ก่อนหน้านี้เห็นหลาย ๆ คนกล่าวถึงประเทศสารขัณฑ์ในเชิงเปรียบเทียบกันอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีความสับสนวุ่นวายของประเทศในย่านนี้อยู่มาก ผมเองก็เลยอยากลองหาที่มาของคำ "สารขัณฑ์" อย่างจริง ๆ เสียทีว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จะได้เก็บไว้อ้างอิงได้ต่อไปในวันข้างหน้าครับ
ค้นหาแหล่งที่มาจากหลายที่ ก็ได้ทราบว่าประเทศสารขัณฑ์นี้เป็นประเทศสมมติประเทศหนึ่งที่เคยมีคนเขียนไว้เป็นนิยาย ปรากฎชื่ออยู่สองเล่ม
เล่มแรกคือ The Ugly American (1958; พ.ศ. 2501)
และเล่มที่สองคือ Sarkhan (1965; พ.ศ. 2508)
ทั้งสองเล่มแต่งโดยนักเขียนร่วมสองคน คือ Eugene Burdick (1918-1965) กับ William Lederer (1912-)
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาใหญ่ของผมก็คือจะไปหาหนังสือสองเล่มนี้มาอ่านได้อย่างไร หนงสือเรื่อง The Ugly American นั้นพอทราบมาว่า มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ท่านเคยแสดงไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเคยมีใครแปลเป็นภาษาไทยหรือไม่ พอไปค้นในร้านหนังสือเก่าก็พบอยู่เล่มหนึ่ง สภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา
The Ugly American
โดย Eugene Burdick และ William Lederer
แปลโดย รัตนะ ยาวะประภาษ และ ถาวร ชนะภัย
สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา
พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2518
ในคำนำ ผู้เขียนบอกว่าเรื่องทั้งหมดนั้นเป็นนิยายที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนอเมริกันที่กระจัดกระจายกันอยู่ในประเทศต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับคนท้องถิ่น โดยสมมติชื่อประเทศ ชื่อสถานที่ และชื่อบุคคลทั้งหมดขึ้นมาทั้งสิ้น ทั้งหมดไม่ได้มีปรากฎอยู่จริง และสมมติเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ขึ้นมาเป็นข้อเสนอแนะให้คนอเมริกันได้นำไปคิดและปรับปรุงตัว
ในฉบับแปลของ The Ugly American นี้ใช้ชื่อประเทศว่า "ซาคาน" ยังไม่ได้ใช้ "สารขัณฑ์" แต่อย่างใด ประเทศนี้เป็นประเทศสมมติ ตั้งอยู่ระหว่างพม่ากับไทย มีประชากร 18-20 ล้านคน (ในหนังสือเขียนไว้สองแห่งไม่ตรงกัน) ทิศเหนือติดประเทศจีน บางส่วนติดเวียดนาม (เหนือ) ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับที่ราบ การเดินทางในประเทศใช้ทางแม่น้ำเป็นเส้นทางหลัก ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อถือโชคลางและไสยศาสตร์ โหราศาสตร์และการทำนายทายทัก
ในเล่ม Ugly American นี้ ความเป็นประเทศของสารขัณฑ์หรือซาคานยังไม่ได้ถูกเน้นให้เห็นเด่นชัดนัก ผู้เขียนใช้วิธีแบ่งเนื้อเรื่องเป็นบทย่อย ๆ ซึ่งบางบทนั้นแทบจะแยกออกมาเป็นเรื่องสั้นหักมุมดี ๆ ได้เลยทีเดียว บางบทก็กล่าวถึงพฤติกรรมของคนคนหนึ่งซึ่งจะไม่ถูกกล่าวถึงอีกเลยตลอดเล่มที่เหลือ แต่ส่วนใหญ่นั้นถูกดำเนินเรื่องโดยทูตอเมริกันประจำประเทศซาคาน-สารขัณฑ์
ผู้เขียนได้แบ่งคนอเมริกันในต่างประเทศออกเป็นสองกลุ่ม ugly กับ non-ugly American เนื้อหาโดยรวมเป็นเหมือนบททำนายนโยบายอันผิดพลาดของอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งเป็นจริงในอีกสิบปีต่อมา !) โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าความผิดพลาดของรัฐบาลอเมริกันก็คือการส่งคนที่ไม่มีความเข้าใจในวิถีตะวันออก (เฉียงใต้) มาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ และการพยายามยกเอาประเทศสหรัฐอเมริกาติดตัวคนเหล่านี้มาด้วยก็ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นระหว่างคนท้องถิ่นกับคนต่างถิ่น
หากจะนำสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยก็ยังไม่ล้าสมัยจนเกินไป แม้ในระหว่างคนไทยด้วยกันเอง สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันยังพบเห็นได้ นั่นทำให้มีคนบางส่วนพยายามสร้างให้เกิดความแตกแยกขึ้นในประเทศ ดังที่เคยเกิดขึ้นกับสารขัณฑ์ หากการดำเนินนโยบายยึดความแตกต่างของคนเป็นที่ตั้ง ความแตกแยกก็จะเกิดตามมา ดังที่ The Ugly American ทั้งหลายในนิยายเล่มนี้ได้ก่อให้เกิดขึ้น
แต่ในเล่มก็ได้แทรกบทบาทของ Some non-ugly American เอาไว้เป็นระยะ โดยกล่าวถึงคนอเมริกันทั้งที่อยู่ในรูปแบบขององค์กรต่าง ๆ และเอกชนที่ได้ผสมผสานกลมกลืนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขากับคนในท้องถิ่น และสร้างความเจริญที่ยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยไม่ได้ใช้เพียง "ดอลล่าร์อเมริกัน" แต่เพียงอย่างเดียว
ท้ายเล่ม ผู้แปลได้เพิ่มบท "Some non-ugly American" ซึ่งผู้เขียนได้เขียนขึ้นประมาณหนึ่งปีหลังจากหนังสือออกวางตลาด เพื่อบอกให้คนอเมริกันได้ทราบว่าคนที่ non-ugly ยังมีอีกมาก
โดยรวม ๆ หนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อคนอเมริกันเป็นหลักครับ เนื้อหานั้นได้พาคนอ่านท่องเที่ยวไปทั่วเอเชียอาคเนย์ ทั้งฟิลิปินส์ พม่า เวียดนาม และมีบางตอนที่กล่าวถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็เป็นเพียงชื่อประเทศที่ถูกกล่าวถึง ไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยแต่อย่างใด
ผู้เขียนพยายามจะบอกว่าทำไมฝรั่งเศสถึงได้แพ้คอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ทำไมฟิลิปินส์ถึงไม่มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์มากวนใจ และเหมือนจะให้คำทำนายไว้ระดับหนึ่งว่า สักวันอเมริกาจะพ่ายแพ้คอมมิวนิสต์ในเวียดนามเช่นกัน
ถึงตรงนี้ก็คงพอจะสรุปได้ว่าหากจะสมมติประเทศใดในแถบเอเชียอาคเนย์มาสักประเทศเพื่อเปรียบเทียบอะไรสักอย่าง ก็ใช้ประเทศ ซาคาน-สารขัณฑ์ นี่แหละครับเป็นต้นแบบ แต่ก็คงเป็นแบบที่จบไม่ค่อยสวยนักสักเท่าไหร่ อเมริกันที่ดี ๆ ถูกส่งกลับประเทศบ้าง ถูกปลดบ้าง ถูกให้ร้ายบ้าง
แล้วผู้เขียนก็ปล่อยประเทศสารขัณฑ์ให้อยู่กับการคุกคามคอมมิวนิสต์ไปอีก 7 ปี
หนังสือเล่มต่อมาเขียนขึ้นหลังจาก The Ugly American 7 ปี ใช้ชื่อว่า Sarkhan มีผู้แปลเป็นไทยโดยใช้ชื่อว่า "สารขัณฑ์" ผมได้เล่มนี้มาจากร้านหนังสือมือสองร้านเดียวกับที่ได้เล่มแรกมานั่นเอง
Sarkhan
โดย Eugene Burdick และ William Lederer
แปลโดย ปรัญญา อินจัน
สำนักพิมพ์วรรณวิภา
พ.ศ. 2526
เนื้อหาของเล่มนี้ไม่ได้ต่อเนื่องกับเล่มแรกแต่อย่างใด แต่หากใครจะอ่าน Ugly American มาก่อนก็จะทำให้ทราบพื้นเพและความเป็นมาของประเทศสารขัณฑ์มากขึ้นบ้าง
ในเล่มนี้ผู้เขียนไม่ได้ทำให้ประเทศสารขัณฑ์ แตกต่างไปจากเดิมสักเท่าใดนัก สารขัณฑ์ยังคงเป็นประเทศที่อยูทางตอนเหนือของไทย อาณาเขตติดต่อกับพม่า เวียดนาม และจีนอยู่เช่นเดิม มีฤดูมรสุมที่ฝนตกต่อเนื่อง มีฤดูน้ำหลาก มีการใช้ชีวิตของคนที่ต้องอาศัยการเดินทางทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาให้ภาพของประเทศสารขัณฑ์เด่นชัดขึ้นก็คือภาพการเมืองการปกครอง ผู้เขียนสร้างให้ประเทศสารขัณฑ์ปกครองโดยมีสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 คน โดยสองคนเป็นตัวแทนจากฝ่ายศาสนา ที่เหลือเป็นตัวแทนจากฝ่ายทหาร ตัวแทนจากกษัตริย์ และตัวแทนประชาชน
เนื้อหาโดยย่อ
จีนคอมมิวนิสต์เคยสู้รบกับเจียงไคเชกโดยยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่เจียงไคเชกขอมาจากสหรัฐอเมริกา ฝ่ายคอมมิวนิสต์สารขัณฑ์ (ในหนังสือใช้คำว่า "สารกง" เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์เวียดกง) เห็นว่าวิธีการช่วงชิงอาวุธนี้น่าจะได้ผลสำหรับการก่อการร้ายในประเทศสารขัณฑ์ด้วย
ในช่วงพิธีสำคัญของประเทศ คอมมิวนิสต์สร้างข่าวเท็จว่ามีคอมมิวนิสต์จากจีนและเวียดนามรุกรานทางตอนเหนือของสารขัณฑ์ ทำให้ผู้บัญชาการกองทัพสารขัณฑ์ (เป็นคอมมิวนิสต์ แต่แสดงตนเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์) ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยถูกกำจัดให้พ้นทางออกไป แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อและพยายามพิสูจน์ ผลลัพธ์คือเกิดการจราจลที่สถานทูตสหรัฐ บุคคลสำคัญของประเทศสารขัณฑ์เสียชีวิต ผู้บัญชาการทหารของประเทศสารขัณฑ์ได้ขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการประกาศสงคราม (จอมปลอม) กับคอมมิวนิสต์สารขัณฑ์
ฝ่ายสหรัฐอเมริกายอมให้นายพลผู้นี้อยู่ในอำนาจทั้งที่ในที่สุดก็รู้ว่านายพลคนนี้เป็นคอมมิวนิสต์ แลกกับการที่สหรัฐอเมริกาสามารถเข้าไปจัดตั้งฐานทัพ และวางรากฐานการต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ในประเทศสารขัณฑ์
ในยุคที่ภัยคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงสำหรับสหรัฐอเมริกา (และประชาธิปไตยของโลก-สำหรับบางคน) การต่อต้านคอมมิวนิสต์อาจหมายถึงการยอมให้มีคอมมิวนิสต์ (หรือแม้กระทั่งการสร้างคอมมิวนิสต์ขึ้นมา)เพื่อความชอบธรรมในการจัดการอย่างเด็ดขาด
หนังสือเล่มนี้เหมือนกับเป็นบทสรุปของ The Ugly American และเหมือนกับเป็นการปรามพี่เบิ้มถึงนโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในหนังสือยังกล่าวถึงความผิดพลาดเชิงนโยบายในอีกหลายส่วนของโลกอีกด้วย)
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มบทบาทของตนในสงครามเวียดนาม อันเป็นจังหวะที่ใกล้เคียงกับการเข้าไปในสารขัณฑ์ ผลลัพธ์ของการสงครามกับคอมมิวนิสต์ในนามของอเมริกาเป็นอย่างที่พวกเราได้รับรู้กัน
ภาพและที่มา https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=zhivago&month=03-2007&date=19&group=7&gblog=4