยใช้เทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อน ช่วยให้แม่โคพันธุ์ดีซึ่งในธรรมชาติให้ลูกได้อย่างมาก 1 ตัวต่อปี เพิ่มความสามารถผลิตลูกโคได้มากถึง 15-20 ตัวต่อปี เพราะสามารถเก็บตัวอ่อนได้เฉลี่ย 5-6 ตัวอ่อนต่อครั้ง และเก็บได้ทุก 2 เดือน สามารถนำตัวอ่อนไปฝากให้โคตัวรับ ซึ่งไม่จำเป็นที่แม่โคตัวรับ (แม่อุ้มท้อง) ต้องเป็นแม่โคพันธุ์ดี แต่ต้องมีความพร้อมในการฝาก
การผลิตตัวอ่อนจากแม่โคตัวให้ที่ให้ผลผลิตน้ำนมสูง และพ่อโคที่มีพันธุกรรมดี ร่วมกับการใช้เทคนิคการเลือกเพศ ช่วยให้ผลิตลูกโคเพศเมียที่ให้น้ำนมคุณภาพดีได้จำนวนมาก การย้ายฝากตัวอ่อนจึงมีศักยภาพช่วยเพิ่มจำนวนโคนมพันธุ์ดีได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมผลิตนมของประเทศ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไบโอเทค จึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนไปใช้ประโยชน์ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้สนใจ รวมทั้งผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวให้ดำเนินงานในรูปแบบเอกชน โดยจัดตั้ง บริษัท พัฒนาโคนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สวทช. สหกรณ์โคนม และบริษัทเอกชน ผู้สนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท พัฒนาโคนมไทย จำกัด 669 หมู่ที่ 1 ตำบลวังใหม่ กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว 27250 หรือโทรศัพท์ 02-5646700 ต่อ 3129 , 3112
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)