ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หิ่งห้อย, หิ่งห้อย หมายถึง, หิ่งห้อย คือ, หิ่งห้อย ความหมาย, หิ่งห้อย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
หิ่งห้อย

         หิ่งห้อย หรือ (Firefly) เป็นแมลงพวกด้วงปีกแข็ง จัดอยู่ในอันดับ คอลีออพเทอร่า (Coleoptera) วงศ์แลมพายริดี้ (Lampyridae) มีลักษณะลำตัวยาวรี  ตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยเพศผู้มีปีกเสมอ  ส่วนเพศเมียมีทั้งชนิดที่มีปีกและชนิดไม่มีปีก  ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวหนอน  หิ่งห้อยที่มีปีกมีลำตัวยาวตั้งแต่ 4-25 มิลลิเมตร แล้วแต่ชนิด  ส่วนเพศเมียที่เป็นตัวหนอนอาจมีลำตัวยาวถึง 100 มิลลิเมตร
          หิ่งห้อย มีอวัยวะทำแสงอยู่ที่ปล้องปลายท้องซึ่งมีอยู่  2 ปล้องในเพศผู้ และ 1 ปล้องในเพศเมีย  ตัวอ่อนหิ่งห้อยเป็นตัวหนอนที่มีอวัยวะทำแสงอยู่ที่ปลายท้อง  ไข่ของหิ่งห้อยบางชนิดมีแสง
         แสงของหิ่งห้อยเกิดจากขบวนการทางเคมี  โดยในปล้องแสงของหิ่งห้อยมีสารลูซิเฟอริน (Luciferin) รวมทั้งได้รับพลังงาน เอทีพี (ATP: Adenosine Triphoshate) ซึ่งเป็นโปรตีนให้พลังงานในเซลล์  ทำให้เกิดแสงที่เรามองเห็นได้ในเวลากลางคืน  หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อเป็นสื่อให้คู่ของมันมาผสมพันธุ์
         การกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีอยู่ 2 แบบ คือ  กระพริบแสงพร้อมกันและไม่พร้อมกัน  จังหวะการกระพริบแสงของหิ่งห้อยสามารถบอกถึงความแตกต่างของหิ่งห้อยแต่ละชนิดได้  หิ่งห้อยทำแสงทั้งช่วงเวลากลางวันและช่วงเวลากลางคืน
          หิ่งห้อยตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร เพียงแต่กินน้ำหรือน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้  ส่วนตัวหนอนเป็นตัวห้ำ ส่วนใหญ่กินหอยเป็นอาหาร  หอยที่เป็นอาหารหิ่งห้อยมีหลายชนิดที่เป็นพาหะของพยาธิต่างๆ เช่น พยาธิใบไม้ในเลือดหรือพยาธิใบไม้ในตับของคนและสัตว์  จึงเป็นการกำจัดไม่ให้พยาธิแพร่ระบาดได้
          หิ่งห้อยเมื่อผสมพันธุ์แล้ววางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามใบพืชหรือน้ำหรือตามดินที่ชื้นแฉะ ไข่ฟักออกเป็นตัวหนอนซึ่งมีอยู่ 4-5 วัย  จึงเข้าดักแด้แล้วออกมาเป็นตัวเต็มวัย  วงจรชีวิตของหิ่งห้อยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3-12 เดือน แล้วแต่ชนิด
          ในเวลากลางวันหิ่งห้อยหลบซ่อนตัวอยู่ตามพงหญ้าหรือวัชพืชในที่ชื้นแฉะ  หรือหลบตามกาบไม้ซอกไม้ต่างๆ ในเวลากลางคืนจึงบินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่  ตัวหนอนหิ่งห้อยมีแหล่งอาศัยแตกต่างกันไปตามชนิด  ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นและสะอาด ไม่มีมลพิษจากสิ่งแวดล้อม  เช่น ตามทุ่งนาและบ่อน้ำตามชนบท  บางชนิดอยู่ตามดินในป่าและตามป่าชายเลน
          ต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบเกาะกระพริบแสง ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่มีใบโปร่ง ในธรรมชาติพบเกาะอยู่ตามต้นลำพู ต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นโพทะเล และต้นทิ้งถ่อน รวมทั้งต้นไม้ที่อยู่ตามริมน้ำต่างๆ
          เนื่องจากหนอนหิ่งห้อยอาศัยอยู่ได้เฉพาะในแหล่งที่สะอาดเท่านั้น  การอนุรักษ์หิ่งห้อยทำได้โดยการรักษาแม่น้ำ ลำคลอง บึงต่างๆ ให้สะอาด โดยไม่ทิ้งขยะ หรือสารเคมีลงในแหล่งน้ำ  รวมทั้งอนุรักษ์ป่าไม้ เช่น ป่าต้นน้ำ  และป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์  ทำให้หิ่งห้อยสามารถขยายพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นการเพิ่มความสวยงามให้แก่ธรรมชาติต่อไป

ตำนานหิ่งห้อย

          ในประเทศไทย หิ่งห้อยก็มีชื่อให้เรียกขานต่างกันไป ตามแต่ละท้องถิ่น เช่น แถบบางเขน เรียกว่า แมลงทิ้งถ่วง อยุธยา, ชัยนาท เรียกว่า แมงคาเรือง ที่สุพรรณบุรี เรียกว่า แมงแสง
หิ่งห้อยนอกจากมีชื่อต่างกันไปตามท้องถิ่นแล้วในแต่ละที่ก็มีความเชื่อ ความรู้ เกี่ยวกับหิ่งห้อยแต่ต่างกันไป ทั้งในด้านปรัชญา ศาสนา ศีลธรรม 
          ความเชื่อของคนมาเลเซีย พวกโอรังดูซัน ซึ่งเป็นเผ่าพื้นเมือง เชื่อว่าหิ่งห้อยเป็นวิญญาณของคนตายส่วนคนมาลายูก็เชื่อว่าหิ่งห้อยเกิดจากเล็บมือมนุษย์
          ในอินเดีย มีคนเชื่อว่าหิ่งห้อย คือ นัยน์ตาของเทพเจ้าที่หลงเหลืออยู่ หลังจากสงครามซึ่งความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ ส่วนเนื้อหนังและกระดูกโดนโยนลงแม่น้ำและเน่าเปื่อยไปแล้วเหลือเพียงนัยน์ตาที่ส่องแสงได้ในความมืด
          ในอินเดียยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดหิ่งห้อยด้วยว่า หิ่งห้อยเกิดจากความร่วมมือของเทพ 3 องค์ เพื่อให้มนุษย์เลิกกินอาหารดิบและมีไฟเอาไว้ใช้ โดยเทพองค์แรกเป็นแมลงตัวหนึ่งปั้น มาจากขี้ไคลของพระองค์ อีกพระองค์ถูพระวรกายของพระองค์เองจนเกิดไฟลุกขึ้น แล้วก็เอาไฟไปติดที่แมลงตัวนั้น ส่วนอีกพระองค์ก็รีบนำแมลงตัวนี้ส่งให้มนุษย์อย่างเร่งด่วน แต่ระหว่างทางไฟก็ค่อย ๆ มอดลง เหลือเพียงที่ก้นแมลงอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งแมลงตัวนี้ก็คือ หิ่งห้อยตัวแรกนั่นเอง
          ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าหิ่งห้อยคือวิญญาณของคนตายตามที่ ส.พรายน้อย (นักเขียนผู้หนึ่ง) เล่าว่าในฤดูร้อนริมฝั่งแม่น้ำอูจี (ในญี่ปุ่น) ฝูงหิ่งห้อยที่อยู่คนละฟากของแม่น้ำจะยกพลเข้ารบกัน พวกที่แพ้ก็จะตกลงไปในน้ำ ทำให้ผิวน้ำเป็นประกายชาวบ้านจึงจับกลุ่มกันดูความงามอันน่าประหลาดนี้และกล่าวว่า นี่คือนิสัยคุมถิ่นที่ติดตัวมาครั้งที่ยังเป็นมนุษย์และหิ่งห้อยนี่คือ วิญญาณของ 2 ตระกูลนักรบในอดีตที่รบรากันมาแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน
          อดีตมีการใช้ประโยชน์หิ่งห้อยเป็นโคมไฟราคาถูกสำหรับชาวบ้าน ในจีนและญี่ปุ่น นักศึกษาที่ยากจนจะจับหิ่งห้อยใส่ภาชนะต่างตะเกียงเพื่อใช้อ่านหนังสือในเวลากลางคืน ที่จาไมก้าหิ่งห้อยมีขนาดใหญ่ให้แสงสว่างมากเพียงแค่ 6-7 ตัวก็ให้แสงสว่างเพียงพอกับการอ่านหนังสือแล้ว ที่บราซิลจะจับหิ่งห้อยมาใช้ในพืชพวกน้ำเต้า เจาะรูรอบ ๆ ใช้แทนตะเกียงในกระท่อม บางครั้งชาว บราซิลจะจับหิ่งห้อยมาประดับในเรือนผม หรือไม่ก็ผูกไว้ที่ข้อเท้าขณะเดินป่า ชาวปานามาที่ยากจนนิยมจับหิ่งห้อยใส่ในกรงกระดาษเล็ก ๆ เพื่อนำมาติดเป็นต่างหู แม้แต่ในประเทศไทยก็มีตำนานที่สืบทอดกันมานาน กล่าวว่าหิ่งห้อยคือวิญญาณของชายที่จุดตะเกียงโคมตามหาหญิงคนรักที่ชื่อนางลำพูซึ่งจมหายไปในแม่น้ำ เพราะฉะนั้นลำพูจึงเป็นต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบเกาะเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นวิญญาณของคนรักตน


หิ่งห้อย, หิ่งห้อย หมายถึง, หิ่งห้อย คือ, หิ่งห้อย ความหมาย, หิ่งห้อย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu