การส่งเสริมการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ และผลผลิตทางการเกษตรที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกินสิบห้าดีกรี ตามนโยบายการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนของรัฐบาล ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกลุ่มบุคคลธรรมดา ที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต ดำเนินการผลิตและจำหน่ายสุราทั่วประเทศได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ผลิตสุราแช่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์สุราแช่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้จำนวนผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสาโท ที่เคยมีมากกว่า 1,000 ราย เหลืออยู่เพียง 300 - 400 รายเท่านั้น
เครือข่ายความร่วมมือเพื่อทำงานพัฒนาวิสาหกิจสุราแช่ชุมชน
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เห็นถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสุราแช่ที่มีคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญการผลิต และตรวจสอบคุณภาพไวน์ผลไม้และสาโท เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะการผลิต ไปถ่ายทอดสู่ผู้ผลิตในท้องถิ่น จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็น เครือข่ายความร่วมมือเพื่อทำงานพัฒนาวิสาหกิจสุราแช่ชุมชน ภายใต้โครงการสร้างความสามารถด้านเทคนิคการผลิต และการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ไวน์ผลไม้และสาโท
จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดเครือข่ายการทำงาน ด้านการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจชุมชน โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นศูนย์บริการเทคโนโลยีสำหรับชุมชน และมีไบโอเทคเป็นแกนประสานและขยายผล นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสุราแช่และพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นให้เป็นห้องปฏิบัติการของวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งใช้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้คำปรึกษา และตรวจวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ในปัจจุบันห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร สามารถให้การรับรองผลิตภัณฑ์ตาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ความรู้จากการพัฒนา การฝึกอบรม ถูกรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ไวน์ผลไม้และสาโท ผลิตด้วยความมั่นใจได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคู่มือการผลิตไวน์ผลไม้และสาโท สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้สนใจทั่วไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)