ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? หมายถึง, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? คือ, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? ความหมาย, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?

บทวิเคราะห์การเมืองภาคประชาชนในรอบ ๑๕ ปี
เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

(1) ๔ ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อขบวนการประชาชนในวาระ ๑๕ ปี พฤษภาประชาธรรม
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : เขียน
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(พรรคแนวร่วมภาคประชาชน)

พฤษภาประชาธรรม 2535 คือ การลุกขึ้นสู้ของขบวนการประชาชน เพื่อล้มเผด็จการทหารสุจินดา ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายในปี 2534 และจบลงด้วยการปราบปรามอันรุนแรงของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชน ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และวิธีคิดโดยทั่วไปของสังคมไทย รวมทั้งภาคประชาชนไทยอย่างมากมาย ชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนั้นของประชาชนนำมาซึ่งกระแสการปฏิรูปการเมือง จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในที่สุด

เราอาจกล่าวได้ว่าผลของการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการประชาชนในปี 2535 ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ "ประชาชน" นี้ ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีมาตราที่กำหนดโดยประชาชนมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมา และต่อมารัฐธรรมนูญฉบับนี้เองได้กลายเป็นเงื่อนไขเชิงกติกาทางการเมืองให้รัฐบาลของไทยรักไทย สามารถขึ้นมามีอำนาจได้นับตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งต้องล้มไปอันเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารของทหารที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คปค. ใน;yomuj 19 กันยายน ปี 2549 และนำไปสู่การตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารของสุรยุทธ์ จุลานนท์ในเวลาต่อมา

นับเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 15 ปีแล้วที่สิ่งที่พวกเราเรียกแบบหลวมๆ ว่า "ขบวนการประชาชน" หรือ "การเมืองภาคประชาชน" ได้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญๆ มาจนวันนี้เราอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไร้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของขบวนการประชาชนจำนวนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้บทบาทของขบวนการประชาชนจะมีสูงขึ้นอย่างไรในสังคมการเมืองไทย แต่การที่รัฐประหาร 19 กันยา สามารถเกิดขึ้นได้ ก็สะท้อนให้เราเห็นความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

บทความนี้มีข้อสังเกตเชิงทฤษฎีเบื้องต้นต่อสิ่งที่เรียกหลวมๆ ว่า "การเมืองภาคประชาชน" ในช่วง 15 ปีนับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงปัจจุบัน 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ขบวนการประชาชน เอ็นจีโอ และปัญญาชนทั้งฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม ได้มีฉันทามติ(consensus) ร่วมกันใน "แนวคิดชุมชนนิยม" (2) หรือที่เรียกในชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น "วัฒนธรรมชุมชน" "ชุมชนพึ่งตนเอง" "เกษตรทางเลือก" โดยมีการนำเสนออย่างมากจากหลายแง่มุมจากทั้งปัญญาชนอดีตฝ่ายซ้ายหลายคน ราษฎรอาวุโส เอ็นจีโอ และขบวนการทางสังคมหลายกลุ่ม ในฐานะที่เป็นทางออกต่อความเลวร้ายของโลกทุนนิยมเสรี

แนวคิดชุมชนนิยมนี้เอง ได้กลายเป็นสนามของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างกลุ่มหรือพลังทางสังคมต่างๆ ในอันที่จะให้ความหมายหรือคำนิยามที่สอดคล้องไปกับผลประโยชน์ของตนเอง แม้แนวคิดชุมชนจะดูหลากหลายและแตกต่างกันไป แล้วแต่คำนิยามของแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้น แต่เราก็กล่าวได้ว่า "แนวคิดชุมชนนิยม" ได้กลายเป็น common sense (3) อันใหม่ของขบวนการประชาชนนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

ชนชั้นนำในสังคมเองก็เช่นกัน ซึ่งได้พยายามเข้ามาช่วงชิงในการสร้างความหมายของ "แนวคิดชุมชน" และภาคประชาชนเองก็นำมาผลิตซ้ำความหมายดังกล่าวที่ถูกสร้าง และถูกช่วงชิงไปโดยชนชั้นปกครองเพื่อเชื่อมโยงถึงฉันทามติแบบชุมชนนิยมอย่างไร้การตั้งคำถาม การพูดถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในความหมายเดียวกับ "เศรษฐกิจชุมชน" ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่พูดลอยๆ แต่เป็น "ยุทธศาสตร์" ทางชนชั้นที่ต้องการกลบเกลื่อนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน อันเป็นผลมาจากการกดขี่ขูดรีดทรัพยากร และวิถีชีวิตของคนธรรมดามาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

การเติบโตของอุดมการณ์แบบ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ของขบวนการประชาชนเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ได้กลายเป็น "ฉันทามติ" อันใหม่ซึ่งทำหน้าที่ครองความคิดจิตใจ (hegemony) ขบวนการภาคประชาชน ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในเชิงพื้นที่นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของการเมืองแบบเอ็นจีโอ ในกระบวนการขยายตัวของขบวนการภาคประชาชนนี้เอง ในด้านหนึ่งได้ผนวกเอาปัญญาชนฝ่ายรัฐ เช่น ราษฎรอาวุโส และปัญญาชนทั้งฝ่ายขวาและเสรีนิยม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือหลายครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสามารถชี้นำทางความคิดที่สำคัญของขบวนการประชาชนเอง และเราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นี่คือผลพวงสำคัญจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

การมีสถานะครองความคิดจิตใจอย่างกว้างขวางของ "แนวชุมชนนิยม" ที่ถูกนำไปโยงกับความอ่อนแอและลักษณะประนีประนอมของขบวนการประชาชนนั้น ได้นำไปสู่การที่ภาคประชาชนให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อรัฐบาลไทยรักไทย ที่หยิบเอาแนวคิดแบบชุมชนของขบวนการประชาชนไปใช้ และต่อมาฉันทามติเช่นนี้เองก็นำพาให้เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา ด้วยข้อกล่าวหาว่า ไทยรักไทยมีนโยบายที่ไม่เดินตาม "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง ซึ่งได้กลายเป็น "ข้ออ้าง" ที่ดูมีความชอบธรรมอย่างสูงในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมา (4)

ประการที่สอง ขบวนการประชาชนไม่เคยแตกหักกับแนวคิดชาตินิยม (5) ไม่ว่าชาตินิยมจะพัฒนาไปสู่รูปแบบที่พยายามรวมเอาประชาชนเข้ามา หรือชาตินิยมที่อิงอยู่กับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ของการอ้างอิงการต่อสู้กับแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบก็คือ การล้มทักษิณของขบวนการพันธมิตรฯ ในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมาก็ยังคงอธิบายว่า การขายหุ้นหรือการซุกหุ้น หรือแม้แต่การทำเอฟทีเอ การแปรรูป เป็นเรื่อง"ขายชาติ", "ทรยศชาติ", นำไปสู่การที่แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแข็งขันต่อการนำเสนอมาตรา 7 หรือการเรียกร้องนายกฯพระราชทานในช่วงที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทย โดยเรียกขบวนการของตนเองว่า "ขบวนการกู้ชาติ" หรือตัวอย่างก่อนหน้านั้น เราจะเห็นการที่ขบวนการแรงงาน (6) อธิบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ "รัฐ" ไทยในหลาย "รัฐบาล" ว่าเป็นการ "ขายชาติ" ซึ่งหนึ่งในแกนนำของขบวนการแรงงานนั้นก็คือคนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข

การใช้แนวทาง"ชาตินิยม"ของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา นำไปสู่การที่ผู้นำของขบวนการประชาชนสามารถประนีประนอมกับกลุ่มทุน หรือชนชั้นปกครองบางกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาได้ หากเห็นว่า กลุ่มย่อยของชนชั้นปกครองนั้นๆ ไม่ได้ทำอะไรที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของ "ชาติ" มากเกินไป ปัญหาของการไม่แตกหักกับชาตินิยมของขบวนการประชาชนนี้เอง นำไปสู่การไม่สามารถสร้างจุดแตกหักทางความคิดกับแนวทางเสรีนิยมหรือทุนนิยมได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ขบวนการประชาชนกำลังต่อสู้กลับไม่ใช่ทุนนิยมอีกต่อไป แต่กลายเป็น "ต่างชาติ" "นักการเมืองขายชาติ" ซึ่งหากนักการเมืองหรือชนชั้นนำคนไหนดูเหมือนว่า "รักชาติ" "มีจริยธรรม" มากหน่อยก็สามารถจะให้การสนับสนุนหรือจับมือกันได้ในที่สุด ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้จากการที่การขึ้นมาของพรรคไทยรักไทย และการเกิดรัฐประหาร 19 กันยาที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำของขบวนการประชาชนอย่างกว้างขวาง

ประการที่สาม ผู้เขียนเห็นด้วยกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (7) ที่เสนอว่า ในสายตาของขบวนการประชาชนนั้น มโนทัศน์ (concept) เรื่อง "รัฐ" (state) ได้ถูกลดทอนให้กลายเป็น "รัฐบาล" (government) โดยเฉพาะนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา สะท้อนความตกต่ำของแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือแนวฝ่ายซ้ายในการเมืองไทย ซึ่งถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมหรือเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีลักษณะลดทอนโดยวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐทุนนิยมสามารถเป็นกลางได้ และทัศนคติแบบลดทอนนี้เองได้นำไปสู่การประสานและความร่วมมือ หรือความไว้วางใจนักคิดแบบเสรีนิยม(ลดทอน)ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมายมหาชน หรือ นักรัฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีลักษณะเป็นนักเทคนิคทางการเมือง มากกว่าจะเป็นปัญญาชนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ในความหมายเดิมของฝ่ายประชาชนในอดีต

รูปธรรมคือ การมอบฉันทะและความไว้วางใจให้นักคิดเสรีนิยม ซึ่งเป็นปัญญาชนฝ่ายรัฐได้เป็นผู้ร่างหรือกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น ที่เกิดขึ้นกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก็ใช้เนติบริกร และนักเทคนิคทางการเมืองเช่นเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ภาคประชาชนหลายส่วนสามารถมีฉันทามติกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายมาตราที่ลดอำนาจของประชาชน และเพิ่มอำนาจให้รัฐและกลุ่มทุน เช่น มาตรา 87 ที่ระบุไว้ชัดว่าจะ รัฐไทยจะต้องเป็นรัฐที่เชิดชูทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมกลไกตลาดอยู่ ซึ่งนำไปสู่การรับรองให้รัฐไทยสามารถแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทำสัญญาเอฟทีเอ ได้อย่างชอบธรรม "ตามกฎหมาย"
(มาตรา 87: รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีการสาธารณูปโภค)

หรือ แม้แต่การที่ขบวนการประชาชนเข้าร่วมโดยมีกรอบคิดที่จำกัดแต่เพียงข้อเสนอเชิงเทคนิคต่อการร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารในปี 2550 โดยไม่นำไปสู่การพูดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม หรือการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ จับต้องได้ นอกเสียจากการพูดถึง รูปแบบขององค์กรอิสระ การเลือกตั้ง หรือการแก้ไขกฎหมายบางมาตราในรัฐธรรมนูญตามกรอบแบบเสรีนิยม (8)

นี่เองสะท้อนทัศนะลดทอนของขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ต่อรองแค่ในกรอบของกฎหมาย และสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ มากกว่าจะมุ่งไปสู่การตั้งคำถามเชิงโครงสร้างกับ "รัฐทุนนิยม" (capitalist state) ที่มีความหมายมากไปกว่าแค่ "รัฐบาลนายทุน" (capitalist government) (9) ส่งผลให้การต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา "แทบจะ" ไม่พูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐานของโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิต หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่สร้างความไม่เท่าเทียมในทุกๆ มิติในปัจจุบัน

ทัศนคติแบบลดทอนนี้เอง ได้นำไปสู่การหมกมุ่นกับการจับผิดนักการเมืองในระบอบรัฐสภา ว่า คนไหนที่คอร์รัปชั่นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากหรือน้อยยังไง โดยทำให้การวิพากษ์รัฐทุนนิยมกลายเป็นเรื่องของ "จริยธรรมส่วนตัว" ของผู้นำรัฐบาลแต่ละคน โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งคำถามกับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการคอร์รัปชั่นทับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้ภาคประชาชนหลายส่วนโดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สามารถทำได้แค่โจมตีทักษิณในประเด็นคอร์รัปชั่น ขายชาติ โดยไม่ได้พูดถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม ที่วางอยู่บนการมีความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม อันเป็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง โดยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการประชาชนหลายส่วน สามารถยินดีปรีดาได้กับการมีผู้นำที่ดูมีจริยธรรม "มากกว่า" หรือดู "พอเพียงกว่า" ผู้นำคนที่ตนเองไม่ต้องการ เช่น ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปจับมือกับเผด็จการทหารดังที่เราเห็นในปัจจุบัน (10)

ประการที่สี่ นับตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการประชาชน ชนชั้นนำเอ็นจีโอ และปัญญาชนของขบวนการประชาชนไม่เคยไว้วางใจ คนจนหรือชนชั้นล่าง และแม้กระทั่งไม่มีความมั่นใจในการสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน (11) หรือ การสร้างอุดมการณ์ทางเลือกให้กับภาคประชาชน นำไปสู่การต้องพึ่งพิงหรือหยิบยืม "วิธีการมองโลก" ของปัญญาชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นพวกเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งกลุ่มทุนขวาจัด เช่น TDRI (12) หรือแนวชุมชนฝ่ายขวาแบบหมอประเวศในที่สุด

เราสามารถเห็นตัวอย่างเหล่านี้ได้ชัดเมื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าไปร่วมกับ สนธิ ลิ้มทองกุล ของภาคประชาชนหลายส่วน ได้มีจุดยืนคัดค้านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 2 เมษายน 2549 ด้วยข้ออ้างว่า คนชนบทหรือคนจนที่ไปเลือกทักษิณนั้นเป็นคน "ไร้การศึกษา" "ขาดข้อมูล" "ไม่มีความรู้" และจะทำให้พรรคไทยรักไทย (ซึ่งมีสันดานชอบละเมิดพระราชอำนาจ คอร์รัปชั่น สร้างความแตกแยกให้สังคม) สามารถกลับมาได้อีกครั้ง แทนที่จะมองว่าคนธรรมดาเลือกเพราะมองว่า อย่างน้อยไทยรักไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่มี หรือว่าเลวน้อยที่สุดที่มีในขณะนั้นๆ

ลักษณะการดูถูกคนจนของชนชั้นนำของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้เอง ได้นำมาสู่การไม่ยอมหันหน้าออกไปสร้างฐานมวลชนที่ตนเองเคยมีหรือเคยทำงานด้วยเพื่อล้มทักษิณ แต่นำไปสู่การจับมือกับ สนธิ ลิ้มทองกุล และหยิบยืมวิธีการมองโลกของฝ่ายที่เป็นศัตรูของคนจนเองมาใช้ ในการวิพากษ์วิจารณ์ไทยรักไทย ซึ่งการสร้างแนวร่วมที่พิกลพิการและไร้จุดยืนที่เคียงข้างชนชั้นที่ถูกกดขี่นี้เอง ได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องนายกพระราชทานไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม (13) ซึ่งในที่สุดกลายเป็นการเปิดทางให้กับการรัฐประหารหรือแม้แต่เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ก็ยังเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับ คมช. อย่างไร้ความละอาย เช่น ในกรณีของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น

ดังนั้นการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้ประเด็น "โกงการเลือกตั้ง" "ซื้อเสียง" เพื่อโจมตีไทยรักไทยนั้น เมื่อพูดถึงที่สุดแล้วก็คือการบอกอย่างเป็นนัยว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนโง่ และไม่ (ควรจะสะเออะ) มีสิทธิมีเสียงนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวนี้มิได้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตทั้ง 4 ประการนี้ อาจมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจถึงข้อจำกัดของขบวนการประชาชนอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2535 ได้ชัดเจนมากขึ้น และอาจนำมาสู่การแสวงหายุทธศาสตร์ และวิธีการมองโลกของขบวนการประชาชนเอง โดยไม่พึ่งพาวิธีการมองโลกของปัญญาชนฝ่ายที่เป็นศัตรูกับคนจนแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นความหวังในหลายกรณี เช่น ขบวนการแรงงานที่นำโดยคนรุ่นใหม่หลายส่วน (14) ได้ออกมามีจุดยืนอิสระที่คัดค้านรัฐประหาร โดยไม่ร่วมสังฆกรรมกับผู้นำแรงงานเดิมที่ประนีประนอมกับเผด็จการทหาร หรือกรณีที่ขบวนการนักศึกษาคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง (15) ออกมาคัดค้านเผด็จการทหารอย่างแข็งขันตลอดมา นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา

เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ยังคงให้ความหวังกับเราว่า ในไม่ช้านี้ขบวนการประชาชนของเราจะเข้มแข็งเป็นอิสระ และสามารถฝ่าฟันกับเพดานทางความคิดใดๆ ก็ตามที่เป็นอุปสรรคอยู่ เพื่อที่เราจะสามารถเสนอภาพของ "โลกใบใหม่" ของเราร่วมกันได้เอง ผ่านการต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะในระยะอันสั้นนี้คือการ คว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 และการสร้าง รัฐสวัสดิการ เป็นชัยชนะระยะยาวของเรา

เชิงอรรถ
(1) บทความขนาดสั้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากการนำเสนอในวาระครบรอบ 15 ปี พฤษภาประชาธรรม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550

(2) บุคคลที่น่าสนใจก็คือ หมอประเวศ วะสี, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, พลเดช ปิ่นประทีป ที่มีบทบาทในสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนไทยรักไทยในช่วงแรกที่เป็นรัฐบาล และมีบทบาทอย่างมากในการขับไล่ทักษิณในช่วงปี 2549 ซึ่งต่อมาไพบูลย์และพลเดชก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสุรยุทธ์

(3) ผู้เขียนใช้คำว่า Commom sense นี้ในความหมายของ Antonio Gramsci

(4) ดูการอธิบายของ ประเวศ วะสี, พิภพ ธงไชย, ธีรยุทธ บุญมี, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ ในการให้สัมภาษณ์หรือบทความหลายๆ แห่งทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร

(5) ปัญญาชนชาตินิยมที่มีอิทธิพลทางความคิด เช่น พิทยา ว่องกุล, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ก็เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยมาก่อนทั้งสิ้น หรือแม้แต่ คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงาน

(6) ดูได้จากเอกสารหรือสติกเกอร์รณรงค์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งในช่วงที่ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และในวันแรงงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงที่ไล่ทักษิณ

(7) "หลัง ๑๔ ตุลา" ใน ฟ้าเดียวกัน , ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 168-171.

(8) ดู จดหมายข่าว ครป. ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และเอกสารรณรงค์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

(9) ประเด็นนี้สามารถหาอ่านได้ในงานวิชาการสายมาร์กซิสต์อย่างเช่น Nicos Poulantzas, State, Power and Socialism (London and New York: Verso, 1980)

(10) สุริยะใส กตะศิลา เองก็ชื่นชมว่า สุรยุทธ์เป็นคนดี อย่างน้อยก็ดีกว่าทักษิณ ดูคำสัมภาษณ์นี้ใน ประชาทรรศน์, ปีที่ 1(29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2550), หน้า 4.

(11) ดูที่ พิภพ ธงไชย กล่าวในสารคดีเรื่อง "เหลี่ยมชีวิต ทักษิณ ชินวัตร" ออกอากาศในรายการ คม-ชัด-ลึก วันที่ 28 ธันวาคม 2549

(12) หนึ่งในประธานของ TDRI คือ ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของสุรยุทธ์ โดยแต่งตั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2550

(13) หลายคนในพันธมิตรฯ อ้างว่า ไม่มีทางเลือกอื่น หรือเจอทางตัน ทำให้ต้องเสนอมาตรา 7 เช่น สุริยะใส กตะศิลา เป็นต้น หรือ เอ็นจีโออาวุโส อย่าง บำรุง บุญปัญญา ก็มองว่า ขบวนการขับไล่ทักษิณถึงทางตันแล้ว จึงจำเป็นต้องเสนอมาตรา 7

(14) เท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสคือ สหพันธ์สิ่งทอแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ที่มีจุดยืนชัดเจนค้านรัฐประหาร

(15) เช่น เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย


(2) ปัญญาชนบนเขาควาย?
วิโรจน์ ณ ระนอง : เขียน
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.อัมมาร สยามวาลา ที่ได้กรุณาอ่านและวิจารณ์ร่างก่อนหน้านี้ บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับจุดยืนของสถาบันต้นสังกัด

"ถึงเวลาต้องเลือกข้างได้แล้ว"
สนธิ ลิ้มทองกุล (เก็บความจากการอภิปรายในหลายครั้งในปี 2549)

"ถ้าผมปฏิเสธรัฐประหาร หมายความว่าผมต้องเลือกการนองเลือดใช่ไหม พูดง่ายๆ ระหว่างทักษิณกับรัฐประหารผมเอาอะไร มันเป็นโศกนาฏกรรม (tragedy) ที่เราต้องอยู่ตรงนั้น"
ไชยยันต์ ไชยพร (บทสัมภาษณ์ใน วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ "อ่านเอาเรื่อง: รัฐประหาร ทางออกสุดท้ายของการเมืองไทยยุคทักษิณ?" สารคดี ตุลาคม 2549)

"ในชีวิตผมไม่เคยเป็นกลาง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความถูกต้องและความผิด ไม่เป็นกลางระหว่างความถูกกับความชั่ว ระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคยเป็นกลางระหว่างธรรมะและอธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างวิชาและอวิชา หรือระหว่างกติการัฐธรรมนูญที่ถูกต้องกับกติกาที่จัดตั้ง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างอิสรภาพของสื่อกับการกีดกันอิสรภาพ ไม่เคยเป็นกลางระหว่างหลักนิติธรรมกับการใช้ความอยุติธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความดีและความไม่ดี ผมอยู่ฝ่ายหนึ่งเสมอไป และตลอดชีวิตเชื่อว่าฝ่ายที่ผมอยู่นั้นถูกต้อง ...

... ปัจจุบันสังคมไทยแตกเป็นสองซีก ตัวเลขไม่สำคัญว่าจะเป็น 16 ล้าน หรือ 19 ล้าน ถ้าสังคมไทยยังแตกแยก เกลียดชังถึงขั้นนี้ และสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้มีความเกลียดชัดกันต่อไป ให้มีการประหัตประหารกันต่อไป น่ากลัว น่ากลัวมาก เป็นสิ่งที่ทุกๆ ฝ่ายต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น"
อานันท์ ปันยารชุน ปาฐกถา "ปฎิรูปสังคมและการเมืองครั้งใหม่" 30 สิงหาคม 2549

ปี 2549 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่เมื่อผ่านไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า เหตุการณ์หนึ่งที่คนจำนวนมากจะยังคงจดจำได้ก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้คนจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย

สำหรับสังคมไทยที่มักจะนิยมพูดถึงทางสายกลาง และในหลายครั้งเราได้พบเห็นการประนีประนอมกันทางการเมืองอย่างที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการเท่าใดนัก ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากปกติ คือมีการรณรงค์ให้ "เลือกข้าง" เพื่อชาติ ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย (รวมทั้งชนชั้นกลางในเมืองที่มักจะเชื่อว่าตัวเอง "มีการศึกษา" และคนที่คิดว่าตัวเองเป็น "ปัญญาชน" ทั้งหลาย) ต้องปรับตัวเพื่อรับกับโจทย์ใหม่ข้อนี้ และก็ไม่แปลกอะไรที่ในสังคมที่มีการปลูกฝังค่านิยมให้ผู้น้อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมทั้งผู้มากบารมีทั้งหลายนั้น ชนชั้นกลางและนักวิชาการจำนวนมากมีปัญหากับการปรับตัวครั้งนี้ จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วว่า มีหลายกรณีที่การปรับตัว (ที่ไม่เหมือนกัน) ของคนที่ใกล้ชิดกัน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงาน จนบางท่านที่ "ใจไม่แข็งพอ" ถึงกับบอกว่าไม่ขอพบกับเพื่อนที่มีความเห็นต่างกันในระยะนี้ เพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะเสียเพื่อนที่ "อาจจะ" ได้ทะเลาะกันในเรื่องพวกนี้ ถ้ามาพบหน้าค่าตากัน

ผมไม่มีข้อมูลพอที่จะบอกได้ว่าการปลุกระดมด้วยวาทกรรม "ต้องเลือกข้าง" ที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผลักดันมาเป็นเวลานาน (1) มีผลต่อพฤติกรรมของ "ปัญญาชน" และชนชั้นกลางในเมือง (ที่ไม่ค่อยคิดว่าตัวเองจะมีโอกาสถูกหลอกหรือมอมเมาได้ง่ายๆ เหมือนชาว "รากหญ้า") หรือไม่เพียงใด แต่การสังเกตจากแวดวงที่ผมพอรู้จักหรือปะทะสังสันท์ด้วย ก็พบว่ามีคนจำนวนมากเห็นว่า ตัวเองจำเป็นหรือสมควรต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ในบรรดาสองพลังที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น คือ เลือกสนับสนุนคุณสนธิและพันธมิตรฯ หรือสนับสนุนคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คนเหล่านั้นก็ยังเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องเลือกข้างกันต่อไป (แต่ข้างแรกเปลี่ยนจากพันธมิตรฯ ที่มีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้มีบทบาทนำที่สำคัญ มาเป็นคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และรัฐบาลที่เกิดขึ้นตามมาจากการรัฐประหารครั้งนั้นแทน)

ในสังคมที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยนั้น การเลือกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือให้ความสนับสนุนผู้นำ พรรค หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดด้วยความเชื่อทางอุดมการณ์ (หรือแม้กระทั่งด้วยผลประโยชน์) ที่สอดคล้องต้องกัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติอะไร แต่สิ่งที่ถือได้ว่าเป็น "ความไม่ปกติ" ของปรากฏการณ์และวาทกรรม "เลือกข้าง" ในปีที่ผ่านมาก็คือ มีคนจำนวนมากที่รู้สึกว่าตนต้องเลือกข้างด้วยความ "จำใจ" เพราะเป็นการเลือกจากสองข้าง (หรือสองขั้ว) ที่ตนมีข้อกังขาในพฤติกรรมที่ผ่านมาในหลายๆ ด้าน หรืออีกนัยหนึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้เชื่อว่าตัวเองกำลังเลือกข้างระหว่าง "ความถูกต้องและความผิด ความดีกับความชั่ว หรือระหว่างประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย" อย่างที่คุณอานันท์ได้กล่าวถึง แต่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเลือกจากตัวเลือกที่เป็น "สีเทา" ที่ตนไม่อยากเลือกทั้งสองตัว

แต่ที่ต้อง "จำใจเลือก" ก็เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ "จำเป็น" สำหรับบ้านเมืองที่พลเมืองดีอย่างพวกเขา ไม่ควรเพิกเฉยหรือปฏิเสธความรับผิดชอบโดยไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในสถานการณ์ที่อยู่ "ระหว่างเขาควาย" ที่ไม่พึงปรารถนาทั้งคู่นั้น หลายท่านได้พยายาม "ชั่งน้ำหนัก" และเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายที่ตนคิดว่า "เลวน้อยกว่า" และบางรายก็แอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าตนคง "เลือกไม่ผิด" ถึงแม้ว่าหลายคนจะอดห่วงไม่ได้ว่า ในที่สุดฝ่ายที่ต้องสูญเสียโดยไม่ได้อะไรกลับมาก็คือฝ่ายประชาชน ที่เป็นกำลังสนับสนุนที่คงจะไม่ได้มีโอกาสได้ดิบได้ดีเหมือนกับขุนพลในสองฟากนี้

นอกจากการตัดสินใจเข้าไปร่วมวงไพบูลย์กับข้างใดข้างหนึ่งแล้ว บรรดา "ปัญญาชนผู้เห็นแก่บ้านเมือง" เหล่านี้ยังพยายามโน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้าไปร่วมวงกับตนด้วย (โดยใช้ตรรกทำนองที่ว่า "ถ้าท่านไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา" โดยอาจมองข้ามไปว่าการลุยเข้าไปแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี ก็มีโอกาส "สร้างปัญหา" เพิ่มขึ้นมาได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐประหารครั้งนี้ก็มีส่วนที่เป็นผลตามมาจากความพยายามที่จะเป็น "ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา" ของหลายๆ ท่านด้วย)

การโน้มน้าวด้วยตรรกข้างต้นถูกขยายไปสู่ระดับที่ว่า "ถ้าคุณไม่เข้ามาร่วมขบวนของสนธิ ก็หมายความว่าคุณเป็นพวกทักษิณ" (หรือสนับสนุนหรือเป็นแนวร่วมมุมกลับของทักษิณหรือพวก "ตุลาชิน") หรือ "ถ้าคุณคัดค้านทักษิณ คุณก็คือพวกสนธิ-จำลอง" (หรือเป็นพวกนิยมอำนาจเก่า, ทาสศักดินา, นิยมมาตรา 7, นิยมรัฐประหาร ฯลฯ) ด้วยตรรกทำนองนี้ หลายคนที่เคยออกมาคัดค้านมาตรการอาชญากรรมของรัฐในกรณีฆ่าตัดตอน และอุ้มฆ่าภาคใต้อย่างรุนแรงตั้งแต่ยังไม่มี "ขบวนการสนธิ" ก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งเหมารวมเข้าเป็น "สมุนทักษิณ" เมื่อพวกเขาแสดงความเห็นว่าข้อเรียกร้องหลายประการของ "ขบวนการสนธิและพันธมิตร" เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกคนอีกกลุ่ม (ซึ่งเห็นว่าทักษิณเป็นทางเลือกที่ "ก้าวหน้ากว่า") มองว่า การคัดค้านทักษิณของพวกเขาเป็นพฤติกรรมแบบ "ไร้เดียงสา" ที่ในความเป็นจริงแล้วก็คือการเลือกที่จะอยู่ข้างขั้วอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวถึงก็คัดค้านการขอรัฐบาลพระราชทาน และคัดค้านรัฐประหารมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน (2)

ในชีวิตจริงของคนเรานั้น อาจมีหลายโอกาสที่เราต้องตัดสินใจ "เลือกข้าง" เมื่อเดินมาถึงทางสองแพร่งที่ชัดเจน (เช่น ระหว่าง "ความถูกกับความผิด" หรือระหว่าง "ความดีกับความชั่ว") ซึ่งสำหรับหลายคนแล้ว การใช้จริยธรรมสำนึกของตนนำทางจะช่วยให้ตนสามารถเลือกข้างและออกจากสถานการณ์ที่เป็นทางสองแพร่งแบบนั้นได้โดยไม่ยากนัก (ถึงแม้ว่าบางครั้งการเลือกทางที่ถูกอาจทำให้ชีวิตลำบากกว่าก็ตาม) แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาเป็นข้อบ่งชี้ว่า ในชีวิตจริงนั้น มีโอกาสเช่นกันที่เราอาจจะหลงผิด (หรือถูกโน้มน้าวให้เชื่อ) ว่าเรามีความจำเป็นต้อง "เลือกข้าง" ถึงแม้ว่าในทั้งสองข้างที่มีให้เลือกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น "สีเทา" ที่จริยธรรมสำนึกของเราจะปฏิเสธไม่เลือกในยามปกติ ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า แล้วทำไมหลายคนกลับรู้สึกว่าจำเป็นต้องเลือกในสภาวการณ์ที่มีตัวเลือกที่เป็น "สีเทา" เพิ่มขึ้นเป็นสองตัวเล่า?

ข้ออ้างประการหนึ่งถึงความจำเป็นที่ต้องเลือกข้าง "สีเทา" ข้างใดข้างหนึ่งก็คือ ถึงแม้ในความเป็นจริงอาจมีทางเลือกมากกว่าสองทาง (ตัวอย่างของทางเลือกที่สามที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนักวิชาการที่คัดค้านทั้งทักษิณและการขอรัฐบาลพระราชทาน และต่อมาก็คัดค้านรัฐประหารด้วย) แต่ในสมการการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนั้น มีเพียงสองขั้วใหญ่เท่านั้นที่มีพลังพอที่จะสู้รบปรบมือกันได้ ดังนั้น ถ้าคุณ "ไร้เดียงสา" ไปเลือกทางที่สามหรือที่สี่ที่ห้า เสียง (หรือ "พลัง") ของคุณก็จะไม่มีความหมาย ซึ่งการประเมินทำนองนี้มีส่วนจริงในทางการเมือง แต่คนเหล่านี้คงมองข้ามไปว่า ในระบบที่มีการเลือกตั้งนั้น ปกติเสียงของปัจเจกแต่ละรายก็ไม่เคยเป็นเสียงชี้ขาดอยู่แล้ว (3) และในระบบเผด็จการนั้น เสียงของปัญญาชน (และประชาชนทั่วไป) ก็มักจะไม่ได้รับการรับฟังเท่าใดนัก

แน่นอนว่า รัฐบาลมักจะยินดีรับฟังเสียงของนักวิชาการที่เป็น "หุ้นส่วน" ในการเคลื่อนไหวท

เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน?, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? หมายถึง, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? คือ, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? ความหมาย, เหตุการณ์พฤษภาปี ๓๕ และ ๑๙กันยา ๔๙: ประชาชนผิดตรงไหน? คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu