เปลโต (Plato) เป็นนักปรัชญากรีกที่มีแนวคิดโดดเด่น และซับซ้อนมาก ส่งผลต่อปรัชญาตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าเหนือกว่าอาจารย์ของเขาคือโซคราตีส (Socrates) ซึ่งต้องเสียชีวิตเพราะดื่มยาพิษ โซคราตีสไม่ได้เขียนบันทึกแนวคิดของตนเป็นลายลักษณ์อักษร และซ้ำร้าย เรารู้จักโซคราตีสผ่านงานเขียนของเปลโตเสียเกือบทั้งหมด
เปลโตมีชีวิตอยู่ในช่วง 427 ปี ถึง - 347 ปีก่อนคริสตกาล ทฤษฎีที่เป็นแกนหลักความคิดของเขาก็คือทฤษฎีโลกแห่งแบบ (World of forms) หรือโลกซึ่งมีความสมบูรณ์แบบซึ่งเก็บเอาแบบหรือความสมบูรณ์ของสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ไว้และประทับแบบนั้นเข้ากับโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ แน่นอนว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ย่อมหาความสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะเป็นภาพประทับจากโลกแห่งแบบ มนุษย์จะเข้าสู่โลกแห่งแบบได้ก็ต้องใช้เหตุผล เพื่อเข้าสู่แบบที่ยิ่งใหญ่กว่าแบบทั้งหลายนั้นคือ แบบแห่งความดี (Form of Goodness) ซึ่งจะเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ทำให้มนุษย์รู้เช่นเห็นแจ้งต่อโลกแห่งแบบทั้งโลก
(ส่วนหนึ่งของภาพวาด School of Athens โดย Raphael คนที่ยืนอยู่ซ้ายมือคือเปลโต้ ส่วนคนที่อยู่ขวามือคืออาริสโตเติ้ล การที่เปลโต้ชี้ขึ้นไปข้างบนหมายถึงแนวคิดของเขาที่เน้นไปยังโลกอื่น ในขณะที่นิ้วชี้ข้างล่างของอาริสโตเติ้ลคือการหวนกลับมายังโลกใบนี้)
เพื่อจะอธิบายแนวคิดเรื่องโลกแห่งแบบให้ชัดเจน เปลโตได้เขียนนิทานเรื่อง คนถ้ำ (Allegory of Cave) ในหนังสือปรัชญาการเมืองชื่อดังสุด ๆ ของเขาคืออุดมรัฐหรือ Republic เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ถูกล่ามโซ่ไว้ในถ้ำ โดยให้หันหน้าเข้ากับผนัง ทุกวันคนเหล่านั้นก็จะเห็นเงาจากโลกภายนอกที่พาดเข้ามากระทบกับฝาผนังถ้ำ จนคิดไปว่าเงานั้นคือความเป็นจริง แต่แล้ววันหนึ่ง คนถ้ำคนหนึ่งก็ถูกปล่อยตัวออกจากถ้ำเพื่อไปเห็นภาพแห่งความเป็นจริงของภายนอก แล้วจึงเข้าใจว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา สรรพสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นจริงนั่นล้วนแต่เป็นเงา แล้วเขาจะทำอย่างไรดีในการไปปลดปล่อยพรรคพวกที่ยังอยู่ในถ้ำและคิดไปว่าเงานั้นคือความเป็นจริง คนถ้ำที่หนีออกไปได้ก็คือเปลโตผู้รู้แจ้งในโลกแห่งแบบ ส่วนคนที่อยู่ในถ้ำก็คือมนุษย์เราที่เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆในโลกที่อยู่นี้คือความเป็นจริง
แน่นอนว่าภาพยนตร์ Matrix ตั้งแต่ภาค 1-3 ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักสังคมวิทยา(ที่เขาปฏิเสธแต่ ทุกคนเรียกว่า) Postmodernism ชาวฝรั่งเศสคือ Jean Baudrillard ในเรื่อง ความจริงและภาพเสมือนจริง (Simulcra) และปรัชญา Postmodernism ก็โจมตีแนวคิดของเปลโต้เป็นพวกเหตุผลนิยม (Rationalism) และเน้นโลกอื่นมากไป (ซึ่ง Aristotle ลูกศิษย์ของเปลโต้ก็โจมตีอาจารย์ของเขาเหมือนกัน) แต่มรดกของเปลโต้ในเรื่องแห่งแบบและเรื่องคนถ้ำนี้ก็มีผลต่อแนวคิด Postmodernism และส่งผ่านมายังภาพยนตร์เรื่อง Matrix อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่น และภาพยนตร์เรื่อง Matrix ถอยห่างจากปรัชญาของ Baudrillardไปยังเปลโต้ โดยการ แบ่งโลกเป็นสองโลกนั่นคือโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายและน่ากลัวและโลกที่เครื่องจักรกลสร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำมนุษย์ นั่นคือโลกอันสันติสุขซึ่งเป็นการแบ่งเช่นเดียวกับ ของเปลโต คนที่หนีออกจากถ้ำได้ก็คงเป็นคนรุ่นแรก ๆ ที่ร่วมกันสร้าง Zion ขึ้นมา และพยายามควาญหา The one หรือผู้ช่วยให้รอดเพื่อไถ่มนุษย์ออกจากการครอบงำของเครื่องจักรเป็นการผสมผสานแนวคิดทางศาสนาคริสต์ (และพุทธ) เข้ากับปรัชญาของเปลโต้ และแนวคิดเรื่องความน่ากลัวของเครื่องจักรจากนิยายวิทยาศาสตร์
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าปรัชญากรีก ความจริงไม่ได้หนีห่างจากพวกเรา เลยมันกลับมาปรากฏอยู่ในรูปแบบของ Pop Culture แบบ หนังเรื่อง Matrix ที่พวกเราเคยคลั่งไคล้มาเมื่อหลายเดือนหลายปี ก่อนนั้นเอง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าวัฒนธรรมหรือปรัชญากรีกได้แผ่มากับวัฒนธรรมตะวันตกปัจจุบันและมีผลต่อสังคมไทยอย่างไร
(บทความนี้เขียนเอง ไม่ได้แปล)
ภาพและที่มา www.bloggang.com